ย้อนรำลึก สุรินทร์ พิศสุวรรณ บุรุษแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


2,090 ผู้ชม

ย้อนรำลึก ภารกิจและผลงานสำคัญของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมนานาชาติ ในฐานะอดีตเลขาธิการอาเซียนจากประเทศไทย ผ่านบทสัมภาษณ์และมุมมองที่ วีโอเอ ไทยบันทึกไว้เมื่อหลายปีก่อน


ย้อนรำลึก สุรินทร์ พิศสุวรรณ บุรุษแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ย้อนรำลึก ภารกิจและผลงานสำคัญของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมนานาชาติ ในฐานะอดีตเลขาธิการอาเซียนจากประเทศไทย ผ่านบทสัมภาษณ์และมุมมองที่ วีโอเอ ไทยบันทึกไว้เมื่อหลายปีก่อน

นอกจากบทบาทของการเป็นนักวิชาการ อาจารย์ นักการเมือง และผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการยอมรับแล้ว หนึ่งในบทบาทสำคัญที่ทำให้ชื่อของ 'สุรินทร์ พิศสุวรรณ' ได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติอย่างมาก ก็คือการทำหน้าที่ในฐานะเลขาธิการอาเซียน ที่มีผลงานสำคัญและมีส่วนสร้างความร่วมมือและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เดินไปข้างหน้าอย่างมีนัยสำคัญ

โดยเฉพาะบทบาทการทำหน้าที่ประสานและสร้างมิติแห่งความไว้วางใจของรัฐบาลทหารพม่าที่มีต่อนานาชาติ จนนำมาสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญในเวลาต่อมา

"ผมคิดว่าพม่าเองก็ตระหนัก และก็อาเซียนเองตอนหลังก็ตระหนักมากยิ่งขึ้นในอดีต นี่เรื่องแบบนี้เขาไม่ค่อยพูดกัน แต่เดี๋ยวนี้มันอยู่ในวาระการประชุม เพราะฉะนั้นชัดเจน สามารถมาจะพูดกันได้ แลกเปลี่ยนกันได้ และหาทางออกร่วมกันได้

ผมคิดว่าพม่าเองก็ตระหนักว่าจะเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง จำเป็นจะต้องก้าวไปข้างหน้า จะอยู่ที่เดิมและถอยหลังไม่ได้อีกแล้ว อาเซียนเองก็พยายามที่จะร่วมแสดงความพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือเมื่อไหร่ก็ตามแต่ที่จะเป็นจะต้องเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งก็คงจะเป็นทางด้านมนุษยธรรม ทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อลดปัญหาความขาดแคลน ความอดอยาก ปัญหาความตึงเครียดทางสังคมทั้งหลาย เพราะเขาปิดประเทศมานาน"


ย้อนรำลึก สุรินทร์ พิศสุวรรณ บุรุษแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บทสัมภาษณ์ของ คุณสุรินทร์ พิศสุวรรณ กับวีโอเอ ภาคภาษาไทย ที่กรุงวอชิงตัน เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนการขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนอย่างเป็นทางการ ในเดือนมกราคม พ.ศ.2551 ยืนยันถึงวิสัยทัศน์ ความเข้าใจ ในแนวทางการทำงานอย่างชัดเจนตั้งแต่ก่อนเริ่มต้นทำงาน

"ถือเป็นสมาชิกของครอบครัว ถือเป็นเพื่อนบ้าน เราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนภูมิศาสตร์ของเราได้ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นมีโอกาสที่จะไหลบ่ามาหา ไม่ว่าจะเป็นในรูปของภัยคุกคามต่างๆ มันกระทบแน่ ถ้าเปิดความวุ่นวาย ในประเทศไหนก็ตามแต่ ปัญหาบ้านเราก็กระทบเพื่อน ปัญหาเพื่อนก็กระทบเรา เพราะฉะนั้นเราแสดงความพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือ และก็หวังว่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดี ไม่มีใครคาดว่ามันจะอยู่คงที่ ไม่มีใครยอมรับได้ที่จะถอยหลังกลับไปในอดีต มันมีแต่จะเดินทางไปข้างหน้า เดินทางอย่างไร เดินร่วมกันให้เปลี่ยนแปลงอย่าางราบรื่น ไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ไม่มีความแตกแยกเกิดขึ้น เหมือนปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต" (สุรินทร์ พิศสุวรรณ ให้สัมภาษณ์วีโอเอ ไทย ธันวาคม พ.ศ.2550)
ความใส่ใจในรายละเอียด และความเข้าใจถึงความละเอียดอ่อน ในประเด็นที่เปราะบางของความสัมพันธ์ในประเทศภาคีสมาชิกแต่ละประเทศมาตั้งแต่ต้น เป็นจุดสำคัญที่เลขาธิการอาเซียนจากประเทศไทยคนนี้ สามารถเข้าถึงและเชื่อมโยงผลประโยชน์ร่วมกันประชาคมอาเซียนในภาพรวม

