แล้วรู้หรือไม่ว่า ยาที่ได้รับมามีวิธีการใช้แตกต่างกัน ซึ่งสามารถอ่านได้บนฉลากยา แล้วยาเองก็มีวันหมดอายุ แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่า ยาหมดอายุเมื่อใด...
เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงก็คือ ไปหา “หมอ”
เมื่อมาพบหมอแล้ว ก็มักจะได้ยากลับมารับประทานอยู่ทุกครั้งไป
แล้วรู้หรือไม่ว่า ยาที่ได้รับมามีวิธีการใช้แตกต่างกัน ซึ่งสามารถอ่านได้บนฉลากยา แล้วยาเองก็มีวันหมดอายุ แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่า ยาหมดอายุเมื่อใด
ในการรับประทานยานั้น สิ่งสำคัญที่เราควรตรวจเช็กอย่างแรกเลยคือ การหมดอายุของยา หากเรารับประทานยาเข้าไปโดยลืมตรวจสอบอายุของยา นอกจากจะไม่หายจากโรค ยังสร้างผลเสียต่อร่างกายเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ยาบางชนิดเมื่อเกิดการเสื่อมแล้วรับประทานเข้าไปก็จะเกิดผลเสียร้ายแรงต่อตับและไตได้ ดังนั้นมีวิธีสังเกตยาหมดอายุมาฝากกัน ดังนี้
ยาส่วนมากจะระบุวันที่ผลิตและวันหมดอายุไว้บนฉลากหรือซองยาอย่างชัดเจน โดยวันที่ผลิตจะเขียนว่า Manu.Date หรือ Mfg.Date ตามด้วยวัน/เดือน/ปี ของวันที่ผลิตยา
ส่วนวันหมดอายุจะเขียนว่า Expiry Date หรือ Used before หรือ Expiring หรือ Use by แล้วตามด้วย วัน/เดือน/ปี ของวันที่ยาหมดอายุ เช่น Exp.date 30/07/11 หมายความว่า ยาจะหมดอายุในวันที่ 30 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 2011
ยาบางชนิดระบุไว้เพียงวันผลิต แต่ไม่ได้ระบุวันหมดอายุ โดยทั่วไปหากเป็นยาน้ำที่ยังไม่ได้เปิดใช้จะเก็บไว้ได้ 3 ปีนับจากวันผลิต แต่หากเปิดใช้แล้วก็ขึ้นอยู่กับว่ามีการดูแลได้ดีพอหรือไม่ เช่น การใช้ปากจิบยาแก้ไอจากขวด (ไม่ควรทำเพราะจะไม่ทราบปริมาณยาที่แน่นอน) ทำให้ยาปนเปื้อนและเสียได้ในเวลา 2-3 วัน หากรับประทานโดยการเทใส่ช้อน ปิดฝาอย่างดีและเก็บไว้ในตู้เย็น ยาก็สามารถอยู่ได้ราว 3 เดือน ในกรณีที่เป็นยาเม็ดสามารถเก็บรักษาไว้ได้ 5 ปี นับจากวันที่ผลิต
การเฝ้าระวังหรือการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ชีวิตของเราปราศจาก อันตราย จากการรับประทานยาที่เสื่อมคุณภาพและหมดอายุได้อย่างแน่นอน.
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
ที่มา เดลินิวส์ออนไลน์