รักษาโควิดจนหายแล้ว แต่ทำไมพอตรวจ ATK ก็ยังเป็นบวก แบบนี้จะไปทำงาน หรือออกไปนอกบ้านได้หรือยัง
หลายคนที่รักษาตัวครบกำหนดแล้วไปลองตรวจ ATK แต่ขึ้น 2 ขีด เลยอดกังวลไม่ได้ว่า นี่เราหายป่วยหรือยัง แล้วจะแพร่เชื้อให้คนอื่นได้อีกไหม ลองมาทำความเข้าใจกันสักนิด
ทางกระทรวงสาธารณสุขเคยให้ข้อมูลว่า คนที่เพิ่งหายป่วยโควิดมีสิทธิ์ตรวจ ATK เป็นผลบวกได้ เพราะในร่างกายของเราอาจยังมีซากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสที่ร่างกายยังกำจัดไม่หมดหลงเหลืออยู่ในน้ำมูกหรือน้ำลาย ซึ่งบางคนอยู่ได้นาน 30-90 วันเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ซากสารพันธุกรรมดังกล่าวคือจุลชีพที่ถูกร่างกายทำลายจนหมดฤทธิ์ เป็นเชื้อที่ตายแล้ว ถ้านำไปเพาะเชื้อก็จะเพาะไม่ขึ้น เท่ากับว่าเชื้อที่พบไม่สามารถแพร่ไปให้ผู้อื่นได้อีก เป็นเสมือนซากเชื้อที่ก่อโรคไม่ได้แล้วนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้แพทย์จึงไม่แนะนำให้ผู้ป่วยโควิดที่รักษาครบตามกำหนดเวลาแล้วไปตรวจโควิดซ้ำ เพราะเมื่อตรวจย่อมมีโอกาสเจอซากเชื้อ ทำให้เข้าใจผิดว่ายังไม่หายป่วย
ประเด็นนี้ อ. ดร.เอกวัฒน์ ผสมทรัพย์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลไว้ว่า การตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยวิธี RT-PCR คือการตรวจเพื่อบอกว่าในร่างกายมีหรือไม่มีสารพันธุกรรมนี้ แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นเชื้อเป็นหรือเชื้อตาย ดังนั้นถ้าตรวจเจอก็แสดงว่าในร่างกายยังมีสารพันธุกรรมชนิดนี้ เช่น อาจจะหลงเหลืออยู่ในปริมาณเล็กน้อย โอกาสที่จะแพร่กระจายไปสู่คนอื่นถือว่าน้อยมาก
ทั้งนี้ ทุกโรคที่มีเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ไม่ใช่แค่โรคโควิด ยังสามารถทิ้งซากให้หลงเหลืออยู่ในร่างกาย บางเชื้ออยู่ได้ 2-3 เดือน หรือถึง 6 เดือน ขึ้นอยู่กับเชื้อแต่ละชนิด
จนกว่าผลตรวจ ATK เป็นลบ
อย่าง ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค สวทช. ที่ระบุว่า การตรวจ ATK จะไม่เจอซากเชื้อได้เหมือนกับการตรวจแบบ RT-PCR อีกทั้ง ATK มีความไวน้อยกว่า RT-PCR ดังนั้นถ้าตรวจ ATK แล้วเป็นบวกอยู่แสดงว่า ยังมีอนุภาคของไวรัสที่มีปริมาณโปรตีน N อยู่พอสมควร มีแนวโน้มติดเชื้อต่อได้ จึงแนะนำให้ผู้ป่วยกักตัวต่อจนกว่าจะตรวจ ATK แล้วเป็นผลลบ 2 วันติดต่อกัน
ขณะที่ นพ.อิราวัต อารีกิจ หรือ หมออั้ม แสดงความเห็นว่า การตรวจ ATK ไม่ได้ละเอียดถึงขนาดเจอซากเชื้อ มีแค่การตรวจแบบ RT-PCR ที่ตรวจเจอซากเชื้อ ซึ่งการตรวจ RT-PCR ยังผิดได้ ดังนั้น หากตรวจ ATK แล้วยังขึ้น 2 ขีด นั่นหมายถึงยังมีโอกาสแพร่เชื้อได้ไม่มากก็น้อย และหากคนใกล้ชิดเป็น เด็ก คนชรา ผู้มีโรคประจำตัว ยิ่งติดง่าย
ด้าน นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ชี้ว่า การตรวจ ATK คือการตรวจหาโปรตีน Nucleocapsid ซึ่งอยู่ในตัวไวรัส และจะพบเมื่อมีการแบ่งตัวไวรัส หรือ พบในเซลล์ที่ถูกไวรัสติดเข้าไป หาก ATK ขึ้น 2 ขีดหมายความว่า ที่ตรวจเจอนั้นคือเชื้อจริง ๆ ไม่ใช่ซากเชื้อแบบที่เคยได้ยิน ทั้งนี้ ในคนที่หายจากอาการของโรคแล้ว แม้ผ่านไป 14-28 วัน ก็ยังสามารถตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสได้ผ่านวิธี RT-PCR เท่านั้น ซึ่งสารนี้หลายคนเรียกว่าซากเชื้อ แต่ปริมาณจะน้อยมาก