รู้จัก “ออทิสติก“ อาการผิดปกติที่แสนพิเศษ


502 ผู้ชม

โรคออทิซึม (Autism Spectrum Disorder) เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีพัฒนาการผิดปกติ ทั้งทางด้านการใช้ภาษาสื่อสาร และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม


พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือ หมอผิง ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและเวชศาสตร์ชะลอวัย และ พญ.อัจฉรา ตราชู แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลสมิติเวช พูดคุยถึงโรค “ออทิซึม” (Autism Spectrum Disorder) เพื่อทำความเข้าใจผู้ป่วยโรคนี้ให้มากขึ้น

โรค “ออทิซึม” (Autism Spectrum Disorder) คืออะไร

โรค “ออทิซึม” (Autism Spectrum Disorder) เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีพัฒนาการผิดปกติ ทั้งทางด้านการใช้ภาษาสื่อสาร และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ร่วมกับความผิดปกติของพฤติกรรมหรือความสนใจที่จำกัด หรือเป็นแบบแผนซ้ำๆ 

อาการของโรค “ออทิซึม” (Autism Spectrum Disorder)

อาการทางด้านการใช้ภาษาสื่อสาร และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

  1. ตอบสนองทางอารมณ์และสังคมที่ผิดปกติ

เช่น

  • เด็ก ไม่กลัวคนแปลกหน้า
  • เด็ก 9 เดือน - 3 ปี ไม่มีความกังวลที่จะแยกจากแม่
  • เด็กไม่ร้องตาม ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่
  • เข้าหาพ่อแม่เฉพาะช่วงที่หิวหรือง่วง
  • เข้าหาคนอื่นอย่างผิดปกติ เช่น เข้าหาคนแปลกหน้าโดยไม่มีความกลัว
  • มีความบกพร่องในการแสดงความสนใจในการแสดงความสนใจร่วมกับผู้อื่น เช่น พ่อแม่ชี้ให้ดูอะไรก็ไม่สนใจดู ไม่แสดงความสนใจ ไม่อวดผลงานของตัวเองให้พ่อแม่ดู
  • เรียกไม่หัน ไม่ยิ้มตอบ ไม่ชวนใครเล่น ชอบเล่นคนเดียว
  • แสดงความรักไม่เป็น

ในกรณีที่เป็นเด็กโต อาจพบอาการเหล่านี้ได้ เช่น

  • พูดไม่ถูกจังหวะ
  • พูดไม่ถูกกาลเทศะ
  • พูดแต่เรื่องที่ตัวเองชอบ โดยไม่สนใจว่าคนอื่นจะอยากฟังหรือเบื่อที่จะฟังหรือไม่
  • ดูไม่ออก ว่าคนอื่นรู้สึกยังไง
  1. การสื่อสารด้วยท่าทางบกพร่อง

เช่น

  • ไม่สบตา
  • ไม่ชี้บอกความต้องการ
  • ไม่พยักหน้าเมื่ออยากบอกว่าใช่ ไม่ส่ายหน้าเพื่อปฏิเสธ
  • ไม่แสดงสีหน้า หรือความรู้สึก
  • พูดช้า ไม่สมวัย
  • เรียงคำไม่ถูก
  • จังหวะการพูดผิดปกติ
  • พูดแบบโมโนโทน
  • คิดอะไรอยู่ก็พูดออกมาทันที โดยไม่เหมาะสมกับสถานการณ์
  • แสดงสีหน้าไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ หรือแสดงสีหน้ามากเกินกว่าปกติ
  • มีความบกพร่องในการสร้าง รักษา และเข้าใจการปฏิสัมพันธ์ในสังคม เช่น ไม่สามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับเพื่อนได้สมวัย เล่นกับคนอื่นไม่เป็น ไม่เข้าใจกติกา ไม่เข้าใจบทบาทสมมติ
  • ไม่เข้าใจมุมมองของคนอื่น (Theory of Mind) ที่ปกติจะมีในวัย 4 ขวบเป็นต้นไป
  • ไม่เข้าใจเจตนาของคนอื่นที่ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ เช่น พูดล้อเล่น ไม่เข้าใจมุก
  1. มีพฤติกรรมและความสนใจที่แคบและจำกัด หรือเป็นแบบแผนซ้ำๆ

เช่น

  • พูด เคลื่อนไหว หรือใช้สิ่งของซ้ำๆ เช่น เปล่งเสียงซ้ำๆ พูดตามคนอื่น
  • ยึดติดกับกิจวัตรประจำวัน หรือพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ต้องกินอาหารแบบเดิมทุกวัน
  • มีความสนใจที่แคบ จำกัด หรือหมกมุ่นมากเกินไป
  • ต้องถือของบางอย่างติดตัวตลอดเวลา
  • มีการตอบสนองที่มาก หรือน้อยเกินไปต่อการสัมผัส เช่น ต้องอุดหูเมื่อได้ยินเสียงที่ไม่ชอบ ไม่ชอบการสัมผัสจากคนอื่น หรือ ไม่ค่อยเจ็บปวดตอนฉีดยา เย็บแผล เลยทำให้เกิดการกระตุ้นตัวเอง เช่น เอาศีรษะโขกกำแพง แกะ  หยิกตัวเอง ดมหรือเลียสิ่งของ

ผู้ป่วยโรค “ออทิซึม” (Autism Spectrum Disorder) เป็นอัจฉริยะได้หรือไม่

ข้อมูลจาก มหัศจรรย์แห่งการอ่าน ฐานพลังการพัฒนาสมองและศักยภาพมนุษย์ โดย แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ระบุว่า มีเพียงเกือบร้อยละ 10 ของเด็กออทิสติกที่มีความเป็นอัจฉริยะอยู่ในตัว โดยอาจเป็นอัจฉริยะเฉพาะด้าน หรือหลายๆ ด้านพร้อมกัน และบางคนก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนตั้งแต่เด็ก ในขณะที่บางคนต้องรอเวลา และโอกาสในการแสดงออก

วิธีปฏิบัติตัวต่อผู้ป่วยโรค “ออทิซึม” (Autism Spectrum Disorder)

  1. พยายามทำความเข้าใจอาการของผู้ป่วยให้มากที่สุด
  2. ให้อภัยผู้ป่วยเมื่อเกิดเหตุการณ์ใดๆ ที่มาจากอาการป่วยของเขา
  3. ให้โอกาสกับผู้ป่วยได้แก้ตัว แก้ไข เพื่อให้เขาได้ทำสิ่งต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิม
  4. ให้ความช่วยเหลือเมื่อผู้ป่วยต้องการ

อัพเดทล่าสุด