มะเร็งรังไข่เกิดจากสาเหตุใด..อันตรายแค่ไหน? โปรดตอบ


3,822 ผู้ชม

โรคมะเร็ง เป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตของคนไทยสูงสุดเลยทีเดียว คนที่เป็นโรคมะเร็งก็เหมือนมีเนื้อตัวร้ายที่คอยกัดกินชีวิต ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และถูกวิธี


มะเร็งรังไข่เกิดจากสาเหตุใด..อันตรายแค่ไหน? โปรดตอบ

โรคมะเร็ง เป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตของคนไทยสูงสุดเลยทีเดียว คนที่เป็นโรคมะเร็งก็เหมือนมีเนื้อตัวร้ายที่คอยกัดกินชีวิต ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และถูกวิธี ซึ่งต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูงมาก อีกทั้งผู้ป่วยก็ต้องได้รับความเจ็บปวดจากโรคร้ายและกระบวนการรักษา แต่กระนั้นแล้วก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะหายจากโรคได้หรือไม่ และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งได้หลายชนิดโดยไม่รู้ตัว อย่างมะเร็งรังไข่ก็เช่นกัน ดังนั้นสาวๆ ควรใส่ใจที่จะรู้จักกับโรคมะเร็งชนิดนี้ เพื่อจะได้สำรวจตัวเองก่อนที่มะเร็งร้ายนั้นจะลุกลามหนักขึ้น

รังไข่คืออะไร มีหน้าที่สำคัญอย่างไร

      รังไข่ คือ อวัยวะเพศอย่างหนึ่งของผู้หญิง มีลักษณะคล้ายเมล็ดอัลมอนด์ มีขนาดทั่วไปประมาณ 2-3 เซนติเมตร จะอยู่ข้างปีกมดลูกทั้งสองข้าง หน้าที่หลักๆ คือ ผลิตไข่สำหรับผสมกับเชื้อของเพศชายจนกลายเป็นตัวอ่อนฝังอยู่ในโพรงมดลูก อีกหน้าที่สำคัญคือผลิตฮอร์โมนเพศหญิง

สัญญาณอาการของ “มะเร็งรังไข่”

    – ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง
    – เรอบ่อยขึ้น
    – ปวดปัสสาวะบ่อย หรืออั้นปัสสาวะไม่อยู่ ซึ่งเป็นเพราะจากการที่ก้อนมะเร็งอาจไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ
    – ท้องผูก จากการที่ก้อนมะเร็งไปเบียดลำไส้เล็ก หรือลำไส้ใหญ่
    – คลำพบก้อนเนื้อบริเวณท้องน้อย มีก้อนในช่องท้องหรือช่องเชิงกราน จึงอาจทำให้เกิดอาการแน่นหรือปวดท้อง 
    – ปวดท้องน้อย
    – มีประจำเดือนที่ผิดปกติ
    – เมื่อเซลล์มะเร็งมีการกระจายไปในช่องท้อง อาจทำให้เกิดน้ำในช่องท้อง ซึ่งจะทำให้ดูเหมือนอ้วนขึ้นได้ สังเกตได้ว่าท้องโตขึ้นกว่าเดิม มีน้ำในช่องท้อง หรือเรียกได้ว่าท้องมาน

