สุภาษิต หมายถึง คำพูดที่พูดออกมา ไม่ว่าจะเป็นทำนอง สำนวนโวหาร ที่มีความหมายที่ดี ส่วนใหญ่คนไทยเราจะหยิบยกคำสุภาษิต
สำนวน สุภาษิต คำพังเพย หมายถึง?
ความหมายของสุภาษิตไทย
สุภาษิต หมายถึง คำพูดที่พูดออกมา ไม่ว่าจะเป็นทำนอง สำนวนโวหาร ที่มีความหมายที่ดี ส่วนใหญ่คนไทยเราจะหยิบยกคำสุภาษิตมาเป็นตัวอย่างในการอบรมสั่งสอนลูกหลาน หรือบางครั้งใช้แสดงเปรียบเทียบประกอบการสนทนา สุภาษิต แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. คำสุภาษิตประเภทที่พูด อ่านหรือเข้าใจเนื้อความได้ทันที โดยไม่ต้องแปลความหมาย
2. คำสุภาษิตประเภทที่พูด อ่านหรือฟังแล้วต้องนึกตรึกตรอง ตีความหมายเสียก่อนจึงจะทราบ
ความหมายของสำนวน
สำนวน หมายถึง โวหาร ทำนองพูด ถ้อยคำที่เรียบเรียง เป็นลักษณะความหมายเชิงอุปมาเปรียบเทียบ ไม่แปลความหมายตามตัวอักษร จึงฟังแล้วมักจะไม่ได้ความหมายของตัวมันเอง ต้องนำไปประกอบกับเรื่อง หรือเหตุการณ์จึงจะได้ความหมายเป็นคติเตือนใจ เช่นเดียวกับคำที่เป็นสุภาษิต
ความหมายของคำพังเพย
คำพังเพย หมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียงขึ้นมาเป็นความหมายกลาง ๆ คือ ไม่เน้นการสั่งสอน แต่ก็แฝงคติเตือนใจหรือ ข้อคิดสะกิดใจให้นำไปปฏิบัติได้ และ เนื้อหาของใจความนั้นก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นความดี หรือ ความจริงแท้แน่นอน เพื่อให้ตีความเข้ากับเรื่อง มีความหมายลึกซึ้งกว่าสำนวน มีลักษณะติชมหรือแสดงความเห็นในตัว แต่ยังไม่ได้วางหลักความจริงอันเที่ยงแท้ และยังไม่เป็นคำสอน เช่น กระต่ายตื่นตูม ทำนาบนหลังคน ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น เสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย น้ำถึงไหนปลาถึงนั้น เป็นต้น
มาดู สำนวน สุภาษิต คำพังเพย
พร้อมความหมาย
สำนวน สุภาษิต คําพังเพย หมวด ก.
เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน หมายถึง เก็บเล็กผสมน้อย โน่นบ้างนี่บ้าง จนสําเร็จเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
เก็บเล็กผสมน้อย หมายถึง เก็บไว้ทีละเล็กละน้อย
เก็บหอมรอมริบ หมายถึง เก็บรวบรวมไว้ทีละเล็กละน้อย
เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง หมายถึง เกลียดตัวเขาแต่อยากได้ผลประโยชน์จากเขา
เกลือเป็นหนอน หมายถึง ญาติมิตร สามีภรรยา บุตรธิดา เพื่อนร่วมงาน หรือคนในบ้าน คิดคดทรยศ ไส้เป็นหนอน ก็ว่า
เกลือจิ้มเกลือ หมายถึง ไม่ยอมเสียเปรียบกัน แก้เผ็ดให้สาสมกัน
แกงจืดจึงรู้คุณเกลือ หมายถึง จะรู้ค่าของบางสิ่งก็ต่อเมื่อเดือดร้อน
แกว่งเท้าหาเสี้ยน หมายถึง ข้าไปยุ่งกับเรื่องของผู้อื่นจนเกิดเป็นเรื่องกลับมาที่ตัวเอง
แกะดำ หมายถึง คนที่ทําอะไรผิดเพื่อนผิดฝูงในกลุ่มนั้น ๆ (ใช้ในทางไม่ดี)
ใกล้เกลือกินด่าง หมายถึง มองข้ามของดีที่อยู่ใกล้ตัวซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ตน กลับไปแสวงหาสิ่งอื่นที่ด้อยกว่า
ไก่เเก่เเม่ปลาช่อน หมายถึง หญิงค่อนข้างมีอายุ มีมารยาและเล่ห์เหลี่ยมมาก
ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ หมายถึง ต่างฝ่ายต่างรู้ความลับของกันและกัน
ไก่ได้พลอย หมายถึง ได้สิ่งที่มีค่าแต่ไม่รู้คุณค่า จึงไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด
ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง หมายถึง ความสวยงามเกิดขึ้นได้จากการปรุงแต่ง
ไก่อ่อน หมายถึง อ่อนหัด, ยังไม่ชำนาญ
ไกลปืนเที่ยง หมายถึง ไม่รู้อะไรเพราะอยู่ห่างไกลความเจริญ, ไม่ทันสมัยเพราะอยู่ไกลจากตัวเมือง
