ทำไมมุสลิมจึงลอยกระทงไม่ได้ (แจงละเอียดยิบ)


3,558 ผู้ชม

 วันลอยกระทง ในปีนี้ ตรงกับ วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน 2561 วันนี้ทางมุสลิมไทยโพสต์รวบรวมข้อมูลประเด็นชี้แจงวันลอยกระทงกับมุสลิม อย่างละเอียด....


 วันลอยกระทง ในปีนี้ ตรงกับ วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน 2561 วันนี้ทางมุสลิมไทยโพสต์รวบรวมข้อมูลประเด็นชี้แจงวันลอยกระทงกับมุสลิม อย่างละเอียด....

ทำไมมุสลิมจึงลอยกระทงไม่ได้

ตอบโดย: อ.มุรีด ทิมะเสน

เทศกาลลอยกระทงตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือราวเดือนพฤศจิกายน เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งมีมาต้องแต่ก่อนสมัยสุโขทัย (ธนากิจ,วันสำคัญของไทย(กรุงเทพมหานคร: ชมรมเด็ก,2541) หน้า 275)

ประวัติความเป็นมาของประเพณีลอยกระทง

ประเพณีลอยกระทงสืบทอดมาช้านานตั้งแต่สุโขทัย กรุงศรีอยุธยา เรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสันนิษฐานว่าได้ประเพณีนั้นมาจากประเทศอินเดีย จากความเชื่อของลัทธิพราหมณ์ที่บอกว่า ลอยกระทงเพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม ส่วนศาสนาพุทธจะมีความเชื่อแตกต่างกันเช่น เป็นการยกโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ หรือเป็นการลอยโคมเพื่อบูชาพระพุทธบาทซึ่งประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมทา(ปัจจุบันคือแม่น้ำเนรพุทธา) และยังมีความเชื่อที่นอกเหนือจากนี้อีก เช่น ลอยกระทงเพื่อขอบคุณแม่คงคา ที่ให้เราได้อาศัยน้ำกินและใช้น้ำ รวมทั้งขอขมาต่อท่านที่ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไป  (นลินี มกรเสน, “ลอยกระทงกันทำไม?”,มติชน(10 พฤศจิกายน 2540) : 4)

ตำนานการลอยกระทงเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท

รอยพระพุทธบาทเจ้าที่ไปปรากฏอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทานที มีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติคือ ครั้งหนึ่งพญานาคทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคภิภพ เมื่อพระองค์จะเสด็จกลับ พญานาคทูลขออนุสาวรีย์ไว้กราบไหว้บูชา พระพุทธองค์จึงทรงประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้ที่หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมทานทีเพื่อให้พญานาคทั้งหลายได้สักการบูชาการ

ลอยกระทงที่มีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพระพุทธประวัติ ยังมีอีก 2 เรื่องคือ

-การลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ และ

-การลอยกระทงเพื่อต้อนรับพระพุทธองค์ในวันที่เสด็จกลับจากเทวโลก

การลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์

เมื่อครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกจากพระนครกบิลพัสดุ์ในเวลากลางคืนด้วยม้ากัณฐกะ พร้อมนายฉันทะมหาดเล็กผู้ตามเสด็จ ครั้นรุ่งอรุณก็ถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที เจ้าชายทรงขับม้ากัณฐกะกระโจนข้ามแม่น้ำไปโดยสวัสดี

เมื่อทรงทราบว่าพ้นเขตกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว เจ้าชายสิทธัตถะจึงเสด็จลงประทับเหนือหาดทรายขาวสะอาด ตรัสให้นายฉันทะนำเครื่องประดับและม้ากัณฐกะกลับพระนคร ทรงตั้งพระทัยปรารถนาจะบรรพชาโดยเปล่งวาจา “สาธุ โข ปพพชชา” แล้วจึงทรงจับเมาลีด้วยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ตัดพระเมาลี แล้วโยนขึ้นไปบนอากาศ พระอินทร์ได้นำผอบทองมารองรับเมาลีไว้ และนำไปบรรจุยังพระจุฬามณีเจดีย์สถานในเทวโลก

