ปอเนาะ และ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในปาตานี ภายใต้การปกครองของไทย


5,592 ผู้ชม

หลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงปะทุขึ้นในเดือนมกราคม 2547 ระบบการศึกษาศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนใต้(ปาตานี)ได้กลายเป็นจุดเพ่งเล็งของรัฐไทย เหล่าอุสตาซต่างถูกกล่าวหาว่าปลูกฝังความคิดแบ่งแยกดินแดนและแนวคิดญิฮาด...


ปอเนาะ และ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในปาตานี ภายใต้การปกครองของไทย

ปอเนาะ และ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในปาตานี ภายใต้การปกครองของไทย

หลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงปะทุขึ้นในเดือนมกราคม 2547 ระบบการศึกษาศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนใต้(ปาตานี)ได้กลายเป็นจุดเพ่งเล็งของรัฐไทย เหล่าอุสตาซต่างถูกกล่าวหาว่าปลูกฝังความคิดแบ่งแยกดินแดนและแนวคิดญิฮาด 

รัฐไทยเริ่มครุ่นคิดถึงการจัดระเบียบและแนวทางจัดการการศึกษาอิสลาม เพื่อหาวิธีการที่แน่ใจได้ว่าจะมีการสอนศาสนาอิสลามที่ “เหมาะสม” และไล่ครูที่ต้องสงสัยออก พื้นฐานของแนวทางนี้คือระบบความเป็นมุสลิมที่ “ดี” ออกจากอิทธิพลของมุสลิมที่ “เลว” ความพยายามหลัก ๆ คือให้โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจดทะเบียนและปฏิรูปหลักสูตร ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ไม่เพียงนำมาใช้กับที่มีระบบการสอนแบบเต็มเวลาเท่านั้น หากแต่รวมไปถึง “ตาดีกา” ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ให้ความรู้ศาสนาแบบไม่เต็มเวลาให้แก่เด็กเล็กเป็นส่วนใหญ่ โดยมักมีมัสยิดเป็นผู้จัดการ
ในช่วงทศวรรษ 1960 โรงเรียนปอเนาะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนกับรัฐบาลไทย แต่ในระหว่างปี 2515-2547 การจดทะเบียนกลับไม่ได้รับอนุญาตอีก อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งโรงเรียนปอเนาะไม่ได้หยุดตามไปด้วย หากแต่กลับเกิดขึ้นมากมายโดยที่ไม่ได้จดทะเบียน ด้วยความพยายามที่จะให้โรงเรียนเหล่านี้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐที่รัดกุมขึ้น รัฐบาลสมัยนายกฯทักษิณ ชินวัตร ได้เริ่มอนุญาตการจดทะเบียนขึ้นอีกครั้งในปี 2547 และได้กดดันโรงเรียนที่ไม่ได้จดทะเบียนให้ดำเนินการย้อนหลังเพื่อให้มีสถานภาพอย่างเป็นทางการ 

โรงเรียนที่จดทะเบียนมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “สถาบันปอเนาะ” ชื่อเรียกเช่นนี้ไม่เพียงบ่งบอกถึง “กระบวนการทำให้เป็นระบบราชการ (bureaucratization)” และ “การทำให้เป็นไทย (Thai-ization)” เท่านั้น หากแต่ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำความคิดที่ว่าปอเนาะก็ไม่ใช่ “โรงเรียน” ด้วยเช่นกัน 

สำหรับรัฐไทย ปอเนาะเป็นอะไรที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นโรงเรียน แต่สำหรับมลายูมุสลิมแล้ว ปอเนาะเป็นอะไรที่มากกว่า “โรงเรียน” หรือเป็นดั่งประภาคารส่องทางสำหรับศาสนาและศีลธรรม สำหรับเจ้าของปอเนาะ หมุดคิดหลักของแนวทางนี้คือความต้องการของรัฐที่ซ่อนเจตนาที่ไม่ดีไว้ นั่นคือ การเปลี่ยนปอเนาะให้เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามทันทีที่ทำได้ 
ความแตกต่างที่สำคัญที่สุดระหว่างปอเนาะกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามคือ ในขณะที่ปอเนาะเปิดสอนเฉพาะวิชาศาสนา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจะสอนหลักสูตรสามัญคู่ขนานไปเหมือนกับที่โรงเรียนของรัฐเปิดสอนในชั้นมัธยมด้วย นักเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามส่วนใหญ่ใช้เวลาครึ่งวันเรียนวิชาศาสนาและอีกครึ่งวันสำหรับเรียนวิชาสามัญ ปอเนาะที่เปลี่ยนไปเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่สอนหลักสูตรของรัฐมีแรงจูงใจอย่างสำคัญ คือจะได้รับเงินอุดหนุนโรงเรียนและเงินอุดหนุนรายหัวตามจำนวนนักเรียนที่รับสอน โดยการลงทะเบียนภายใต้มาตรา 15(1) และ มาตรา 15(2) ของพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 ซึ่งโรงเรียนประเภท 15(2) จะได้รับเงินอุดหนุนเพียงปีละ 50,000 บาท ในขณะที่โรงเรียนประเภท 15(1) ได้รับเงินอุดหนุนปีละ 500,000 บาท

โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งแรกในจังหวัดปัตตานีจัดตั้งโดยต่วนฆูรูฮัจญีสุหลง โต๊ะมีนา ในทศวรรษที่ 1930 ประสบการณ์ของเขาในซาอุดีอาระเบีย มีอิทธิพลที่ทำให้เขาไม่เชื่อวิธีการแยกการเรียนระหว่างศาสนากับทางโลกย์ และต้องการยกระดับการศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ 

พระยาพหลพลยุหเสนา อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานในงานเปิดโรงเรียนแห่งนี้ โรงเรียนแห่งนี้ยังได้ต้อนรับการมาเยือนของปรีดี พนมยงค์ ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การจัดสร้างโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำกันมาอย่างยาวนานแล้ว เพื่อสร้างพื้นที่ของความร่วมมือกันระหว่างกรุงเทพฯและกลุ่มชนชั้นนำมลายูมุสลิม แม้ว่าต่างฝ่ายจะต่างระมัดระวังซึ่งกันและกันก็ตาม

*หมายเหตุ คัดย่อจากส่วนหนึ่งของหนังสือ “ฉีกแผ่นดิน อิสลามและปัญหาความชอบธรรมในภาคใต้ ประเทศไทย” เขียนโดย ดันแคน แม็กคาร์โก ตีพิมพ์ภาษาอังกฤษ ปี2551 / แปลโดย ณัฐธยาน์ วันอรุณวงศ์ ตีพิมพ์ฉบับแปลภาษาไทย ปี 2555


ที่มา : facebook page patani society

อัพเดทล่าสุด