กงกรรมกงเกวียน หมายถึง เวรสนองเวร กรรมสนองกรรม ทำอย่างไรย่อมได้อย่างนั้น
กบเลือกนาย หมายถึง ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนผู้บังคับบัญชาเรื่อยๆ
กบในกะลาครอบ หมายถึง ผู้มีความรู้และประสบการณ์น้อย แต่สำคัญตนว่ามีความรู้มาก
กรวดน้ำคว่ำขัน หมายถึง ตัดขาดไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย
กระเชอก้นรั่ว หมายถึง สุรุ่ยสุร่าย ไม่ประหยัด
กระดังงาลนไฟ หมายถึง หญิงที่เคยผ่านผู้ชายมาแล้ว ย่อมรู้จักชั้นเชิงดีกว่าผู้หญิงที่ยังไม่เคยแต่งงาน
กระดี่ได้น้ำ หมายถึง อาการแสดงความดีใจ หรือตื่นเต้นจนตัวสั่น
กระดูกขัดมัน หมายถึง ขี้เหนียวมากอย่างไม่ยอมให้อะไรแก่ใครง่ายๆ
กระต่ายขาเดียว หมายถึง ยืนกรานไม่ยอมรับ
กระต่ายตื่นตูม หมายถึง คนที่แสดงอาการตื่นตกใจง่ายโดยไม่ทันสำรวจให้ถ่องแท้ก่อน
กระต่ายหมายจันทร์ หมายถึง ผู้ชายหมายปองผู้หญิงที่มีฐานะดีกว่า
กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ หมายถึง ลักษณะของการทำงานที่มีความลังเลใจ ทำให้แก้ปัญหาได้ไม่ทันท่วงที
กัดก้อนเกลือกิน หมายถึง ใช้ชีวิตอย่างแร้นแค้นมาก
กาในฝูงหงส์ หมายถึง ผู้ที่ต่ำต้อยไม่มีเกียรติ อยู่ท่ามกลางเจ้าขุนมูลนายสูงศักดิ์
กาฝาก หมายถึง ผู้อาศัยเกาะคนอื่นกิน
ก้างขวางคอ หมายถึง ผู้ที่ขัดขวาง ไม่ให้ทำอะไรได้สะดวก
กำขี้ดีกว่ากำตด หมายถึง ได้บ้างดีกว่าไม่ได้อะไรเลย
กำปั้นทุบดิน หมายถึง ทำหรือพูดส่งเดชพอให้มันพ้นตัว
กิ้งก่าได้ทอง หมายถึง คนที่ได้ลาภยศแล้วทะนงตนลืมฐานะเดิม
กิ่งทองใบหยก หมายถึง เหมาะสมกัน (ใช้แก่หญิงกับชายที่จะแต่งงานกัน)
กินที่ลับไขที่แจ้ง หมายถึง เปิดเผยเรื่องที่ทำกันในที่ลับ
กินน้ำใต้ศอก หมายถึง จำต้องยอมเป็นรองเขา, ไม่เทียมหน้าเทียมตาเท่า
กินบนเรือนขี้บนหลังคา หมายถึง เนรคุณ
กินปูนร้อนท้อง หมายถึง ทำอาการมีพิรุธขึ้นเอง, แสดงอาการเดือดร้อนขึ้นเอง
กินอย่างหมู อยู่อย่างหมา หมายถึง เละเทะ ไม่มีระเบียบ
กินอยู่กับปาก อยากอยู่กับท้อง หมายถึง รู้ดีอยู่แล้วแสร้งทำเป็นไม่รู้
สำนวนสุภาษิตไทย หมวด ข.
เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม หมายถึง ประพฤติตนให้เหมาะสมกับกาลเทศะ
เข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ย หมายถึง ถูกคอกัน, เข้ากันได้ดี
เข้าด้ายเข้าเข็ม หมายถึง คับขัน, สำคัญ
เข้าตาจน หมายถึง หมดทางไป หมดทางที่จะแก้ไข หมดหนทางหากิน.
เข้าตามตรอก ออกทางประตู หมายถึง การทำตามธรรมเนียมประเพณี
เขียนเสือให้วัวกลัว หมายถึง ทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียขวัญหรือเกรงขาม
เขี้ยวลากดิน หมายถึง มีความสามารถสูง จัดเจน เล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว
ไข่ในหิน หมายถึง ของที่ต้องระมัดระวังทะนุถนอมอย่างยิ่ง
ขมิ้นกับปูน หมายถึง ชอบวิวาทกันอยู่เสมอเมื่ออยู่ใกล้กัน, ไม่ถูกกัน
ขว้างงูไม่พ้นคอ หมายถึง ทำอะไรแล้วผลร้ายกลับมาสู่ตัวเอง
ขวานผ่าซาก หมายถึง โผงผางไม่เกรงใจใคร
ของหายตะพายบาป หมายถึง ของหายหรือเข้าใจว่าหายแล้วเที่ยวโทษผู้อื่น
ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง หมายถึง ของที่ดูภายนอกแล้วสวยงามดีแต่แท้จริงแล้วภายในไม่ดีเลย
ขายผ้าเอาหน้ารอด หมายถึง ทำให้สำเร็จลุล่วงไป เพื่อรักษาชื่อเสียงของตนไว้
ข้าวแดงแกงร้อน หมายถึง บุญคุณ
ข้าวใหม่ปลามัน หมายถึง อะไรที่เป็นของใหม่ก็ถือว่าดี
ขิงก็ราข่าก็แรง หมายถึง ต่างไม่ยอมลดละกัน
ขี่ช้างจับตั๊กแตน หมายถึง ลงทุนมากแต่ได้ผลน้อย
ขี้หมูรา ขี้หมาแห้ง หมายถึง เรื่องเล็กๆน้อยๆ
สุภาษิตไทย หมวด ค.
คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก หมายถึง ที่อยู่แม้จะคับแคบก็อยู่ได้ถ้าสบายใจ แต่ถ้าลำบากใจแล้วแม้จะที่อยู่กว้างขวางใหญ่โตก็อยู่ไม่ได้ ไม่น่าอยู่
เคราะห์หามยามร้าย หมายถึง เคราะห์ร้าย
โคแก่ชอบกินหญ้าอ่อน หมายถึง ชายสูงอายุที่ชอบผู้หญิงรุ่นสาว
ใครมือยาวสาวได้สาวเอา หมายถึง ต่างคนต่างฉวยโอกาส แสวงหาประโยชน์ใส่ตัวโดยไม่คิดถึงคนอื่น
คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย หมายถึง เมื่อต้องทำอะไรที่มีความเสี่ยง ทำสองคนย่อมดีกว่าคนเดียว
คนดีผีคุ้ม หมายถึง คนทำดีย่อมไม่มีภัย
คนล้มอย่าข้าม หมายถึง อย่าดูถูกหรือซ้ำเติมคนที่พลาดพลั้งเผลอ
คบเด็กสร้างบ้าน หมายถึง ทำงานการอะไรกับเด็กย่อมไม่เป็นผล เพราะยังอ่อนประสบการณ์
คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ หมายถึง จะคบใครให้พิจารณาเสียก่อน เช่นเดียวกับจะซื้อผ้า
คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล หมายถึง คบคนชั่วก็ถูกชักนำพาไปทำชั่ว คบคนดีก็จะพากันทำดี
คมในฝัก หมายถึง มีความรู้ความสามารถแต่เมื่อยังไม่ถึงเวลาก็ไม่แสดงออกมาให้ปรากฏ
คลุมถุงชน หมายถึง การถูกจับแต่งงานโดยไม่ได้เต็มใจ
คว่ำบาตร หมายถึง ไม่ยอมคบค้าสมาคมด้วย
ความในอย่านำออก ความนอกอย่านำเข้า หมายถึง ไม่นำเรื่องไม่ดีของพรรคพวกไปบอกคนอื่นและไม่รับเข้ามาด้วย
ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น หมายถึง ความสำเร็จย่อมเกิดกับคนที่มีความพยายาม
ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด หมายถึง มีความรู้มาก แต่ไม่รู้จักใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์
ความวัวไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรก หมายถึง มีปัญหาใหม่เข้ามาขณะที่ปัญหาเดิมยังแก้ไม่หาย
คอเป็นเอ็น หมายถึง ขึ้นเสียงเถียงโต้อย่างไม่ยอมลดละ, เถียงเก่ง
คอทองแดง หมายถึง ดื่มเหล้าเก่ง ไม่เมาง่ายๆ
คางคกขึ้นวอ หมายถึง คนที่มีฐานะต่ำต้อย พอได้ดิบได้ดีก็มักแสดงกิริยาอวดดี ลืมตัว
คาหนังคาเขา หมายถึง จับได้ในขณะที่กำลังกระทำผิด หรือพร้อมกับของกลาง
คืนหมาหอน หมายถึง คืนสุดท้ายก่อนมีการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีการซื้อเสียงกันมาก
สำนวน สุภาษิต คําพังเพย หมวด ฆ.
ฆ้องปากแตก หมายถึง ปากโป้ง, เก็บความลับไม่อยู่, ชอบนำความลับของผู้อื่นไปโพนทะนา
ฆ่าไม่ตายขายไม่ขาด หมายถึง ตัดเยื่อใยไม่ขาด
ฆ่าควายอย่าเสียดายพริก หมายถึง ทำการใหญ่ไม่ควรตระหนี่
ฆ่าช้างเอางา หมายถึง ทำลายของใหญ่เพื่อให้ได้ของเล็กน้อยซึ่งไม่คุ้มค่ากัน
สุภาษิตคําพังเพย หมวด ง.
เงียบเป็นเป่าสาก หมายถึง ลักษณะที่เงียบสนิท
โง่เง่าเต่าตุ่น หมายถึง โง่ที่สุด
งมเข็มในมหาสมุทร หมายถึง ทำกิจที่สำเร็จได้ยาก
งานหลวงไม่ให้ขาด งานราษฎร์ไม่ให้เสีย หมายถึง ทำงานไม่บกพร่องทั้งงานส่วนรวมและส่วนตัว
งูกินหาง หมายถึง เกี่ยวโยงกันไปเป็นทอดๆ
งู ๆ ปลา ๆ หมายถึง รู้บ้างเล็กน้อย ไม่ได้รู้จริงในเรื่องนั้น
สุภาษิตสำนวนไทย หมวด จ.
เจ้าชู้ประตูดิน หมายถึง เจ้าชู้มาก จีบได้ไม่เลือกหน้า
ใจซื่อมือสะอาด หมายถึง ดำรงอยู่ในทางที่ชอบ ไม่เอนเอียง
ใจดีสู้เสือ หมายถึง บังคับใจให้กล้าเมื่อพบอันตราย
ใจปลาซิว หมายถึง ใจไม่สู้ ยอมแพ้ง่าย
จระเข้ขวางคลอง หมายถึง ทำอะไรขัดขวางผู้อื่น
จับเสือมือเปล่า หมายถึง แสวงหาประโยชน์โดยตัวเองไม่ต้องลงทุน
จับแพะชนแกะ หมายถึง ทำอย่างขอไปที ไม่ได้อย่างนี้ก็เอาอย่างนั้นเข้าแทนเพื่อให้ลุล่วงไป
จับงูข้างหาง หมายถึง ทำสิ่งที่เสี่ยงต่ออันตราย
จับปลาสองมือ หมายถึง มุ่งหวังอยากจะได้ทีเดียวพร้อมๆ กันทั้งสองอย่าง
จับปูใส่กระด้ง หมายถึง ซุกซนมาก ยากที่จะทำให้อยู่นิ่ง ๆ ได้
จุดไต้ตำตอ หมายถึง พูดหรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งบังเอิญไปโดนเจ้าตัว โดยผู้พูดหรือผู้ทำไม่รู้ตัว
เจียมเนื้อเจียมตัว หมายถึง รู้จักประมาณตัว
สำนวนไทย หมวด ช.
เชือดคอไก่ให้ลิงดู หมายถึง การลงโทษให้ดูเป็นตัวอย่าง
แช่งชักหักกระดูก หมายถึง แช่งด่ามุ่งร้ายให้ผู้อื่นได้รับอันตรายอย่างร้ายแรง
ชักแม่น้ำทั้งห้า หมายถึง พูดจาหว่านล้อมยกยอบุญคุณเพื่อขอสิ่งที่ประสงค์
ชักใบให้เรือเสีย หมายถึง พูดหรือทำขวางๆ ให้การสนทนาหรือการงานเขวออกนอกเรื่องไป
ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน หมายถึง ชักนำศัตรูเข้าบ้าน
ชักหน้าไม่ถึงหลัง หมายถึง มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย
ช้างเท้าหน้า หมายถึง เป็นหัวหน้าหรือผู้นำ แล้วให้คนอื่นทำตาม หรือเป็นหัวหน้าครอบครัว
ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด หมายถึง ความชั่วหรือความผิดร้ายแรงที่คนรู้ทั่วกันแล้ว จะปิดอย่างไรก็ไม่มิด
ชาวนากับงูเห่า หมายถึง เลี้ยงไม่เชื่อง
ช้า ๆ ได้พร้าสองเล่มงาม หมายถึง ค่อยๆคิด ค่อยๆทํา แล้วจะสําเร็จผลอย่างดี
ชิงสุกก่อนห่าม หมายถึง ทำสิ่งที่ยังไม่สมควรแก่วัย หรือยังไม่ถึงเวลา
ชี้โพรงให้กระรอก หมายถึง ชี้ช่องทางชั่วให้คนไม่ดี
ชุบมือเปิบ หมายถึง ฉวยประโยชน์จากคนอื่นโดยที่ตนเองไม่ได้ลงทุนลงแรง
คำพังเพย หมวด ซ.
ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน หมายถึง ความซื่อสัตย์นั้นกินใช้ไม่มีวันหมด มีกินได้เรื่อย ๆ
ซื่อเหมือนแมวนอนหวด หมายถึง คนที่ดูเงียบ ๆ ไม่มีพิษมีภัย
สำนวนสุภาษิตไทย หมวด ด.
เด็กเลี้ยงแกะ หมายถึง คนชอบพูดโกหกจนไม่มีใครเชื่อถือ
เด็กเส้น หมายถึง คนที่มีเส้นสาย มีผู้มีอำนาจคอบหนุนหลัง
เด็ดดอกฟ้า หมายถึง การเอาหญิงที่ถือว่ามีฐานะสูงศักดิ์กว่ามาเป็นภรรยา
เด็ดบัวไม่ไว้ใย หมายถึง ตัดขาด, ตัดญาติขาดมิตรกันเด็ดขาด
เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด หมายถึง การประพฤติตามแบบอย่างผู้ใหญ่ย่อมปลอดภัย
ได้ทีขี่แพะไล่ หมายถึง ซ้ำเติมเมื่อผู้อื่นเพลี่ยงพล้ำลง
ได้หน้าได้ตา หมายถึง ได้เกียรติ, ได้ชื่อเสียง
ได้หน้าลืมหลัง หมายถึง หลงๆ ลืมๆ ได้สิ่งหนึ่งลืมสิ่งหนึ่ง
ดาบสองคม หมายถึง มีทั้งคุณและโทษ, อาจดีอาจเสียก็ได้
ดินพอกหางหมู หมายถึง งาน/สิ่งต่างๆ ที่คั่งค้างพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ
ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ หมายถึง ให้รู้จักพิจารณาลักษณะบุคคลหรือหญิงที่จะเลือกเป็นคู่ครอง
สำนวนสุภาษิตไทย หมวด ต.
เตี้ยอุ้มค่อม หมายถึง คนที่มีฐานะต่ำต้อยหรือยากจน แต่รับภาระเลี้ยงดูคนที่มีฐานะเช่นตนอีก
ตกกระไดพลอยโจน หมายถึง จำเป็นที่จะต้องยอมเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่มีทางเลี่ยง
ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ หมายถึง ตกอยู่ในที่คับขันอย่างไรก็ไม่เป็นอันตราย, ตกอยู่ที่ใดก็ไม่สูญหาย
ตกม้าตาย หมายถึง พลาดพลั้งก่อนจะทำสำเร็จ
ตกล่องปล้องชิ้น หมายถึง ตัดสินใจที่จะร่วมมือ หรือร่วมชีวิตด้วย
ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก หมายถึง ต่อหน้าทำเป็นดี แต่พอลับหลังก็นินทาหรือหาทางทำร้าย
ตักน้ำใส่กระโหลก ชะโงกดูเงา หมายถึง ให้รู้จักฐานะของตนและเจียมตัว
ตักน้ำรดหัวตอ หมายถึง แนะนำพร่ำสอนเท่าไรก็ไม่ได้ผล
ตักบาตรอย่าถามพระ หมายถึง จะให้อะไรแก่ผู้ที่เต็มใจรับอยู่แล้วไม่ควรถาม
ตัดไฟแต่ต้นลม หมายถึง ตัดต้นเหตุเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามต่อไป
ตัดหางปล่อยวัด หมายถึง ตัดขาดไม่เกี่ยวข้อง ไม่เอาเป็นธุระอีกต่อไป
ตาบอดได้แว่น หมายถึง คนที่ได้สิ่งซึ่งไม่เป็นประโยชน์อะไรแก่ตน
ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หมายถึง ลงทุนไปโดยได้ผลประโยชน์ไม่คุ้มทุน
ติเรือทั้งโกลน หมายถึง ตำหนิสิ่งที่ยังทำไม่เสร็จหรือที่ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
ตีตนไปก่อนไข้ หมายถึง เรื่องยังไม่เกิดก็ตื่นเต้น โวยวาย ตีโพยตีพายเกิดเหตุ
ตีปลาหน้าไซ หมายถึง พูดหรือทำกิจการของผู้อื่นซึ่งกำลังไปด้วยดีกลับเสียไป
ตีวัวกระทบคราด หมายถึง โกรธคนหนึ่งแต่ทำอะไรเขาไม่ได้ ไพล่ไปรังควานอีกคนหนึ่งที่เกี่ยวข้อง
สำนวนสุภาษิตไทย หมวด ท.
เทน้ำเทท่า หมายถึง คล่อง รวดเร็ว ไม่ติดขัด
ทองแท้ย่อมไม่แพ้ไฟ หมายถึง คนที่ยึดมั่นและตั้งมั่นในความดี ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนได้
ทองแผ่นเดียวกัน หมายถึง เกี่ยวดองกันโดยการแต่งงาน
ทองไม่รู้ร้อน หมายถึง เฉยเมย, ไม่กระตือรือร้น, ไม่สะดุ้งสะเทือน
ทำคุณบูชาโทษโปรดสัตว์ได้บาป หมายถึง ทำคุณแต่กลับเป็นโทษ ทำดีแต่กลับเป็นร้าย
ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว หมายถึง คนเราทำอย่างไรก็จะได้อย่างนั้น
ทำนาบนหลังคน หมายถึง หาผลประโยชน์ใส่ตนโดยขูดรีดผู้อื่น
ที่เท่าเเมวดิ้นตาย หมายถึง ที่ดินหรือเนื้อที่เล็กน้อย
ทุบหม้อข้าว หมายถึง ตัดอาชีพ, ทำลายอาชีพ
สำนวนสุภาษิตไทย หมวด น.