พระจุฬามณีตามปกติมีเทวดาเหาะมาบูชาเป็นประจำ แม้พระศรีอาริยไตรยเทวโพธิสัตว์ ซึ่งในอนาคตจะมาจุติบนโลกและตรัสรู้เป็นพระพุทธองค์หนึ่งก็ยังเสด็จมาไหว้ การลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณีจึงถือเป็นการไหว้บูชาพระศรีอาริยเมตไตรด้วย

การลอยกระทงเพื่อต้อนรับพระพุทธองค์ในวันเสด็จกลับจากเทวโลก

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวชจนได้บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว หลังจากเผยพระธรรมคำสั่งสอนแก่สาธุชนโดยทั่วไปได้ระยะหนึ่ง จึงเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาธรรมโปรดพระพุทธมารดาครั้นจำพรรษาครบ 3 เดือน พระองค์จึงเสด็จกลับสู่โลกมนุษย์ เมื่อท้าวเทวราชทราบพุทธประสงค์ จึงเนรมิตบันไดทิพย์ขึ้นอันมีบันไดทอง บันไดเงิน และบันไดแก้ว ทอดลงสู่ประตูเมืองสังกัสสนคร บันไดแก้วนั้นเป็นที่ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลง บันไดทองที่สำหรับเทพยาดาทั้งหลายตามส่งเสด็จ บันไดทองสำหรับพรหมทั้งหลายส่งเสด็จ

ในการเสด็จลงสู่โลกมนุษย์คั้งนี้เหล่าทวยเทพ และประชาชนทั้งหลายได้พร้อมใจกันทำการสักการะบูชาด้วยทิพย์บุปผามาลัย การลอยกระทงตามคตินี้จึงเป็นการรับเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากดาวดึงส์พิภพ(เป็นตำนานเดียวกับประเพณีการตักบาตรเทโวรับเสด็จพระพุทธองค์ลงจากดาวดึงส์)

(ธนากิต,วันสำคัญของไทย(กรุงเทพมหานคร : ชมรมเด็ก, 2541) หน้า 276-279)

สรุปเหตุผลในการลอยกระทง

1. เพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ตามความเชื่อของลัทธิพราหมณ์

2. เพื่อบูชารอบพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าที่หาดทรายริมแม่น้ำนัมทานที เมื่อคราวเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ

3. เพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า

4. เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้าในวันเสด็จจากเทวโลก เมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาธรรมโปรดพระพุทธมารดา

5. เพื่อขอบคุณพระแม่คงคา หรือเทพเจ้าแห่งน้ำที่ให้อาศัย น้ำดื่ม น้ำใช้

6. เพื่อแสดงความคารวะขออภัยต่อพระแม่คงคาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไป ไม่ว่าจะโดยมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม

7. เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมของไทยไว้ มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา

ประเด็นชี้แจง

จากข้อมูลข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นประวัติหรือตำนานการลอยกระทง ล้วนมีที่มาจากความเชื่อทางศาสนา

ทั้งสิ้น ทัศนะของศาสนาพราหมณ์มีความเชื่อว่าการลอยกระทง เพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามองค์ คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ส่วนทางศาสนาพุทธเชื่อว่า การลอยกระทงเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท บูชาพระจุฬามณ์เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากเทวโลก ดังนั้น เมื่อถึงเทศกาลลอยกระทง จึงเป็นที่แน่นอนอย่างยิ่ง จะต้องอบอวลไปด้วยความเชื่อทางศาสนาอย่างแน่นอน เช่นนี้แล้วมุสลิมจะเข้าร่วมในเทศกาลดังกล่าวไม่ได้อย่างเด็ดขาด ดังที่พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ในอัล-กุรฺอานว่า“สำหรับพวกท่านคือศาสนาของพวกท่าน และสำหรับฉันคือศาสนาของฉัน(หมายถึงศาสนาอิสลาม)”  (ซูเราะฮฺ อัล-กาฟิรูน : 6)

หลักการอิสลามได้กำหนดขอบเขตในเรื่องของศาสนาไว้อย่างชัดเจน และเด็ดขาด เพราะฉะนั้นมุสลิมจะต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเทศกาลลอยกระทง ซึ่งเป็นความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพุทธอย่างเด็ดขาด

