เส้นเลือดขอด คืออะไร อาการ วิธีรักษา และป้องกัน


532 ผู้ชม

เส้นเลือดขอด (Varicose Veins) คือ ภาวะหลอดเลือดดำบริเวณใกล้ชั้นผิวหนังขยายตัวผิดปกติ จนมองเห็นเป็นเส้นคล้ายใยแมงมุม  หรือเห็นเป็นเส้นเลือดขดปูดขึ้น


เส้นเลือดขอด คืออะไร

พญ. อนิตา นิตย์ธีรานนท์ แพทย์ชำนาญการด้านผิวหนังและเลเซอร์รักษา รพ.สมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า เส้นเลือดขอด (Varicose Veins) คือ ภาวะหลอดเลือดดำบริเวณใกล้ชั้นผิวหนังขยายตัวผิดปกติ จนมองเห็นเป็นเส้นคล้ายใยแมงมุม  หรือเห็นเป็นเส้นเลือดขดปูดขึ้น  ภาวะเส้นเลือดขอดสามารถเกิดขึ้นได้กับอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย  โดยเส้นเลือดขอดที่ขา เป็นภาวะเส้นเลือดขอดที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งผู้ใหญ่ประมาณ 1 ใน 4 ในสหรัฐอเมริกามีภาวะเส้นเลือดขอด และมากกว่า 23% ได้รับผลกระทบจากเส้นเลือดขอด  

นอกจากปัญหาเรื่องความสวยความงามแล้ว เส้นเลือดขอดที่ขายังส่งผลให้เกิดอาการปวดเมื่อยและไม่สบายตัว บางครั้งเส้นเลือดขอดอาจนำไปสู่ปัญหาที่ร้ายแรง  หากเส้นเลือดขอดที่ขารบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน พบอาการปวดบวม กดเจ็บหรือผิวหนังเริ่มหนา เปลี่ยนเป็นสีคล้ำ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี 

เส้นเลือดขอดที่ขา อาการเป็นอย่างไร

อาการของเส้นเลือดขอดที่ขาแสดงออกในหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่สามารถมองเห็นหลอดเลือดโป่งนูน จนถึงมีแผลเส้นเลือดขอดเรื้อรัง ซึ่งเป็นภาวะเส้นเลือดขอดรุนแรงที่รักษาให้หายได้ยาก  เส้นเลือดขอดที่ขามักพบมากบริเวณน่อง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 

  1. เส้นเลือดฝอยขดคล้ายเส้นใยแมงมุม (Spider Veins) เป็นเส้นเลือดขอดที่ขาในระยะเริ่มต้น  เกิดจากหลอดเลือดฝอยขดมองเห็นคล้ายใยแมงมุมสีม่วงหรือแดง ทั้งนี้ยังสามารถพบได้ที่ใบหน้า และมีขนาดที่แตกต่างกัน  
  2. เส้นเลือดขอดลักษณะคล้ายเส้นเลือดโป่ง (Varicose Veins) เนื่องจากผนังเส้นเลือดเสียความยืดหยุ่น ส่งผลให้เส้นเลือดปูดขึ้นและขดเป็นหยัก มองเห็นเป็นสีเขียวหรือสีเขียวผสมม่วง ขนาดประมาณ 1-3 มิลลิเมตร 

สัญญาณเตือนของภาวะเส้นเลือดขอด ได้แก่

  • เส้นเลือดที่มีสีม่วงเข้มหรือสีน้ำเงิน 
  • เส้นเลือดที่มีลักษณะบิดและโป่ง มักปรากฏเป็นเส้นบริเวณน่อง 
  • รู้สึกเจ็บ ปวด บริเวณขาและน่อง  
  • รู้สึกว่าขาหนัก หรืออึดอัด 
  • แสบร้อน ปวดกล้ามเนื้อ และข้อเท้าบวม 
  • อาการปวดแย่ลงหลังจากนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน 
  • ผิวแห้ง คัน รอบเส้นเลือด  
  • มีการเปลี่ยนแปลงของสีผิวรอบเส้นเลือดขอด 
  • ตะคริวที่ขา โดยเฉพาะตอนกลางคืน 
  • อาการต่างๆ ข้างต้นมักแย่ลงในช่วงที่อากาศอบอุ่น  

สาเหตุการเกิดเส้นเลือดขอดที่ขา

หลอดเลือดแดงเป็นตัวนำเลือดจากหัวใจไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ขณะที่หลอดเลือดดำจะส่งเลือดจากส่วนอื่นๆ ของร่างกายกลับไปยังหัวใจ

