มุสลิมซื้อรถเงินผ่อนอย่างไร เมื่อศาสนาอิสลามไม่ยุ่งกับดอกเบี้ย พอจะมีวิธีไหนได้บ้าง


8,054 ผู้ชม

หลักของการซื้อขายในศาสนาอิสลาม มีองค์ประกอบสำคัญ คือ ผู้ซื้อ ผู้ขาย ทรัพย์สิน ราคาขาย


หลักของการซื้อขายในศาสนาอิสลาม มีองค์ประกอบสำคัญ คือ ผู้ซื้อ ผู้ขาย ทรัพย์สิน ราคาขาย โดยเงื่อนไขของการซื้อขายตามหลักมุรอบาฮะฮ์ (Murabahah) นั้นสินค้าต้องเป็นกรรมสิทธิของผู้ขาย (Ownership) และสามารถส่งมอบได้ทันที สินค้าต้องเป็นสิ่งที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติอิสลาม เช่น ห้ามซื้อขายสุกร สุรา อุปกรณ์การพนัน และราคาซื้อขายก็ต้องเป็นราคาที่เห็นชอบร่วมกันทั้งสองฝ่าย (Mutual Consent) อีกด้วย การซื้อขายตามหลักมุรอบาฮะฮ์(Murabahah) จึงเป็นการซื้อขายที่ยุติธรรม เพราะมีการบอกต้นทุนและกำไรที่ชัดเจนในการซื้อขาย ซึ่งธนาคารอิสลามทั่วโลกได้นำหลักนี้มาใช้

การจะชี้ขาดตัดสินเกี่ยวกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น จะต้องรู้ถึงรูปแบบของสิ่งนั้นเสียก่อน เรื่องนี้จึงไม่สามารถที่จะตัดสินการซื้อขายในรูปแบบนี้ว่าเป็นที่อนุญาต หรือเป็นที่ต้องห้าม จนกว่าได้รับรู้ลักษณะของการทำสัญญา และเงื่อนไขในการทำสัญญา

สำหรับรูปแบบของการซื้อขายผ่อนนั้นที่แพร่หลายมีอยู่สองรูปแบบ

1. การที่ท่านได้ซื้อรถยนต์ จากเจ้าของโดยตรง ไม่ว่าเจ้าของจะเป็นบุคคลทั่วไป หรือ ห้างหุ้นส่วนที่ทำการขายรถยนต์ โดยที่ท่านจ่ายราคารถเป็นงวดๆ ในรูปแบบนี้เป็นที่อนุญาตถึงแม้ราคาผ่อนจะสูงกว่าราคาสด (ให้ไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมในคำถามที่ ๑๓๙๗๓)

2. การที่ท่านได้ซื้อรถคันนี้ โดยผ่านตัวองค์กร หรือบุคคล โดยที่รถยนต์นั้นไม่ได้อยู่ในการครอบครองของเขา โดยที่องค์กร หรือ บุคคลนั้นได้จ่ายเงินให้แก่เจ้าของรถ แทนตัวของท่าน หลังจากนั้นท่านได้ทำการผ่อนกับบุคคล หรือองค์กรนั้นๆ เป็นงวดโดยเพิ่มไปจากราคาเดิม รูปแบบนี้ถือว่าเป็นที่ต้องห้าม ซึงการทำสัญญาซื้อขายนี้ (ไม่ว่าจากธนาคาร หรือ อื่นจากธนาคาร) ก็คือ รูปแบบให้ท่านยืมเงินในระบบดอกเบี้ย โดยมีการคิดผลปะโยชน์ โดยที่ธนาคาร หรือหน่วยงานอื่นจากธนาคารไม่ได้ซื้อรถมาครอบคอรงเป็นเจ้าของอยู่ภายใต้การดูแล และรับมอบสินค้ามา เพื่อที่จะทำการขายให้แก่ท่านให้ถูกต้อง (ให้ไปดูคำถาม หมายเลข ๑๗๖๔๕)