นอกจากนี้ การลอยกระทงยังเกิดจากความเชื่อที่ว่า เพื่อเป็นการขอบคุณพระแม่คงคาที่ให้อาศัยน้ำดื่มน้ำใช้ ความเชื่อดังกล่าวนี้ยิ่งค้านกับความเชื่อของมุสลิมอย่างรุนแรง เพราะมุสลิมมีความเชื่อว่าน้ำที่ท่าลั่งลงมาจากฟากฟ้าสู่แม่น้ำลำธารนั้นมาจากพระองค์อัลลอฮฺ ดังข้อความในอัล-กุรฺอ่านว่า

“พระองค์ทรงทำให้แผ่นดินเป็นพื้นปูลาดสำหรับพวกท่าน และชั้นฟ้าเป็นหลังคา และทรงหลั่งน้ำฝนลงมาจากฟากฟ้า และทรงทำให้งอกเงยออกมาโดยน้ำนั้น ซึ่งผลไม้ต่างๆเป็นเครื่องยังชีพ สำหรับพวกท่าน ดังนั้นพวกท่านจงอย่าตั้งภาคีสำหรับอัลลอฮฺ ทั้งๆที่พวกท่านรู้ดียิ่ง” (ซูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 6)

เมื่อมุสลิมเชื่อว่าน้ำฝนที่หลั่งลงมาสู่แม่น้ำลำคลองมาจากพระอัลลอฮฺ พร้อมทั้งต้องขอบคุณต่อพระองค์ที่ทำให้มีน้ำดื่มน้ำใช้ ด้วยสาเหตุที่ได้รู้ถึงการประทานปัจจัยต่างๆนี่เอง มุสลิมจึงถูกห้ามมิให้ตั้งภาคีใดๆต่อพระองค์อย่างเด็ดขาด เช่นนี้แล้ว มุสลิมจะลอยกระทงเพื่อขอบคุณพระแม่คงคาหรือเทพเจ้าแห่งน้ำได้อย่างไรกัน!

กรณีลอยกระทงเพื่อขออภัยต่อพระแม่คงคาอันเนื่องจากได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไปในแม่น้ำ มุสลิมก็กระทำไม่ได้เช่นกัน ศาสนาอิสลามสอนว่า หากมุสลิมคนใดต้องการจะขออภัยหรือขอลุแก่โทษความผิดจะต้องขอต่อพระองค์อัลลอฮฺเพียงองค์เดียวเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ขอหรือวิงวอนต่อพระเจ้าอื่นๆดังที่พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ว่า...

“บรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขากระทำสิ่งที่ชั่วช้าต่างๆ หรืออธรรมแก่ตัวของพวกเขาเอง พวกเขาก็รำลึกถึงอัลลอฮฺ แล้วขออภัยโทษสำหรับความผิดต่างๆของพวกเขา และบุคคลใดเล่าที่จะอภัยโทษความผิดต่างๆนอกจากพระองค์อัลลอฮฺเท่านั้น” (ซูเราะฮฺ อาลิ-อิมรอน : 135)

ส่วนกรณีการลอยกระทงเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมของไทยไว้มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา มุสลิมก็กระทำไม่ได้เช่นกัน เพราะพระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ในอัล-กุรฺอานว่า

“และสิ่งใดที่ท่านรสูล(หมายถึงนบีมุหัมมัด)นำมาให้พวกท่าน พวกท่านจงรับสิ่งนั้นไว้ และสิ่งใดที่เขาได้ห้ามพวกท่าน พวกท่านจงหลีกห่างจากสิ่งนั้นเถิด” (ซูเราะฮฺ อัล-หัชรฺ : 7)
และมุสลิมคนใดที่ปฏิบัติตามท่านนบีมุหัมมัดเขาจะได้รับความเมตตา ดังที่อัล-กุรอานได้ระบุว่า

“และพวกท่านจงเชื่อฟังพระองค์อัลลอฮฺ และศาสนทูตของพระองค์ เพื่อว่าพวกท่านจะได้รับความเมตตา” (ซูเราะฮฺ อาลิ-อิมรอน : 132 )

