โรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดในสมองแตก ภัยร้ายใกล้ตัวที่คุณอาจคาดไม่ถึง


3,254 ผู้ชม

โรคหลอดเลือดสมองเป็นอย่างไร? วันนี้เรามีความรู้ดี ๆ มาฝากกัน พร้อมอาการของโรคนี้ว่ามีที่มาอย่างไร อันตรายแค่ไหน และวิธีดูแลตัวเองของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในเบื้องต้น...


โรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดในสมองแตก ภัยร้ายใกล้ตัวที่คุณอาจคาดไม่ถึง

 โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพฤกษ์ อัมพาต) นับว่าเป็นภัยสุขภาพที่กำลังระบาดไปทั่วโลก และยังเป็นสาเหตุการตายสูงเป็นอันดับ 3  ของโลกอีกด้วย สำหรับประเทศไทยพบว่าแนวโน้มการตายจากโรคหลอดเลือดสมอง เพิ่มกว่า 3 เท่า ภายในเวลา 4 ปี  ซึ่งโรคนี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย รวมถึงครอบครัวและสังคมเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามหลายคนคงยังไม่รู้จักโรคนี้ว่าคือโรคอะไร มีความน่ากลัวอย่างไร และจะหลีกหนีจากโรคร้ายนี้ได้อย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาไปรู้จักคำถามเหล่านี้กันค่ะ

        โรคหลอดเลือดสมอง
                  โรคหลอดเลือดสมอง หรือ อัมพฤกษ์ อัมพาต ถือเป็นโรคที่อันตรายและกำลังระบาดไปทั่วโลก ซึ่งขณะนี้โรคดังกล่าวเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ต้องจับตามองทั้งในปัจจุบันและอนาคต ส่วนสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต คือ ภาวะความดันโลหิตสูง  ซึ่งสถานการณ์ทั่วโลกพบว่า ประชากรประมาณ 600 ล้านคนมีภาวะความดันโลหิตสูง และจัดเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 ของโลก
                  สำหรับประเทศไทยปี 2547 พบว่า ผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีภาวะความดันโลหิตสูงร้อยละ 35.82 ซึ่งคิดเป็นจำนวนถึง 17.64 ล้านคนเลยทีเดียว ถือว่าเป็นตัวเลขที่มาก และที่สำคัญส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตนเองมีความดันโลหิตสูง หรือถ้ารู้ก็มีไม่ถึงร้อยละ 10 ที่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ นอกจากนี้จากการสำรวจสภาวะสุขภาพ ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขพบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีภาวะความดันโลหิตสูง พบเป็นชายร้อยละ 21.2 เป็นหญิงร้อยละ 20.3 แต่ได้เข้ารับการรักษาเพียงร้อยละ 16.9 และ 30.7 ชายหญิงตามลำดับ
                  อย่างไรก็ตาม โรคหลอดเลือดสมองมีโอกาสเป็นซ้ำสูงมาก ในประเทศไทยคาดว่ามีผู้ป่วยใหม่ที่เป็นโรคนี้ปีละ 150,000 ราย ถ้าการรณรงค์ป้องกันได้ผล จะทำให้ผู้ป่วยไม่น้อยกว่า 50,000 ราย ปลอดภัยจากโรคนี้ โดยค่าใช้จ่ายที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคนี้ต่อคนคิดเป็นเงินได้ประมาณ 100,000 บาทต่อปี ดังนั้นความสำเร็จของการป้องกันควบคุมโรค อัมพฤกษ์ อัมพาตนั้น ขึ้นอยู่กับความตระหนักรับรู้ของประชาชน ครอบครัว และชุมชน
         ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง
                  ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ 
                  - การมีความดันโลหิตสูง 
                  - การสูบบุหรี่ 
                  - การมีน้ำตาลในเลือดสูง   
                  - การมีไขมันในเลือดสูง   
                  - การมีนิสัยบริโภคอาหารไม่ถูกต้อง 
                  - การงดการออกกำลังกาย  
                  - มีประวัติเคยเป็นโรคหัวใจ

                  ทั้งนี้นับว่าโรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นโรคที่อันตราย และมีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี และหากเข้ารับการรักษาไม่ทันภายใน 270 นาที (หรือ 4 ชั่วโมงครึ่ง) ก็มีโอกาสที่จะเสียชีวิต อีกทั้งโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงควรตระหนักและปรับพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมในการดำเนินวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีและป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
 
        วันโรคหลอดเลือดสมอง
                  สำหรับวันที่ 29 ตุลาคมของทุกปี องค์การอัมพาตโลกได้กำหนดให้เป็นวันรณรงค์วันโรคหลอดเลือดสมอง (World Stroke Day) หรือ วันรณรงค์อัมพาตโลก  เพื่อให้ประชาชนทั่วโลกเกิดความตระหนักและระวังภัยอันตรายของโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งข้อเท็จจริงที่น่ากลัวของโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพฤต อัมพาต คือ ในทุก 6 วินาที ทั่วโลกจะมีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 1 คน จากโรคหลอดเลือดสมอง
                  ทั้งนี้ข้อมูลขององค์การอัมพาตโลกรายงานสถานการณ์โรคหลอดเลือดสมองทั่วโลก ว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการตายเป็นอันดับ 2 ของประชากรอายุมากกว่า 60 ปี ทั่วโลกและเป็นสาเหตุการตายเป็นอันดับ 5 ของประชากรอายุมากกว่า 15-59 ปี และในแต่ละปีมีคนทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 6 ล้านคน ซึ่งมากกว่าคนทั่วโลกที่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ วัณโรค และโรคมาลาเรียรวมกัน
                  ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ควบคุมน้ำหนัก ไม่ปล่อยให้อ้วน จำกัดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เรียนรู้ สัญญาณเตือนของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและแนวทางการป้องกัน
        

ที่มา  กระปุกดอทคอม

อัพเดทล่าสุด