จากเหตุสลดเมื่อ นายอัครเดช อุดมรัตน์ อายุ 44 ปี ชาว จ.ชลบุรี พกใบอนุญาตขับรถหรือที่เรียกกันติดปากว่า "ใบขับขี่" ซิ่งกระบะย้อนศรพุ่งชนรถจักรยานยนต์ (จยย.) หลายคัน บาดเจ็บกันระนาว 15 ราย เสียชีวิตอนาถอีก 2 ราย บนถนนพัทยาใต้ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยให้การกับตำรวจว่าเป็น "โรคลมชัก" !!!
เป็นที่มาทำให้ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ถูกสังคมตั้งคำถามเรื่อง การสังคายนาระบบใบขับขี่? ขณะที่ผู้บริหาร ขบ. ก็ออกมาระบุทันควันว่ากำลังหารือแพทยสภาพิจารณาเพิ่ม โรคต้องห้ามในการทำใบขับขี่อีก 5 โรค อาทิ ลมชัก, เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, ผ่าตัดสมอง และกล้ามเนื้อหัวใจตาย
จากที่เคยกำหนดไว้แค่ 5 โรค ได้แก่ โรคเท้าช้าง, วัณโรค, โรคเรื้อน, พิษสุราเรื้อรัง และโรคติดยาเสพติดให้โทษ โดยแพทยสภาจะกำหนดกฎเกณฑ์หรือสภาวะของผู้ป่วยที่เข้าขั้น "เป็นโรค" เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือด หรือความดันโลหิตที่เข้าขั้นเป็นโรค ซึ่งยังไม่ตกผลึก
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว. คมนาคม จึงสั่งการ ขบ. ศึกษาข้อเรียกร้องที่ให้ทดสอบสมรรถนะการขับขี่รถยนต์ของผู้มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไปที่ถือใบอนุญาตขับรถให้เข้มข้นมากขึ้น นอกเหนือจากการทดสอบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในปัจจุบัน เนื่องจากช่วงวัยดังกล่าวส่วนมากสมรรถนะทุกด้านลดลง ต้องเพิ่มเข้าไปเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการพิจารณาการต่อใบอนุญาตฯ
"กรมฯ กำลังยกระดับการออกใบอนุญาตขับรถให้มีมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้ขับขี่มีความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนมากขึ้น ในการศึกษาจะพิจารณาทั้งอายุของผู้ที่มาขอรับใบอนุญาตฯ หรือการต่ออายุใบอนุญาตขับรถใหม่ ต้องกำหนดความเข้มข้นต่างกัน รวมทั้งประเภท ขนาดของรถด้วย ขณะนี้รถจยย. และ รถจยย.ขนาดใหญ่หรือบิ๊กไบค์ ยังใช้ใบอนุญาตประเภทเดียวกัน อนาคตจะแยกต่างหาก จะประกาศออกกฎกระทรวงให้มีผลบังคับใช้ประมาณปีหน้า" นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ขานรับนโยบายเจ้ากระทรวงทันที
ด้านนายวัลลภ งามสอน ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิภาพ กรมการขนส่งทางบก บอกว่าเบื้องต้นในเดือน มิ.ย. ปี 61 ระบบการสอบใบขับขี่จะใช้วิธีสแกนลายนิ้วมือ เหมือนการทำพาสปอร์ต คือสแกนนิ้วโป้งและนิ้วชี้ทั้ง 2 มือ เพื่อยืนยันตัวตน และป้องกันการสอบแทนกัน โดยต้องนำบัตรประชาชนมาแสดงก่อนเข้าสอบ ขั้นตอนเริ่มตั้งแต่การอบรมทั้งการสอบทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมทั้งตรวจสอบสมรรถภาพร่างกาย 4 ด้านได้แก่ การมองเห็น ประสิทธิภาพในการใช้เท้า เรื่องตาบอดสี ระยะมองเห็นทางลึก และทางกว้าง
