ข้อมูลลึกๆ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ จากเด็กมุสลิมปอเนาะถึงฮาร์วาร์ด


14,081 ผู้ชม

เมื่ออายุได้ 2 ขวบ พ่อกับแม่ของฮาลีมต้องเดินทางไปศึกษาที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาราเบีย นานหลายปี โดยฝากฮาลีมและน้องชายให้อยู่กับตาและยาย


ข้อมูลลึกๆ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ จากเด็กมุสลิมปอเนาะถึงฮาร์วาร์ด

ข้อมูลลึกๆ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ จากเด็กมุสลิมปอเนาะถึงฮาร์วาร์ด

จากปอเนาะถึงฮาร์วาร์ด 

"ถ้าเราเตรียมตัวให้พร้อมเสมอ...โอกาสจะเดินเข้ามาหาเราเอง"

นี่คือประโยคโปรยบนหน้าคำนำในหนังสือ "ความสำเร็จไม่มีข้อยกเว้น" ที่บอกเล่าประวัติและมุมคิดของ "เด็กปอเนาะ" คนหนึ่งที่ชื่อ "อับดุลฮาลีม" ซึ่งเกิดในครอบครัวมุสลิม และอาศัยอยู่ในชุมชนเล็กๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช

เมื่ออายุได้ 2 ขวบ พ่อกับแม่ของฮาลีมต้องเดินทางไปศึกษาที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาราเบีย นานหลายปี โดยฝากฮาลีมและน้องชายให้อยู่กับตาและยาย

"ฮาลีม" เติบโตและได้รับการศึกษาในโรงเรียนปอเนาะ และยังเดินเท้าเปล่าหิ้วปิ่นโตไปเรียนสายสามัญที่โรงเรียนวัดอีกแห่งหนึ่งควบคู่กัน 

ตกกลางคืนฮาลีมจึงใช้ชีวิตแบบเด็กมุสลิมอยู่ในปอเนาะ พอถึงกลางวันก็ต้องเปลี่ยนบริบทไปเรียนโรงเรียนวัด ทำให้เขาชินกับการเปลี่ยนแปลง

เช้าวันหนึ่งในฤดูฝน ขณะที่ฮาลีมปั่นจักรยานไปโรงเรียน ซึ่งเป็นถนนดินแดง มีน้ำขังบนถนนตลอดสาย มีรถยนต์คันหนึ่งขับแซงขึ้นไป และเหยียบน้ำในหลุมกระเด็นโดนชุดนักเรียนของเขาเต็มๆ ฮาลีมหยุดรถ และคิดในใจว่าโตขึ้นเราจะต้องเป็นนายอำเภอและกลับมาลาดยางถนนสายนี้ให้ได้

เมื่อสอบเข้าเรียนที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศและเรียนจนจบ ม.ศ.3  ฮาลีมก็รู้ได้ทันทีว่าเขาชอบเรียนด้านประวัติศาสตร์ และภาษาอังกฤษ จึงย้ายไปเรียนที่โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช ซึ่งขณะนั้นเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กนักเรียนหญิง แต่เปิดโอกาสให้เด็กผู้ชายที่ถนัดสายสังคมศาสตร์ไปเรียนร่วมด้วย สลับกับเด็กนักเรียนหญิงของโรงเรียนนี้ที่ถนัดสายวิทย์ฯ ก็จะได้โอกาสไปเรียนร่วมกับเด็กผู้ชายที่เบญจมราชูทิศเช่นกัน

วันหนึ่งขณะที่ฮาลีมเรียนกับอาจารย์สองสามีภรรยาชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นอาสาสมัครสันติภาพ  อาจารย์ทั้งสองได้ชวนฮาลีมไปลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ป่วยในชุมชนโรคเรื้อน การได้ติดตามอาจารย์ชาวอเมริกันทำให้อับดุลฮาลีมได้ฝึกฝนการใช้ภาษาอังกฤษ แบบ Learning by doing ไปด้วย