การหดตัวของกล้ามเนื้อบริเวณขาส่วนล่างทำหน้าที่เป็นเครื่องสูบน้ำ และผนังเส้นเลือดที่ยืดหยุ่นช่วยให้เลือดไหลย้อนกลับไปยังหัวใจได้ดี ลิ้นเล็กๆ ในเส้นเลือดจะเปิดออกเมื่อเลือดไหลกลับไปยังหัวใจ จากนั้นจะปิดเพื่อหยุดเลือดไม่ให้ไหลย้อนกลับ หากลิ้นที่ทำหน้าที่กั้นเลือดไม่ให้ไหลย้อนกลับนี้อ่อนแอหรือเสียหาย เลือดอาจไหลย้อนกลับและสะสมในเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดยืดหรือบิดได้

เส้นเลือดที่อยู่ห่างจากหัวใจมากที่สุดอย่างเส้นเลือดที่ขา มักได้รับผลกระทบ เนื่องจากแรงโน้มถ่วงทำให้เลือดไหลกลับไปยังหัวใจได้ยากขึ้น นอกจากนี้ การนั่งหรือยืนเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เลือดไปสะสมที่เส้นเลือดบริเวณขา เพิ่มความดันภายในเส้นเลือดให้สูงขึ้น ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดดำบริเวณขาอ่อนแอและเสียหาย เป็นที่มาของภาวะเส้นเลือดขอดที่ขานั่นเอง

เส้นเลือดขอดเกิดจากอะไร ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดขอด

เส้นเลือดขอด เกิดจากปัจจัยทั้งทางร่างกายและพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนี้ 

  • เมื่ออายุมากขึ้น ลิ้นภายในหลอดเลือดที่ช่วยควบคุมการไหลเวียนของเลือดเริ่มเสื่อมสภาพ  ทำให้เลือดไหลย้อนกลับเข้าไปสะสมในเส้นเลือดส่วนปลายจนกลายเป็นเส้นเลือดขอด
  • ผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นเส้นเลือดขอดมากกว่าผู้ชาย  เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงส่งผลต่อความยืดหยุ่นของผนังหลอดเลือดดำที่น้อยลง
  • การรักษาด้วยฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเส้นเลือดขอด
  • กรรมพันธุ์ที่ถ่ายทอดจากพ่อแม่หรือบุคคลในครอบครัวที่มีประวัติเป็นเส้นเลือดขอด
  • การมีน้ำหนักเกินทำให้เกิดแรงกดดันต่อเส้นเลือด
  • การยืนหรือนั่งเป็นเวลานานๆ ส่งผลให้เกิดเส้นเลือดขอดได้มากขึ้น
  • การใส่รองเท้าส้นสูง ทำให้เลือดหมุนเวียนได้ไม่ดี รวมถึงการนั่งไขว่ห้างเป็นประจำ ทำให้เส้นเลือดบริเวณขาถูกกดทับ
  • ภาวะใดก็ตามที่กดดันช่องท้องอาจทำให้เกิดเส้นเลือดขอดได้ เช่น การตั้งครรภ์ ท้องผูก เนื้องอก

ภาวะแทรกซ้อนจากเส้นเลือดขอดที่อาจเกิดขึ้นได้

ภาวะแทรกซ้อนของเส้นเลือดขอด แม้ว่าจะพบได้ยาก แต่ก็ยังพบได้ ซึ่งนั่นอาจรวมไปถึง  

  • การเกิดแผลที่เจ็บปวดบนผิวหนังใกล้กับเส้นเลือดขอด โดยเฉพาะบริเวณใกล้ข้อเท้า ซึ่งมักพบผิวเปลี่ยนสีก่อนเป็นแผล  
  • โอกาสที่เส้นเลือดอื่นๆ ภายในขาอาจขยายใหญ่ขึ้น ส่งผลให้ปวดขาและบวมได้ ควรรีบพบแพทย์เมื่อมีอาการปวดหรือบวมที่ขาบ่อยๆ เพราะอาจเป็นสัญญาณของลิ่มเลือด 
  • การที่เส้นเลือดใกล้ผิวหนังมีอาการปริแตก แม้จะทำให้เลือดออกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ก็ควรพบแพทย์เช่นกัน 

ภาวะแทรกซ้อนอันตรายจากเส้นเลือดขอด

ภาวะแทรกซ้อนอันตรายที่อาจพบได้ มีดังนี้ 

  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis: DVT) เป็นภาวะร้ายแรงที่มีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก ทั้งนี้ หากมีภาวะเส้นเลือดขอดที่รุนแรง ก็มีโอกาสที่จะเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำได้ อาการของภาวะนี้ ได้แก่ ปวด บวมและแดงที่ขา ลิ่มเลือดอาจเกิดขึ้นที่แขนหรือส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์ทันที
  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด (Pulmonary Embolism) ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดนั้นรุนแรงมากและอาจทำให้เสียชีวิตได้ อาการบ่งชี้ต่างๆ ได้แก่ อาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ไอ (อาจไอเป็นเลือด) หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออก และเป็นลม หากมีอาการที่อาจหมายถึงลิ่มเลือดอุดตันในปอด ควรขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน หรือไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