ในเมื่อมุสลิมไม่สามารถร่วมลอยกระทงกับชาวศาสนิกอื่นได้ ถ้าเช่นนั้นมุสลิมจะเข้าไปเที่ยวในงานลอยกระทงได้หรือไม่? เพราะมีมุสลิมบางท่านอาจจะกล่าวอ้างว่า “ฉันแค่ไปเที่ยวงานลอยกระทง แต่ไม่ได้ราวมลอยกระทงดังเช่นชาวพุทธ แล้วฉันจะมีความผิดตรงไหน?” ซึ่งผู้เขียนจะชี้แจงเป็นข้อๆดังนี้

1.ทางศาสนาพุทธเชื่อว่าการลอยกระทงเป็นการต้อนรับพระพุทธเจ้าที่เสด็จกลับมาสู่โลกมนุษย์ในวันดังกล่าวเพียงมุสลิมเข้าไปร่วมในงาน ก็เท่ากับว่ามุสลิมผู้นั้นได้มารอต้อนรับพระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะไม่ร่วมลอยกระทงก็ตาม

2.ท่านนบีมุหัมมัดกล่าวไว้ว่า “บุคคลใดที่เลียนแบบชนกลุ่มหนึ่ง เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของชนกลุ่มนั้นด้วย” ซึ่งวจนะของท่านนบีบอกให้รู้ว่า มุสลิมจะต้องไม่เลียนแบบกลุ่มชนอื่นในเรื่องความเชื่อ วัฒนธรรม และประเพณี เพราะฉะนั้น การจัดเทศกาลงานลอยกระทงซึ่งเป็นของศาสนาพุทธ หากมุสลิมเข้าร่วมในงานนั้น ก็เปรียบประหนึ่งเป็นกลุ่มชนของศาสนานั้นๆด้วย เพราะเท่ากับว่าได้ร่วมแสดงความยินดี และเห็นด้วยกับเทศกาลดังกล่าว

3.ท่านนบีมุหัมมัดกล่าวไว้ว่า “อิสลามเริ่มต้นอย่างคนแปลกหน้า และจะกลับมาอีกครั้งหนึ่งอย่างคนแปลกหน้า ดังนั้น จงแจ้งข่าวดี (หมายถึงสวรรค์) สำหรับคนแปลกหน้าเถิด”  (เล่าโดยอบู ฮุร็อยเราะฮฺ บันทึกโดยมุสลิม)

ท่านนบีมุหัมมัดได้กล่าวถึงอิสลามจะกลับมาอีกครั้งหนึ่งอย่างคนแปลกหน้า นั่นหมายถึงมุสลิมจะนำวิถีชีวิตแห่งอิสลามกลับมาปฏิบัติในปัจจุบันท่ามกลางวิถีชีวิที่มิใช่อิสลาม คือคนแปลกหน้าที่ปฏิบัติแตกต่างจากผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม และ ณ พระองค์อัลลอฮฺ คือการตอบแทนความดีอันใหญ่หลวง ส่วนมุสลิมที่ไปร่วมเทศกาลงานลอยกระทง ก็เท่ากับว่าเขาไม่ใช่คนแปลกหน้า เพราะเขามีวิถีชีวิตที่เหมือนกับผู้คนในศาสนิกอื่นทั้งหลาย เขาไม่กล้าแสดงภาพลักษณ์แห่งเจตนาณ์ของท่านนบีมุหัมมัด ทีต้องการให้มุสลิมทำตัวแปลกแยกจากความเชื่อต่างๆที่มีอย่างดาษดื่นในสังคม

ประวัติการประดิษฐ์กระทง

การลอยกระทงในเมืองไทยมีมาตั้งแต่กรุงสุโขทัย เรียกว่าการลอยกระทงพระประทีป หรือลอยโคมเป็นงานนักขัตฤกษ์รื่นเริงของประชาชนทั่วไป ต่อมานางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์สนมเอกของพระร่วงได้คิดประดิษฐ์ดัดแปลงเป็นรูปกระทงดอกบัวแทนการลอยโคม การลอยกระทงหรือลอยโคมในสมัยนางนพมาศ กระทำเพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมทานที ซึ่งป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบทของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่าแม่น้ำเนรพุททา” (ธนากิต,วันสำคัญของไทย หน้า 276-277)

