วิธีรักษาอาการแก้ไอเรื้อรัง รักษาไอเรื้อรัง แบบมีเสมหะ


4,959 ผู้ชม

วิธีรักษาอาการแก้ไอเรื้อรัง รักษาไอเรื้อรัง แบบมีเสมหะ อาการไอเรื้อรัง เกิดจาก...


วิธีรักษาอาการแก้ไอเรื้อรัง รักษาไอเรื้อรัง แบบมีเสมหะ

อาการไอ (Cough)

อาการไอเป็นปฏิกิริยาป้องกันตนเองตามธรรมชาติของร่างกาย ถือเป็นกลไกการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งผิดปกติในทางเดินหายใจอย่างหนึ่ง และการไอเป็นกลไกป้องกันที่สำคัญของร่างกายในการกำจัดเชื้อโรค เสมหะหรือสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจ รวมทั้งเป็นอาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ได้บ่อยที่สุด นอกจากนี้อาการไอยังเป็นทางที่สำคัญในการแพร่กระจายของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ การไอไม่ใช่โรค แต่เป็นเพียงอาการของโรคเท่านั้น อาการไอเริ่มจากการที่มีสิ่งกระตุ้นตัวรับสัญญาณการไอ หรือมีสารระคายเคืองในบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง ได้แก่ ช่องหูและเยื่อบุแก้วหู จมูก โพรงอากาศข้างจมูกหรือไซนัส โพรงหลังจมูก คอหอย กล่องเสียง หลอดลม ปอด กระบังลม และเยื่อหุ้มปอด นอกจากนี้ยังพบตัวรับสัญญาณการไอบริเวณเยื่อหุ้มหัวใจและกระเพาะอาหารด้วย โดยจะรับการกระตุ้นผ่านไปทางเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 เป็นหลัก ไปยังศูนย์ควบคุมการไอในสมองบริเวณเมดัลลา ซึ่งจะมีการควบคุมลงมายังกล้ามเนื้อและอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ เช่น กล้ามเนื้อกระบังลม กล้ามเนื้อซี่โครง กล้ามเนื้อท้อง กล่องเสียง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลอดลม ทำให้เกิดการตีบแคบของหลอดลม ทำให้เกิดอาการไอ

ชนิดของอาการไอ

ถ้าแบ่งตามระยะเวลาของอาการไอ แบ่งได้ 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ

  1. ไอเฉียบพลัน
  2. ไอเรื้อรัง
  • ไอเฉียบพลัน
    ไอเฉียบพลันมีระยะเวลาของอาการไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หวัด โพรงไซนัสอักเสบฉับพลัน คอหรือกล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ อาการกำเริบของโรคถุงลมโป่งพอง ปอดอักเสบ การที่มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในหลอดลม หรือสัมผัสกับสารระคายเคืองในสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ กลิ่นสเปรย์ แก๊ส มลพิษทางอากาศ
  • ไอเรื้อรัง
    ไอเรื้อรังมีระยะเวลาของอาการไอมากกว่า 3 สัปดาห์ ถึง 8 สัปดาห์ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง รับประทานยารักษาความดันโลหิตสูงชนิด ACEI เป็นระยะเวลานาน โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังแล้วมีน้ำมูกไหลลงคอ โรคหืด โรคกรดไหลย้อน การใช้เสียงมากทำให้เกิดสายเสียงอักเสบเรื้อรัง เนื้องอกบริเวณคอ กล่องเสียงหรือหลอดลม โรคของสมองส่วนที่ควบคุมการไอ วัณโรคปอด ผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรัง บางรายอาจมีสาเหตุมากกว่าหนึ่งชนิด ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการตรวจหาสาเหตุและรักษาตามสาเหตุ

วิธีรักษาอาการแก้ไอเรื้อรัง รักษาไอเรื้อรัง แบบมีเสมหะ

อาการไอเรื้อรังในเด็ก

เด็กที่มีประวัติไอนานติดต่อกันนานกว่า 4 สัปดาห์ จัดว่ามีอาการไอเรื้อรัง ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องตรวจค้นหาสาเหตุว่าเป็นจากอะไร อาการไอเรื้อรังในเด็กพบได้ ประมาณร้อยละ 8 เด็กผู้ชายเป็นมากกว่าเด็กผู้หญิง ในขณะที่อาการไอที่เกิดขึ้นเฉียบพลันมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ แต่อาการไอชนิดเรื้อรังในเด็กเกิดจากสาเหตุอื่นๆ มากกว่า ซึ่งร้อยละ 80 ของผู้ป่วยเด็กทั้งหมดที่มีอาการไอเรื้อรังสามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้