อาการที่พึงระวัง

     ปกติการปวดประจำเดือนจะมี 2 ลักษณะคือ ปวดวันแรก หรือก่อนมีประจำเดือน 1 วัน ซึ่งหลังจากนั้นอาการจะดีขึ้นหรือเมื่อไปออกกำลังกายแล้วอาการดีขึ้น หรือปวดเล็กน้อย แต่ยังสามารถทำงานและใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่หากมีอาการปวดตั้งแต่ประจำเดือนมาจนกระทั่งหมด หรือปวดรุนแรงจนตัวบิดตัวงอ ต้องรีบไปพบแพทย์ รวมไปถึงคนที่เคยตรวจพบว่าเป็นโรคนี้
     ลักษณะของโรค : เริ่มต้นมาจากการปวดประจำเดือนหลังคลอดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกที่ขึ้นผิดที่ หากอักเสบเรื้อรังแล้วไม่ได้รับการรักษาก็จะเปลี่ยนไปเป็นโรคมะเร็งได้ โดยเซลล์มะเร็งจะทำให้ท้องน้อยขยายใหญ่ขึ้น และมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง แม้จะไม่ใช่เวลาของการมีประจำเดือนซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายบ่งบอกถึงอาการของโรคมะเร็งรังไข่ ซึ่งลักษณะพิเศษของมะเร็งรังไข่ก็คือ เซลล์มะเร็งจะแพร่ขยายอย่างรวดเร็ว และเนื่องจากมีอาการแสดงให้เห็นน้อยทำให้ไม่สามารถสังเกตได้ง่าย ฉะนั้นหลายคนที่เป็นโรคนี้ กว่าจะตรวจรู้ว่าเป็นมะเร็งก็ลามไปถึงปอดแล้ว
     
     

     ปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งรังไข่

    – พันธุกรรม ในครอบครัวอาจเคยเป็นโรคมะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งลำไส้มาก่อน
    – อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสพบมะเร็งรังไข่ได้มากกว่าช่วงอายุอื่นๆ
    – ผู้ที่เคยเป็นมะเร็งที่เต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งระบบทางเดินอาหาร โอกาสเป็นมะเร็งรังไข่อาจมีมากกว่าคนปกติ
    – พบมะเร็งรังไข่ในผู้ที่อ้วน หรือน้ำหนักเกินมาตรฐานมากกว่าคนผอม
    – พบในผู้ที่ยังไม่เคยตั้งครรภ์ มากกว่าคนที่มีบุตรแล้ว
    – พบในคนที่มีประจำเดือนเร็ว คือก่อนอายุ 12 ปี หรือผู้หมดประจำเดือนช้า หรือหลังอายุ 55 ปี
    – อาจเคยใช้ยากระตุ้นการตกไข่ เพื่อช่วยในการมีบุตร
    – อาจเคยใช้ฮอร์โมนเพศ เพื่อชดเชยช่วงที่หมดประจำเดือน
    – สภาพแวดล้อม เช่น สูบบุหรี่ สารเคมี อาหาร เนื่องจากพบว่าในประเทศอุตสาหกรรมมีผู้ป่วยเป็นมะเร็งรังไข่มากกว่าประเทศเกษตรกรรม
มะเร็งรังไข่มี 3 ชนิด เราสามารถจำแนกชนิดของมะเร็งรังไข่ตามตำแหน่งเริ่มต้นของเซลล์มะเร็งได้ 3 กลุ่ม คือ
    1. Epithelial Tumors : มะเร็งเยื่อบุผิวรังไข่ จุดเริ่มต้นที่เซลล์เยื่อบุผิวรังไข่และช่องท้อง เป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยที่สุดประมาณ 90% ของมะเร็งรังไข่
    2. Germ Cell Tumors : มะเร็งฟองไข่ จุดเริ่มต้นของก้อนเนื้องอกที่เกิดจากเซลล์สืบพันธุ์ต้นกำเนิด พบได้ร้อยละ 5-10 ของมะเร็งรังไข่ มักพบในผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี 
    3. Sex Cord-Stromal Tumors : มะเร็งเนื้อรังไข่ จุดเริ่มต้นที่เนื้อเยื่อเกี่ยวกันของรังไข่ ซึ่งผลิตฮอร์โมนเพศหญิง โอกาสพบน้อยมาก
ทั้ง 3 กลุ่มข้างต้นยังสามารถแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ของร่างกายที่เรียกว่าเป็นมะเร็งรังไข่ระยะแพร่กระจายได้ด้วย

