โรคเส้นเลือดสมองตีบ เป็นหนึ่งในสาเหตุทำให้คนไทยเสียชีวิตมากขึ้น
สาเหตุของโรคเส้นเลือดสมองตีบ
โรคเส้นเลือดในสมองตีบ (Ischemic Stroke) เป็นภาวะที่สมองขาดออกซิเจนและเลือดไปเลี้ยง โดยเกิดการหนาตัวของผนังหลอดเลือดจากการมีไขมันมาสะสมตามผนังหลอดเลือด ส่งผลให้เลือดไหลผ่านไปได้น้อยลง จนเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอจนเกิดความเสียหายต่อบริเวณนั้นๆ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมอวัยวะและระบบต่างๆ ภายในร่างกายได้ ในบางรายอาจกลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือมีอาการผิดปกติ เช่น ตามองไม่เห็น ชาครึ่งซีก เป็นต้น แต่หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็จะมีโอกาสลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ภาวะผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก
- กลุ่มหนึ่ง ประมาณ 80-90% เป็นภาวะที่ไม่มีเลือดไปเลี้ยงสมองซึ่งอาจจะเกิดจากภาวะหลอดเลือดอุดตันหรือภาวะหลอดเลือดตีบ
- กลุ่มที่สอง ประมาณ 15-20% จะเป็นภาวะที่มีเลือดออกในสมองซึ่งโรคที่ทำให้เกิดก็มาจากการฉีกขาดของหลอดเลือดเล็กๆ ที่หลายๆ คนเรียก หลอดเลือดฝอยฉีกขาด และอีกประมาณ 5% จะเป็นลักษณะของหลอดเลือดโป่งพองแล้วแตก ซึ่งทำให้มีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง
อาการของโรคเส้นเลือดสมองตีบ ที่ต้องเฝ้าระวัง
สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับผู้ป่วยโรคเส้นเลือดสมองตีบ คือเป็นโรคที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันไม่ทันได้ตั้งตัว อาการที่พบมีดังต่อไปนี้
- ปวดหัว
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ตาพร่ามัว
- แขนขาอ่อนแรง
- อาจมีอาการพูดไม่ชัด
- มีอาการชาครึ่งซีกบริเวณใบหน้า ซึ่งเป็นภาวะของอัมพฤกษ์
- บางรายอาจรุนแรงจนถึงขั้นเป็นอัมพาต
- หากอาการรุนแรงมากจะถึงขั้นเสียชีวิตได้
การป้องกันโรคเส้นเลือดสมองตีบ
การป้องกันโรคเส้นเลือดสมองตีบที่ดีที่สุด คือ ป้องกันจากปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ ดังนี้
- คนที่มีภาวะความดันโลหิตสูงหรือเบาหวาน ควรควบคุมดูแลให้มีระดับความดันโลหิตและน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติ
- ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเลิกสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้หลอดเลือดเกิดความเสียหายได้
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับปกติ
- กินอาหารที่มีประโยชน์ และรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม โดยเน้นกลุ่มอาหารที่มีใยอาหารเป็นองค์ประกอบ เช่น ธัญพืชต่างๆ ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วเปลือกแข็ง ผักผลไม้ ลดหวาน เน้นโปรตีนจากพืชและปลา เน้นอาหารจากธรรมชาติ หลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัว หลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูปและอาหารสำเร็จรูป และลดโซเดียมในอาหาร
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- จัดการความเครียดเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาหรือความวิตกกังวล
ความน่ากลัวของโรคเส้นเลือดสมองตีบ คือ ไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้าว่าเราจะป่วยเป็นโรคนี้หรือไม่เหมือนกับโรคอื่นๆ ส่วนใหญ่ที่มักจะมีอาการแสดงให้เห็นก่อน ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือการดูแลสุขภาพร่างกายตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ และควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา