เตรียมตัวไว้เลย! ถึงเวลา กยศ. เอาจริง หักเงินเดือนใช้หนี้ข้าราชการ-เอกชน


2,583 ผู้ชม

พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ กยศ. หลังเรียนจบ


เตรียมตัวไว้เลย! ถึงเวลา กยศ. เอาจริง หักเงินเดือนใช้หนี้ข้าราชการ-เอกชน

เตรียมตัวไว้เลย! ถึงเวลา กยศ. เอาจริงหักเงินเดือนใช้หนี้ข้าราชการ-เอกชน
พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ กยศ. หลังเรียนจบ เพราะกำหนดชัดเจนว่า กยศ.สามารถ “หักเงินเดือน” ลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการและเอกชนได้เพื่อใช้หนี้ ที่สำคัญได้เพิ่มกฎเหล็กอัตราดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ปิดจุดอ่อนเดิมคือสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้กู้ได้ทั้งข้อมมูลสถานที่ทำงานและตัวเลขเงินเดือน
ปัญหานี้เรื้อรังมานานทั้งที่จุดประสงค์ของการตั้งกองทุนมาจากการช่วยเหลือเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ทางการศึกษาตั้งแต่ปี 2538 จนปัจจุบันกว่า 22 ปี  มีผู้กู้แล้ว 5.2 ล้านราย เงินกู้ยืม 5.5 แสนล้านบาท ทั้ง กยศ.และ กรอ.(เงินกู้เพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ในรายในอนาคต) ซึ่ง กรอ. จะต่างตรงที่สามารถกู้ได้เฉพาะคณะหรือสาขาที่มหาวิทยาลัยกำหนด
แต่ปรากฏว่าในจำนวนลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.5 ล้านราย จ่ายหนี้ปกติเพียง 1.3  ล้านราย หรือ 36% ขณะที่ผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้มีสูงถึง 2 ล้าน 2 แสนราย  หรือ 64%  จนทำให้สถานะกองทุนฯ มีเงินค้างชำระหนี้คืนกว่า  68,800 ล้านบาท ตามที่ นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุน เงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. บอก
ปัญหาอยู่ตรงที่ “จบแล้วไม่ใช้หนี้” บางรายไม่ใช่ไม่มีเงิน แต่ “ไม่จ่าย” เพราะคิดว่าไม่จำเป็นทั้งที่หน้าที่การงานดี มีรายได้เพียงพอ

ทั้งที่หนี้ กยศ. ก็มีอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี
โดยกำหนดว่าในปีแรกจะต้องชำระหนี้คืนเฉพาะเงินต้นในอัตรา 1.5 % ของวงเงินที่ได้กู้ยืม กำหนดจ่ายในวันที่ 5 ก.ค. ของทุกปี ดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 1% ต่อปี และถ้าใครสามารถจ่ายหนี้ทั้งหมดได้ภายใน 2 ปี  กองทุนฯ จะไม่คิดดอกเบี้ยเลย ก็ยังไม่ใช่แรงจูงใจที่ดีพอให้ลูกหนี้มาใช้หนี้
และสาเหตุที่ต้องใช้วิธีการ หักเงินเดือน โดยบังคับใช้เป็นกฏหมายเพราะที่ผ่านมาปัญหานี้ส่งผลไปถึงสถานะกองทุนจนไม่สามารถหมุนเวียนให้กับนักศึกษารุ่นต่อไปได้ทำให้ผู้มีสิทธิ์ได้ทุนลดลงไปด้วย  เห็นได้จากปีการศึกษา 2559 ผู้มีสิทธิ์กู้ยืม เพียง 458,389 คน จากปี 2554 ที่มีผู้มีสิทธิ์กู้ยืม 892,159 คน
ดังนั้น พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 จึงเป็นเหมือนเครื่องมือสำคัญวิธีหนึ่งที่จะทำให้กองทุน กยศ.กลับมามีสภาพคล่องที่ดีขึ้นสามารถส่งต่อถึงรุ่นต่อรุ่นได้ โดยกำหนดไว้ชัดเจนให้นายจ้างหักเงินเดือนจากรายได้ของพนักงานหรือลูกจ้างที่เป็นลูกหนี้ของ กองทุนฯ เพื่อนำส่งกรมสรรพากรเช่นเดียวกับการหักภาษี ณ ที่จ่ายในแต่ละเดือน
ซึ่ง พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 26 ก.ค.2561 แต่ กยศ.จะเริ่มมาตรการหักเงินเดือนตั้งแต่ไตรมาส 1/2561 โดยเริ่มที่พนักงานข้าราชการ เดือนมีนาคม 2561 นี้ กลุ่มแรกคือ  ข้าราชการกรมบัญชีกลาง 100 ราย จากนั้นจะขยายสู่กระทรวงต่างๆ ซึ่งมีข้าราชการที่เป็นลูกหนี้ กยศ. ประมาณ 2 แสนราย ส่วนพนักงานเอกชนจะเริ่มตุลาคมนี้ หลังจากที่ทางกองทุนฯ ได้ข้อมูลของผู้กู้ผู้จากหน่วยงานต่างๆ และจะแจ้งนายจ้างให้ทราบต่อไปเพื่อนำไปสู่การหักเงินเดือนของผู้กู้ยืมเงิน
นอกจากนี้ พ.ร.บ.กยศ.2560 จะกำหนดมาตรการเข้มงวดมากขึ้นสำหรับผู้กู้รายใหม่ในปีการศึกษา 2561  คือ จะรวมกองทุน กรอ.และกยศ.เข้าด้วยกัน และให้กู้ยืมกับลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์ 4 ลักษณะ คือ นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผู้เรียนในสาขาวิชาความต้องการหลักต่อการพัฒนาประเทศ ในสาขาวิชาที่ขาดแคลน หรือมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ และผู้ที่เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ อัตราดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี จากเดิม 1% ต่อปี และ กยศ.สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้กู้ได้ ทั้งสถานที่ทำงานและข้อมูลเงินเดือนจากเดิมที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่ง ถือเป็นจุดอ่อนสำคัญเพราะทำให้ไม่ทราบข้อมูลลูกหนี้ได้เลย
ถือเป็นมาตรการหนึ่งที่ กยศ. พยายามนำมาแก้ปัญหาเรื้อรังนี้มานานซึ่งจะได้ผลหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูกันต่อไป
 

ขอบคุณข้อมูลจาก pptvhd36 ,sharesidotcom.blogspot.com

อัพเดทล่าสุด