รูปแบบการประดิษฐ์กระทง

เมื่อถึงวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวงในเดือน 12 ชาวบ้านจะจัดเตรียมทำกระทงจากวัสดุที่หาง่ายตามธรรมชาติ เช่น หยวกกล้วยและดอกบัว นำมาประดิษฐ์เป็นกระทงสวยงาม ปักธูปเทียนและดอกไม้เครื่องบูชา ก่อนทำการลอยในแม่น้ำก็จะอธิฐานในสิ่งที่มุ่งหวังพร้อมขอขมาต่อพระแม่คงคา (หนังสือเล่มเดียวกัน หน้า 284)

สรุปที่มาของการประดิษฐ์กระทง

1.ผู้ที่ริเริ่มประดิษฐ์กระทงคือนางนพมาศ

2.นางนพมาศประดิษฐ์กระทงเพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมทานที

****ประเด็นชี้แจง

เมื่อมุสลิมไม่สามารถไปเที่ยวงานลอยกระทง และร่วมลอยกระทงได้แล้ว ถ้าเช่นนั้นมุสลิมจะประดิษฐ์กระทงได้หรือไม่?

คำตอบคือ มุสลิมไม่สามารถประดิษฐ์กระทงได้เช่นกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า อิสลามให้มุสลิมปฏิบัติตามแบบฉบับของท่านนบีมุหัมมัด ดังที่ท่านนบีได้กล่าววว่า

“ดังนั้นจำเป็นบนพวกท่านที่จะต้องปฏิบัติตามแบบฉบับของฉัน และแบบฉบับของบรรดาเคาะลีฟะฮฺ(ทั้งสี่) ที่ฉลาดรอบรู้ อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง พวกท่านทั้งหลายจงยึดมั่นสิ่งดังกล่าวด้วยฟันกราม” (เล่าโดยอัลอิรฺบาฎ บุตรของสาริยะฮฺ บันทึกโดยอบู ดาวูด, ติรฺมิซีย์, อิบลนุ มาญะฮฺ และอะหฺมัด)

ส่วนการประดิษฐ์กระทงเป็นการริเริ่มของนางนพมาศ ซึ่งไม่เป็นที่อนุญาตสำหรับมุสลิมที่จะปฏิบัติตาม ดังความจากหะดีษข้างต้นที่ชัดเจนอยู่แล้ว ยิ่งเป้าหมายของการประดิษฐ์กระทงของนางนพมาศที่ต้องการสักการะรอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมทานทียิ่งขัดกับหลักการศรัทธาของมุสลิมอย่างรุนแรง เพราะมุสลิมจะเคารพสักการะต่อพระองค์อัลลอฮฺเพียงองค์เดียวเท่านั้น

การประดิษฐ์กระทงที่เป็นปัญหากับมุสลิมในปัจจุบัน น่าจะมีประเด็นดังนี้

1.การดิษฐ์กระทงตามคำสั่งครู

กรณีที่นักเรียนจะต้องประดิษฐ์กระทงตามคำสั่งของครู จะกระทำได้หรือไม่เพียงได? ผู้เขียนขอตอบว่า เมื่อมุสลิมจะปฏิบัติตามคำสั่งของบุคคลใดก็ตาม สิ่งนั้นจะต้องไม่ขัดกับหลักการของศาสนา ฉะนั้น หากครูสั่งให้นักเรียนมุสลิมประดิษฐ์กระทง นักเรียนผู้นั้นจะปฏิบัติตามคำสั่งของครูไม่ได้(โดยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาแล้ว) ซึ่งถ้านักเรียนมุสลิมผู้นั้นประดิษฐ์กระทงปัญหาที่จะตามมาก็คือ กระทงที่ทำเสร็จแล้วไม่สามารถนำไปลอยกระทงได้, จะนำไปให้เพื่อนต่างศาสนิกก็ไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นการสนับสนุนกิจการของศาสนาอื่น, เมื่อใช้ทำอะไรไม่ได้ ให้ใครก็ไม่ได้ จะนำไปทิ้งขยะก็ไม่ได้อีก เพราะจะเป็นการดูถูก ดูหมิ่นศาสนาอื่น หรือจะนำกระทงนั้นมาแยกเป็นชิ้นส่วนแล้วค่อยนำไปทิ้งขยะก็ไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะถือเป็นการฟุ่มเฟือยเนื่องจากวัสดุที่นำมาประดิษฐ์กระทงนั้นจะต้องใช้เงินซื้อหามาทั้งนั้น เมื่อทำเสร็จแล้วก็นำไปทิ้งเช่นนี้อิสลามถือว่าเป็นการฟุ่มเฟือย และยังเป็นการสร้างความใกล้ชิดกับมารร้ายชัยฏอนอีกด้วย

