14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์ ทุกปีจะมีประเด็นปัญหาสืบเนื่องจากความรักของวัยรุ่น อาทิ การไปพลอดรักกันตามสถานที่ต่างๆ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่พร้อม การมั่วสุม ฯลฯปีนี้
14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์ ทุกปีจะมีประเด็นปัญหาสืบเนื่องจากความรักของวัยรุ่น อาทิ การไปพลอดรักกันตามสถานที่ต่างๆ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่พร้อม การมั่วสุม ฯลฯปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรมถึงขนาดร่วมกับสวนดุสิตโพล สำรวจความเห็นเด็ก-เยาวชน ว่าด้วย “วันวาเลนไทน์” ปี’61 ในหลายๆ ประเด็น อาทิ การให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์, บุคคลที่อยากมอบความรักหรือส่งความรู้สึกที่ดีให้ในวันวาเลนไทน์มากที่สุด (พบว่า ร้อยละ 66.20 คือพ่อแม่/ผู้ปกครอง รองลงมาร้อยละ 62.16 คนรัก/แฟน/คู่สมรส/คู่ชีวิต),
รูปแบบความรักอย่างสร้างสรรค์เป็นอย่างไร (ร้อยละ 65.98 ให้เกียรติกันรองลงมาร้อยละ 51.36 ชวนทำกิจกรรมดีๆ ร่วมกัน อาทิ ชวนกันเรียน ทำบุญ ช่วยเหลือสังคม เป็นจิตอาสา ร้อยละ 44.84 คบเป็นแฟนกันอยู่ในสายตาและการรับรู้ของผู้ใหญ่ ร้อยละ 37.85 ใช้เวลาศึกษาดูใจกันนานๆ ไม่ชิงสุกก่อนห่ามเป็นต้น)
น่าสนใจว่า หนึ่งในประเด็นที่ไปสอบถาม มีการไปถามเกี่ยวกับการปฏิเสธเซ็กซ์ในวันวาเลนไทน์ด้วย
1. สวนดุสิตโพล สอบถามความคิดเห็นในประเด็นว่า เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ หากแฟนหรือคนรักขอมีเพศสัมพันธ์ด้วยในวัยที่ไม่พร้อม มีวิธีหรือจะใช้คำพูดปฏิเสธอย่างไร? ผลปรากฏว่า
ตัวอย่างคำพูดที่จะใช้ปฏิเสธ อันดับ 1 ปฏิเสธไปตรงๆ ว่า ยังไม่พร้อม/ยังไม่ถึงเวลา
อันดับ 2 พูดคุยดีๆ มีเหตุมีผล
อันดับ 3 บอกให้รอก่อนได้ไหม มันไม่ดี ไม่เหมาะสม
อันดับ 4 ชวนทำกิจกรรมอย่างอื่น และไม่อยู่ในที่ลับตา 2 ต่อ 2
อันดับ 5 ควรให้เกียรติกัน เห็นแก่พ่อแม่ ไม่อยากให้ท่านเสียใจ
อันดับ 6 ควรรอให้เราแต่งงานกันก่อน
อันดับ 7 ถ้าห้ามไม่ได้ควรป้องกัน เป็นต้น
2. การตั้งคำถามเช่นนี้ มีข้อดี คือ เป็นการแนะแนวทางปฏิเสธ หรือเลี่ยงที่จะมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่พร้อม หรือก่อนวัยอันควร ในลักษณะแห่ตามกระแส หรือตกเป็นเหยื่อของเทศกาลวันวาเลนไทน์
เป็นการสื่อสารกับสังคมว่า การปฏิเสธที่จะมีเพศสัมพันธ์ ไม่ใช่เรื่องแปลก
ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้
แต่เป็นเรื่องที่จะต้องรู้จักคิดเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ไว้ด้วย
