ผู้หญิงถ้าปวดท้องน้อย ประจำเดือนมาผิดปกติ ผมร่วง ระวังเป็นถุงน้ำที่รังไข่


6,955 ผู้ชม

ถุงน้ำที่รังไข่ เดี๋ยวนี้ตรวจเจอกันเยอะขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะเป็นเพราะมีการตรวจอัลตราซาวน์กันมากขึ้นก็เป็นได้ สามารถพบได้ในผู้หญิงทุกวัย ส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีอาการ แต่สำหรับคนที่มีอาการอาจจะปวดท้องน้อย หรือรู้สึกแน่น ๆ


ผู้หญิงถ้าปวดท้องน้อย ประจำเดือนมาผิดปกติ ผมร่วง ระวังเป็นถุงน้ำที่รังไข่

ถุงน้ำที่รังไข่ เดี๋ยวนี้ตรวจเจอกันเยอะขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะเป็นเพราะมีการตรวจอัลตราซาวน์กันมากขึ้นก็เป็นได้ สามารถพบได้ในผู้หญิงทุกวัย ส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีอาการ แต่สำหรับคนที่มีอาการอาจจะปวดท้องน้อย หรือรู้สึกแน่น ๆ

ส่วนใหญ่แล้วไม่จำเป็นต้องผ่าตัด และไม่ได้ทำให้กลายเป็นมะเร็ง ขนาดที่ตรวจพบได้มีตั้งแต่เล็ก ๆ แค่หนึ่งเซนติเมตรขึ้นไปใหญ่เป็น 10 เซนติเมตรก็มี

ลองมาดูกันว่า ถุงน้ำที่รังไข่มีสาเหตุมาจากอะไร ต้องติดตามตรวจหรือในบางต้องทำการรักษาอย่างไร

สาเหตุของถุงน้ำที่รังไข่ในหญิงที่ยังไม่หมดประจำเดือน 
  • · การตกไข่ ในแต่ละรอบเดือน ก่อนการตกไข่ รัังไข่จะมีการสร้างถุงน้ำขึ้นมาตามรอบเดือน บางครั้งไม่มีการตกไข่ จึงพบว่าเป็นถุงน้ำ ถุงน้ำลักษณะนี้จะหายไปได้เองโดยไม่จำเป็นรักษา 
  • · ถุงน้ำชนิด Dermoid cysts เป็นถุงน้ำอีกลักษณะหนึ่งที่พบบ่อยในช่วงอายุ 20-40 ปี ซึ่งเกิดจากเซลล์ที่เกิดขึ้นในช่วงพัฒนาการอาจจะพบผม ฟัน หรือไขมันอยู่ภายใน ส่วนใหญ่จะไม่อันตราย แต่พบส่วนน้อยที่อาจจะเป็นมะเร็งได้
  • · ภาวะถุงน้ำ ชนิด Polycystic ovary syndrome (PCOS) จะพบในรังไข่มีถุงน้ำเล็ก ๆ จำนวนมาก มักจะพบร่วมกับอาการอื่น เช่น ประจำเดือนมาผิดปกติ มีบุตรยาก น้ำหนักขึ้นเร็ว ผมร่วง
  • · ถุงน้ำ chocolate cyst ชื่อทางแพทย์จะเรียกว่า Endometriosis จะมีอาการปวดประจำเดือน ซึ่งจะปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ  มักจะต้องให้การรักษาด้วยฮอร์โมน เรื่องนี้จะเขียนเรื่องให้ต่างหากอีกเรื่องนะครับ
  • · ตั้งครรภ์ ในหญิงตั้งครรภ์จะมีการเกิดถุงน้ำที่รังไข่ได้ ซึ่งจะช่วยการตั้งครรภ์จนกว่าการเจริญของรกเรียบร้อยดี แต่ในบางรายถุงน้ำจะอยู่จนคลอดเลย
  • · การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานรุนแรง การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรายอาจจะลามไปถึงรังไข่และปีกมดลูก ทำให้เกิดฝี หรือหนอง ทำให้เห็นเป็นถุงน้ำใกล้ ๆ กับรังไข่ได้ 
  • มะเร็งรังไข่  มะเร็งที่รังไข่เป็นมะเร็งที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่หากพบถุงน้ำที่รังไข่ ภาพที่เห็นทางอัลตราซาวน์พอจะบอกได้ว่าเป็นลักษณะที่เสี่ยงหรือไม่ และสามารถตรวจยืนยันได้ด้วยการตรวจเลือดดูระัดับค่าความเสี่ยงมะเร็งรังไข่ คือค่า CA125 
 