เมื่อไรควรพบแพทย์

โดยปกติแล้ว ภาวะเส้นเลือดขอดที่ขามักไม่มีอาการรุนแรงและไม่ต้องการการรักษา แต่หากอาการเริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงความสวยความงาม รู้สึกเจ็บปวด หรือมีอาการต่างๆ เหล่านี้ อาจจำเป็นต้องไปพบแพทย์

  • เส้นเลือดขอดทำให้เจ็บปวดหรือรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว
  • มีอาการเจ็บแสบบริเวณผิวหนังรอบเส้นเลือดขอด
  • อาการปวดขาทำให้เกิดการระคายเคืองในเวลากลางคืน และรบกวนการนอนหลับ

การวินิจฉัยเส้นเลือดขอด

นอกเหนือจากประวัติทางการแพทย์ และการตรวจร่างกายแล้ว ขั้นตอนการวินิจฉัยเส้นเลือดขอดเพิ่มเติม ทำได้โดยการอัลตร้าซาวด์หลอดเลือด เพื่อตรวจการไหลเวียนของเลือดและโครงสร้างของหลอดเลือดที่ขา

วิธีรักษาเส้นเลือดขอด

กรณีการรักษาเส้นเลือดขอดเบื้องต้นไม่ได้ผลหรือรู้สึกไม่สบายอย่างรุนแรง แพทย์อาจพิจาณาการรักษา ดังนี้  

  • รับประทานยาบรรเทาอาการเส้นเลือดขอด ในกลุ่ม Diosmin และ Hesperidin สามารถลดการอักเสบของหลอดเลือดดำ ทำให้ลิ้นในหลอดเลือดดำเป็นปกติ โดยเฉพาะเส้นเลือดขอดขนาดเล็ก  
  • การใส่ถุงน่องทางการแพทย์สำหรับเส้นเลือดขอด (Compression stocking) ขณะทำกิจกรรมต่างๆ ยกเว้นช่วงเข้านอน และให้ยกปลายเท้าให้สูงขึ้นเวลานอน 
  • การรักษาด้วยเลเซอร์ มักใช้เพื่อปิดหลอดเลือดดำขนาดเล็กและหลอดเลือดดำแมงมุม  โดยแสงเลเซอร์เข้มข้นจะพุ่งตรงไปยังเส้นเลือด ทำให้ค่อยๆ จางหายไป  
  • การฉีดสารเคมี (Sclerotherapy) โดยแพทย์ฉีดสารเคมีเข้าไปในเส้นเลือดขอดขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งทำให้เกิดรอยแผลเป็นและปิดลง เส้นเลือดขอดจะจางหายไปภายใน 2-3 สัปดาห์ อาจจำเป็นต้องฉีดหลอดเลือดดำมากกว่าหนึ่งครั้ง 
  • การร้อยไหมเอ็นโดสโคปิกทรานสลูมิเนเตอร์ ซึ่งเป็นแสงพิเศษผ่านแผลใต้ผิวหนังเพื่อให้แพทย์เห็นว่าต้องเอาเส้นเลือดส่วนใดออก จากนั้นจะตัดและเอาเส้นเลือดเป้าหมายออกด้วยอุปกรณ์ดูดผ่านแผล โดยใช้ยาชาทั่วไปหรือยาชาเฉพาะที่ หลังการผ่าตัดอาจมีเลือดออกและฟกช้ำ 
  • การผ่าตัดด้วยคลื่นความถี่วิทยุ  โดยมีแผลเล็กๆ เหนือหรือใต้เข่าด้วยการสแกนอัลตร้าซาวด์ จากนั้นก็ร้อยท่อเล็กๆ หรือสายสวนเข้าไปในเส้นเลือด แล้วปล่อยพลังงานคลื่นความถี่วิทยุเข้าไปในสายสวน ซึ่งพลังงานคลื่นความถี่วิทยุทำให้เส้นเลือดร้อนขึ้น ทำให้ผนังปิดอย่างมีประสิทธิภาพ ขั้นตอนนี้เหมาะสำหรับเส้นเลือดขอดที่มีขนาดใหญ่ 
  • การผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดออก (Varicose vein stripping) เป็นการผ่าตัดเอาเส้นเลือดที่ขอดออก เหมาะสำหรับ เส้นเลือดขอดขนาดใหญ่และยาวมากๆ ซึ่งไม่สามารถรักษาได้ด้วยการฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำที่ขอดได้ วิธีนี้สามารถป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้อีกด้วย 
  • การผ่าตัดส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดโดยใช้กล้องวิดีโอขนาดเล็กสอดเข้าไปในขาเพื่อช่วยให้ศัลยแพทย์มองเห็นได้ดีขึ้น และกำจัดเส้นเลือดที่เสียหายออกไป  ส่วนใหญ่ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ในวันเดียวกัน อย่างไรก็ตาม หากต้องผ่าตัดขาทั้งสองข้าง อาจต้องนอนโรงพยาบาลหนึ่งคืน 