แต่ถ้าหากธนาคารได้ทำการซื้อรถเป็นการซื้อจริงๆ และรับมอบรถมาครอบครองไว้เป็นของธนาคาร หลังจากนั้นได้ขายมันให้แก่ท่าน ผ่อนชำระเป็นงวดในราคาที่เพิ่มจากราคาที่ซื้อมา ก็เป็นที่อนุญาต ซึ่งการขายผ่อนนี้อยู่ในรูปแบบการขายผ่อน ในรูปแบบที่หนึ่ง

ได้มีคนถามสภาวิจัยทางวิชาการถาวรของประเทศซาอุดิอาราเบีย ว่า บุคคลหนึ่งได้ขอให้เพื่อนของเขาซื้อรถให้แก่เขาสักคันหนึ่ง เมื่อเพื่อนของเขาซื้อมาให้นำมาขายแก่เขา โดยการเป็นการขายรูปแบบมีระยะเวลาในการชำระ พร้อมกับเอากำไรในการขาย การขายในรูปแบบนี้จะถือว่าเป็นระบบดอกเบี้ยหรือไม่ ?


คำตอบ

เมื่อบุคคลหนึ่งได้ขอร้องจากอีกคน ให้ซื้อรถที่มีการระบุ บอกถึงคุณสมบัติชัดเจนให้แก่เขา โดยที่คนที่ไปขอร้องได้สัญญาว่าจะซื้อรถคันนั้นต่อจากเขา แล้วเขาได้ไปซื้อตามที่ถูกขอร้อง และได้นำรถมาครอบครองเป็นเจ้าของ ก็เป็นที่อนุญาตสำหรับคนที่ได้ขอร้องให้ซื้อรถยนต์คันนั้นต่อจากเขา ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเงินสด หรือ เงินผ่อนตามระยะเวลาเป็นงวดๆ โดยการคิดกำไรระบุชัดเจนเป็นที่รู้กัน

การซื้อขายในรูปแบบนี้ไม่ถือว่าเป็นการขายสิ่งที่เขาไม่ได้ครอบครองไว้ เนื่องจากสิ้นค้าที่ถูกขอให้เขาซื้อนั้น เขาขายให้แก่ผู้ที่มาขอให้เขาซื้อให้ หลังจากที่เขาได้ซื้อมันและรับมอบมาครอบครองเป็นเจ้าของ โดยที่เขาไม่ได้ขายให้แก่เพื่อนของเขาก่อนที่เขาจะซื้อมัน หรือหลังจากที่ซื้อมันก่อนไปรับมอบมันมาไว้ครอบครอง

เนื่องจากท่านนบี ได้ห้ามการขายสินค้า โดยห้ามการขายจนกว่าจะได้สินค้ามาส่งมอบจากบรรดาพ่อค้ามายังพวกเขาเสียก่อน


จากหนังสือ ฟาตาวา อัลลิจนะห์ อัดดาฮิมะห์ ๑๓/๑๕๒
อิสลามคำถามและคำตอบ หมายเลข๒๐๐๙๑


หลักการซื้อขายที่การธนาคารอิสลาม(Islamic Banking) ทั่วโลกนำมาใช้ คือ การซื้อมาขายไป (Murabahah หรือ มุรอบาฮะฮ์) ซึ่งเป็นการขายบนต้นทุนบวกกำไร (Cost plus Profit) โดยมีการเปิดเผยต้นทุนกับกำไรให้ลูกค้าทราบ

