“สิทธิบัตรทอง 2564” พร้อมวิธีสมัครบัตรทองและขั้นตอนตรวจสอบสิทธิบัตรทอง


1,804 ผู้ชม

สิทธิบัตรทองเป็นของประชาชนคนไทยทุกคน เมื่อมีการแจ้งเกิดและลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ


"สิทธิบัตรทอง" เป็นของประชาชนคนไทยทุกคน เมื่อมีการแจ้งเกิดและลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) ที่สำคัญสิทธิบัตรทองยังสามารถใช้ได้ตลอดชีวิต ยกเว้นผู้ที่มีสิทธิรักษาพยาบาลอื่นที่รัฐจัดให้ เช่น "สิทธิประกันสังคม สิทธิรัฐวิสาหกิจ และสิทธิข้าราชการ" สามารถใช้เพียงบัตรประจำตัวประชาชนเพียงใบเดียวในการเข้ารับบริการ ในกรณีที่เป็นเด็กใช้เพียงสูติบัตร หรือใบเกิดเท่านั้น

สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หริอสิทธิบัตรทอง หรือ สิทธิ 30 บาท เป็นสิทธิตามกฏหมายที่รัฐบาลจัดให้คนไทยทุกคนตั้งแต่แรกเกิดและตลอดช่วงชีวิต 

คุณสมบัติสิทธิบัตรทองบ้าง

  • เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย
  • มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก
  • ไม่มีสิทธิประกันสุขภาพจากหน่วยงานรัฐ ที่ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรัฐ (ประกันสังคม สิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการสิทธิพนักงานส่วนท้องถิ่น ครูเอกชน รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ข้าราชการการเมือง)

ใครบ้างมีสิทธิหลักประกันสุขภาพ หรือ "สิทธิบัตรทอง"

  • เด็กแรกเกิด ที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการจากบิดามารดา
  • บุตรข้าราชการที่บรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปีขึ้นไปหรือ บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส)และไม่มีสิทธิประกันสุขภาพจากหน่วยงานรัฐ
  • บุตรข้าราชการตั้งแต่คนที่ 4 ขึ้นไป (สิทธิข้าราชการคุ้มครองบุตรเพียง 3 คน)และไม่มีสิทธิประกันสุขภาพจากหน่วยงานรัฐ
  • ผู้ประกันตนที่ขาดการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม
  • ข้าราชการที่เกษียณอายุหรือออกจากราชการโดยมิได้รับบำนาญ
  • ผู้ประกอบอาชีพอิสระและไม่ได้เป็นผู้ประกันตน

ใช้สิทธิบัตรทองทำอะไรได้บ้าง

แค่ยื่นบัตรประชาชน ก็สามารถเข้ารับการตรวจรักษาที่มีคุณภาพได้กับโรงพยาบาลรัฐ และหน่วยงานเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ครอบคลุมการรักษาเกือบทุกกลุ่มโรค ตั้งแต่การคลอดลูก การผ่าตัด การทำหมัน การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ รักษาโรคร้าย มะเร็ง เบาหวาน รวมไปจนถึงการถอนฟัน อุดฟัน การทำฟันปลอม ให้สิทธิค่าห้อง ค่าอาหาร คุ้มครองดูแลสุขภาพเด็ก รวมถึงให้บริการคำปรึกษาด้านสุขภาพ

บัตรทองไม่คุ้มครองอะไรบ้าง

บัตรทองจะไม่คุ้มครองการรักษาในระดับเกินความจำเป็นพื้นฐาน เช่น การผสมเทียม การทำเลเซอร์รักษาสิว ทำศัลยกรรมความงาม การแปลงเพศ และโรคเรื้อรัง เป็นต้น

ลงทะเบียนบัตรทอง ได้ที่ไหนบ้าง

1.สถานพยาบาลบัตรทองใกล้บ้าน (คลิกที่นี่) กรุงเทพมหานครทำบัตรทองได้ที่สำนักงานเขต จำนวน 19 เขต ตามชื่อที่อยู่ในทะเบียนบ้าน 

2.สมัครบัตรทองออนไลน์ 2564 ผ่านแอป สปสช.

ดาวน์โหลด แอป สปสช Google Play คลิก

ดาวน์โหลด แอป สปสช  App Store คลิก

เอกสารลงทะเบียนสิทธิบัตรทอง

1.บัตรประชาชน (ตัวจริง) สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถ้าไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนให้ใช้สูติบัตร (ใบเกิด)

2.หนังสือรับรองการพักอาศัย (กรณีที่อยู่ไม่ตรงตามบัตรประชาชน) พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของเจ้าบ้านหรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าตนเองนั้นอาศัยอยู่จริง เช่น ใบเสร็จค่าน้ำ ค่าไฟ สัญญาเช่าที่พักฯลฯ

3.แบบคำร้องขอลงทะเบียน (ขอได้ ณ จุดรับลงทะเบียน)

วิธี "ตรวจสอบสิทธิบัตรทอง" ด้วยตนเอง

  1. ระบบอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ คลิก >>>
    https://eservices.nhso.go.th/eServices/mobile/login.xhtml
  2. ไปติดต่อด้วยตัวเอง ที่ โรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สำนักงาานเขต กทม.(19 เขต) และ สปสช. เขตพื้นที่ 1-13
  3. โทรสายด่วน สปสช. 1330 กด 2 ตามด้วยหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลักและเครื่องหมาย #

วิธีเปลี่ยนหน่วยบริการ เปลี่ยนโรงพยาบาลสิทธิบัตรทอง ผ่าน LINE

  • พิมพ์ค้นหา @nhso ในช่องค้นหา
  • กดเมนู “เปลี่ยนหน่วยบริการด้วยตนเอง”
  • อ่านข้อตกลงในการให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม และใช้ข้อมูลส่วนบุคคลให้เรียบร้อย และกดยอมรับ
  • ระบุเลขบัตรประชาชน 13 หลัก แล้วกดถัดไป
  • ระบุข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มเติม ได้แก่ ชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด เลขหลังบัตรประชาชน แล้วกดถัดไป
  • กำหนดรหัสผ่าน 6 หลัก
  • กรอกหมายเลขโทรศัพท์เพื่อขอรับรหัส OTP
  • กรอกรหัส OTP ที่ได้รับ
  • ตรวจสอบที่อยู่ว่าที่อยู่ปัจจุบันและที่อยู่ตามบัตรประชาชนตรงกันหรือไม่
  • ถ่ายรูปบัตรประชาชน และถ่ายรูปเซลฟี่คู่กับบัตรประชาชน แล้วกดอัพโหลด
  • สแกน QR Code เพื่อดาวน์โหลดแบบคำร้อง
  • กด “เลือก” หน่วยบริการแห่งใหม่ที่ต้องการ

อัปเดต 4 บริการ "บัตรทอง"

1.เจ็บป่วยรักษากับหมอประจำครอบครัวในหน่วยบริการปฐมภูมิไหนก็ได้ นำร่องใน จ.ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี และ กทม.

2.โรคมะเร็งรับบริการที่ไหนก็ได้ ดำเนินการทั่วประเทศ

3.ย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน ดำเนินการทั่วประเทศ

4.ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว นำร่องใน จ.นครราชสีมา และ กทม.

พร้อมตั้งเป้าปี 2565 จะขยายบริการให้ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวได้ทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยและญาติ ในกรณีเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินจำเป็นต้องเข้ารับบริการจากหน่วยบริการอื่น

อัพเดทล่าสุด