คุณประโยชน์ของปลาทู ปลาทะเล


4,506 ผู้ชม

ปลาทูเป็นอาหารทะเลชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในประเภทปลาผิวน้ำ สีของลำตัวด้านบนหลังเป็นสีน้ำเงินแกมเขียว ด้านท้องเป็นสีขาวเงิน...


คุณประโยชน์ของปลาทู ปลาทะเล

ปลาทูเป็นอาหารทะเลชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในประเภทปลาผิวน้ำ สีของลำตัวด้านบนหลังเป็นสีน้ำเงินแกมเขียว ด้านท้องเป็นสีขาวเงิน

คนไทยนิยมบริโภคปลาทูตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันเพราะราคาถูก เมื่อเทียบกับสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ ทำอาหารได้หลายอย่าง ย่อยง่าย รสชาดดี โดยเฉพาะปลาทางแถบจังหวัดชลบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงครามและเพชรบุรี เพราะมีความมันมาก รสอร่อยกว่าปลาทูจากแหล่งอื่นๆ

จากหลักฐานทางด้านวิชาการของกองประมงทะเล พบว่า บริเวณดังกล่าวเป็นก้นอ่าวไทย จึงมีอาหารอุดมสมบูรณ์ จึงมีผลทำให้ปลาทูเหล่านี้มีสารอาหารต่างๆอยู่ในตัวมาก และประกอบกับปลาทูจะวางไข่บริเวณฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย แถบจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และจะอพยพมาที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ในช่วงสิงหาคม-ธันวาคม ดังนั้นปลาทูในช่วงนี้มีราคาถูกเพราะมีมาก รสอร่อย และเป็นปลาทูตัวโต หรือปลาทูสาว

ปลาทูเป็นแหล่งของสารอาหารประเภทโปรตีนอย่างดี จะเห็นได้ว่า ในปลาทูสด 100 กรัม มีคุณค่าทางสารอาหาร คือ พลังงาน 140 แคลอรี่ , โปรตีน 20 กรัม , ไขมัน 6.7 กรัม , แคลเซียม 170 มิลิกรัม , ฟอสฟอรัส 60 มิลลิกรัม , เหล็ก 11.9 มิลลิกรัม , วิตามินบี1 0.03 มิลลิกรัม , วิตามินบี2 0.62 มิลลิกรัม , ไนอะซิน 9.2 มิลลิกรัม , วิตามินซี 9.2 มิลลิกรัม

เนื่องจากปลาทูมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับปลาอีกหลายๆ ชนิด โอกาสซื้อผิดมีมาก จึงขอแนะนำเพื่อเป็นข้อสังเกต ดังนี้

ปลาทู มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Rastrlliger neglectus หรือ ปลาทูสั้น ปลาทูเตี้ย แล้วแต่บางพื้นที่ เพราะลักษณะของลำตัวกว้าง แบน ป้อม สั้น ตาเล็ก ปากแหลมมน ไม่มีลายข้างตัว 3 เส้น ด้านบนของลำตัวมีสีน้ำเงินแกมเขียว ถ้าเป็นปลาสดจะมีสีน้ำเงินเข้มพาดตามยาวของลำตัว เนื้อปลาทูจะละเอียด นุ่ม มีมันมาก รสอร่อย

ปลาลัง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Rastrelliger Kanagurta หรือ ปลายาว ปลาทูโม่ง หรือปลาโม่ง เพราะลำตัวกลม เรียวกว่าปลาทู ตาโต ปากแหลม ลำตัวด้านหลังมีแถบสีเขียวแกมน้ำตาล 2-3 แถบพาดตามยาว เนื้อหยาบ มันน้อย รสไม่อร่อย ราคาถูกกว่าปลาทู

ปลาทูปากจิ้งจก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Rastrelliger faughni ลักษณะลำตัวเรียวยาวคล้ายปลาลัง แต่มีขนาดความยาวเท่าปลาทู ความกว้างของลำตัวน้อยกว่าปลาลัง ปากแหลม ด้านบนลำตัวมีสีน้ำเงิน แวววาว ด้านท้องมีสีขาวเงิน เนื้อหยาบ มันน้อย รับประทานไม่อร่อย (ผู้ขายมักเอามาขายรวมกับปลาทู)

ปลาทูแขก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Decapterus macrosoma ลักษณะคล้ายปลาทูปากจิ้งจก แต่มีเกล็ดหนามแข็งที่โคนหาง แนวเส้นข้างตัวโค้งลาด ลำตัวเรียวยาว แต่หนา มองดูค่อนข้างกลม ด้านหลังมีสีน้ำเงินแกมเขียว ท้องสีขาวเงิน ครีบสีขาวใส เนื้อหยาบ มันน้อย ปัจจุบันนิยมนึ่งแทนปลาทู หรือทำปลากระป๋อง

ปลาทูแขกครีบยาว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Decapterus maruadsi ลัษณะคล้ายปลาทูแขก แต่ลำตัวกว้างกว่า จึงมองดูแบน ตาค่อนข้างโต เนื้อแข็ง หยาบ รับประทานไม่อร่อย

การเลือกซื้อปลาทูนึ่งนั้น ให้พิจารณาดังนี้ ตัวจะสั้น ป้อม แบน ตาใส สีของปลาจะใส ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำเงินแกมเขียว หรือสีขาวของส่วนล่างก็ตาม กด เนื้อจะนิ่ม มีมันสีเหลืองเยิ้มอยู่ตามตัว ถ้าเนื้อแข็งแสดงว่าปลาไม่สด และเค็มเกินไป

ที่มา  thaihealth

อัพเดทล่าสุด