ในน้ำมีปลาในนามีข้าว หมายถึง ดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์
นกน้อยในกรงทอง หมายถึง มีความเพียบพร้อมแต่ขาดอิสระ
นกสองหัว หมายถึง คนที่ทำตัวฝักใฝ่เข้าด้วยทั้ง 2 ฝ่ายที่ไม่เป็นมิตร โดยหวังประโยชน์เพื่อตน
น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง หมายถึง พูดมากแต่ได้เนื้อหาสาระน้อย
น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า หมายถึง การพึ่งพาอาศัยกัน, ความสามัคคี
นายว่าขี้ข้าพลอย หมายถึง พลอยพูดผสมโรงติเตียนผู้อื่นตามนายไปด้วย
น้ำกลิ้งบนใบบอน หมายถึง คนใจไม่แน่นอน กับกลอก
น้ำขึ้นให้รีบตัก หมายถึง มีโอกาสดีควรรีบทำ
น้ำขุ่นไว้ในน้ำใสไว้นอก หมายถึง แม้จะไม่พอใจก็ยังแสดงสีหน้ายิ้มแย้ม
น้ำซึมบ่อทราย หมายถึง หามาได้เรื่อยๆ
น้ำตาลใกล้มด หมายถึง ชายหญิงที่ใกล้ชิดกันมากย่อมห้ามใจไม่ให้รักกันได้ยาก
น้ำท่วมปาก หมายถึง พูดไม่ออกเพราะเกรงจะมีภัยแก่ตนหรือผู้อื่น
น้ำท่วมหลังเป็ด หมายถึง เป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้ยาก
น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ หมายถึง ฝ่ายข้างน้อยย่อมแพ้ฝ่ายข้างมาก
น้ำนิ่งไหลลึก หมายถึง คนที่มีท่าหงิม ๆ มักจะมีความคิดลึกซึ้ง
น้ำผึ้งหยดเดียว หมายถึง เรื่องเล็กๆ ก็ทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่ได้
น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า หมายถึง การพึ่งพาอาศัยกัน, ความสามัคคี
น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา หมายถึง ทีใครทีมัน
น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย หมายถึง คำพูดที่ไพเราะอ่อนหวาน ซึ่งถูกใจผู้ฟัง แต่อาจเป็นโทษเป็นภัยได้
น้ำลดตอผุด หมายถึง เมื่อหมดอำนาจ ความชั่วที่ทำไว้ก็ปรากฏ
สำนวนสุภาษิตไทย หมวด บ.
แบไต๋ หมายถึง ตีแผ่ บอกความลับให้คนอื่นรู้
บ่นเป็นหมีกินผึ้ง หมายถึง คนที่ชอบบ่พึมพำอยู่เสมอ เห็นอะไรก็บ่นไปหมด
บัวใต้น้ำ หมายถึง ผู้ที่มีความคิดมืดบอก ขุนไม่ขึ้น
บัวพ้นน้ำ หมายถึง ผู้ที่มีความคิดความอ่านที่ดี รู้ดีรู้ชั่ว
บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น หมายถึง รู้จักผ่อนปรนเข้าหากัน มิให้กระทบกระเทือนใจกัน
บ่างช่างยุ หมายถึง คนที่ชอบพูดส่อเสียดยุยงให้เขาแตกกัน
บ้านเมืองมีขื่อมีแป หมายถึง บ้านเมืองหรือประเทศย่อมมีกฎหมายคุ้มครอง
บ้านแตกสาแหรกขาด หมายถึง ครอบครัวหรือบ้านเมืองต้องกระจัดกระจายพลัดพรากกัน
บ้าหอบฟาง หมายถึง บ้าสมบัติ เห็นอะไรเป็นของมีค่าจะเอาทั้งนั้น
สำนวนสุภาษิตไทย หมวด ป.
เป็นปี่เป็นขลุ่ย หมายถึง ถูกคอกัน, เข้ากันได้ดี
ปล่อยไก่ หมายถึง แสดงความโง่ออกมา
ปลาใหญ่กินปลาเล็ก หมายถึง คนหรือผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ กดขี่ข่มเหงผู้อ่อนแอหรือผู้น้อย
ปลาหมอตายเพราะปาก หมายถึง คนที่พูดพล่อยจนได้รับอันตราย
ปลูกเรือนคร่อมตอ หมายถึง กระทำสิ่งซึ่งล่วงล้ำ ก้าวก่ายสิทธิของผู้อื่น
ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน หมายถึง ทำตามความพอใจของผู้ที่จะได้รับผลโดยตรง
ปอกกล้วยเข้าปาก หมายถึง ง่าย, สะดวก
ปั้นน้ำเป็นตัว หมายถึง สร้างเรื่องเท็จให้เห็นเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา
ปากเป็นเอกเลขเป็นโท หมายถึง การพูดจาสำคัญกว่าวิชาหนังสือ
ปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม หมายถึง ยังเป็นเด็ก
ปากตำแย หมายถึง ปากอยู่ไม่สุข ชอบพูด ชอบฟ้อง
ปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ หมายถึง พูดดีแต่ใจคิดร้าย
ปากว่าตาขยิบ หมายถึง พูดอย่างหนึ่ง แต่ทำอีกอย่างหนึ่ง
ปิดทองหลังพระ หมายถึง ทำความดีแต่ไม่ได้รับการยกย่อง เพราะไม่มีใครเห็นคุณค่า
ปิดประตูตีแมว หมายถึง รังแกคนไม่มีทางสู้ และไม่มีทางหนีรอดไปได้
สำนวนสุภาษิตไทย หมวด ผ.
แผลเก่า หมายถึง ความเจ็บช้ำที่ฝังใจอยู่ไม่รู้ลืม
ไผ่ลู่ลม หมายถึง โอนอ่อนไปตามสถานการณ์
ผักชีโรยหน้า หมายถึง การทำความดีเพียงผิวเผิน
ผัดวันประกันพรุ่ง หมายถึง ขอเลื่อนเวลาออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า
ผัวหาบเมียคอน หมายถึง ช่วยกันทำมาหากินทั้งผัวทั้งเมีย
ผ้าขี้ริ้วห่อทอง หมายถึง คนมั่งมีแต่แต่งตัวซอมซ่อ
ผีไม่มีศาล หมายถึง ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
ผีซ้ำด้ำพลอย หมายถึง ถูกซ้ำเติมเมื่อพลาดพลั้งลง หรือเมื่อคราวเคราะห์ร้าย
ผู้หญิงยิงเรือ หมายถึง ผู้หญิงนั่งอยู่หัวเรือ (ในขณะที่ผู้ชายพายอยู่ท้ายเรือ) เพี้ยนมาจากคำว่า ผู้หญิงริงเรือ
สำนวนสุภาษิตไทย หมวด ฝ.
