ภาวะ “ครรภ์เป็นพิษ” หนึ่งในโรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เป็นอาการผิดปกติที่สร้างความวิตกกังวลให้แม่ท้องอย่างมาก เพราะมีความเสี่ยงสูงที่เป็นอันตรายต่อแม่ท้องและลูกน้อยในครรภ์
ภาวะ “ครรภ์เป็นพิษ” หนึ่งในโรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เป็นอาการผิดปกติที่สร้างความวิตกกังวลให้แม่ท้องอย่างมาก เพราะมีความเสี่ยงสูงที่เป็นอันตรายต่อแม่ท้องและลูกน้อยในครรภ์
1. รู้จัก “ครรภ์เป็นพิษ”ครรภ์เป็นพิษ หรือ Toxemia เป็นคำเรียกกลุ่มของอาการซึ่งประกอบด้วยภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ (Pregnancy Induced Hypertension) และการตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะของคุณแม่ตั้งครรภ์ค่ะ ครรภ์เป็นพิษเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยประมาณ ร้อยละ 10 ของหญิงตั้งครรภ์ และเป็นสาเหตุการตายของมารดาเป็นอันดับ 2 รองจากการตกเลือดหลังคลอด
2. ครรภ์เป็นพิษเกิดขึ้นได้อย่างไร
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าน่าจะเกิดจากปัจจัยหลายประการ เช่น จากการศึกษาวิจัยพบว่ากลไกในการสร้างสารเคมีที่มีชื่อว่า พรอสตาแกลนดิน มีส่วนทำให้ความดันโลหิตสูงผิดปกติ สารพรอสตาแกลนดินบางตัวทำให้หลอดเลือดขยายตัว บางตัวทำให้หลอดเลือดบีบตัว คุณแม่ที่เกิดครรภ์เป็นพิษจะสร้างพรอสตาแกนดินที่ทำให้เส้นเลือดบีบตัวมากกว่า ทำให้แรงดันในหลอดเลือดที่มีความตีบตัวสูงขึ้นมาก และเส้นเลือดดังกล่าวยังปล่อยน้ำที่อยู่ในหลอดเลือดให้รั่วซึมออกนอกเส้นเลือดได้ง่ายอีกด้วย
นอกจากนั้นยังมีการกล่าวถึงการถ่ายทอดทางพันธุกรรม การสร้างฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์ที่มากกว่าปกติ และปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกัน ปัจจุบันแพทย์และนักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาและวิจัยเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับสาเหตุของโรคนี้ค่ะ
3. กลุ่มเสี่ยงคุณแม่ครรภ์เป็นพิษ
เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จึงไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าคุณแม่ท่านใดที่เสี่ยง แต่อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่า ภาวะนี้มักพบในคุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี หรือน้อยกว่า 20 ปี มักพบในการตั้งครรภ์ครั้งแรก มีประวัติภาวะนี้ในครอบครัว เช่น มารดา พี่สาว และน้องสาว การตั้งครรภ์แฝด การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก หรือมีโรคเบาหวานร่วมด้วย คุณแม่ที่เข้าข่ายนี้จึงควรรีบฝากครรภ์และพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
4. อาการผิดปกติครรภ์เป็นพิษ
4.1 คุณแม่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเร็วมากกว่าปกติ โดยทั่วไปคุณแม่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 0.5 กิโลกรัม คุณแม่ที่เป็นโรคนี้อาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 1-2 กิโลกรัม โดยที่ไม่ได้รับประทานอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุที่น้ำหนักขึ้นเกิดจากการบวมน้ำ
4.2 คุณแม่มีอาการบวม โดยให้สังเกตบริเวณหน้าแข้งจะพบว่าเมื่อกดแล้วจะมีรอยบุ๋ม เปลือกตาบวม แหวนที่ใส่คับแน่นขึ้นมาก
4.3 คุณแม่บางรายจะมีอาการปวดศีรษะเนื่องจากความดันโลหิตที่สูงขึ้น