2.ประดิษฐ์กระทง หรือรับกระทงมาจำหน่าย

การที่มุสลิมประดิษฐ์กระทองเอง หรือรับกระทงมาจำหน่ายนั้น ศาสนาถือว่าไม่อนุญาต เพราะเป็นการสนับสนุนกิจการของศาสนาอื่นเนื่องจากพิธีกรรมการลอยกระทงจะต้องใช้กระทงถ้าหากไม่มีพิธีกรรมดังกล่าวก็จะไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นหากศาสนิกอื่นต้องการลอยกระทงจึงจำเป็นจะต้องหาซื้อกระทงอย่างแน่นอน และหากมุสลิมเป็นผู้จำหน่ายก็เท่ากับมีส่วนช่วยให้การประกอบพิธีกรรมลอยกระทงบรรลุผลสำเร็จ อย่าว่าแต่การขายกระทงเลย แม้แต่การขายองุ่นให้แก่บุคคลจะซื้อไปคั้นทำสุรา ท่านนบีมุหัมมัดก็ยังได้สั่งห้ามไว้ ดังหะดีษที่ว่า

“ผู้ใดกักตุนองุ่นไว้ในฤดูเก็บเพื่อขายให้แก่ยิว หรือคริส์ หรือแก่ผู้ที่ใช้มันทำสุราแล้ว แน่นอน เขาได้โยนตัวเองลงสู่ขุมนรกทั้งๆที่มีสิปัญญา” (บันทึกโดย: ฏ็อบรอนีย์ เป็นหะดีษหะสัน)

มุสลิมจะเก็บสตางค์ที่อยู่ในกระทงได้หรือไม่?

ก่อนที่ผู้เขียนจะตอบคำถามข้างต้น ขอหยิบยกที่มาของการวางเศษสตางค์ในกระทงเสียก่อนซึ่งเรื่องมีอยู่ว่า

“ชาวบ้านที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำส่วนใหญ่จะเย็บกระทงด้วยใบตอง ถ้ามีฐานะดีก็จะประดิษฐ์หยวกกล้วยเป็นบ้านหรือเรือลำใหญ่ๆตกแต่งสวยงามด้วยดอกไม่สด ปักธูปเทียน บ้างก็ใส่สตางค์ หมาก พลู เนื่องจากบางคนเชื่อว่าการลอยกระทงเป็นการปลดเปลื้องความทุกข์โศก โรคภัยต่างๆ ให้พ้นจากตัว ก็นำสัญญลักษณ์บางอย่างของตนใส่ลงไปเช่น เศษผม เศษเครื่องนุ่งห่ม เศษเงิน เมื่อจะลอยก็จุดธูปเทียน กล่าวคำขอขมาต่อแม่คงคา หรือกล่าวคำอธิษฐานตามใจปรารถนา แล้วจึงปล่อยกระทงให้ลอยน้ำไป กับความเชื่อในการตัดเศษผม เศษเล็บ ฯลฯ หรือการลอยทุกข์โศก โรคภัย และบาปต่างๆ นั้นที่จริงแล้วถ้าผู้ลอยต้องการให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง” (นลินี มกรเสน, “ลอยกระทงกันทำไม ?”, หน้า 4)

