แจกวิธีปลูกทุเรียน พร้อมระยะใส่ปุ๋ยเพื่อให้ต้นโตไว ได้เก็บผลผลิตเร็วๆ..ง่ายๆแบบจับมือทำ


2,901 ผู้ชม

วิธีปลูกทุเรียน การปลูกทุเรียนสามารถปลูกได้ทุกภาค กล้าคิดกล้าทำ ชีวิตเปลี่ยน จังหวัดศรีสะเกษที่ว่าร้อนๆ ตอนนี้ปลูกทุเรียนส่งออก


แจกวิธีปลูกทุเรียน พร้อมระยะใส่ปุ๋ยเพื่อให้ต้นโตไว ได้เก็บผลผลิตเร็วๆ..ง่ายๆแบบจับมือทำ

วิธีปลูกทุเรียน การปลูกทุเรียนสามารถปลูกได้ทุกภาค กล้าคิดกล้าทำ ชีวิตเปลี่ยน จังหวัดศรีสะเกษที่ว่าร้อนๆ ตอนนี้ปลูกทุเรียนส่งออก

สภาพดิน ควรเป็นดินร่วน ดินร่วนปนทราย ดินเหนียวปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี และมีหน้าดินลึก เพราะทุเรียนเป็นพืชที่อ่อนแอต่อสภาพน้ำขัง และความเป็นกรดด่างของดินอยู่ระหว่าง 5.5 ถึง 6.5 หากจำเป็นต้องปลูกทุเรียนในสภาพดินทราย จำเป็นจะต้องนำหน้าดินจากแหล่งอื่นมาเสริม ต้องใส่ปุ๋ยคอกรวมถึงต้องมีการดูแลเรื่องการให้น้ำมากเป็นพิเศษ และแหล่งน้ำต้องเพียงพอด้วย

ต้องมีแหล่งน้ำจืดให้ต้นทุเรียนได้เพียงพอตลอดทั้งปี

ต้นกล้าที่นำมาปลูกควรอายุ 1 ขึ้นไป

การเตรียมพื้นที่ ต้องปรับพื้นที่ก่อนที่จะกำหนดผังปลูกและติดตั้งระบบน้ำ โดยปรับพื้นที่ให้ราบไม่ให้มีแอ่งที่น้ำท่วมขังได้ และถ้าเป็นไปได้ควรปรับเป็นเนินลูกฟูกเพื่อปลูกทุเรียนบนสันเนิน ระยะห่างระหว่างต้นและระหว่างแถวด้านละ 9 เมตร ปลูกได้ไร่ละ 20 ต้น หรือ 8 ถึง 10 X 8 ถึง10 เมตร ปลูกทุเรียนได้ประมาณ 16 ถึง 25 ต้นต่อไร่ และการทำสวนขนาดใหญ่ ควรขยายระยะระหว่างแถวให้กว้างขึ้นเพื่อสะดวกต่อการนำเครื่องจักรกลต่างๆ ไปทำงานในระหว่างแถว นอกจากนี้ในการวางแนวกำหนดแถวปลูก จะต้องคำนึงถึงแนวปลูกขวางความลาดเทของพื้นที่ หรืออาจกำหนดในแนวตั้งฉากกับถนน หรือกำหนดแถวปลูกไปในแนวทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก และถ้ามีการจัดวางระบบน้ำจะต้องพิจารณาแนวทางจัดวางท่อในสวนด้วย จากนั้นจึงปักไม้ตามระยะที่กำหนดเพื่อขุดหลุมปลูกต่อไป

