วิธีรักษา และวิธีป้องกันตาปลา


8,191 ผู้ชม

โรคตาปลา (Corns) มีอยู่ 2 ชนิด คือ ตาปลาแบบตุ่มแข็ง และตาปลาชนิดอ่อน ซึ่งไม่ใช่โรคติดต่อแต่เกิดจากการเสียดสีบริเวณผิวหนังติดต่อกันเป็นเวลานานโดยเฉพาะที่เท้าและมือของเรา เมื่อเกิดการเสียดสีบ่อยๆ...


วิธีรักษา และวิธีป้องกันตาปลา

ตาปลา หลายคนคงสงสัยว่ามันคืออะไร แล้วทำไมถึงเกิดตาปลาขึ้นกับร่างกายของคนเราได้ โดยบางคนอาจเข้าใจว่าคือหูด ด้วยลักษณะที่คล้ายคลึงกันอาจทำให้หลายคนเข้าใจผิด ว่ากันด้วยเรื่องของตาปลานั้นใครที่เคยเป็นคงรู้สึกแหยงและไม่อยากกลับไปเป็นซ้ำอีก เพราะจะใส่รองเท้าทีก็เจ็บ หรือจะเปลือยเท้าก็ปวดบริเวณที่เป็นตาปลาอย่างมาก และสำหรับใครที่ไม่เคยเป็นได้รู้แล้วก็คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตนเช่นกัน เราลองมาทำความรู้จักกับตาปลากัน…


ตาปลาคืออะไร
โรคตาปลา (Corns) มีอยู่ 2 ชนิด คือ ตาปลาแบบตุ่มแข็ง และตาปลาชนิดอ่อน ซึ่งไม่ใช่โรคติดต่อแต่เกิดจากการเสียดสีบริเวณผิวหนังติดต่อกันเป็นเวลานานโดยเฉพาะที่เท้าและมือของเรา เมื่อเกิดการเสียดสีบ่อยๆ เข้าก็จะทำให้เนื้อเยื่อชั้นบนมีการหนาและนูนขึ้นมาเป็นตุ่มเล็กๆคล้ายตาปลา จึงเรียกโรคผิวหนังชนิดนี้ว่าตาปลานั่นเอง


อาการของผู้ที่เป็นตาปลา
และเมื่อบริเวณผิวที่เป็นตาปลาสัมผัสกับพื้นผิวหรือวัสดุใดก็จะเกิดอาการเจ็บปวดทรมาน สร้างความรำคาญใจให้แก่ผู้ที่เป็นโรคตาปลาเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและบริเวณที่เป็นตาปลา ตลอดจนระยะเวลาของการเสียดสีหรือรับน้ำหนักบริเวณที่เป็นตาปลา ซึ่งหากตาปลามีขนาดใหญ่มากเท่าไหร่ความเจ็บปวดก็เพิ่มขึ้นมากเท่านั้น เพราะตุ่มแข็งๆ นี้ยิ่งถูกกดทับให้ลึกลงไปใต้ผิวของเรา และหากโชคร้ายอาจไปกดทับเส้นประสาทหรือกระดูกก็ยิ่งสร้างความทรมานจนอาจถึงขั้นต้องผ่าตาปลาเลยทีเดียว

โรคตาปลานี้ไม่ใช่โรคร้ายแรงหรือโรคติดต่อ จะรู้สึกเจ็บเมื่อถูกกดลงไปในตุ่ม แต่ถ้าบีบด้านข้างจะไม่รู้สึกเจ็บ และไม่มีเลือดออก ซึ่งดูเผินๆจะคล้ายกับหูด แต่หูดนั้นจะร้ายแรงกว่าโดยเมื่อบีบจะรู้สึกเจ็บปวดมากและมีเลือดออกบริเวณที่เป็น