สรุปว่า การวางเศษสตางค์และสิ่งอื่นๆ ไว้บนกระทงเนื่องจากมีความเชื่อว่าเป็นการปลดเปลื้องความทุกข์โศก โรคภัย และบาปต่างๆให้พ้นจากตัว เมื่อเป็นความเชื่อของผู้ที่วางสตางค์ไว้บนกระทง เช่นนี้ มุสลิมจะไปหยิบเศษสตางค์มาได้อย่างไรกัน ในเมื่อขั้นตอนการลอยกระทงทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องจองศาสนา และความเชื่อทั้งสิ้น ประเด็นนี้คงไม่แตกต่างอะไรกับอาหารหรือผลไม่ที่หะลาล แต่ผ่านพิธีกรรมของศาสนาอื่น ซึ่งมุสลิมจะรับประทานไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น สตางค์หรือสิ่งอื่นที่ผ่านขั้นตอนทางพิธีกรรมของศาสนาอื่น มุสลิมไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมใดๆได้เลย

มุสลิมจะจุดดอกไม้ไฟหรือพลุในวันลอยกระทงได้หรือไม่?

ท่านนบีกล่าวไว้ว่า “บุคคลใดที่เลียนแบบชนกลุ่มหนึ่ง เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของชนกลุ่มนั้น”

การจุดดอกไม้ไฟ และการจุดพลุถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองในเทศกาลลอยกระทง เมื่อเป็นหนึ่งในการสร้างความสนุกสนานในวันดังกล่าว มุสลิมจึงไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการจุดดอกไม้ไฟ หรือจุดพลุ ถ้าหากมุสลิมคนใดปฏิบัติ ก็แสดงว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของชนกลุ่มนั้นแล้ว

จากรายละเอียดที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด พอที่จะสรุปให้เป็นบทเรียน และเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของมุสลิมได้ดังนี้

1.มุสลิมจะต้องไม่นำแบบฉบับ หรือพิธีกรรมของศาสนาอื่นมาปะปนกับวิถีชีวิตของมุสลิม

ครั้งหนึ่งท่านก็อยซ์บุตรของท่านอุบาดะฮฺ อัลอันศอรีย์กล่าวว่า “ฉันเดินทางมายังเมืองฮีเราะฮฺ (ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กับเมืองกูฟะฮฺ) ฉันเห็นชาวเมืองดังกล่าวกราบไหวต่อหัวหน้าเผาของพวกเขา ฉันจึงกล่าวว่า ท่านนบีมุหัมมัดสมควรได้รับการกราบไหว้ยิ่งกว่าหน้าเผาของพวกเขาเสียอีก จากนั้น(ภายหลังเดินทางกลับ) ฉันจึงมาหาท่านนบีมุหัมมัดพลางกล่าวว่า แท้จริงฉันเดินทางไปยังเมืองฮีเราะฮฺ ฉันเห็นชาวเมืองกราบไหว้ต่อหัวหน้าเผ่าของพวกเขา ที่จริงท่านสมควรได้รับการกราบไหว้มากกว่าเขาเสียอีก ท่านนบีจึงกล่าวแก่ฉันว่า ท่านมีความคิดเห็นเช่นไรหากท่านเดินทางผ่านหลุมฝังศพของฉันแล้ว ท่านจะกราบไหว้ต่อหลุมฝังศพของฉันไหม ? ฉันกล่าวตอบว่า ฉันคงไม่ทำเช่นนั้น ท่านนบีกล่าวต่อว่า พวกท่านจงอย่าทำเช่นนั้น” (บันทึกโดย: อบูดาวูด)

จากตัวบทหะดีษข้างต้นถือเป็นมาตรฐานในเรื่องการไม่เคารพกราบไหว้สิ่งอื่นนอกจากพระองค์อัลลอฮฺเพียงองค์เดียวเท่านั้น และอีกประการหนึ่ง การไม่นำแบบฉบับหรือพิธีกรรมของศาสนาอื่นมาปะปนกับวิถีชีวิตของมุสลิม ดังเช่นที่ท่านก็อยซ์ได้แสดงความคิดเห็นว่า ท่านนบีน่าที่จะได้รับการกราบไหว้มากกว่าหัวหน้าเผ่าของกลุ่มชนหนึ่งเพียงแค่ความคิดดังกล่าว ท่านนบีก็ยังได้สั่งห้ามพร้อมทั้งได้ตั้งคำถามเชิงเปรียบเทียบให้แก่ท่านก็อยซ์ ดังตัวบทที่ยกมาข้างต้น แล้วสำมะหาอะไรกับการลอยกระทง

ถ้าเช่นนั้นลองพิจารณาดูเถิดว่า ถ้าท่านนบียังมีชีวิอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ท่านจะตอบว่าอย่างไรหากมีผู้ถามท่านว่า “ฉันจะไปร่วมงานลอยกระทงเฉกเช่นเพื่อนชาวต่างศาสนิกได้หรือไม่ ?”