สาเหตุของถุงน้ำที่รังไข่ในหญิงวัยหมดประจำเดือน

  • · เป็นถุงน้ำที่โตขึ้นที่ไม่ใช่เนื้อร้าย
  • · เป็นของเหลวที่ไปสะสมอยู่ในรังไข่
  • · มะเร็ง ในวัยหมดประจำเดือนหากตรวจพบก้อนที่เพิ่งโตขึ้นใหม่ หรือเพิ่งพบมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าในหญิงที่ยังมีประจำเดือน
สิ่งที่ทุกคนกังวลเมื่อทราบว่ามีถุงน้ำก็คือ เป็นมะเร็งหรือเปล่า
ถึงแม้ว่ามะเร็งที่รังไข่จะไม่ได้พบบ่อยมาก แต่เมื่อมีการตรวจพบถุงน้ำก็ต้องระวังว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ โดยผู้ที่มีความเสี่ยงจะเป็นมะเร็งที่รังไข่ได้แก่
  • · มีประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่
  • · มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งทางเดินอาหาร
  • · ลักษณะของถุงน้ำที่ตรวจพบเป็น ถุงน้ำที่มีขอบไม่เรียบ มีเนื้ออยู่ภายใน หรือมีลักษณะเหมือนมีของเหลวอยู่ภายในหลาย ๆ ส่วน เรียกว่า complex cyst
  • · ตรวจพบว่ามี ของเหลวในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกราน จากการตรวจอัลตราซาวน์
เมื่อตรวจมีความเสี่ยงเหล่านี้ จะต้องทำการตรวจเพิ่มเติมว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ และทำการตรวจรักษาต่อไป
อาการของถุงน้ำที่รังไข่  
ถุงน้ำที่รังไข่อาจจะแสดงอาการหรือไม่มีอาการก็ได้ ผู้หญิงที่มีอาการจะมีอาการปวดท้องน้อย หรือรู้สึกแน่น ๆ ในช่องท้องส่วนล่างข้างที่มีถุงน้ำอยู่
ลักษณะปวดอาการจะเป็นปวดตื้อ ๆ หรือปวดเกร็ง หรือปวดบีบ ๆ เป็นพัก ๆ ก็ได้
ในรายที่มีอาการเจ็บปวดรุนแรงขึ้นมาแบบเฉียบพลัน ต้องระวังว่ามีการแตกของถุงน้ำได้
ในรายที่มีรังไข่บิด torsion (twising) ovary จะมีอาการปวด ร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน

อาการที่มีประจำเดือนผิดปกติหรือเลือดออกทางช่องคลอดมักจะไม่ค่อยสัมพันธ์กับถุงน้ำที่รังไข่
การวินิจฉัยถุงน้ำที่รังไข่  
การตรวจพบถุงน้ำที่รังไข่ อาจจะตรวจพบจากการตรวจภายใน แต่เพื่อยืนยันลักษณะของถุงน้ำจะทำการตรวจโดยการอัลตราซาวน์ ซึ่งจะสามารถบอกจำนวน ขนาด ตำแหน่ง และลักษณะถุงน้ำได้อย่างชัดเจน แต่ในกรณีที่ต้องการรายละเอียดมากขึ้น อาจจะต้องทำ CT scan เพิ่มเติม
การตรวจเลือด  
การตรวจเลือดบางอย่างสามารถช่วยบอกได้ว่า Cyst ที่พบเป็นชนิดใด การตรวจที่่ช่วยได้แก่
  • · การตรวจการตั้งครรภ์ อาจจะใช้การตรวจเลือดหรือตรวจปัสสาวะก็ได้ เนืองจากถุงน้ำสามารถพบได้บ่อยในช่วงตั้งครรภ์ และถ้ามีการขาดประจำเดือน ก็ยิ่งสมควรตรวจ
  • · ค่าความเสี่ยงมะเร็ง CA 125 เป็นการตรวจเลือดเพื่อบ่งถึงความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่ โดยพบว่า 80% ของผู้ที่เป็นมะเร็งรังไข่ สามารถตรวจพบว่าค่า CA 125 สูงกว่าปกติ
แต่ในบางภาวะที่ไม่ใช่มะเร็งก็สามารถพบว่าค่า CA 125 สูงกว่าปกติได้ เช่น ในโรค endometriosis เนื้องกที่มดลูก การอักเสบในอุ้งเชิงกราน โรคตับโรคไต จึงแนะนำให้ทำการตรวจค่า CA 125 เมื่อ
  • · ตรวจพบถุงน้ำที่รังไข่ในหญิงวัยหมดประจำเดือน
  • · ตรวจพบถุงน้ำที่รังไข่ขนาดใหญ่หรือสงสัยเป็นมะเร็ง ในหญิงวัยที่ยังมีประจำเดือน
  • · ไม่จำเป็นต้องส่งตรวจ CA 125 ถ้าถุงน้ำมีขนาดเล็กหรือว่าไม่มีลักษณะที่ทำให้สงสัยว่าเป็นมะเร็ง