วิธีการปลูก
การปลูกทุเรียนสามารถทำได้ทั้งการขุดหลุมปลูก ซึ่งเหมาะกับพื้นที่ที่ค่อนข้างแล้งและยังไม่มีการวางระบบน้ำไว้ก่อนปลูก ซึ่งวิธีนี้ดินในหลุมจะช่วยเก็บความชื้นได้ดีขึ้น แต่หากมีฝนตกชุก มีน้ำขังจะทำให้รากเน่าและต้นทุเรียนตายได้ง่าย ส่วนการปลูกโดยไม่ต้องขุดหลุม (ปลูกแบบนั่งแท่นหรือยกโคก) เหมาะกับพื้นที่ฝนตกชุก วิธีนี้ทำให้มีการระบายน้ำดี น้ำไม่ขังบริเวณโคนต้น แต่ต้องวางระบบน้ำให้ดีก่อนปลูก ซึ่งต้นทุเรียนจะเจริญเติบโตเร็วกว่าการขุดหลุม ทั้งนี้จุดเน้นที่สำคัญ คือ ควรใช้ต้นกล้าที่มีขนาดเล็ก มีระบบรากดี ไม่ขดงอ แต่หากจะปลูกด้วยต้นกล้าขนาดใหญ่ควรตัดแต่งรากที่ขดงอทั้งที่ก้นถุงและด้านข้าง รวมทั้งควรมีการพรางแสงให้กับต้นทุเรียนที่ปลูกใหม่ด้วยตาข่ายพรางแสงหรือ(ทาง) ใบมะพร้าว หรือปลูกไม้ที่ให้ร่มเงา เช่น กล้วย เป็นต้น

ฤดูปลูก
หากมีการจัดระบบการให้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดูแลให้น้ำกับต้นทุเรียนได้สม่ำเสมอช่วงหลังปลูก และควรปลูกตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน แต่ถ้าหากจัดระบบน้ำไม่ทันหรือยังไม่อาจดูแลเรื่องน้ำได้ ควรจะปลูกในช่วงต้นฤดูฝน

การให้น้ำ
การให้น้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อการเจริญเติบโตที่ดีและต่อเนื่อง

การตัดแต่งกิ่ง
เริ่มตัดแต่งกิ่งหลังจากปลูกแล้วประมาณ 1 ถึง 1.5 ปี เพื่อให้ต้นทุเรียนมีโครงสร้างและทรงพุ่มที่ดี และการตัดแต่งกิ่งจะต้องเว้นลำต้นเดี่ยว และเว้นกิ่งประธานกิ่งแรกสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร และไว้กิ่งให้เรียงเป็นระเบียบ เหมาะแก่การไว้ผลและไม่บดบังแสงแดดซึ่งกันและกัน และจะต้องควบคุมความสูงของลำต้นไว้ที่ประมาณ 7 เมตร

การใส่ปุ๋ย
ในปีแรกหลังปลูก ควรใส่ปุ๋ยและทำโคน จำนวน 4 ครั้ง (การทำโคน หมายถึง การกำจัดวัชพืชใต้ทรงพุ่ม ถากดินรอบนอกทรงพุ่มมาพูนกลบใต้ทรงพุ่มในลักษณะลาดเอียงจากต้นพันธุ์ออกไปโดยรอบ และหลีกเลี่ยงการถากดินบริเวณโคนต้นเพราะระบบรากทุเรียนที่อยู่ค่อนข้างตื้นใกล้ผิวดินจะได้รับอันตราย และชะงักการเจริญเติบโต หรือทำให้โรครากเน่าโคนเน่าเข้าทำลายได้ง่ายขึ้น) โดยควรใส่ปุ๋ยและทำโคนครั้งที่ 1 หลังจากปลูกแล้วประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นก็ทำต่อเนื่องกันจนถึงสิ้นปี และควรใส่ปุ๋ยและทำโคนเดือนเว้นเดือน