เพราะหนุ่มสาวสมัยนี้ อาจใช้โอกาสในวันวาเลนไทน์กาลต่างๆ เป็นข้ออ้างในการมีเพศสัมพันธ์กับคู่รัก กับแฟน หรือกับ “กิ๊ก” ซึ่งแต่ละปี ก็คงจะมีเด็กสาวแรกรุ่นถูกหนุ่มใหญ่หนุ่มน้อยฉวยโอกาสใช้ห้วงวันแห่งความรักเป็นข้ออ้างชักพาหญิงสาวไปสู่สถานการณ์ล่อแหลม จนนำไปสู่การร่วมเพศ (have sex) โดยมิได้คิดอย่างมีสติคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ
3. ผลสำรวจที่ออกมาน่าสนใจมาก สะท้อนคำตอบที่มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต สว. กทม. เคยเขียนบทความ “คู่มือร่วมรักในวันวาเลนไทน์” สะท้อนมุมมองและการวิเคราะห์ที่น่าสนใจมาก สามารถนำมาพิจารณาประกอบผลสำรวจ ว่าคำตอบไหนจะได้ผล-คำตอบแบบไหนยังเสี่ยงที่จะเสียรู้ไอ้เสือจอมฉวยโอกาส บางตอนระบุว่า
“...เพื่อมิให้การมีเพศสัมพันธ์หรือการร่วมรัก(make love) แต่ละครั้ง เป็นเพียงแค่การ “รัก” ที่จะ “ร่วม” เท่านั้น (ซึ่งมักทำให้ต้องเสียใจภายหลัง) เมื่อจะร่วมรักกับใคร (ไม่ว่าชายหรือหญิง) ไม่ว่าจะเป็นครั้งแรกหรือครั้งที่เท่าไรก็ตาม น่าจะได้สำรวจตัวเองโดยไตร่ตรองปัจจัยดังต่อไปนี้
1) เรากำลังถูกสถานการณ์ บรรยากาศ กดดัน ฉุดกระชาก ผลักเข้าสู่การร่วมรักหรือไม่? ถ้ารู้ตัวทันว่าเหตุการณ์พาไป ก็จะได้หาหนทางเปลี่ยนสถานการณ์ เปลี่ยนบรรยากาศ และรู้จักปฏิเสธ
2) เรายอมรับได้หรือไม่ ที่ค่านิยมของผู้ชาย เมื่อได้ร่วมรักกับหญิงก่อนแต่งงาน จะเห็นคุณค่าของหญิงลดลงอย่างมาก เพราะมักจะคิดว่าเมื่อเขายอมร่วมรักกับเรา เขาก็อาจจะยอมหรือเคยร่วมรักกับคนอื่นมาแล้ว หรือบัดนี้เขาได้เสียตัวเสียความบริสุทธิ์ไปแล้ว ผู้ชายจำนวนมากจะให้คุณค่ากับหญิงลดลง
3) เรารักคนที่จะร่วมรักหรือไม่? เราต้องรู้ตัวว่าเราจะร่วมรักเพราะความใคร่ หรือสถานการณ์พาไป หรือเพราะอะไร?
ถ้าผ่านข้อ 1) 2) และ 3) ไปได้ คือ เรารักคนคนนี้ เราไม่ได้ถูกสถานการณ์พาไปหรือบรรยากาศพาไป ก็ควรถามตัวเองในข้อต่อไป
4) การร่วมรักจะปลอดภัยหรือไม่ (Safe Sex) ? คือปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศ คือหนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส HIV (เอดส์) และอื่นๆ เรามีการป้องกันตัวเราเองหรือไม่?
5) เราพร้อมจะมีลูกหรือไม่? เพราะเพศสัมพันธ์ครั้งนี้อาจทำให้ตั้งท้องได้ เราได้มีวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมถูกต้องแล้วหรือยัง? อย่าได้ลุยไปก่อน แล้วหลังจากเสร็จกิจ 1 นาทีค่อยได้สติ กุมศีรษะ ตามแก้ปัญหา
6) เราประเมินผลกระทบต่อเนื่องได้หรือไม่? ว่าคุณพ่อ คุณแม่ พี่สาว พี่ชายน้องๆ ญาติ รวมทั้งครูและเพื่อนจะรับได้แค่ไหน? เพื่อนๆ จะรู้สึกอย่างไร? หากกำลังเรียนหนังสืออยู่ การตั้งท้องหรือติดโรคจะทำอย่างไร? แม้เป็นผู้ชายก็น่าจะต้องคำนึงว่า ผู้ร่วมรักกับเราอาจจะมีปัญหามากกว่าตัวเรา แล้วเรารับได้แค่ไหน?