การวินิจฉัยและตรวจหามะเร็งรังไข่

    1. ตรวจภายใน (Pelvic Exam) ตรวจบริเวณช่องท้องและช่องเชิงกรานเพื่อหาก้อน โดยมีการนำเทคโนโลยีการถ่ายภาพเข้ามาช่วยให้การตรวจละเอียดชัดเจนขึ้น
    2. การทำแปปสเมียร์ จากในช่องคลอดส่วนบนทางด้านหลัง ซึ่งอาจพบเซลล์มะเร็งได้
    3. Transvaginal ultrasound ตรวจโดยใช้เครื่องมือชนิดที่ หัวตรวจชนิดเรียวยาวใส่เข้าไปในช่องคลอด สามารถดูมดลูก และสิ่งผิดปกติที่อยู่หลังมดลูก
    4. ตรวจ CA-125 หากระดับ CA-125 สูงเกินปกติ อาจบ่งชี้ถึงการเป็นมะเร็งรังไข่ แต่ก็มีโรคอื่นด้วยเช่นกันที่ CA-125 สูงได้จึงต้องทำการตรวจเพิ่มเติม
    5. CT scan  เพื่อสามารถดูภาพละเอียดภายในร่างกายได้
    6. Barium enema เป็นการเอกซเรย์ทางเดินอาหารส่วนล่างด้วยการสวนสารทึบรังสีทางทวาร
    7. Intravenous pyelogram เป็นการเอกซเรย์ดูไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ 
    8. การผ่าตัดเปิดช่องท้อง วิธีนี้จะทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา นับเป็นการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำที่สุด ทำให้ทราบชนิดและระยะของมะเร็งได้

มะเร็งรังไข่ ระยะแรก-ระยะสุดท้าย มีอาการและความอันตรายดังนี้

    ระยะที่ 1 : เซลล์มะเร็งยังอยู่ภายในรังไข่ 1 หรือ 2 ข้าง
    ระยะที่ 2 : เซลล์มะเร็งกระจายจากรังไข่สู่อวัยวะในช่องเชิงกราน เช่น ท่อนำไข่ หรือมดลูก
    ระยะที่ 3 : เซลล์มะเร็งกระจายจากรังไข่และช่องเชิงกราน ไปยังช่องท้องหรือต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง
    ระยะที่ 4 : เซลล์มะเร็งกระจายจากรังไข่ไปยังอวัยวะที่ไกลออกไป เช่น ตับ ปอด

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งรังไข่

    เนื่องจากมะเร็งเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถป้องกันหรือยับยั้งการเกิดของโรคได้ หากพบอาการผิดปกติ เช่น มีอาการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรง หรือคนที่พบว่าเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูก ควรรีบไปพบแพทย์และตรวจวินิจฉัยเพื่อรักษาแต่เนิ่นๆ หากตรวจพบมะเร็งรังไข่ แพทย์จะพิจารณาการรักษาตามระยะของมะเร็งและโดยส่วนมากจะทำการรักษาไปตามอาการของคนไข้ ซึ่งการรักษามะเร็งรังไข่ทำได้โดยใช้วิธีการผ่าตัด รังสีวิทยา เคมีบำบัด ซึ่งก็ต้องแล้วแต่การพิจารณาของแพทย์ผู้ทำการรักษาด้วย
    เพราะผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งรังไข่ รวมถึงมะเร็งชนิดอื่นๆ ได้ คุณจึงควรหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ ใส่ใจเรื่องอาหารการกิน ออกกำลังกาย การพักผ่อน และสภาพแวดล้อม ให้เหมาะสมอยู่เสมอ อีกทั้งควรเข้ารับการตรวจสุขภาพทุกปี เพื่อความสบายใจ และป้องกันการลุกลามของมะเร็ง เพราะหากพบเซลล์มะเร็งตั้งแต่เนิ่นๆ ก็มีโอกาสรักษาให้หายมากขึ้นตามไปด้วยนั่นเองค่ะ

เนื้อหาโดย : kaijeaw.com


อัพเดทล่าสุด