4.4 หากมีเลือดออกที่ตับ หรือตับเสื่อมสภาพจะทำให้มีอาการจุกแน่นที่ใต้ชายโครงทางด้านขวา หรือบริเวณลิ้นปี่ คุณแม่บางท่านหายใจลำบากเนื่องจากมีน้ำในปอด บางรายมีอาการตาพร่าลายเนื่องจากเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตาลดลง
4.5 ลูกดิ้นน้อยลงและท้องไม่ค่อยโตขึ้นตามอายุครรภ์ ซึ่งเกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงมดลูกลดลง
4.6 ถ้ามีอาการผิดปกติข้างต้น ให้คุณแม่รีบพบแพทย์ทันที
5. กระทบอย่างไรต่อคุณแม่
เมื่อหลอดเลือดตีบ แคบ และรั่วง่าย อวัยวะต่างๆ ได้รับเลือดไปเลี้ยงน้อยลง ไตทำงานลดลงทำให้ประสิทธิภาพในการขับของเสียออกจากร่างการลดลง เกิดการคั่งของของเสีย ปัสสาวะออกน้อยลง หากไม่ได้รับการรักษาไตจะวายได้ ตับจะขาดเลือดไปเลี้ยง อาจพบมีเลือดออกในเยื่อหุ้มตับ มีน้ำคั่งในถุงลมปอด ทำให้หายในลำบาก มีน้ำคั่งใต้ผิวหนังทำให้เกิดอาการบวมที่ปลายมือ ปลายเท้า หน้า และเปลือกตา ในรายที่เป็นมากอาจเกิดอาการชัก มีเลือดออกในสมอง และอาจเสียชีวิตได้ค่ะ
6. ผลกระทบกับลูกในครรภ์
เนื่องจากเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณมดลูกลดลง ทำให้เกิดภาวะทารกเติบโตช้าในครรภ์ได้ ในรายที่เป็นรุนแรงทารกอาจเสียชีวิตในครรภ์ได้
7. ครรภ์เป็นพิษรักษาได้อย่างไร
การรักษาโรคนี้ดีที่สุดคือ ทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลงหรือการยุติการตั้งครรภ์นั่นเอง เพราะอาการต่างๆ เกิดจากการตั้งครรภ์ทั้งสิ้น ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์ครบกำหนด หรือใกล้ครบกำหนดแล้ว คุณหมอจะตัดสินใจให้คุณแม่คลอดให้เร็วที่สุด ซึ่งหากคุณแม่มีอาการเจ็บครรภ์คลอดแล้วจะพิจารณาให้คลอดทางช่องคลอดก่อน แต่ถ้าหากลูกตัวใหญ่มาก หรือคุณแม่ไม่มีอาการเจ็บท้องเลย คุณหมอจะพิจารณาผ่าตัดคลอด
แต่หากโรคนี้เกิดในขณะที่อายุครรภ์ยังน้อยหรือยังไม่ครบกำหนด การรักษาโดยการให้คลอดเลยอาจมีปัญหากับลูกได้เนื่องจากลูกยังตัวเล็กมากมีน้ำหนักน้อย การทำงานของปอดยังไม่ดีพอ ซึ่งเสี่ยงมากที่ลูกอาจเสียชีวิตได้ การรักษาสำหรับคุณแม่กลุ่มนี้จึงต้องการการดูแลจากคุณหมออย่างใกล้ชิด ซึ่งคุณหมอจะพยายามประคับประคองให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยการให้ยาป้องกันการชัก ให้ยาลดความดันโลหิต ให้ยากระตุ้นการทำงานของปอดลูก โดยหวังให้การทำงานของปอดลูกสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ยกเว้นว่าไม่สามารถประคับประคองให้ตั้งท้องต่อไปได้ เช่น มีความรุนแรงของโรคมากขึ้นจนควบคุมไม่ได้ และจะส่งผลร้ายทั้งคุณแม่และลูก คุณหมอจะพิจารณาผ่าตัดคลอดทันที
8. คุณแม่ครรภ์เป็นพิษควรดูแลตัวเองอย่างไร
8.1 คุณแม่ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว ต้องได้รับการรักษาเพื่อควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติก่อนตั้งครรภ์ และอย่าลืมรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ
8.2 หากมีน้ำหนักตัวมากควรพยายามลดความอ้วนด้วยการออกกำลังกาย และควบคุมอาหารตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
8.3 เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์แล้วควรรีบฝากครรภ์โดยเร็วที่สุด ควรแจ้งประวัติส่วนตัวอย่างละเอียดให้แพทย์ทราบเพื่อการวางแผนการดูแลที่ถูกต้อง
8.4 ลดอาหารเค็ม การใช้ยาขับปัสสาวะ การรับประทานแมกนีเซียม สังกะสี น้ำมันตับปลา และแคลเซียมเสริม ปัจจุบันยังไม่พบประโยชน์ที่ชัดเจนในการป้องกันภาวะนี้ค่ะ
ท้ายสุดนี้ขอให้คุณแม่ตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย มีจิตใจให้เข้มแข็ง พร้อมรับมือกับทุกอย่าง
ที่มา: www.rakluke.com