7) เราจะร่วมรักครั้งนี้ แล้วจะผูกพันร่วมรักไปอย่างนี้อีกมากน้อยแค่ไหน ความรักที่มีจะอยู่ยั้งยืนยงหรือไม่? ควรจะจดทะเบียนสมรส หรือควรจะอยู่กันไปอย่างนี้
หากตอบคำถามข้างต้นได้ และมั่นใจในการประเมินของผู้เป็นคู่ของเรา เช่น หากเราเป็นหญิง เรามั่นใจว่าฝ่ายชายเขารักเราจริง ไม่ใช่เพียงต้องการระบายความใคร่ เสมือนเราเป็นโถส้วมชักโครก เมื่อปวดท้องต้องการระบายออกก็วิ่งหา ระบายเสร็จก็มองว่าเป็นที่เก็บของสกปรก และฝ่ายชายได้พิจารณาผลกระทบทั้ง 7 ข้อที่ตามมาแล้ว หากเราเป็นชายก็ควรชั่งใจว่า หญิงที่เราร่วมรักอยู่ในเงื่อนไขของความรัก และรับผลกระทบสืบเนื่องได้ทั้ง 7 ข้อ....”
ประการสำคัญ ดร.เจิมศักดิ์ ยังแนะนำวิธีปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์เอาไว้ด้วย ระบุว่า
“...อย่าได้ปฏิเสธว่า “เดี๋ยวใครเขาเห็น”
“เดี๋ยวใครเขารู้หรอก”
“เอาไว้วันหลังดีกว่า”
หรือการยกเหตุผลใดมาปฏิเสธก็มักจะไม่ได้ผล เพราะทุกเหตุผลที่ยกมา มักจะถูกอีกฝ่ายหนึ่งนำเหตุผลมาหักล้างได้เสมอ เช่น
“เราอยู่กันสองคน ใครเล่าจะเห็นเรา”
“ถ้าเราไม่บอกใคร ก็ไม่มีคนรู้”
“วันนี้เหมาะกว่าวันหลัง เพราะ....”
ดังนั้น ถ้าจะปฏิเสธ จึงไม่ควรปฏิเสธด้วยเหตุผล แต่ควรปฏิเสธด้วยค่านิยม แสดงจุดยืนให้ชัดเจน เช่น “เรื่องนี้ครอบครัวเรารับไม่ได้ ถือเป็นเรื่องเสียหาย เลวทราม” หรือ “เรื่องนี้เรารับไม่ได้อย่างแน่นอน” หรือ “เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องดีเรารับไม่ได้” หรือถ้ายังถูกรุกเร้าต่อไปอีก ก็ให้มองตา จ้องตาดุๆ เน้นเสียงชัดๆว่า คุณไม่ชอบเรื่องนี้เลย ต้องหยุดเดี๋ยวนี้!ชายใดได้รับการปฏิเสธอย่างนี้ รับรองหงอย!!!
อย่างไรก็ตาม ทางที่ดีที่สุดคือควรตัดไฟแต่ต้นลม อย่าเปิดโอกาสให้มีสถานการณ์ที่ต้องมาปฏิเสธจะดีที่สุด เพราะเมื่อผู้ชายพาหญิงไปอยู่ในห้องหรือบนเตียงนอนสองต่อสอง โอกาสที่ผู้ชายจะปล่อยให้หลุดมือไปมีน้อยมาก เพราะผู้ชายมักจะคำนึงเรื่องการเสียหน้าเข้าเกี่ยวข้อง...”
4. ปัญหาและเทคนิคการรอดพ้นจากสภาพปัญหาเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย ต่อให้ตัวเราไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว ก็ยังสามารถนำไปแนะนำแก่ลูกหลานที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาวได้อย่างเท่าทันขอให้มีความสุขอย่างรู้เท่าทันในวันวาเลนไทน์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: www.naewna.com