โดยในแต่ละครั้งควรใส่ปุ๋ยในปริมาณ ดังนี้ ครั้งที่ 1 ถึง 3 ใส่ปุ๋ยคอก จำนวน 5 กิโลกรัมต่อต้น
ครั้งที่ 4 ใส่ปุ๋ยคอก 5 กิโลกรัมต่อต้น ร่วมกับปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณ 150-200 กรัมต่อต้น ปีต่อๆ ไป (ระยะที่ต้นทุเรียนยังไม่ให้ผลผลิต) ควรใส่ปุ๋ยและทำโคนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ในช่วงต้นฤดูฝนและหลังฤดูฝน โดยควรใส่ปุ๋ยในปริมาณ ดังนี้

ปุ๋ยคอก อัตราเป็นบุ้งกี๋ต่อต้นต่อปี เท่ากับ 2 เท่าของขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม (เมตร) แบ่งใส่ 2 ครั้งต่อปี ยกตัวอย่าง เช่น ต้นทุเรียนมีเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 3 เมตร ควรใส่ปุ๋ยคอกปีละ 6 บุ้งกี๋ หรือ 13.5 กิโลกรัม แบ่งใส่ 2 ครั้ง (2.25 กิโลกรัม = 1 บุ้งกี๋)

ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตราเป็นกิโลกรัมต่อต้นต่อปี เท่ากับขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม (เมตร) แบ่งใส่ 2 ถึง 4 ครั้งต่อปี ยกตัวอย่าง เช่น ต้นทุเรียนมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ทรงพุ่ม 3 เมตร ควรใส่ปุ๋ยเคมีปีละ 3 กิโลกรัม แบ่งใส่ 2 ถึง 4 ครั้งต่อปี

การตัดแต่งผล
ครั้งที่ 1 เมื่อผลอายุ 4 ถึง 5 สัปดาห์หลังดอกบาน ตัดแต่งผลที่มีขนาดเล็ก รูปทรงบิดเบี้ยว และไม่อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการออก เหลือผลไว้ประมาณ 2 ถึง 3 เท่าของจำนวนผลที่ต้องการไว้จริง ครั้งที่ 2 เมื่อผลอายุ 6 สัปดาห์หลังดอกบาน ระยะนี้ผลที่ปกติจะมีการขยายตัวด้านยาว สีผิวเขียวสดใส หนามมีขนาดปกติเรียวเล็ก ถ้าตรวจพบผลที่มีพัฒนาการผิดปกติ มีขนาดเล็ก หนามแดง หรือมีโรคแมลงเข้าทำลาย ให้ตัดทิ้ง (กรมวิชาการเกษตร)

การดูแลในช่วงติดผลแล้ว มีนาคม- เมษายน
1. ตัดแต่งผลครั้งที่ 1 หลังดอกบาน 3-4 สัปดาห์ ตัดแต่งผลที่มีรูปทรง บิดเบี้ยว ผลขนาดเล็กหรือผลต่างรุ่น ผลที่อยู่ใน ตำแหน่งไม่เหมาะสม เช่น ปลายกิ่ง ด้านข้างของ กิ่ง และผลที่ติดเป็นกระจุกใหญ่ ๆ ออกเหลือผล ที่ดีไว้มากกว่าที่ต้องการจริง 50 %ครั้งที่ 2 หลังดอกบาน 6-8 สัปดาห์ ตัดผลที่มีขนาดเล็กกว่า ผลอื่นในรุ่นเดียวกัน ผลบิดเบี้ยว ผลที่มีอาการ หนามแดงครั้งที่ 3 ตัดแต่งครั้งสุดท้ายตัดผลขนาดเล็ก ผลบิดเบี้ยว ผลก้นจีบออก จะเหลือผลที่มีขนาดและรูปทรง สม่ำเสมอ ในปริมาณเท่ากับที่ต้องการจริง เมื่อตัดแต่งผลครั้งสุดท้ายเสร็จ ควรโยงกิ่งหรือใช้ไม้ไผ่ค้ำ เพื่อป้องกันกิ่ง หักจากน้ำหนักผลที่มากขึ้น ป้องกันผลร่วงในพื้นที่มีลมแรง