วิธีป้องกันเส้นเลือดขอด

เส้นเลือดขอด ป้องกันได้ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าส้นสูงติดต่อกันเป็นเวลานานๆ 
  • เปลี่ยนท่านั่งหรือยืนเป็นประจำ 
  • รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง รวมถึงลดการรับประทานรสเค็มจัดเพราะโซเดียมมากเกินไปอาจทำให้บวมได้ 
  • การออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่ำช่วยให้กล้ามเนื้อน่องทำงานได้โดยไม่เมื่อยล้ามากเกินไป เช่น ว่ายน้ำเดิน ปั่นจักรยาน และโยคะ 
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม 
  • หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป โดยเฉพาะรอบเอว ขาหนีบ และขาท่อนบน เนื่องจากอาจทำให้เลือดไหลเวียนกลับไปยังหัวใจไม่ดีเท่าที่ควร 
  • สวมถุงน่องช่วยพยุง ซึ่งให้แรงกดเล็กน้อยเพื่อเพิ่มแรงดันต่อกล้ามเนื้อขาและกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ผลการศึกษาในปี 2018 พบว่าผู้ที่ใช้ถุงน่องช่วยพยุงเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ อาการปวดเมื่อยจากเส้นเลือดขอดลดลง  
  • เพิ่มอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น อัลมอนด์ ถั่วพิสตาชิโอ กล้วยหอม สามารถช่วยเรื่องเส้นเลือดขอดได้โดยมีผลลดการกักเก็บน้ำในร่างกาย และมีส่วนช่วยควบคุมความดันโลหิต จึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด 
  • เพิ่มอาหารที่มีฟลาโวนอยด์ สารฟลาโวนอยด์ช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี และทำให้โอกาสการเกิดเลือดสะสมในหลอดเลือดลดน้อยลง นอกจากนี้ ยังช่วยลดความดันโลหิตในหลอดเลือด อาหารที่มีฟลาโวนอยด์สูง ได้แก่ ผักต่างๆ รวมทั้งหัวหอม พริกหยวก ผักโขม และบร็อคโคลี่ ผลไม้รสเปรี้ยวและองุ่น เชอร์รี่ แอปเปิ้ล และบลูเบอร์รี่ รวมไปถึงโกโก้ กระเทียม 
  • ยกขาให้สูงในความสูงระดับหัวใจหรือสูงกว่านั้น พร้อมทั้งกระดกข้อเท้าขึ้น-ลง เพื่อช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น เลือดกลับหัวใจได้ดีขึ้น ส่งผลให้ความดันในหลอดเลือดที่ขาลดลง และแรงโน้มถ่วงจะช่วยให้เลือดไหลย้อนกลับไปยังหัวใจได้อย่างราบรื่น สามารถทำได้หลังเลิกงานหรือก่อนนอน 
  • นวดขาหรือน่องเบาๆ ช่วยให้เลือดไหลผ่านหลอดเลือดได้ดีขึ้น และเป็นการคลายกล้ามเนื้อที่ตึงหลังจากทำงานมาทั้งวันได้อย่างดี โดยสามารถใช้น้ำมันหอมระเหยบริสุทธิ์ที่อ่อนโยนและกลิ่นที่ชอบร่วมด้วย เพื่อความผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ 
  • สิ่งสำคัญคือ ต้องหลีกเลี่ยงการกดลงบนเส้นเลือดโดยตรง เนื่องจากอาจทำให้เนื้อเยื่อที่บอบบางเสียหายได้ 

แม้เส้นเลือดขอดที่ขาส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตรายและไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ผลกระทบจากภาวะลิ่มเลือดที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อมีเส้นเลือดขอดก็ทำให้มีอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น หากพบภาวะเส้นเลือดขอดที่ขาส่งสัญญาณรุนแรง หรือสร้างความเจ็บปวดและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาต่อไป

อัพเดทล่าสุด