หลังการขึ้นรับตำแหน่งเพียงไม่นาน ในปี พ.ศ.2551 เกิดเหตุพายุไซโคลนนากิส (Nargis) พัดถล่มและสร้างความเสียหายร้ายแรงในพม่า จนทำให้มีคนเสียชีวิตเกือบ 1 แสน 4 หมื่นคน ซึ่งพม่าปฏิเสธที่จะรับความช่วยเหลือจากนานาชาติในชั้นต้น แต่หลังการหารือฉุกเฉินกับอาเซียน โดยมีคุณสุรินทร์เป็นผู้ประสาน ทางการพม่ายินยอมให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ต่างประเทศจากอาเซียนเดินทางเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนได้เป็นสำเร็จ

ย้อนรำลึก สุรินทร์ พิศสุวรรณ บุรุษแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณสุรินทร์ พิศสุวรรณ ให้สัมภาษณ์กับ วีโอเอ เมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2555 หรือ 5 ปีต่อมา ในช่วงที่ใกล้ครบวาระการดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน ว่าบทบาทของ ASEAN ในเรื่องนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในพม่าอย่างที่ได้เห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย และอดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า การติดต่อผูกพันทำงานกับพม่าในครั้งนั้น ทำให้คณะผู้นำของพม่าเกิดความไว้วางใจว่า โลกภายนอกเต็มใจจะให้ความช่วยเหลือและร่วมมือทำงานกับพม่า ซึ่งนำไปสู่การเปิดประตูต้อนรับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเวลาต่อมา

ขณะเดียวกัน ก็ยอมรับว่า ภารกิจในการเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพม่าครั้งนั้น เป็นประสบการณ์ที่ซาบซึ้งใจมากที่สุดในช่วงห้าปีของการดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนอีกด้วย

ย้อนรำลึก สุรินทร์ พิศสุวรรณ บุรุษแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การแสดงบทบาทเป็นผู้นำด้วยการช่วยเป็นสะพานเชื่อมระหว่างพม่ากับโลกภายนอก ในครั้งนั้นถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่มีส่วนทำให้พม่าก้าวไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่สำคัญจนเห็นผลมาจนถึงปัจจุบัน

ศาสตราจารย์คาร์ล เตเยอร์ (Carl Thayer) จากมหาวิทยาลัย New South Wales ในออสเตรเลีย มองผลงานของ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ ในฐานะเลขาธิการอาเซียน ว่า สามารถทำงานได้เป็นอย่างดี ด้วยการกระตุ้นหนุนให้อาเซียนก้าวหน้าไปได้อย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน 
นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย New South Wales บอกว่า แม้คุณสุรินทร์ พิศสุวรรณ อาจจะไม่ประสบความสำเร็จทุกครั้ง แต่การทำให้ตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนมีความเป็นอิสระมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มักจะชอบทำงานในเชิงรุกโดยไม่แทรกแซงในกิจการของผู้อื่น

ซึ่งแม้จะไม่เกิดผลอย่างรวดเร็วอย่างที่คนภายนอกต้องการ แต่สำหรับ ศาสตราจารย์คาร์ล เตเยอร์ แล้ว มองว่าเลขาธิการอาเซียนจากประเทศไทยผู้นี้ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี

หลังการถึงแก่อนิจกรรมอย่างกะทันหันของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ด้วยวัย 68 ปี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้เกิดปฏิกิริยาจากนานาชาติที่ต่างร่วมรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง

แถลงการณ์โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ร่วมแสดงความไว้อาลัย ถึง ดร.สุรินทร์ ว่าเป็นรัฐบุรุษแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นนักต่อสู้ที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยต่อประชาชน เป็นผู้สนับสนุนประเด็นและผลประโยชน์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นเพื่อนที่ดีเสมอมาของสหรัฐฯ

ในงานอันมากมายของ ดร. สุรินทร์ เช่น ในฐานะเลขาธิการสมาคมอาเซียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทย นักข่าว สมาชิกรัฐสภาไทย นักการศึกษา และผู้ทำงานด้านมนุษยธรรม ล้วนเป็นผู้ผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในความเข้าใจระดับนานาชาติและยืนเคียงข้างค่านิยมประชาธิปไตยอย่างหนักแน่นเสมอมา

www.voathai.com

อัพเดทล่าสุด