ในช่วงที่โควิด-19 ก็ยังระบาด แต่ไข้เลือดออกก็ไม่เคยไปไหน เราจะแยกสองโรคนี้ออกจากกันได้อย่างไร
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า “ช่วงนี้เราเริ่มมีสัญญาณผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ในปีที่แล้ว มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิตทั้งหมด 6 ราย แต่ในปีนี้ ผ่านมาเพียงแค่ 3 เดือน มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิตไปแล้ว 3 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตก็เป็นโรคไข้เลือดออกร่วมกับโควิด-19 ด้วย”
อีกทั้งยังกล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่ไปสนใจที่โรคโควิด-19 มากจนละเลยว่ามีโรคไข้เลือดออกอยู่ ทั้งๆ ที่อัตราการเสียชีวิตของทั้ง 2 โรคนี้นั้น ใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ ไข้เลือดออกก็สามารถรักษาให้หายได้ โดยจะมีลักษณะอาการของโรคที่ต่างกัน เช่น ไข้เลือดออกจะมีไข้สูง
อาการโควิด-19 vs ไข้เลือดออก อาการแตกต่างกันอย่างไร
อาการไข้เลือดออก
- มีไข้สูง (อุณหภูมิมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส) นานประมาณ 2-7 วัน
- ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา
- อาจมีถ่ายดำ หรือถ่ายเป็นเลือด
- มีจุดเลือดออกสีแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง
- มักไม่พบอาการไอ มีน้ำมูก หายใจลำบาก หรือปอดอักเสบ
อาการโควิด-19
- มีไข้ (อุณหภูมิมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส)
- ปวดเมื่อยเนื้อตัว
- เจ็บคอ ไอแห้ง หรือมีเสมหะ มีน้ำมูก นานติดต่อกัน 7 วัน
- หอบเหนื่อย หายใจลำบาก
- ปอดอักเสบในรายที่รุนแรง
- บางรายมีอาการท้องเสีย
- ไม่พบจุดเลือดออกตามผิวหนัง
ไม่แน่ว่าเป็นไข้เลือดออก หรือโควิด-19 ควรทำอย่างไร
แนะนำขั้นตอนเบื้องต้นในการสังเกตตัวเองง่ายๆ ดังนี้
- หากในวันแรกที่มีอาการลองตรวจ ATK แล้วยังมีผลเป็นลบ (ขึ้นขีดสีแดงขีดเดียว) ไม่มีจุดแดงขึ้นตามตัว อุณหภูมิในร่างกายสูงไม่เกิน 38.5 องศาเซลเซียส อาจลองสังเกตอาการต่ออีก 1 วัน
- ตรวจ ATK อีกครั้งในเช้าวันรุ่งขึ้น หรือเมื่อรู้สึกว่าอาการแย่ลง ถ้าผลเป็นบวก (ขึ้นขีดแดงสองขีด) ควรไปโรงพยาบาลที่มีประกันสังคม หรือมีสิทธิรักษาบัตรทองอยู่ทันที
- หากอาการไม่ดีขึ้นเลยใน 1-2 วันที่ผ่านมา ควรพบแพทย์
- ถ้าไข้สูงมาก และไข้ลดเฉพาะหลังกินยาลดไข้เท่านั้น เมื่อยาหมดฤทธิ์ก็กลับมาไข้สูงอีกเท่าเดิม บวกกับอาการอื่นๆ ที่เข้าข่ายไข้เลือดออก ควรพบแพทย์ทันทีไม่ต้องรอ