สาเหตุของการเกิดตาปลา
หลายคนคงสงสัยว่าแล้วทำไมจู่ๆ ผิวหนังเราถึงเกิดเป็นตุ่มคล้ายตาปลาได้ สาเหตุนั้นก็เพราะว่าเมื่อผิวหนังเราเกิดการเสียดสีไปมาอย่างรุนแรงหรือบ่อยๆ เข้าเป็นระยะเวลานาน จะทำให้หนังกำพร้าของเราแยกออกมาเป็นตุ่มพองๆ และนานวันเข้าก็จะทำให้หนังกำพร้าเกิดการสะสมสร้างขี้ไคลขึ้นจนหนาและแข็งเป็นก้อนแหลมๆ เมื่อกดลงไปบริเวณตุ่มใสๆก็จะรู้สึกเจ็บ

โดยหลายคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าการเป็นตาปลานั้นจะเป็นเฉพาะที่ฝ่าเท้า แต่ในความเป็นจริงตาปลานั้นอาจเกิดขึ้นได้ทั้งระหว่างซอกนิ้วเท้า หรือด้านบนของหลังเท้าก็ได้ ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นที่ฝ่าเท้าเสมอไป เนื่องจากระหว่างซอกนิ้วเท้าหรือบนหลังเท้านั้นก็สามารถเกิดการเสียดสีได้ทั้งจากการสวมใส่รองเท้าหรือกระดูกเกิดการเสียดสีกัน

วิธีการรักษาโรคตาปลา
- ใช้ยากัดตาปลาวันละ 1 – 2 ครั้ง จนกว่าตาปลาจะหลุดออกไป
- ผ่าตัดหรือใช้เลเซอร์ในการจี้ตาปลาออก แม้จะเป็นวิธีที่สะดวกแต่ก็ค่อนข้างแพงกว่าการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แถมยังอาจทิ้งรอยแผลเป็นไว้ให้ดูต่างหน้าอีกด้วย
- ใช้พลาสเตอร์แบบกรดซาลิไซลิก 40 เปอร์เซ็นต์ ปิดตาปลาทิ้งไว้ประมาณ 2 – 3 วัน แล้วแช่น้ำอุ่นเพื่อให้ตาปลาหลุดออก หากตาปลายังไม่หลุดออกไปก็อาจทำซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
- หากผู้ที่เป็นตาปลาเป็นโรคเบาหวาน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือสูญเสียประสาทรับความรู้สึก เหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์แต่เนิ่นๆ เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

การป้องกันตนเองจากโรคตาปลา
- หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง หรือหัวแหลม เนื่องจากจะเกิดการเสียดสีได้ง่าย
- ควรเลือกใส่รองเท้าให้พอดีไม่คับหรือหลวมเกินไป
- อาจหาแผ่นรองเท้ามารองในรองเท้า
- เลือกรองเท้าสวมใส่กับกิจกรรมที่เหมาะสม
- หากกระดูกเท้าของเรายื่นออกมามากกว่าปกติหรือผิดรูป ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญรักษาให้ตรงจุด
- สำหรับคนอ้วนควรลดน้ำหนักเพื่อลดแรงกดทับลงมายังฝ่าเท้า

นอกจากนี้ยังมีหลายคนที่อาจเข้าใจผิดว่าการใช้ธูปจี้ตาปลาหรือมีดเฉือนตาปลาออกเป็นหนึ่งในวิธีการรักษา ซึ่งเป็นความคิดผิดอย่างมหันต์ เพราะนอกจากตาปลาจะไม่หายแล้วยังอาจทำให้เกิดแผลมากขึ้นจนถึงขั้นอักเสบเรื้อรังเลยทีเดียว

ดังนั้นเมื่อเป็นตาปลาแล้วต้องรักษากันอย่างถูกวิธี แม้จะไม่ใช่โรคติดต่อร้ายแรง แต่เมื่อเป็นแล้วก็สร้างความรำคาญใจให้แก่เราไม่น้อยเลย พยายามระวังไม่ให้ผิวหนังของเราเกิดการเสียดสี เพียงเท่านี้ก็ห่างไกลจากโรคตาปลาแล้ว

ที่มา  เกร็ดความรู้ดอทคอม


อัพเดทล่าสุด