สาเหตุของอาการไอเรื้อรังที่พบบ่อยในเด็กอายุ 0-1 ปี

  • ภาวะกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารเข้าสู่หลอดอาหาร
  • การติดเชื้อ
  • ความพิการแต่กำเนิด
  • โรคหัวใจแต่กำเนิด
  • ได้รับควันบุหรี่ในปริมาณมาก
  • มลพิษจากสิ่งแวดล้อม
  • โรคหอบหืด

สาเหตุของอาการไอเรื้อรังที่พบบ่อยในเด็กเล็ก

  • ภาวะภูมิไวเกินของทางเดินหายใจ
  • โรคหอบหืด
  • ได้รับควันบุหรี่
  • ภาวะกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารเข้าสู่หลอดอาหาร
  • สิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจ
  • โรคหลอดลมโป่งพอง

สาเหตุของอาการไอเรื้อรังที่พบบ่อยในเด็กโตและวัยรุ่น

  • โรคหอบหืด
  • โรคภูมิแพ้
  • บุหรี่
  • วัณโรค
  • โรคหลอดลมโป่งพอง
  • ภาวะทางจิตใจ

สาเหตุจากโรคติดเชื้อ

  • อาการไอเรื้อรังในเด็กที่เกิดจากโรคติดเชื้อ พบได้บ่อยพอสมควร บางครั้งอาจวินิจฉัยแยกยากจากโรคหอบหืด เชื้อไวรัสที่เป็นต้นเหตุ ได้แก่ respiratory syncytial virus และพาราอินฟลูเอนซาไวรัส ส่วนเชื้ออื่นๆ ที่พบเป็นสาเหตุ เช่น เชื้อมัยโคพลาสมา เชื้อคลามัยเดีย รวมทั้งเชื้อโรคไอกรน ปัจจุบันโรคไอกรนพบน้อยลงไปมาก เนื่องจากการได้รับวัคซีนที่ทั่วถึง แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาวัณโรคในเด็กยังพบได้เสมอๆ ในประเทศไทยยังคงต้องนึกถึงโรคนี้ และทำการตรวจเชื้อวัณโรคเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

สาเหตุจากโรคหอบหืดและภูมิแพ้

  • อาการไอเรื้อรังในเด็กอาจไม่ได้เกิดจากโรคติดเชื้อ ที่พบได้บ่อยๆ เช่น ไอจากหลอดลมมีภูมิไวเกิน หรือเด็กเป็นโรคหอบหืด ส่วนใหญ่เด็กจะไม่มีไข้ ไอหายยาก ไอมากกลางคืน เล่นแล้วเหนื่อยง่าย เล่นมากแล้วไอ หรือหอบ มักจะมีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว

ผลเสียของอาการไอ

  1. การที่ไอมากๆ ทำให้เสียบุคลิกภาพในการอยู่ร่วมในสังคมต่างๆ ทำให้เป็นที่รำคาญหรือเป็นที่รังเกียจของผู้อื่น และยังอาจแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้
  2. รบกวนการรับประทานอาหาร และรบกวนการนอนหลับ
  3. ในกรณีที่ผู้ป่วยอายุมาก การไอมากๆ อาจทำให้กระดูกอ่อนซี่โครงหักได้ อาจทำให้ถุงลมหรือเส้นเลือดฝอยในปอดแตกออกสู่โพรงเยื่อหุ้มปอด เกิดภาวะลมในช่องเยื่อหุ้มปอด เลือดออกในช่องเยื่อหุ้มปอด เกิดอาการหอบเหนื่อยและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  4. นอกจากนี้มีผลเสียต่อการผ่าตัดตา และหู เช่น การผ่าตัดต้อกระจก การไออาจทำให้เลนส์แก้วตาเทียมที่ใส่ไปในลูกตาหลุดออกได้ หรือการผ่าตัดปะเยื่อแก้วหู การไออาจทำให้เยื่อแก้วหูเทียมที่วางไว้เคลื่อนที่ออกมาได้