การซื้อขายแบบมุรอบาฮะฮ์ คือการซื้อขายที่ผู้ขายสินค้าแจ้งให้ผู้ซื้อสินค้าทราบทั้งต้นทุนของสินค้าที่ซื้อและกำไรที่ผู้ขายต้องการ หรือการขายที่ยืนอยู่บนหลักการของต้นทุนสินค้า+กำไร (Cost-plus, Mark-up) โดยราคาขายของมุรอบาฮะฮ์จะเป็นการจ่ายเงินทันที (Spot-sale) หรือการผ่อนจ่าย (Deferred Sale) ก็ได้ โดยปกติแล้ว Spot-sale ราคาจะถูกกว่า Deferred sale เช่น การซื้อขายรถยนต์ ก็จะเริ่มต้นด้วยการที่ลูกค้าต้องการรถยนต์หนึ่งคันและเข้าไปหาธนาคาร ธนาคารก็จะแต่งตั้งให้ลูกค้าเป็นตัวแทนธนาคารไปซื้อรถยนต์ โดยใช้เงินสดของธนคาร เมื่อได้รถยนต์มาแล้ว ธนาคารก็จะขายรถยนต์ให้กับลูกค้า โดยใช้หลักการมุรอบาฮะฮ์ การขายที่บอกต้นทุนและกำไร โดยที่ลูกค้าอาจจะใช้การชำระเงินผ่อนกับธนาคารเป็นงวดๆ

โดยการธนาคารอิสลาม(Islamic Banking) ได้นำหลักการมุรอบาฮะฮ์ (Murabahah) มาใช้ในการให้สินเชื่อ (Financing) เพื่อซื้อทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ คอมพิวเตอร์ ที่อยู่อาศัย โรงงาน ที่ดิน และเครื่องจักร เป็นต้น

การให้สินเชื่อหรือการอำนวยสินเชื่อ(Financing) ภายใต้หลักการซื้อมาขายไป หรือ มุรอบาฮะฮ์ (Murabahah) มีวิธีการดังนี้

1. ลูกค้าแจ้งความประสงค์กับธนาคารอิสลามในการขอสินเชื่อสำหรับการซื้อสินค้า

2. เมื่อธนาคารอิสลามวิเคราะห์ความเป็นไปได้และอนุมัติคำขอแล้ว ธนาคารมอบหมายให้ลูกค้าเป็นตัวแทน (Wakala: agency) ไปซื้อทรัพย์สินที่ลูกค้าต้องการแทนธนาคาร

3. ธนาคารชำระเงินให้แก่ผู้ขายทรัพย์สินที่ลูกค้าต้องการ

4. ธนาคารขายทรัพย์สินดังกล่าวให้กับลูกค้าในราคาต้นทุนบวกกำไร (Cost plus Profit) ที่ได้ตกลงกันล่วงหน้า

5. ลูกค้าชำระค่าสินค้าให้กับธนาคารโดยการผ่อนชำระเป็นงวด (Installments) ตามที่ตกลงในสัญญา

มุรอบาฮะฮ์

ตัวอย่างเช่น

กรณีลูกค้าต้องการซื้อบ้านในราคาหลังละ 5,000,000 บาท และต้องการผ่อนชำระ 25 ปี ดังนั้น เมื่อธนาคารซื้อบ้านจากผู้ขายแล้ว ธนาคารอิสลามก็ขายบ้านหลังนี้ให้กับลูกค้าโดยบวกกำไร เช่น เมื่อคำนวนแล้วกำไรอาจเท่ากับ 500,000 บาท เมื่อรวมกับราคาบ้านแล้วธนาคารอิสลามจะขายบ้านให้กับลูกค้าในราคา 5,500,000 บาท ซึ่งจะทำให้ลูกค้าทราบตั้งแต่วันที่ทำสัญญาว่าตลอดระยะเวลา 25 ปี ลูกค้าจะต้องชำระบ้านหลังนี้รวมเป็นเงินเท่าใด โดยราคาขายนี้เมื่อตกลงกันแล้วจะไม่เพิ่มขึ้น แต่อาจลดลงได้ในกรณีที่ธนาคารคืนกำไรให้(Rebating)

วัลลอฮุอะลัม เรียบเรียงโดย Muhammad Azmii Mahamad
หมายเหตุ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่บทความด้วยการอ้างอิงถึง

อัพเดทล่าสุด