ฝนตกไม่ทั่วฟ้า หมายถึง แจกจ่ายของไม่ทั่วถึงกัน
ฝนตกขี้หมูไหล หมายถึง พลอยเหลวไหลไปด้วยกัน
ฝนทั่งให้เป็นเข็ม หมายถึง เพียรพยายามสุดความสามารถจนกว่าจะสำเร็จผล
ฝนสั่งฟ้า ปลาสั่งหนอง หมายถึง ทำการอันใดที่เป็นสิ่งสำคัญเพื่อไว้อาลัยก่อนจากไป
ฝากปลาย่างไว้กับแมว หมายถึง ไว้วางใจคนที่ไม่ควรไว้วางใจ
สุภาษิตคำพังเพย หมวด พ.
แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร หมายถึง การยอมแพ้ทำให้เรื่องสงบ การไม่ยอมแพ้ทำให้เรื่องไม่สงบ
แพะรับบาป หมายถึง คนที่รับเคราะห์กรรมแทนผู้อื่น
พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ หมายถึง เปลี่ยนแปลงหรือทำให้ผิดไปจากเดิมอย่างตรงกันข้าม
พายเรือให้โจรนั่ง หมายถึง การให้ความสนับสนุนคนไม่ดี
พายเรือในอ่าง หมายถึง คิด ทำ หรือพูดวกวนกลับไปกลับมา
พายเรือทวนน้ำ หมายถึง ทำด้วยความยากลำบาก
พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง หมายถึง พูดไปไม่มีประโยชน์ นิ่งเสียดีกว่า
สุภาษิตคำพังเพย หมวด ฟ.
ไฟลนก้น หมายถึง ต้องทำอย่างรีบเร่ง เพราะเวลากระชั้นเข้ามา
ฟังไม่ได้ศัพท์ จับเอามากระเดียด หมายถึง ฟังไม่ได้ความแจ่มชัด แล้วเอาไปพูดต่อหรือทำผิดๆพลาดๆ
ฟังหูไว้หู หมายถึง รับฟังไว้แต่ไม่เชื่อทั้งหมด
ฟังหูซ้าย ทะลุหูขวา หมายถึง คนที่ไม่ย่อมจะฟังใคร พูดไปคงเปล่าประโยชน์
ฟ้าหลังฝน หมายถึง สิ่งดีงาม สบายใจ เมื่อผ่านพ้นปัญหาใหญ่
ฟางเส้นสุดท้าย หมายถึง มูลเหตุหรือประเด็นหลังสุดซึ่งก่อให้เกิดเรื่องแตกหัก
ฟื้นฝอยหาตะเข็บ หมายถึง การรื้อเอาเรื่องเก่าๆที่แล้วไปแล้ว มาพูดขึ้นให้เป็นที่สะเทือนใจ
สุภาษิตคำพังเพย หมวด ม.
แมวเก้าชีวิต หมายถึง ผ่านความเป็นความตายมาหลายครั้งแต่ก็ยังรอดมาได้
แมวไม่อยู่หนูร่าเริง หมายถึง เมื่อผู้ใหญ่หรือผู้ดูแลไม่อยู่ เด็ก ๆ ก็มักไม่มีระเบียบ ทำตัวกันตามสบาย
แมวนอนหวด หมายถึง ดูซื่อ เชื่อง ไม่มีพิษมีภัย แต่ความจริงแล้วกลับซ่อนความร้ายกาจไว้ภายใน
แมวเฝ้าปลาย่าง หมายถึง การฝากให้ผู้อื่นเฝ้าสิ่งของที่เขาต้องการอยู่แล้ว ย่อมทำให้สูญเสีย
แม่ศรีเรือน หมายถึง แม่บ้านแม่เรือน ผู้หญิงที่เก่งงานบ้านงานเรือน
ไม้เบื่อไม้เมา หมายถึง ขัดกันตะพึดเพราะใจโกรธกันมาก่อน
ไม่เป็นโล้เป็นพาย หมายถึง ไม่ได้เรื่องได้ราว, ไม่เป็นหลักเป็นฐาน, หาความแน่นอนไม่ได้
ไม่เอาถ่าน หมายถึง ไม่เป็นเรื่อง, ไม่ได้ความ, ทำอะไรไม่ถูกเรื่อง
ไม้ใกล้ฝั่ง หมายถึง แก่ใกล้จะตาย
ไม่ได้ด้วยเลห์เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์เอาด้วยคาถา หมายถึง ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ดังใจ
ไม้ซีกงัดไม้ซุง หมายถึง คนผู้มีฐานะต่ำไปคัดค้านหรือไปก่อความกับผู้มีอำนาจสูงกว่า
ไม่ดูตาม้าตาเรือ หมายถึง ไม่พิจารณาให้รอบคอบ, ไม่ระมัดระวัง
ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้เเก่ดัดยาก หมายถึง อบรมสั่งสอนเด็กให้เด็กประพฤติดีได้ง่ายกว่าสั่งสอนผู้ใหญ่
มดแดงแฝงพวงมะม่วง หมายถึง ชายที่ปองรักหญิงบ้านใกล้หรือที่อยู่ใกล้กัน
มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก หมายถึง พูดจาตลบตะแลงพลิกแพลงไปมาจนจับคำพูดไม่ทัน
มะนาวไม่มีน้ำ หมายถึง คำพูดที่ไม่ไพเราะ พูดห้วนๆ
มะพร้าวตื่นดก หมายถึง เห่อหรือตื่นเต้นในสิ่งที่ตนไม่เคยมีจนเกินพอดี
มัดมือชก หมายถึง บังคับหรือใช้วิธีการใด ๆ ให้อีกฝ่ายหนึ่งตกอยู่ในอำนาจแล้วจัดการเอาตามใจชอบ
ม้าดีดกระโหลก หมายถึง มีกิริยากระโดกกระเดกลุกลนหรือไม่เรียบร้อย มักใช้กับผู้หญิง
ม้ามืด หมายถึง คู่แข่งที่อยู่เหนือความคาดหมาย ไม่อยู่ในสายตาของใครมาก่อน
มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ หมายถึง ไม่ช่วยแล้วยังขัดขวางการทำงานของผู้อื่น
มือถือสาก ปากถือศีล หมายถึง แสดงตัวว่าเป็นคนมีศีลธรรม แต่กลับประพฤติชั่ว
สุภาษิตคำพังเพย หมวด ย.
