มาเรียนรู้หลักภาษาไทย เรื่อง “คำเป็น คำตาย” จำกันได้ไหมคะว่า คำเป็น คำตาย หมายถึงอะไร
มาเรียนรู้หลักภาษาไทย เรื่อง “คำเป็น คำตาย” จำกันได้ไหมคะว่า คำเป็น คำตาย หมายถึงอะไร และสังเกต อย่างไรถึงรู้ว่า อันนี้คำเป็น อันนี้คำตาย วันนี้เราจะไปหาคำตอบกัน พร้อมวิธีจำง่ายๆ เอาไว้ทำการบ้าน หรือตอบโจทย์ในข้อสอบ กันค่ะ
คำเป็น คำตาย คือ การจำแนกคำตามลักษณะที่ใช้ระยะเวลาออกเสียงต่างกัน ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะทำให้คำที่มีเสียงพยัญชนะต้นเป็นรูปเดียวกัน มีเสียงวรรณยุกต์ต่างกัน ตัวอย่างเช่น คา เป็นอักษรต่ำ คำเป็น พื้นเสียง เป็นเสียงสามัญ ส่วน คะ เป็นอักษรต่ำคำตาย เสียงสั้น พื้นเสียงเป็นเสียงตรี
คำเป็น
มีหลักการสังเกต ดังต่อไป
1. คำที่พยัญชนะประสมกับสระเสียงยาวในแม่ ก กา เช่น มา ดู ปู เวลา ปี ฯลฯ
2. คำที่พยัญชนะประสมกับสระ –ำ ใ – ไ – เ – า เช่น จำ น้ำ ใช่ เผ่า เสา ไป ฯลฯ
3. คำที่มีตัวสะกดอยู่ในแม่ กง กน กม เกย เกอว เช่น จริง กิน กรรม สาว ฉุย ฯลฯ
วิธีจำ คำเป็น
ท่องว่า “นมยวง” คือมีตัวสะกดในมาตราแม่ กน กม เกย เกอว กง และจะประสมด้วยเสียงยาว ไม่มีตัวสะกด
………………………………………….
คำตาย
มีหลักการสังเกต ดังต่อไป
1. คำที่พยัญชนะประสมกับสระเสียงสั้น เช่น ธุระ กะทิ เกะกะ ฯลฯ
2. คำที่มีตัวสะกดในแม่ กก กบ กด เช่น บทบาท ลาภ เมฆ เลข ธูป ฯลฯ
3. พยัญชนะตัวเดียว เช่น ณ, บ (บ่ ที่แปลว่า ไม่), ธ, ก็, ฤ
วิธีจำ คำตาย
ท่องว่า “กบด” มีตัวสะกดในมาตราแม่ กก กบ กด ประสมด้วยสระเสียงสั้น ไม่มีตัวสะกด