แผลเรื้อรัง แม้ว่าจะมีความรุนแรงกว่าแผลทั่วไป แต่ก็มีโอกาสหาย
แผล ไม่ได้มีแค่ชนิดเดียว
หากจำแนกแผลตาม “ลักษณะของการบาดเจ็บต่อร่างกาย” ก็จะแบ่งออกได้เป็น
· การบาดเจ็บชนิดปิด หรือ การบาดเจ็บที่ไม่ได้ปรากฏรอยแยกบนผิวหนัง แต่อาจมีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อ หรือเส้นเลือดฝอยบริเวณใต้ผิวหนัง มักเกิดขึ้นจากการโดนกระแทกด้วยของที่ไม่มีคม ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นรอยบวม เป็นจ้ำ สีคล้ำบริเวณผิวหนัง หรือที่เราคุ้ยเคยกันว่า “รอยฟกช้ำ” นั่นเอง รวมถึงแผลที่เกิดเลือดคั่งในอวัยวะภายใน เช่น กล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่างๆ
· การบาดเจ็บชนิดเปิด ซึ่งแผลชนิดนี้ส่วนใหญ่จะมีการฉีกขาดของผิวหนัง และมีเลือดออก เช่น ของมีคมบาด แผลถลอก รวมไปถึงแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
ระยะของแผลกับวิธีรักษา
ในการรักษาบาดแผล มักจะแบ่งตามระยะของแผลออกเป็น 2 ชนิด คือ
· แผลเฉียบพลัน (Acute wound): เป็นแผลสด แผลใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติใน 4 สัปดาห์
· แผลเรื้อรัง (Chronic wound): แผลที่ใช้ระยะเวลาในการหายนานกว่าแผลปกติ โดยจะอยู่ในระยะของการอักเสบมากกว่า 4-6 สัปดาห์ เป็นต้นไป
ใครบ้างที่มีโอกาสเป็นแผลเรื้อรัง?
ทุกคนมีโอกาสเป็นแผลเรื้อรังได้ หากเกิดบาดแผลแล้วไม่ได้รับการดูแลแผลอย่างถูกวิธี ก็อาจจะทำให้เกิดเนื้อตาย หรือเกิดการติดเชื้อบริเวณบาดแผลได้เนื่องจากใช้วัสดุแปะแผลที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเปียกไป แห้งไป แผลโดนน้ำมากไป หรือเปิดต่อสิ่งแวดล้อมเยอะเกินไป ซึ่งแผลเรื้อรังจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากใน
· คนที่มีโรคประจำตัวที่มีผลต่อการหายของแผลเช่น โรคเกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือด โรคหลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำ โรคหัวใจ ตับแข็ง ไตวาย เป็นต้น
· คนที่มีโรคประจำตัวที่ส่งผลให้คุณภาพของเลือดไม่ดี เช่น โรคเบาหวานที่มีการควบคุมระดับน้ำตาลที่ไม่เหมาะสม ทำให้การสมานและฟื้นตัวของแผลไม่ดี มีภาวะขาดสารอาหาร หรือซีด เป็นต้น
· คนที่มีเนื้อเยื่อโดยรอบไม่เหมาะกับการหายของแผล เช่น เกิดบาดแผลบริเวณผิวหนังที่เคยผ่านการฉายรังสี เคยได้รับยาเคมีบำบัด หรือยากดภูมิคุ้มกันกลุ่มสเตียรอยด์ จึงทำให้แผลบริเวณนั้นหายยากกว่าปกติ
อันตรายอย่างไร? หากมีแผลเรื้อรัง แล้วดูแลไม่ถูกวิธี
หากดูแลไม่ดี แผลนั้นก็จะไม่หาย แผลจะไม่สามารถดำเนินต่อไปตามกระบวนการการหายของแผลได้ โดยจะยังคงอักเสบ ติดเชื้อ จนอาจลุกลามกว้างขึ้นและถึงขั้นต้องตัดเนื้อตายมากขึ้น ใช้ระยะเวลาในการหายนานขึ้น หากปล่อยทิ้งไว้ก็อาจถึงขั้นต้องตัดอวัยวะ หรือรุนแรงจนเกิดการติดเชื้อเข้ากระแสเลือดและเสียชีวิตได้ในที่สุด
บทความโดย : พญ.เบญจพร นันทสันติ ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้อง โรงพยาบาลพญาไท 3