การสอบภาคทฤษฎีแต่ละวิชาต้องผ่าน 80 % แต่รวมทุกวิชาแล้วต้องไม่ต่ำกว่า 90 % รวมทั้งการสอบขับรถ จะใช้ "ระบบอีไดร์ฟวิ่ง" คือใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการวัดระยะ เช่น การจอดรถชิดฟุตบาทต้องมีระยะห่างไม่เกิน 25 ซม. หรือการถอยรถเข้าซอง จะมีรอบการหมุนรอบพวงมาลัยกำหนดไว้ เป็นระบบเซ็นเซอร์ใช้มาตรฐานเดียวกันกับสำนักงานขนส่งทั่วประเทศ
ตลอดจน โรงเรียนสอนขับรถ ที่ได้รับอนุญาตจากกรมฯ ทั้งหมด 150 แห่งทั่วประเทศ โดยไม่ใช้คนมาทดสอบอีกต่อไปเพื่อป้องกันข้อโต้แย้งในการใช้ดุลยพินิจ จะเริ่มทดลองก่อนในเดือน มี.ค.61 หากสอบตกวิชาไหนจะให้ซ่อมวิชานั้นเป็นรายวิชา ไม่ปรับตกทั้งหมด
สำหรับการสอบข้อเขียนจะใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบันนำมาใช้แล้ว แต่จะปรับปรุงซอฟแวร์ของข้อสอบให้เป็นลักษณะคิดวิเคราะห์มากขึ้น เพราะปัจจุบันเป็นข้อสอบแบบท่องจำมากกว่า ขณะนี้กำลังให้นักวิชาการศึกษาเรื่องเนื้อหาของข้อสอบ และกำลังพิจารณานำคลิปอุบัติเหตุทั้งหลายมาเป็นข้อสอบ ให้ผู้สอบใบขับขี่ใช้การตัดสินใจ แล้วนำมาประเมินผลการสอบหรือการต่อใบอนุญาตขับขี่เมื่อครบ 5 ปี ต้องสแกนลายนิ้วมือ เข้าอบรม 1 ชม. จะให้คนอื่นมาทำแทนไม่ได้
นอกจากนี้ มีแนวคิดว่าผู้ได้ "ใบขับขี่ชั่วคราว" ก่อนที่จะได้ใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล หรือรถ จยย. ส่วนบุคคลต้องทดสอบออกถนนจริงโดยมีผู้ควบคุมการสอบ ซึ่งในต่างประเทศเรียกว่า "อินสตรัคเจอร์" นั่งรถไปกับผู้สอบ ต้องใช้ประมาณ 1,200 คน บุคคลกลุ่มนี้ต้องเป็นผู้มีจรรยาบรรณสูงเพื่อลบข้อครหาเอื้อประโยชน์ให้ผู้สอบ
อย่างไรก็ตาม ความรู้เรื่องการใช้รถใช้ถนน กฏหมายจราจรทั้งหลายก่อนที่จะมาสอบใบขับขี่ กรมฯ จะเผยแพร่ให้มากขึ้นเพื่อให้ผู้สอบได้ทำการบ้านมีคนเคยตั้งข้อสังเกตว่าประเทศไทยได้ใบขับขี่มาง่ายมากถึงขั้นติดอันดับต้นๆ ของโลก ถ้าเทียบกับประเทศญี่ปุ่นต้องเสียเงินถึง 1 แสนบาท ขณะที่อังกฤษ ต้องมีค่าใช้จ่ายถึง 5,000 ปอนด์หรือกว่า 2 แสนบาทจึงจะได้ใบขับขี่และต้องผ่านการสอบที่เข้มงวดมาก ใบขับขี่จึงศักดิ์สิทธิ์!!
ได้เวลาเขย่าระบบใบขับขี่ไทย 31 ล้านใบ ทั้ง "ต่ออายุ-ทำใหม่" กว่าจะได้มายากขึ้นกว่าเดิมก็เพื่อความปลอดภัยของทุกชีวิตบนท้องถนน !!
ที่มา: www.thaijobsgov.com
info.muslimthaipost.com