และจุดเปลี่ยนในชีวิตก็มาถึง เมื่ออาจารย์ฝรั่งทั้งสองเห็นแววความมุมานะและทักษะภาษาอังกฤษของฮาลีม จึงแนะนำให้เขาสมัครรับทุนนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS 

ฮาลีมบอกว่า เขาไม่มีความรู้เรื่องทุนอะไรเหล่านี้หรอก และไม่ทราบขั้นตอนต่างๆ ด้วย

อาจารย์จึงช่วยเหลือในการสมัครจนเสร็จ สุดท้ายฮาลีมก็ได้รับทุน AFS ในที่สุด

ฮาลีมบอกว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาได้รับทุนในครั้งนี้น่าจะมาจาก "ต้นทุนชีวิต" ของเขากับเด็กในเมืองที่มีไม่เท่ากัน เขาจึงเลือกให้ทุนกับเด็กที่มีความสามารถ แต่ขาดโอกาสในชีวิต และความคิดนี้ก็ฝังใจฮาลีมมาโดยตลอดว่า

วันหนึ่ง ถ้ามีโอกาสได้ดูแลหน่วยงานให้ทุนเหล่านี้ เขาจะปรับปรุงมาตรฐานการเลือกเด็กนอกจากจะดูผลการเรียนแล้ว จะพิจารณาจากข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ประกอบด้วย

เมื่อได้รับทุนแล้ว ปัญหาใหญ่ก็เกิดขึ้น เมื่อตากับยายและผู้อาวุโสในชุมชนไม่อยากให้เด็กปอเนาะอย่างเขาไปศึกษาในโลกตะวันตก เพราะเกรงว่าจะสูญเสียหลานไปให้ "ซาตาน" 

เพราะมีแต่สิ่งล่อใจอาจเสียผู้เสียคนได้ ผู้ใหญ่จึงประชุมกันเพื่อถกเรื่องนี้ บรรยากาศในที่ประชุมดูอึดอัดมาก เพราะหลายคนไม่อยากให้ไป สุดท้ายถึงวาระการพิจารณา 

คุณตากล่าวขึ้นว่า "ให้ฮาลีมไปก็แล้วกัน หลานคนนี้เลี้ยงมากับมือไม่น่าจะเสียคนได้" เขาจึงได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่รัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกาในฐานะเด็กแลกเปลี่ยน

ที่นี่ฮาลีมได้ฝึกฝนทักษะการพูดในที่สาธารณะจนชนะเลิศการประกวดการพูดสุทรพจน์ระดับภาคและได้รองชนะเลิศระดับรัฐ(state) เรียกว่าถ้ามองว่าเขาเป็นเด็กปอเนาะ ชาวนครฯ การได้พูดภาษาที่ไม่ใช่ภาษาแม่แล้วยังเอาชนะเด็กท้องถิ่นได้ถือว่า "เขามาไกลมาก"

เมื่อกลับมาจากสหรัฐอเมริกา ฮาลีมก็เจอกับโจทย์ใหญ่ในชีวิต เมื่อคุณพ่อซึ่งกลับมาจากเมกกะเช่นกัน อยากให้เขาเรียนต่อด้านศาสนา แต่ในขณะนั้นฮาลีมสอบเข้าม.ธรรมศาสตร์ได้แล้ว เขาจึงตอบกลับไปว่า "ผมอยากเรียนธรรมศาสตร์" พ่อยื่นคำขาดสุดท้ายว่า "ไม่มีเงินให้เรียน" ฮาลีมตอบกลับไปว่า "ผมจะหาเงินเรียนเอง"

การหาเงินเรียนของฮาลีมคือ เขารับจ้างพิมพ์ดีดที่สำนักข่าวสารอเมริกัน (USIS)  ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของฮาลีมกับพ่อไม่ราบรื่น พ่อไม่พูดด้วย ไม่รับรู้ ไม่มีการติดต่อใดๆทั้งสิ้น ทำให้ฮาลีมน้อยใจมาก แต่เขาบอกกับตัวเองว่า "ห้ามล้มเหลว!" เพื่อจะพิสูจน์ให้พ่อเห็นในสิ่งที่เขาตัดสินใจ