ลักษณะอาการไอ
รูปแบบของการไออาจจะพอบอกให้ทราบถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กมีอาการไอเรื้อรังได้ เช่น

  • ถ้าไอมีเสมหะด้วย บ่งชี้ว่าเกิดจากหลอดลมอักเสบ หรือมีการติดเชื้อ
  • ถ้าไอก้องๆ อาจบ่งถึงการอักเสบที่ท่อลมขนาดใหญ่ เช่น ที่กล่องเสียง หรือไอจนติดเป็นนิสัย
  • ถ้าไอแล้วเสียงแบบหมาเห่า ควรคิดถึงโรคครุป
  • ไอต่อเนื่องกันเป็นชุดๆ ช่วงๆ อาจทำให้นึกถึง การสำลักสิ่งแปลกปลอม การติดเชื้อคลามัยเดีย เชื้อไอกรน
  • เวลาที่ไออาจบอกว่าไอมากกลางคืน ไอเป็นจากน้ำมูกไหลลงคอ เป็นจากโพรงจมูกอักเสบหรือที่รู้กันว่าเป็นไซนัสอักเสบหรือเป็นไอจากเป็นโรคหอบหืด ถ้าไอแต่ตอนเช้าๆ อาจเป็นจากโรคหลอดลมโป่งพอง ที่มีเสมหะมากออกมาเป็นคำๆอย่างนั้น
  • ถ้าเล่นมาก ออกแรงมากแล้วไอ ต้องคิดถึงโรคหลอดลมที่ภูมิไวเกิน
  • ถ้านอนหลับหยุดไอได้ ตื่นแล้วไอ อาจเป็นจากไอจนติดเป็นนิสัยไปเสียแล้ว

โรคบางโรคอาจทำให้เกิดการไอที่มีลักษณะจำเพาะ

  1. หวัด จะมีอาการไอร่วมกับคัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ และมีไข้
  2. ปอดบวม ไอ หอบ มีไข้ และมีอาการเจ็บหน้าอกขณะหายใจเข้า
  3. หืด ไอ หอบ และมีเสียงหวีดในทรวงอก เป็นๆหายๆ มักเป็นตอนเช้ามืด หรือตอนดึก
  4. วัณโรคปอด มีอาการไอร่วมกับมีไข้ในตอนบ่าย และมีเหงื่อออกมากในตอนเย็น ร่วมกับอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  5. หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ไอมีเสมหะแทบทุกวัน ต่อเนื่องกันมากกว่า 3 เดือน และมีอาการเช่นนี้อย่างน้อย 2 ปี ติดต่อกัน ในผู้ที่สูบบุหรี่มานาน
  6. มะเร็งปอด ไอมานาน เสมหะไม่ค่อยมาก อาจมีเลือดปนเสมหะ มักจะไม่มีไข้
  7. หลอดลมโป่งพอง ไอ เสมหะข้นเป็นหนอง มีกลิ่นเหม็น อาจมีเลือดปน และเป็นมานานนับปี
  8. โรคกรดไหลย้อน ไอเวลานอน รู้สึกมีน้ำเปรี้ยวในคอ อาจมีความรู้สึกแสบหน้าอกด้วย
  9. โรคหัวใจล้มเหลว ไอและหอบเมื่อนอนราบ เมื่อลุกขึ้นนั่งจะดีขึ้น

การวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุของการไอ

แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติ การตรวจร่างกายโดยเฉพาะในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง และอาจส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น ส่งตรวจภาพถ่ายรังสีของโพรงไซนัสและปอด การส่องกล้องตรวจระบบทางเดินหายใจ การตรวจเสมหะ การตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด ร้อยละ 60-70 ของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการไอ สามารถให้การวินิจฉัยได้จากการซักถามประวัติอาการอย่างละเอียด เช่น เป็นมาตั้งแต่เมื่อไร นานเท่าไรแล้ว อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ไอ รูปแบบการไอเป็นอย่างไร แพทย์จะซักถามเพื่อแยกให้ได้ว่าเป็นการไอติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง หรือไอแล้วหายไปแล้วกลับมาเป็นใหม่ ดังนี้เป็นต้น นอกจากนี้ แพทย์จะถามถึงประวัติการเลี้ยงดูเด็ก ประวัติโรคภูมิแพ้ หอบหืดในครอบครัว ประวัติโรคติดต่อ โรควัณโรค และมีคนสูบบุหรี่ในครอบครัวหรือไม่ สำหรับการตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจร่างกายเด็ก ตรวจดูทางเดินหายใจส่วนบน ส่วนล่าง ตรวจการหายใจ ฟังเสียงหายใจว่าเป็นโรคที่ตำแหน่งใด ตรวจดูนิ้วปุ้ม ตรวจระบบหัวใจและหลอดเลือด บางรายอาจพิจารณาตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ถ่ายภาพรังสีทรวงอก โพรงจมูก ทำทดสอบที่ผิวหนังดูว่ามีการติดเชื้อวัณโรคหรือไม่ หลักสำคัญคือตรวจเพิ่มเติมตามข้อบ่งชี้ที่ได้จากการซักถามประวัติและผลการตรวจร่างกาย

การรักษาอาการไอ

การรักษาที่สำคัญที่สุด คือ การหาสาเหตุของอาการไอและรักษาตามสาเหตุ

  • ถ้าผู้ป่วยไอจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนหรือล่าง เช่น หวัด หรือหลอดลมอักเสบ และมีอาการไอไม่มากนักอาจให้การรักษาเบื้องต้น เช่น ยาบรรเทาอาการไอไปก่อนได้ กรณีที่ไอมีเสมหะ เสมหะที่เหนียวข้นมาก จะถูกขับออกจากหลอดลมได้ยากโดยการไอ การให้ยาละลายเสมหะจะช่วยให้เสมหะถูกขับออกได้ง่ายขึ้นและบรรเทาอาการไอได้ แต่หากผู้ป่วยได้รับยาดังกล่าวแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาตามสาเหตุ
  • หากมีอาการของการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เสมหะมีสีเหลืองหรือเขียว แพทย์อาจให้ยาต้านจุลชีพร่วมด้วย
  • การที่ผู้ป่วยไม่ได้รับการวินิจฉัยหาสาเหตุและรักษาที่ถูกต้องอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
  • ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยเด็กที่มีอาการไอเรื้อรังสามารถค้นหาสาเหตุได้ และผลการรักษาขึ้นกับโรคที่ผู้ป่วยเป็น รวมทั้งความรุนแรงของโรคในขณะนั้น

ยาระงับไอ

  • ออกฤทธิ์ที่จุดรับสัญญาณการไอส่วนปลาย หรือออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลางของสมองที่ควบคุมอาการไอ มีสองชนิด ชนิดเสพติด เช่น โคเดอีน เป็นต้น และนิดไม่เสพติด ได้แก่ เดกซ์โทรเมทอร์แฟน
  • เลือกใช้ในกรณีที่ไอแห้งๆ และไม่มีเสมหะ
  • ชนิดเสพติดเป็นยาอันตราย ควรใช้ตามแพทย์สั่ง ระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคหอบหืด เพราะจะทำให้เสมหะเหนียวข้น และไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 10 วัน จะเกิดการติดยาและดื้อยา
  • ยาระงับไอ ห้ามใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน

ยาขับเสมหะ

  • กระตุ้นการขับเสมหะให้มีการขับเสมหะได้ง่าย โดยกระตุ้นการทำงานของเยื่อบุในระบบทางเดินหายใจในการกำจัดเสมหะ และเพิ่มปริมาณสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ ทำให้ปริมาณเสมหะมากขึ้น ทำให้ไอเอาเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น
  • ตัวอย่างยาขับเสมหะ ได้แก่ potassium guaiacolsulphonate, terpin hydrate, ammonium chloride, glyceryl guaiacolate
  • พิจารณาเลือกใช้ในกรณีที่ไอแบบมีเสมหะ
  • ยาขับเสมหะแอมโมเนียมคลอไรด์ ควรระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ หรือโรคไต

ยาละลายเสมหะ

  • ช่วยลดความเหนียวของเสมหะลง ทำให้ร่างกายกำจัดหรือขับเสมหะออกได้ง่ายขึ้น
  • ตัวอย่างยาละลายเสมหะ ได้แก่ ambroxol hydrochloride, bromhexine, carbocysteine
  • เลือกใช้ในกรณีไอแบบมีเสมหะมาก และเหนียวข้น นิยมใช้ร่วมกับยาขับเสมหะ