2. การใส่ปุ๋ย หลังจากติดผลแล้ว 5-6 สัปดาห์ ให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเร่งการเจริญของผล เพื่อเพิ่มคุณภาพเนื้อ ถ้าต้นทุเรียนขาดความสมบูรณ์ ใบเล็ก ใบซีด ไม่เขียวเข้ม ควรให้ปุ๋ยทางใบเสริมในช่วงสัปดาห์ที่ 5-10 หลังดอกบาน เพื่อช่วยให้ผลทุเรียนเจริญดีขึ้น

3. การควบคุมไม่ให้ทุเรียนแตกใบอ่อนถ้าทุเรียนแตกใบอ่อนในช่วงติดผล ใบอ่อนและผทุเรียน จะแย่งอาหารกันและเกิดผลเสีย ผลอ่อนร่วง รูปทรงลูกบิดเบี้ยว เนื้อคุณภาพ ด้อยเป็นเต่าเผา เนื้อแกน ถ้าพบว่าทุเรียนจะแตกใบอ่อน โดยสังเกตเห็นเยื่อหุ้มตา เริ่มเจริญหรือเรียกระยะหางปลา

4. การรดน้ำ ดูแลรดน้ำสม่ำเสมอ ตลอดช่วงที่กำลังติดผล 5. จดบันทึกวันดอกบาน ของแต่ละรุ่น แต่ละต้นไว้ พร้อมกับทำเครื่องหมายไว้โดยใช้เชือกสีที่แตกต่างกันในการค้ำกิ่งที่ติดผล แต่ละรุ่นเพื่อความสะดวกในการเก็บเกี่ยว

6. การป้องกันกำจัดโรคแมลง ตรวจสอบและป้องกันกำจัด โรคผลเน่า หนอนเจาะผล ทุเรียน ไรแดง เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง และเพลี้ยหอย

7. การป้องกันหนูหรือกระรอก เข้าทำลายกัดกินทุเรียน ถ้าสวนมีสัตว์รบกวนควรหาวิธีป้องกันดังนี้ – ทำความสะอาดเก็บ สิ่งของที่รกร้างกิ่งไม้รอบสวน เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัย ของหนูกระรอก – ตัดกิ่งไม้บริเวณรอบต้นทุเรียนของต้นไม้อื่นๆเพื่อตัดเส้นทางหนูได้ – นำสังกะสีแผ่นเรียบกว้าง 30 เซนติเมตร ยาวตามขนาดของต้นพันรอบโค่นต้นทุเรียน เป็นการป้องได้เฉพาะหนู – การป้องอีกวิธีหนึ่งคือการห่อ ให้ใช้ถุงพลาสติกใส่ขนาด 40×60 เซนติเมตร ตัดก้น ถุงและตัดข้างยาว 30 เซนติเมตร นำมาห่อทุเรียน ควรห่อให้คลุมตั้งแต่กิ่งที่ลูกทุเรียน นั้นติดอยู่ปล่อยชายถุงให้อากาศถ่ายเท่ได้สะดวก ป้องกันได้ทั้งหนู กระรอก นก

การตัดแต่งดอก
ทำการตัดแต่งดอกหลังจากออกดอก 5 สัปดาห์ ควรตัดแต่งช่อดอกบนกิ่งขนาดเล็ก (เส้นผ่าศูนย์กลางกิ่งน้อยกว่า 2 เซนติเมตร) หรือดอกที่อยู่ปลายกิ่งทิ้งให้เหลือเฉพาะดอกรุ่นเดียวกันในกิ่งเดียวกัน ให้มีจำนวนช่อดอกประมาณ 3 ถึง 6 ช่อดอกต่อความยาวกิ่ง 1 เมตร แต่ละช่อดอกห่างกันประมาณ 30 เซนติเมตร

ขอบคุณที่มา : www.bongrean.com

อัพเดทล่าสุด