ยกเค้า หมายถึง ขโมยทรัพย์สินไปจนหมด
ยกธงขาว หมายถึง ยอมแพ้
ยกภูเขาออกจากอก หมายถึง โล่งอก หมดวิตกกังวล
ย้อมแมวขาย หมายถึง การตกแต่งคนหรือของที่ไม่ดีโดยมีเจตนาจะหลอกลวงให้ผู้อื่นเชื่อว่าดี
ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว หมายถึง การทําอย่างเดียวแต่ได้ผล 2 อย่าง
ยื่นหมูยื่นแมว หมายถึง แลกเปลี่ยนของของแต่ละฝ่ายในเวลาเดียวกัน
ยุให้รำ ตำให้รั่ว หมายถึง ยุให้แตกกัน ทำให้ผิดใจกัน
ยุงไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม หมายถึง ทะนุถนอมเลี้ยงดูอย่างดี
ยุ่งเหมือนยุงตีกัน หมายถึง ยุ่งเหยิง สับสนปนเปกัน
ยุแยงตะแคงรั่ว หมายถึง พูดให้ทั้งสองฝ่ายแตกคอกัน
สุภาษิตคำพังเพย หมวด ร.
เรือล่มในหนอง หมายถึง คนในเครือญาติแต่งงานกันทําให้ทรัพย์มรดกไม่ตกไปอยู่กับผู้อื่น
รักดีหามจั่วรักชั่วหามเสา หมายถึง ใฝ่ดีจะมีความสุขความเจริญ ใฝ่ชั่วจะได้รับความลําบาก
รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี หมายถึง รักสิ่งใดก็ต้องระวังสิ่งนั้นให้ดี อย่าปล่อยตามใจ
รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง หมายถึง ทําไม่ดีหรือทําผิดแล้วไม่รับผิด กลับโทษผู้อื่น
รีดเลือดกับปู หมายถึง เคี่ยวเข็ญหรือบีบบังคับเอากับผู้ที่ไม่มีจะให้
รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม หมายถึง เรียนรู้ไว้ไม่หนักเรี่ยวหนักแรงหรือเสียหายอะไร
รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง หมายถึง รู้จักเอาตัวรอดหรือปรับตัวให้เข้ากับเหตุการณ์
สุภาษิตคำพังเพย หมวด ล.
เล่นกับหมาหมาเลียปาก หมายถึง ลดตัวลงไปหรือวางตัวไม่เหมาะสมจึงถูกลามปาม
เลือดข้นกว่าน้ำ หมายถึง ญาติพี่น้องย่อมดีกว่าคนอื่น
ลงเรือลำเดียวกัน หมายถึง ทำงานร่วมกัน ร่วมรับผลการกระทำด้วยกัน
ล้วงคองูเห่า หมายถึง บังอาจลักขโมยหรือล่อลวงเอาทรัพย์สินเป็นต้นจากผู้ที่น่าเกรงขาม
ลางเนื้อชอบลางยา หมายถึง ของสิ่งเดียวกัน บางคนอาจชอบ แต่บางคนอาจจะไม่ชอบ
ลูกไก่ในกำมือ หมายถึง อยู่ในอำนาจเหนือกว่าจะทำอย่างไรก็ได้
ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น หมายถึง ลูกย่อมไม่แตกต่างจากพ่อแม่มากนัก
สุภาษิตคำพังเพย หมวด ว.
วันพระไม่ได้มีหนเดียว หมายถึง ครั้งนี้แพ้ ครั้งหน้าจะแก้ตัวหรือแก้แค้น
วัวเคยขา ม้าเคยขี่ หมายถึง คนที่เคยคุ้นกันมาอย่างดี รู้ใจกัน
วัวแก่กินหญ้าอ่อน หมายถึง ชายแก่ที่มีภรรยาสาวคราวลูกคราวหลาน
วัวลืมตีน หมายถึง ลืมกำพืดตนเอง
วัวสันหลังหวะ หมายถึง คนที่มีความผิดติดตัวทําให้คอยหวาดระแวง
วัวหายล้อมคอก หมายถึง การคิดหาทางแก้ไขหรือป้องกันภายหลังจากได้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว
วานรได้แก้ว หมายถึง ผู้ที่ไม่รู้คุณค่าของสิ่งมีค่าที่ได้มาหรือที่มีอยู่
สุภาษิตคำพังเพย หมวด ส.
เส้นผมบังภูเขา หมายถึง เรื่องง่ายๆ แต่คิดไม่ออก
เสน่ห์ปลายจวัก หมายถึง เสน่ห์ที่เกิดจากฝีมือปรุงอาหารให้โอชา
เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย หมายถึง เสียเพียงเล็กน้อยไม่ยอมเสีย ปล่อยให้ลุกลามจนต้องเสียมาก
เสี้ยมเขาควายให้ชนกัน หมายถึง ยุยงให้เขาเกิดวิวาทบาดหมางกัน
เสือติดจั่น หมายถึง อาการที่เดินงุ่นง่าน วนไปวนมา
เสือสิ้นลาย หมายถึง คนที่หมดสภาพ ต่อสู้ใครไม่ได้ คนแก่ที่ช่วยเหลือตัวเองลำบากแล้ว
สมภารกินไก่วัด หมายถึง ผู้ชายที่เป็นหัวหน้ามีอะไรกับผู้หญิงที่เป็นลูกน้อง
สร้างวิมานในอากาศ หมายถึง ฝันหรือหวังในสิ่งที่ไม่สามารถจะเป็นความจริงได้
สาวไส้ให้กากิน หมายถึง นำความลับใดของตนนำไปบอกผู้อื่น
สิ้นไร้ไม้ตอก หมายถึง ขัดสนหรือลำบากถึงที่สุด
สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น หมายถึง ได้ยินได้ฟังมาก็สู้เห็นด้วยตาตนเองไม่ได้
สีซอให้ควายฟัง หมายถึง คนโง่เง่าหรือปัญญาทึบ สอนเท่าไหร่ก็ไม่ได้เรื่อง
สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง หมายถึง ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญก็ยังพลาดพลั้งได้
สุกเอาเผากิน หมายถึง ทำอะไรแบบลวกๆ ชุ่ยๆ พอให้ผ่านไป
สุภาษิตคำพังเพย หมวด ห.