ยาที่ทำให้ชุ่มคอ

  • ยาจะไปเคลือบผิวหลอดลม และลดอาการระคาย
  • ใช้สำหรับอาการไอทุกชนิด เช่น ยาแก้ไอน้ำเชื่อม

Dextromethorphan (Cortuss, Dextroral, pusiran, Polydex P/Polydex Y, Rocof Menthol, Tussils 5)

  1. เดกซ์โทรเมทอร์แฟนออกฤทธิ์โดยกดศูนย์การไอในสมอง โดยไม่มีฤทธิ์เป็นยาขับเสมหะ ในขนาดที่ใช้รักษาไม่มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์พัดโบกที่บุทางเดินหายใจ ดูดซึมได้เร็วจากทางเดินอาหาร ยาออกฤทธิ์ภายใน 15-30 นาทีหลังรับประทาน ระยะเวลาในการออกฤทธิ์ประมาณ 3-6 ชั่วโมง
  2. วิธีใช้ยา 
    - ผู้ใหญ่และเด็กอายุ >12 ปี : 10-20 มิลลิกรัม ทุก 4 ชม. หรือ 30 มิลลิกรัม ทุก 6-8 ชม. แต่ไม่ควรเกิน 120 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ ควรรับประทานตามแพทย์สั่ง
    - เด็ก 6-12 ปี : 5-10 มิลลิกรัม ทุก 4 ชม. หรือ 15 มิลลิกรัม ทุก 6-8 ชม. แต่ไม่ควรเกิน 60 มิลลิกรัมต่อวัน
  3. ข้อบ่งใช้ ใช้บรรเทาอาการไอ จากการระคายเคืองของคอ และหลอดลม ซึ่งเกิดจากไข้หวัด หรือสารระเหยที่ระคายเคือง โดยยาตัวนี้มีผลดี ในการรักษาอาการไอแบบเรื้อรังที่ไม่มีเสมหะ
  4. ผลข้างเคียงน้อย ไม่มีฤทธิ์ระงับปวด ไม่ทำให้เกิดการเสพติด ควรใช้อย่างระมัดระวังในเด็กที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ ไม่ควรใช้กับอาการไอแบบเรื้อรัง ในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่มานาน ผู้ป่วยโรคหอบหืด หรือ โรคถุงลมปอดโป่งพอง หรือไอที่มีเสมหะมากเกินไป
  5. ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟนที่มีส่วนผสมของ aspartame ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่เป็น phenylketonuria
  6. ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟนที่มีส่วนผสมของ tartrazine อาจเกิดการแพ้ได้ พบบ่อยในผู้ป่วยที่แพ้ aspirin

Benzonatate (Tesalon)

  1. ใช้แก้ไอแห้ง ถ้าเป็นแคปซูล ไม่ควรเคี้ยวหรือละลายยา กรณีอายุมากกว่า 10 ปี รับประทาน 1 แคปซูลทุก 4 ช.ม. ไม่ควรเกินวันละ 6 แคปซูล กรณีอายุน้อยกว่า 10 ปี ขนาดยาที่ให้ 8 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้ 3 –6 ครั้ง
  2. ถ้าลืมทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าใกล้กับเวลาที่จะทานครั้งต่อไป ไม่ต้องทานยาครั้งที่ลืม ให้ข้ามไปทานครั้งปกติ ไม่ควรทานยาเพิ่มเป็น 2 เท่า
  3. ผลข้างเคียงของยา ในบางรายอาจเกิดอาการปวดหัว วิงเวียน คัดจมูก คลื่นไส้ ไม่สบายท้อง ท้องผูก ผื่นคัน
  4. สามารถใช้ได้ในสตรีมีครรภ์ และระหว่างการให้นมบุตร ไม่ควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่แพ้ยา

odeine (Codipront)

