เวลามาตรฐาน (Standard Time) คืออะไร การตั้งเวลามาตรฐานทั่วโลก


2,676 ผู้ชม

ความริเริ่มเกี่ยวกับเวลามาตรฐานประจำถิ่นเริ่มมาตั้งแต่ ศตวรรษที่ 19 เพื่อขจัดความสับสน


เวลามาตรฐาน (Standard Time)

1. ความเป็นมา

ความริเริ่มเกี่ยวกับเวลามาตรฐานประจำถิ่นเริ่มมาตั้งแต่ ศตวรรษที่ 19 เพื่อขจัดความสับสนเนื่องจากการจับเวลาตามแสงอาทิตย์ การกำหนดเวลามาตรฐานท้องถิ่นจึงจำเป็นมากขึ้นเมื่อมีการเดินรถไฟขึ้น ในปี พ.ศ. 2383 ได้มีการใช้เวลามาตรฐานครั้งแรกในประเทศอังกฤษ โดยทั้งประเทศใช้เวลามาตรฐานที่เมืองกรีนีช (Greenwich) ต่อมา เซอร์ แซนฟอร์ด เฟรมมิง นักวางแผน และวิศวกรรถไฟชาวแคนาดา ได้เป็นผู้ริเริ่มความคิดที่มีการใช้เวลามาตรฐานไปทั่วโลก

การใช้เวลามาตรฐาน (Standard Time) ของแต่ละประเทศ โดยเทียบกับเวลามาตรฐานโลก (Universal Time Co-ordinated หรือ UTC) นั้นใช้กฎเกณฑ์พื้นฐานที่ได้จากการประชุมนานาชาติ International Prime Meridian Conference ณ กรุงวอชิงตัน ดี ซี เมื่อ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2427 โดยมี 25 ประเทศเข้าร่วมประชุม ที่ประชุมได้มีข้อตกลงให้ แบ่งโลกตามแนวเส้นแวงออกเป็น 24 โซนเท่าๆ กัน แต่ละโซนมีค่า 15 องศา

ทั้งในทางทิศตะวันตกและตะวันออก และมีค่าเท่ากับ 1 ชั่วโมงห่างจากโซนที่ติดกัน และเส้น 0 องศาจะผ่านที่เมืองกรีนีช (Greenwich) ประเทศอังกฤษ โดยมีเส้นแบ่งวัน (International Date Line) อยู่ที่ 180 องศา ทั้งนี้ประเทศต่างๆ ได้รับเอาแนวคิดนี้ โดยใช้เส้นแวงที่แบ่งประเทศออกเป็นสองส่วนเป็นตัวกำหนดเวลาว่า เวลามาตรฐานประจำถิ่น เร็วกว่าหรือช้ากว่าเวลามาตรฐานโลก ที่เมืองกรีนีช ประเทศอังกฤษ เท่าไร แต่อย่างไรก็ดีก็มีการกำหนดเวลาท้องถิ่น และเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของประเทศต่างๆ ทั้งนี้สิทธิการกำหนดเวลามาตรฐานประจำถิ่นยังเป็นของประเทศนั้นๆ อยู่

สำหรับประเทศไทยนั้นกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ เป็นผู้ควบคุมเวลามาตรฐานของประเทศไทย และการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเวลาให้เที่ยงตรงในแต่ละปีก็จะมีการประสานงาน กับสถาบันนานาชาติเกี่ยวกับน้ำหนักและการวัด (International Bureau of Weighs and Measurement หรือ BIPM) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบัน ประเทศไทยได้กำหนดเวลามาตรฐานของประเทศเป็น UTC + 7 ชั้วโมง (เร็วกว่าเวลามาตรฐานโลก 7 ชั่วโมง)

2. การประกาศใช้เวลามาตรฐานของประเทศไทย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัฐกาลที่ 6 ได้มีพระราชโองการกำหนดเวลามาตรฐานสำหรับประเทศไทยโดยตราเป็น พระราชกฤษฎีกาให้ใช้เวลาอัตรา ซึ่งได้ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 36 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2462 และมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2463 (วันขึ้นปีใหม่ในขณะนั้น) ให้ “เวลาอัตราสำหรับกรุงสยามทั่วพระราชอาณาจักรเป็น 7 ชั่วโมงก่อนเวลากรีนีชในเมืองอังกฤษ”

3. การเปลี่ยนแปลงเวลามาตรฐาน

เนื่องจากการกำหนดเวลามาตรฐานของแต่ละประเทศนั้นเป็นสิทธิของแต่ประเทศ การเปลี่ยนแปลงส่วนมากก็จะมีสาเหตุทางด้านพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่ ได้มีหลายประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงเวลามาแล้ว เช่น ประเทศเนปาล ที่เปลี่ยนจาก UTC+5.40 มาเป็น UTC+ 5.45 และล่าสุดประเทศจอร์แดน ได้เปลี่ยนเวลามาตรฐานของตนจาก UTC+2 ชั่วโมงมาเป็น UTC+3 ชั่วโมง ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2542

4. Daylight Saving Time

หลายประเทศในเขตอบอุ่นหรือที่อยู่บริเวณเส้นรุ้งที่สูงขึ้นไป เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา เมกซิโก ยุโรป ออสเตรเลีย อิยิปต์ ได้กำหนดปรับเวลาในฤดูร้อนที่มีช่วงเวลาแสงอาทิตย์ยาวนานเป็นประจำทุกปี โดยเปลี่ยนเวลาให้เร็วขึ้น (ประมาณ 1 ชั่วโมง) และ ปรับกลับ เป็นปกติในฤดูหนาว เช่น สหรัฐอเมริกา โดยทั่วไป จะกำหนดเปลี่ยนเวลาให้เร็วขึ้น ในวันอาทิตย์แรกของเดือนเมษายน

และเปลี่ยนกลับในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคม ในประเทศสหภาพยุโรปได้ตกลงกำหนดให้เปลี่ยนให้เร็วขึ้นในเวลาในวันอาทิตย์สุด ท้ายของเดือนมีนาคม และเปลี่ยนกลับในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นต้น

แสดงโซนเวลามาตรฐานและเวลามาตรฐานของประเทศต่างๆ
เวลาปัจจุบันของประเทศต่างๆ www.worldtimezone.co

เวลามาตรฐาน , เวลามาตรฐานทั่วโลก , เวลามาตรฐาน การตั้ง , เวลามาตรฐาน การกำหนด , เวลามาตรฐาน ประเทศไทย

ที่มา กรมอุตุนิยม

อัพเดทล่าสุด