หายเข้ากลีบเมฆ หมายถึง หายไปอย่างไร้ร่องรอย
เห็นกงจักรเป็นดอกบัว หมายถึง การเห็นผิดเป็นชอบ หรือเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
เห็นขี้ดีกว่าไส้ หมายถึง เห็นคนอื่นดีกว่าญาติพี่น้อง
เห็นช้างขี้ขี้ตามช้าง หมายถึง การกระทำตนเยี่ยงผู้อื่นที่มีฐานะและความพร้อมมากกว่า
เหยียบเรือสองแคม หมายถึง ทําทีเข้าด้วยทั้ง 2 ฝ่าย อยู่กับฝ่ายไหน ก็เห็นด้วยหรือแสดงท่าทีเข้าข้างฝ่ายนั้น
เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ หมายถึง คนเหยาะแหยะ ทำอะไรไม่จริงจัง ไม่ทุ่มเท
ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว หมายถึง ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่ผลกลับย้อนมาทำให้ตัวเองเดือดร้อนไปด้วย
หน้าไหว้หลังหลอก หมายถึง คนที่มีพฤติกรรมต่อหน้าเราอย่างหนึ่ง แต่ลับหลังกลับทำอีกอย่างหนึ่ง
หน้าสิ่วหน้าขวาน หมายถึง อยู่ในระยะอันตราย หรือในเหตุการณ์วิกฤต
หนีเสือปะจระเข้ หมายถึง การที่หนีอันตรายหรือสิ่งเลวร้ายอย่างหนึ่ง แต่กลับเจออันตรายอีกอันหนึ่ง
หนูตกถังข้าวสาร หมายถึง ชายที่ฐานะไม่ค่อยดี แต่งงานกับหญิงที่ร่ำรวย
หมองูตายเพราะงู หมายถึง ชำนาญอะไรมักได้รับภัยจากหน้าที่นั้น
หมาเห่าใบตองแห้ง หมายถึง พวกปากไว ไม่ทันรู้อะไรก็พูดไปก่อน
หมากัดอย่ากัดตอบ หมายถึง อย่าลดตัวลงไปต่อสู้หรือต่อปากต่อคำกับคนพาลหรือคนที่มีศักดิ์ต่ำกว่า
หมูไปไก่มา หมายถึง ถ้อยทีถ้อยอาศัยตอบแทนกัน, ให้สิ่งของแลกเปลี่ยนหรือตอบแทนกัน
หมูในอวย หมายถึง สิ่งที่อยู่ในกํามือ หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึงสิ่งที่ตกเป็นของของเราอย่างแน่นอน
หมูจะหามอย่าเอาคานเข้ามาสอด หมายถึง การที่เข้าไปขัดขวางผลประโยชน์ที่ผู้อื่นกำลังจะสำเร็จอยู่แล้ว
หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน หมายถึง การตรากตรำทำงานหนัก ไม่ย่อท้อ
หวังน้ำบ่อหน้า หมายถึง ของที่ได้แน่นอนแล้วไม่เอา กลับไปคาดหวังกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
หวานเป็นลมขมเป็นยา หมายถึง คำหวานทำให้เหลิง คำเตือนมักทำให้ได้สติ
หวานนอกขมใน หมายถึง แสดงให้เห็นว่าดีแต่ภายนอก แต่ภายในใจกลับตรงข้าม
หว่านพืชหวังผล หมายถึง ให้ผลประโยชน์แก่ผู้อื่นเพื่อหวังผลตอบแทน
หอกข้างแคร่ หมายถึง คนใกล้ชิดที่อาจคิดร้ายได้ทุกเวลา
หักด้ามพร้าด้วยเข่า หมายถึง หักโหมเอาด้วยกําลัง ใช้อํานาจบังคับเอา
หัวเดียวกระเทียมลีบ หมายถึง การอยู่คนเดียว ไม่มีเพื่อนฝูงพวกพ้อง
หัวมงกุฏท้ายมังกร หมายถึง ไม่เข้ากัน ไม่กลมกลืน
หัวล้านได้หวี หมายถึง ผู้ที่ได้สิ่งซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ตน
หาเหาใส่หัว หมายถึง หาเรื่องเดือดร้อนให้ตนเอง
หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว หมายถึง ทําประชดหรือแดกดัน
สุภาษิตไทย หมวด อ.
เออออห่อหมก หมายถึง เห็นด้วยหรือพลอยเห็นตามไปด้วย
เอาใจเขามาใส่ใจเรา หมายถึง รู้จักคิดถึงใจคนอื่น เห็นใจคนอื่น
เอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ หมายถึง อย่าเอาความดีไปแลกความชั่ว
เอามะพร้าวห้าวมาขายสวน หมายถึง คนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือโง่เขลา
เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หมายถึง แสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ไม่รับรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้น
อดเปรี้ยวไว้กินหวาน หมายถึง อดใจไว้ก่อนเพราะหวังสิ่งที่ดีกว่าข้างหน้า
อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง หมายถึง อย่าเชื่อใจผู้ใดง่ายเกินไป
อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น หมายถึง อยู่บ้านผู้อื่นไม่ควรทำตัวเป็นคนอยู่เฉยๆ ควรช่วยเหลืองานในบ้านเท่าที่จะทำได้
อ้อยเข้าปากช้าง หมายถึง สิ่งหรือประโยชน์ที่ตกอยู่ในมือแล้วย่อมได้คืนยาก
อัฐยายซื้อขนมยาย หมายถึง ได้รับทรัพย์สินเงินทองจากบุคคลหนึ่งแล้วนำกลับไปให้หรือซื้อของจากคนนั้น
อาบน้ำร้อนมาก่อน หมายถึง เกิดก่อนจึงมีประสบการณ์มากกว่า
อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ หมายถึง รู้เท่าทันคำพูดที่พูดออกมา