  1. ยาดูดซึมได้ดีจากเยื่อบุทางเดินอาหาร หลังจากให้ยาทางปากแล้ว ยาจะออกฤทธิ์ภายในเวลา 1-2 ชั่วโมง และฤทธิ์จะอยู่ได้นานถึง 4 ชั่วโมง เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตับ และถูกขับออกทางปัสสาวะ
  2. วิธีใช้ยา
    - ผู้ใหญ่ 10–20 มิลลิกรัม ทุก 4 – 6 ชั่วโมง ไม่ควรทานเกิน 120 มิลลิกรัมต่อมิลลิกรัม 
    - เด็ก อายุ 6–12 ปี ทาน 5 –10 มิลลิกรัม ทุก 4 – 6 ชั่วโมง ไม่ควรทานเกิน 60 มิลลิกรัมต่อวัน
    - อายุ 2–6 ปี ทาน 2.5 – 5 มิลลิกรัม ทุก 4 – 6 ชั่วโมง ไม่ควรทานเกิน 30 มิลลิกรัมต่อวัน
  3. ระหว่างที่ใช้ยานี้ไม่ควรขับรถ หรือทำงานที่ต้องใช้สติตลอดเวลา ไม่ควรทานยานี้ร่วมกับเหล้า
  4. ไม่ควรใช้แก้อาการไอเรื้อรังที่เกิดจากการสูบบุหรี่ หอบหืด ถุงลมโป่งพอง หรืออาการไอที่มีเสลดเยอะ นอกจากอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
  5. อาจมีอาการปากแห้ง ท้องผูกได้ อาจมีอาการไม่สบายท้องให้แก้โดยทานพร้อมอาหาร หรือดื่มนมตาม
  6. อาการข้างเคียงของยา อาจมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน ท้องผูก
  7. ไม่ควรใช้ยานี้กับผู้ป่วยหอบหืด ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับ ไต ผู้ป่วยที่มีไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ และผู้สูงอายุ
  8. หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในสตรีมีครรภ์ สตรีที่ให้นมบุตร และไม่ควรใช้ยานี้ในเด็ก

ารปฏิบัติตนขณะมีอาการไอ

  1. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้ไอมากขึ้น เช่น สารเคมี ควันบุหรี่ ฝุ่น มลพิษทางอากาศ สารก่ออาการระคายเคือง อากาศเย็นๆ โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมเป่า การดื่มหรืออาบน้ำเย็น การรับประทานไอศกรีม หรืออาหารที่ระคายคอ เช่น อาหารที่ทอดด้วยน้ำมัน
  2. ถ้าต้องการเปิดเครื่องปรับอากาศ ควรตั้งอุณหภูมิให้สูงกว่า 25 องศาเซลเซียสเพื่อไม่ให้อากาศเย็นจนเกินไป ในกรณีที่ใช้พัดลม ไม่ควรเปิดเบอร์แรงสุด และควรให้พัดลมส่ายไปมา
  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมโดยตรง เนื่องจากอากาศที่เย็นสามารถกระตุ้นหลอดลม ทำให้หลอดลมหดตัวและไอมากขึ้นได้
  4. ควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายให้เพียงพอขณะนอน เช่น นอนห่มผ้า ถ้าจะให้ดี ควรใส่ถุงเท้าเวลานอนด้วย ในกรณีที่ไม่ชอบห่มผ้า หรือห่มแล้วชอบสะบัดหลุดโดยไม่รู้ตัว ควรใส่เสื้อหนาๆ แขนยาวหรือใส่เสื้อ 2 ชั้นและกางเกงขายาวเข้านอน
  5. ปิดปากและจมูกเวลาไอ ด้วยผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษทิชชู
  6. ล้างมือทุกครั้ง ถ้าใช้มือป้องปากเวลาไอ
  7. ดื่มน้ำอุ่นมากๆ
  8. ผู้ที่สูบบุหรี่ควรหลีกเลี่ยงหรืองดการสูบบุหรี่

การป้องกันอาการไอ

  1. ดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกประเภท รวมทั้งผักและผลไม้
  2. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอทุกวันหรือเล่นกีฬาเป็นประจำ
  3. หลีกเลี่ยงความเครียดและการสัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ
  4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  5. พยายามอยู่ห่างจากผู้ที่ไม่สบายทั้งที่บ้านและที่ทำงาน เนื่องจากอาจได้รับเชื้อโรคจากบุคคลดังกล่าวได้


ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

แหล่งที่มา : ppkbr.ac.th

อัพเดทล่าสุด