โรคกลัว“คณิตศาสตร์” ฝังลึกอยู่ในพันธุกรรม MUSLIMTHAIPOST

 

โรคกลัว“คณิตศาสตร์” ฝังลึกอยู่ในพันธุกรรม


755 ผู้ชม

เด็กหลายคนไม่ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์พบว่า


เด็กๆ หลายคนอาจไม่ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องยาก ไม่สามารถแก้โจทย์เลขได้ หรือได้คะแนนสอบวิชานี้ไม่ดี บางคนไม่ชอบมากๆ ถึงขั้นไม่อยากให้มีวิชานี้อยู่ในหลักสูตรเลย ขณะที่เด็กบางคนอาจเคยได้รับประสบการณ์แย่ๆ ในชั้นเรียนวิชาคณิตศาสตร์ จนทำให้รู้สึกหวาดกลัววิชาคำนวณไปจนโตเลยก็มี ซึ่งความวิตกจริตต่อวิชาคณิตศาสตร์นี่เองที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาทักษะการเรียนรู้และการแก้ไขปัญหาคณิตศาสตร์ของเด็กนักเรียน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปัจจัยทางพันธุกรรม

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาวิจัยเพื่อไขข้อข้องใจว่า มีปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ (Math anxiety) จนพัฒนาไปเป็นความกลัวที่คอยขัดขวางการเรียนรู้ของเด็กๆ ไปอย่างน่าเสียดาย และพวกเขาก็พบว่าไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อมหรือประสบการณ์ที่เด็กๆ ได้รับเท่านั้น หากแต่ยังมีพันธุกรรมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความวิตกกังวัลในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของเด็กๆ ที่ยังสามารถช่วยให้เข้าใจได้ด้วยว่าทำไมผู้ใหญ่บางคนถึงได้เกลียดกลัววิชาคณิตศาสตร์นักหนา โดยรายงานผลวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Child Psychology and Psychiatry

นักวิจัยได้ศึกษาในเด็กนักเรียนกลุ่มตัวอย่างที่ประกอบไปด้วยคู่แฝดแท้จำนวน 216 คู่ และฝาแฝดเทียมที่เป็นเพศเดียวกันจำนวน 298 คู่ โดยเข้าร่วมอยู่ในโครงการ Western Reserve Reading and Math Projects ซึ่งเป็นโครงการระยะยาวที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลของปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมต่อการพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์และการอ่านในกลุ่มเด็กฝาแฝดในรัฐโอไฮโอ โดยเด็กในโครงการนี้จะเข้าร่วมตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นอนุบาลหรือชั้นประถมศึกษาปีที่1 ซึ่งเจ้าหน้าที่และนักวิจัยจะมีการลงพื้นที่ไปเยี่ยมเด็กๆ ที่บ้าน เพื่อประเมินผลและเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวิจัยรวม 8 ครั้ง

สำหรับผลการศึกษาวิจัยในเรื่องความวิตกกังวลในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ในครั้งนี้ ทีมนักวิจัยใช้ข้อมูลจากการเยี่ยมบ้านของเด็กๆ ในสองครั้งสุดท้าย เมื่อเด็กมีอายุระหว่าง 9-15 ปี โดยที่เด็กทุกคนจะได้รับการประเมินเกี่ยวกับความวิตกกังวลในวิชาคณิตศาสตร์ ความวิตกกังวลในเรื่องทั่วไป การแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ และการอ่านจับใจความ โดยได้นำเครื่องมือทางสถิติช่วยในการประเมินผล ซึ่งพบว่ามีความเกี่ยวข้องกันในระหว่างแฝดแท้ และในระหว่างแฝดเทียม และได้ข้อสรุปว่า ความแตกต่างในความวิตกจริตต่อคณิตศาสตร์สามารถอธิบายได้ด้วยปัจจัยทางพันธุกรรม ส่วนจะแตกต่างกันมากน้อยอย่างไร สามารถอธิบายได้ด้วยปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน และที่อื่นๆ โดยในคนที่ไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์นั้น เป็นผลมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม 40% ส่วนที่เหลืออธิบายได้ว่าเป็นผลมาจากประสบการณ์ที่ได้รับและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน

Stephen Petrill ศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยนี้ กล่าวว่า “การศึกษาความวิตกกังวลในวิชาคณิตศาสตร์นั้นเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับผลการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของเด็ก ปัจจัยทางพันธุกรรมอาจทำให้คุณเรียนคณิตศาสตร์ได้ไม่ดีหากคุณมียีนที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความกังวลต่อวิชาคณิตศาสตร์ และคุณเคยมีประสบการณ์ที่แย่ๆ ในชั้นเรียนวิชาคณิตศาสตร์ จนอาจทำให้การเรียนคณิตศาสตร์ของคุณยากยิ่งขึ้นไปอีก”

Zhe Wang นักวิจัยหลังปริญญาเอกทางด้านจิตวิทยา ผู้เขียนนำของรายงานวิจัยเรื่องนี้ กล่าวว่า ความวิตกจริตนี้สามารถส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ ซึ่งความกลัวเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนาทักษะทางด้านคณิตศาสตร์ แม้ว่าบุคคลนั้นจะมีทักษะทางด้านนี้อยู่แล้วก็ตาม

“ถ้าคุณมีความรู้สึกกังวล มันจะทำให้คุณแก้ไขปัญหาใดๆ ได้ยากขึ้น ความวิตกจริตจะส่งผลโดยการไปขัดขวางความสามารถของคนเรา ดังนั้น เราต้องช่วยให้เด็กๆ เหล่านี้เรียนรู้เพื่อควบคุมอารมณ์ของพวกเขาให้ได้ เพื่อไม่ให้ความวิตกกังวลหรือความหวาดกลัวกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางพวกเขาต่อการเรียนคณิตศาสตร์ให้บรรลุผลสำเร็จ”

อย่างไรก็ตาม หลังรายงานผลวิจัยดังกล่าวแล้ว นักวิจัยยังได้ศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ต่อ โดยได้นำเอาเทคโนโลยีการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEGs) มาใช้ในงานวิจัยด้วย เพื่อวัดการทำงานของสมองในส่วนทีเกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อความวิตกกังวล เพื่อดูว่าสมองทำงานอย่างไรในขณะที่มีการขบคิดเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาทางคณิตศาสตร์ และปัญหาอื่นที่มิได้เกี่ยวกับตัวเลข ซึ่งหากได้แนวคิดที่ดีกว่าว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวล ก็จะสามารถพัฒนาแนวทางที่ดีกว่าในการแก้ไขความวิตกกังวลต่อการเรียนคณิตศาสตร์ให้แก่เด็กๆ ที่มีปัญหาในเรื่องนี้

บทความจาก นิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 14 เดือน พฤษภาคม 2557

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

อัพเดทล่าสุด