การรักษาถุงน้ำที่รังไข่  

ถุงน้ำที่รังไข่ไม่จำเป็นต้องทำการรักษาเสมอไป ส่วนใหญ่แล้วจะหายไปได้เอง ภายใน 1-2 เดือน แต่ถ้าถุงน้ำมีขนาดใหญ่ หรือทำให้มีอาการปวด หรือมีลักษณะที่อาจเสี่ยงเป็นมะเร็ง การรักษาคือการผ่าตัดถุงน้ำหรือตัดรังไข่ข้างที่ผิดปกติออกไป
การติดตามตรวจ
หญิงที่ยังมีประจำเดือน 
การติดตามในกลุ่มนี้จะติดตามอาการ เช่นอาการปวด และติดตามตรวจอัลตราซาวน์ใน 6-8 สัปดาห์ เพื่อดูว่ามีขนาดเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ถ้าขนาดเท่าเดิมสามารถติดตามดูต่อได้ ในบางรายจะได้รับคำแนะนำให้ทานยาคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการเกิดถุงน้ำขึ้นใหม่
หญิงในวัยหมดประจำเดือน 
ถ้าผลการตรวจอัลตราซาวน์ไม่มีลักษณะที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง และค่า CA 125 ปกติสามารถติดตามดูได้ โดยให้ตรวจอัลตราซาวน์และตรวจค่า CA 125 ทุก 3-6 เดือน แต่ถ้าถุงน้ำมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือค่า CA 125 สูงขึ้นควรจะต้องทำการผ่าตัดออก
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด  
  • · ถุงน้ำที่ทำให้มีอาการปวด หรือเสี่ยงที่จะเกิดถุงน้ำแตก
  • · ถุงน้ำที่เป็นลักษณะของ endometriosis หรือ chocolate cyst หรือมีเหตุผลเพื่อช่วยในการตั้งครรภ์
  • · ถุงน้ำที่มีขนาดใหญ่กว่า 5-10 cm
  • · ถุงน้ำมีลักษณะที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง
  • · หลังจากติดตามตรวจด้วยอัลตราซาวน์มาหลายครั้ง แต่ขนาดก็ยังไม่เล็กลง หรือมีขนาดใหญ่ขึ้น อาจจะมีการปรึกษาเรื่องการผ่าตัดออก
การผ่าตัดมีทั้งตัดเฉพาะถุงน้ำ หรือตัดทั้งรังไข่ข้างที่เป็น  และมีทั้งการผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง และการผาตัดใหญ่แบบเปิดหน้าท้อง ขึ้นอยู่ักับขนาดที่พบ และความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง
การติดตามตรวจ  
ถุงน้ำที่รังไข่บางชนิดอาจจะกลับมาเป็นได้ใหม่ เช่น ถุงน้ำจาก endoetriosis หรือ Chocolate cyst ซึ่งอาจจะสามารถป้องกันการเกิดถุงน้ำขึ้นมาใหม่ได้ด้วยการทานยาคุมกำเนิด และควรติดตามตรวจกับแพทย์ตามนัด

ขอบคุณที่มา : www.rak-sukapap.com

อัพเดทล่าสุด