ชีวิตภายในรั้วธรรมศาสตร์เต็มไปด้วยความคุกรุ่นทางการเมือง เมื่อขึ้นปีสองฮาลีมได้สอบสัมภาษณ์เพื่อขอรับทุน Frank Bell Appleby เพื่อไปเรียนปี 3-4 ที่มหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา อาจารย์ที่สอบสัมภาษณ์สงสัยบางอย่างในตัวเขาจึงยกหูโทรศัพท์ถามอาจารย์ของฮาลีมว่า "คนนี้ของจริงมั๊ย" ปลายสายตอบมาว่า "Yes he is"  ในที่สุดเขาได้รับคัดเลือกให้ได้ทุน Frank Bell Appleby

ที่ Claremont Men's College  ฮาลีมทำงานหาเงินสารพัด เช่น ทาสีห้องเรียนและหอพัก ช่วยตัดหญ้า เก็บขยะ เพื่อหาเงินไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน เขาตัดสินใจเข้าร่วมโครงการบัณฑิตเกียรตินิยม(Honor Program) ซึ่งไม่ต้องเข้าชั้นเรียน ทำวิทยานิพนธ์อย่างเดียว 

ในที่สุด เขาจบปริญญาตรีเกียรตินิยมจาก Claremont Men's College และได้รับการตอบรับเข้าเรียนปริญญาโทที่ UCLA อีกด้วย และยื่นใบสมัครไว้ที่ "มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด" อีกที่หนึ่ง 

จากนั้น ก็เดินทางกลับนครศรีธรรมราช แต่ระหว่างทางฮาลีมใช้เงินเก็บที่ได้จากการรับจ้างทาสี ไปเที่ยวยุโรปและตะวันออกกลางก่อน ทำให้เขาได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น

เมื่อกลับถึงบ้านที่นครศรีฯ คุณตายื่นโทรเลขฉบับหนึ่ง ภายในให้มีข้อความว่า "Harvard accepted you ..." นั่นหมายความว่า เด็กปอเนาะคนนี้ได้ไปถึงจุดสูงสุดด้านการศึกษาของเขาแล้ว เมื่อต่อมาเขาจบปริญญาเอกหรือดอกเตอร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยที่ทุกคนใฝ่ฝันอยากจะเรียน

..............................

ย้อนกลับไปเมื่อฮาลีมอายุได้ 7 ขวบ ในฤดูกาลเลือกตั้งผู้แทนราษฎร  คุณยายของฮาลีมไปจ่ายตลาด แม่ค้าในตลาดยื่นใบปลิวผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 8 ให้ คุรยายใส่ใบปลิวไว้ในตะกร้า

เมื่อกลับถึงบ้าน ยายหยิบใบปลิวนั้นออกมาดู เห็นชื่อ ส.ส. ไพเราะดี และเพื่อให้หลานชายมีชื่อกลมกลืนกับสังคมสมัยใหม่  คุณยายจึงจัดการเปลี่ยนชื่อหลานชายที่ชื่อ "อับดุลฮาลีม บินอิสมาแอล พิศสุวรรณ" เป็น "สุรินทร์ พิศสุวรรณ" ตามชื่อ ส.ส.ในใบปลิวนั้น คือ "คุณสุรินทร์  มาศดิตถ์"

ใช่แล้วครับ เด็กปอเนาะ ที่มีชีวิตธรรมดา เดินเท้าเปล่า ปั่นจักรยานเก่าๆ โดนโคลนจากรถยนต์เลอะเต็มชุดนักเรียน และพาตัวเองจนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คนนี้คือ  "ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ" อดีตเลขาธิการอาเซียนนั่นเอง


ที่มา: AjMan
info.muslimthaipost.com

อัพเดทล่าสุด