2.มุสลิมจะต้องรู้ถึงสิทธิของตนเองที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า

ครั้งหนึ่งท่านนบีได้กล่าวถามท่านมุอาซว่า “ท่านทราบไหมว่าสิ่งใดคือสิทธิของพระองค์ที่จะได้รับจากปวงบ่าวของพระองค์ ? ท่านมุอาซ กล่าวตอบว่าพระองค์อัลลอฮฺ และศาสนทูตของพระองค์ย่อมรู้ดียิ่ง ท่านนบีจึงเฉลยว่า หมายถึงปวงบ่าวของพระองค์จะต้องเคารพภักดีต่อพระองค์ และไม่ตั้งสิ่งใดเป็นภาคีสำหรับพระองค์” (เล่าโดยมุอาซ บุตรของญะบัล บันทึกโดยบุคอรีย์, มุสลิม, อิบนุ มาญะฮฺ และอิบนุ หิบบาน)

หะดีษข้างต้นให้ความหมายที่ชัดเจนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องอธิบายเลยว่า การเข้าร่วมงานเทศ-กาลลอยกระทง หรือการร่วมลอยกระทงนั้นเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับมุสลิมอย่างแน่นอน หากมุสลิมคนใดที่เคารพสิ่งอื่นจากพระองค์อัลลอฮฺ นั่นเท่ากับว่า เขาผู้นั้นได้ตั้งสิ่งหนึ่งเทียบเคียงกับพระองค์แล้ว

3.การที่มุสลิมเข้ากิจกรรมของศาสนิกอื่น นั่นเป็นสัญญาณหนึ่งของวันสิ้นโลก

ท่านนบีมุหัมมัดกล่าวไว้ว่า

“วันสิ้นโลกจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่ากลุ่มหนึ่งจากประชาชาติของฉันจะปฏิบัติตามบรรดาผู้ที่ตั้งภาคี จนกระทั่งว่าพวกเขา (หมายถึงมุสลิมกลุ่มนั้น) เคารพภักดีบรรดารูปเจว็ด (เช่นเดียวกับผู้ตั้งภาคี)”

(เล่าโดยเษาบาน บันทึกโดยอบู ดาวูด และติรฺมิซีย์)

ในยุคปัจจุบันแม้ว่าจะยังไม่เกิดวันกิยามะฮฺ แต่สัญญาณหลายประการก็ได้ปรากฏขึ้นให้เห็นอย่างมากมายจากหะดีษข้างต้นก็เช่นกัน หากมุสลิมในปัจจุบันมีความศรัทธาที่อ่อนแอก็ย่อมจะเป็นบุคคลหนึ่งที่ต้องหลงผิดไปสู่การเคารพภักดีต่อสิ่งอื่นนอกเหนือจาการเคารพภักดีต่อพระองค์อัลลอฮฺ ซึ่งในปัจจุบันก็มีให้เห็นเช่นกัน อีกความหมายหนึ่งจากตัวบทข้างต้นอาจเป็นไปได้ว่า มุสลิมจะปฏิบัติตามแบบอย่าง หรือเลียนแบบพิธีกรรมทางศาสนาของศาสนิกอื่น ถึงแม้จะไม่ถึงขั้นกราบไหว้รูปเจว็ดเหมือนพวกเขาก็ตาม

เปรียบได้กับมุสลิมบางท่านในปัจจุบันที่เข้าร่วมพิธีกรรมของศาสนาอื่นจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาจนบางครั้งแยกแยะไม่ออกเลยว่าสิ่งใดที่อิสลามอนุมัติ และสิ่งใดที่อิสลามไม่อนุมัติ ฤาปัจจุบันใกล้จะถึงยุควันสิ้นโลกแล้วกระมัง !

อัพเดทล่าสุด