คุ้มกันไหม!? เมื่อต้องกินอาหารที่แถมสารกันบูด


1,239 ผู้ชม

สารกันบูดหรือวัตถุกันเสียเป็นสารเคมีที่ช่วยในการถนอมอาหาร


สารกันบูดหรือวัตถุกันเสียเป็นสารเคมีที่ช่วยในการถนอมอาหารช่วยยืดอายุการเก็บรักษา โดยจะช่วยชะลอหรือยับยั้งการเจริญเติบโตและทำลายจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุให้อาหารเน่าเสีย

ชนิดของสารกันบูดที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปอาจแบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้

1.กรดและเกลือของกรดบางชนิด เช่น กรดเบนโซอิก และเกลือเบนโซเอต กรดซอร์บิกและเกลือซอร์เบต กรดโปรปิโอนิกและเกลือโปรปิโอเนต ฯลฯ อาหารที่ผสมสารกันบูดเหล่านี้ ได้แก่ เครื่องดื่ม น้ำผลไม้ ซอส ผักผลไม้ดอง แยม เยลลี่ เครื่องแกงสำเร็จรูป และขนมปัง เป็นต้น

2. พาราเบน เช่น เมทธิลพาราเบน โปรปิลพาราเบน นิยมใช้กับอาหารประเภท เครื่องดื่ม น้ำผลไม้ เยลลี่ ขนมหวานต่างๆ และสารปรุงแต่งกลิ่นรส เป็นต้น

3. ซัลไฟต์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์นิยมใส่ในไวน์ น้ำผลไม้ ผักและผลไม้แห้ง เป็นต้น

4. ไนไตรท์ เกลือไนไตรท์นิยมใช้กับเนื้อสัตว์ต่างๆ เบคอน แฮม เป็นต้น

การใช้สารกันบูด

ปริมาณของสารกันบูดที่ใช้จะแตกต่างกันออกไปขึ้นกับชนิดของอาหาร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้กำหนดปริมาณที่อนุญาตให้ใส่ในอาหารได้
สารกันบูดเหล่านี้หากใช้ตามที่กฎหมายกำหนดหรือใช้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค แต่หากใช้ในปริมาณมากเกินไปหรือนำไปใช้ไม่เหมาะสมก็จะก่อให้เกิดอันตรายได้

นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังห้ามใช้วัตถุกันเสียในอาหารที่ไม่จำเป็นต้องใช้สารกันบูด นั่นก็คืออาหารกระป๋องที่ผ่านการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์แล้ว

ผู้ผลิตที่ผสมสารกันบูดลงในอาหารควรคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยเลือกใช้สารกันบูดให้เหมาะสมกับชนิดของอาหารและใช้ในปริมาณที่กำหนดเท่านั้น และในระหว่างกรรมวิธีการผลิต จะต้องระมัดระวังการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ให้น้อยที่สุด เพราะหากมีจุลินทรีย์ปนเปื้อนมาก ทำให้อาหารเกิดการเน่าเสียมาก่อนการใส่สารกันบูดก็ไม่เกิดผลดีแต่อย่างใด

อันตรายจากสารกันบูด

หากในแต่ละวันเราได้รับสารกันบูดในปริมาณน้อย ร่างกายจะสามารถกำจัดออกทางปัสสาวะได้ตามปกติ แต่หากได้รับในปริมาณมากทุกวัน ตับและไตจะต้องทำงานหนักขึ้นและหากกำจัดออกไปไม่หมดก็จะเกิดการสะสมในร่างกาย ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพของตับและไตในการกำจัดสารเคมีเหล่านี้ลดลงและอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่อตับและไตได้

สารกันบูดในกลุ่มกรดและเกลือของกรดบางชนิดรวมทั้งพาราเบน ถือว่ามีความเป็นพิษต่ำและสามารถขับออกจากร่างกายได้ แต่ก็มีข้อควรระวัง เช่น เกลือเบนโซเอต โดยทั่วไปแล้วจะค่อนข้างปลอดภัย แต่ก็พบว่าทำให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคภูมิแพ้

สารกันบูดในกลุ่มซัลไฟต์แม้จะถูกขับออกจากร่างกายได้ แต่หากได้รับในปริมาณมากเกินไป สารดังกล่าวจะไปลดการใช้โปรตีนและไขมันในร่างกายนอกจากนี้ยังทำลายไธอามีนหรือวิตามินบี 1 ในอาหารด้วย

สารกันบูดในกลุ่มไนไตรท์ยกตัวอย่างเช่น ดินประสิว ซึ่งนิยมนำมาใช้กับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ หากใช้เกินกว่าที่กำหนด จะทำให้ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาซึ่งมีข้อบ่งชี้ว่าการได้รับไนไตรท์ในปริมาณมากๆ จะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งได้อีกด้วย

ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากสารกันบูด มีดังนี้
- ก่อนซื้ออาหารสำเร็จรูปควรอ่านฉลากอาหารและเลือกอาหารที่ระบุว่าไม่ใส่สารกันบูดหรือวัตถุกันเสีย
- หากฉลากนั้นไม่ได้ระบุชัดเจนว่าใช้สารกันบูดหรือไม่ก็ควรหลีกเลี่ยง หรือบริโภคให้น้อยที่สุด
- หลีกเลี่ยงการซื้ออาหารที่ขายไม่หมดวันต่อวัน
- หลีกเลี่ยงอาหารที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะใส่สารกันบูด เช่น แหนม หมูยอ กุนเชียง เนื้อเค็ม และน้ำพริกชนิดต่างๆ เป็นต้น
- มีการศึกษาพบว่า การลวกหมูยอในน้ำเดือดก่อนนำมารับประทาน จะช่วยลดปริมาณสารกันบูดลงได้ ซึ่งน่าจะได้ผลเช่นเดียวกันในผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์อื่นๆ

โดยสรุปก็คือ การใช้สารกันบูดตามปริมาณที่กำหนดจะไม่เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคอย่างไรก็ตาม อาจมีผู้ผลิตบางรายที่ละเมิดกฎหมาย ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย การหลีกเลี่ยงอาหารที่สุ่มเสี่ยงต่อการใส่สารกันบูดหรือบริโภคแต่น้อยน่าจะดีต่อสุขภาพที่สุด


ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จากDevil

อัพเดทล่าสุด