รู้ทัน “ภาวะไตวาย”


629 ผู้ชม

“ภาวะไตวาย” เป็นภาวะที่ไตทำงานได้น้อยลงหรือไม่ทำงานเลย ซึ่งไตจะสูญเสียความสามารถในการกรองของเสีย


‘ไตวาย’ เป็นภาวะที่ไตทำงานได้น้อยลงหรือไม่ทำงานเลย ซึ่งไตจะสูญเสียความสามารถในการกรองของเสียออกจากเลือด กระทั่งไม่สามารถขับของเสียและน้ำออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะได้ ทำให้เกิดของเสียและน้ำตกค้างในร่างกาย
‘ภาวะไตวาย’ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
1. ไตวายเฉียบพลัน เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ทันทีแบบไม่ทันตั้งตัว โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ ยกตัวอย่างเช่น การสูญเสียเลือดหรือน้ำในร่างกายมากเกินไป, การติดเชื้อในกระแสเลือด, ผลข้างเคียงจากยา, การอุดตันของทางเดินปัสสาวะ เช่น เป็นนิ่ว, ภาวะไตอักเสบ ฯลฯ เป็นต้น
โดยอาการมักจะเริ่มจากปัสสาวะน้อยลง หรือปัสสาวะไม่ออกเลย มีอาการบวมที่ขาและเท้า เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกมึนงง อ่อนเพลีย ง่วงนอนตลอดเวลา
นอกจากนี้อาจมีอาการปวดหลังบริเวณชายโครง หายใจถี่ ทั้งนี้บางรายอาจไม่แสดงอาการใด ๆ เลย หรือในกรณีที่อาการรุนแรง อาจมีอาการชักหรือหมดสติเข้าสู่ภาวะโคม่าแบบเฉียบพลัน
ไตวายเฉียบพลันสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้และรักษาให้หายขาดได้ โดยการรักษาจะทำได้โดยการรักษาที่ต้นเหตุ เช่น หยุดยาที่เป็นต้นเหตุ, รักษาแบบประคับประคองตามอาการด้วยการควบคุมปริมาณน้ำในร่างกายให้สมดุล หลีกเลี่ยงยาที่เป็นพิษต่อไต, รักษาโดยให้ผู้ป่วยได้รับปริมาณสารอาหารที่เหมาะสม, รักษาโดยการการบําบัดทดแทนไต แต่หากไตเสียหายรุนแรง หรือปล่อยทิ้งไว้ไม่รับการรักษา จากไตวายเฉียบพลันเป็นไตวายเรื้อรังได้
2. ไตวายเรื้อรัง เป็นภาวะที่ไตค่อย ๆ สูญเสียความสามารถในการทำงานลง ซึ่งไตจะถูกทำลายอย่างช้า ๆ อย่างต่อเนื่องใช้ระยะเวลานานเป็นเดือนหรือเป็นปี แต่เป็นการทำลายอย่างถาวร ไม่สามารถฟื้นกลับมาทำงานได้ตามปกติ ซึ่งสามารถเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคไต เป็นต้น
โดยอาการไตวายมีทั้งหมด 5 ระยะ
-ระยะที่ 1 เป็นระยะที่ไตเริ่มเสื่อม อาจจะไม่แสดงอาการใด ๆ ให้เห็นเลย แต่จะเริ่มพบภาวะโปรตีนรั่วออกมาปะปนในเลือดหรือในปัสสาวะ
-ในระยะที่ 2 ก็อาจจะยังไม่แสดงอาการ แต่ค่าประเมินอัตราการกรองของไต (Epidermal growth factor receptor : eGFR) จะลดลงเล็กน้อย เหลือ 60-89 โดยในคนทั่วไปจะมีค่านี้อยู่ประมาณ 90-100 มิลลิลิตร/นาที
-ระยะที่ 3 ก็อาจจะยังจะยังไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็น ค่า eGFR จะลดลงเหลือ 30-59
-ในระยะที่ 4 อาการต่าง ๆ จะแสดงออกมา เช่น มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง คลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะบ่อยแต่ปัสสาวะน้อย ท้องเสียบ่อย ชาตามปลายมือปลายเท้า ผิวหนังแห้งและมีสีคล้ำ ปวดศีรษะ ตามัว คันตามผิวหนัง นอนไม่หลับ ขาดสมาธิ ความจำไม่ดี เป็นตะคริวบ่อย อาจมีอาการบวมน้ำที่ตามข้อ ขา และเท้า โลหิตจาง หรือรู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัวตลอดเวลา ส่วนค่า eGFR จะลดลงเหลือเพียง 15-29 มิลลิลิตร/นาที
-ระยะที่ 5 ภาวะไตวายระยะสุดท้าย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจจะเสียชีวิตได้
ส่วนการรักษาไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย สามารถรักษาได้ด้วยวิธี การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) การล้างช่องท้องด้วยน้ำยา (CAPD) และการปลูกถ่ายไต (Kidney Transplantation) ซึ่งการรักษาอาการไตวายเรื้อรังที่ดีที่สุดคือการปลูกถ่ายไต

9 วิธีป้องกัน ไม่ให้เป็น ‘โรคไตวาย’
 เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม โดยไม่ควรรับประทานเกลือเกินวันละ 6 กรัม (1 ช้อนชา) หรือปริมาณโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน
 ดื่มน้ำให้เพียงพอ วันละ 6-8 แก้ว
 ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที
 ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ควบคุมระดับน้ำตาล ความดันโลหิต และไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
 หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
 ลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
 หลีกเลี่ยงการใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ยาต้านการอักเสบ อย่างไอบูโพรเฟน, ยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น เจนตามัยซิน, กานามัยซิน
 ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคไขมันในเลือด ควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง
 เข้ารับการตรวจสุขภาพ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมถึงการตรวจปัสสาวะ และตรวจเลือด

อัพเดทล่าสุด