ตรวจคัดกรอง "มะเร็งปากมดลูก" วิธีใหม่ ทำเอง ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง


1,603 ผู้ชม

แพทย์เผยนวัตกรรม ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก


ปัจจุบัน การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีเอชพีวี ดีเอ็นเอ สามารถเก็บตัวอย่างด้วยตัวเองได้ในโรงพยาบาล เพิ่มทางเลือกใหม่ในการตรวจฯ ลดปัญหาความกังวลใจด้านต่างๆ อาทิ กลัวเจ็บ อายแพทย์ ตลอดจนความกังวลใจเรื่องค่าใช้จ่าย ยืนยันสิทธิ์หลักประกันสุขภาพครอบคลุมการตรวจ รักษา มั่นใจแนวคิดตรวจพบ (เชื้อเอชพีวี) เร็ว สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกและเสียชีวิตได้

ตรวจคัดกรอง "มะเร็งปากมดลูก" วิธีใหม่ ทำเอง ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง

นายแพทย์ปิยวัฒน์ เลาวหุตานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรีและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขามะเร็งวิทยานรีเวช เผยว่า แม้มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากในเพศหญิงตั้งแต่วัยสาวถึงวัยชรา และพบมากเป็นอันดับ 5 ของมะเร็งในผู้หญิงไทยรองจากมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ และมะเร็งปอด แต่เป็นหนึ่งในไม่กี่มะเร็งที่ป้องกันได้ หากได้รับการตรวจคัดกรองฯ อย่างถูกต้อง และสม่ำเสมอ โดยมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี และมีระยะเวลาการดำเนินโรค 10 ปี ตั้งแต่ได้รับเชื้อและมีการเปลี่ยนแปลงของเซลส์ จนกระทั่งพัฒนาเป็นมะเร็ง 

“ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกจากการคาดการณ์จำนวน 5,422 ราย ในปี 2017 และลดลงเล็กน้อยต่อเนื่อง 5,320 ราย ในปี 2020 ปัจจุบัน อุบัติการณ์การเกิดมะเร็งปากมดลูกอยู่ที่ 11.1 ต่อประชากร 100,000 คน แต่องค์การอนามัยโลกอยากให้ทุกประเทศลดอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งปากมดลูกเป็น 4 ต่อ 100,000 คน 

“ดังนั้น ประเทศไทยยังคงต้องดำเนินการตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างเข้มข้น รวมกับการฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียน ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงละเลย ไม่เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก อาทิ ไม่รู้ว่ามะเร็งปากมดลูก ซึ่งเกิดจากเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์เสี่ยงสูง (สายพันธุ์ 16 และสายพันธุ์ 18) หากตรวจพบเชื้อเร็วก็สามารถเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่เชื้อดังกล่าวจะทำให้เซลส์ผิดปกติ และพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ 

“นอกจากนั้น ยังเกิดจากเหตุผลส่วนตัว เช่น กลัวการขึ้นขาหยั่ง กลัวเจ็บ อายแพทย์ และกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจ และรักษาหากพบว่าเป็นมะเร็ง เป็นต้น ทำให้หลายคนเข้ารับการตรวจเมื่อมีอาการ และพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้ว ซึ่งน่าเสียดายหากผู้ป่วยเข้ารับการตรวจคัดกรองหาเชื้อเอชพีวีอย่างสม่ำเสมอ ก็จะสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ได้ในที่สุด

เมื่อมีการเพิ่มทางเลือกในการตรวจให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ด้วยการเปิดโอกาสให้สามารถเลือกเก็บตัวอย่างด้วยตนเองได้ ซึ่งเป็นการตรวจหาเชื้อเอชพีวี ที่เป็นสาเหตุหลักในการทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งต่างจากการตรวจแบบ แปปสเมียร์ ที่เป็นการตรวจหาความผิดปกติของเซลล์ ซึ่งต้องรอให้เซลล์ผิดปกติไปแล้วจึงจะตรวจพบ ก็เชื่อว่าน่าจะช่วยเพิ่มความสบายใจในการเข้ารับการตรวจให้แก่ผู้ป่วยได้ และจะสามารถวางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที”

ดร.ศุลีพร แสงกระจ่าง รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่าประเทศไทยมีนโยบายและการวางแผน การให้บริการและรักษา ตลอดจนระบบสุขภาพ และการสนับสนุนการรักษาโรคมะเร็งจากรัฐบาลดีอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก 

การนำนวัตกรรมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ ถือเป็นหนึ่งใจความตั้งใจพยายามผลักดันให้ประชาชนตระหนัก และเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนเห็นความสำคัญของการเข้ารับการตรวจคัดกรอง รวมถึง สิทธิการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวของสถาบันฯ พร้อมกล่าวถึงแนวทางการวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการว่า มุ่งเน้นการตรวจ เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ ทั่วประเทศ

“สำหรับการตรวจวินิจฉัยเชื้อยังต้องดำเนินการโดยนักเทคนิคการแพทย์ตามแนวเวชปฏิบัติ ในห้องปฏิบัติการหรือห้องแล็บเท่านั้น แต่จะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในการเลือกให้แพทย์เป็นผู้เก็บตัวอย่างให้เช่นเคย หรือจะเลือกเก็บตัวอย่างเองก็ได้ ซึ่งต้องทำในสถานพยาบาลเท่านั้น 

“โดยเจ้าหน้าที่พยาบาลจะเป็นผู้แนะนำวิธีการเก็บตัวอย่างตามคู่มือการใช้งานอย่างละเอียดและถูกต้อง โดยให้ผู้ป่วยทำการสวอบตัวอย่างทางช่องคลอดด้วยไม้สวอบตามคำแนะนำในห้องน้ำ ก่อนจะนำผลที่ได้ใส่ในกล่องเก็บสิ่งส่งตรวจให้เจ้าหน้าที่ทำการวิเคราะห์ผลตรวจในห้องปฏิบัติการต่อไป อย่างไรก็ดี เมื่อทราบผลการตรวจคัดกรองฯ จากแพทย์ หากพบเชื้อเอชพีวี ผู้ป่วยสามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับแพทย์ได้แต่เนิ่นๆ ในขณะที่หากผลตรวจออกมาไม่พบเชื้อ เอชพีวี ผู้ป่วยก็สามารถวางแผนการเข้ารับการตรวจคัดกรองฯ ใหม่อีกครั้งในอีก 5 ปี ไม่ต้องจำเป็นต้องตรวจทุกปี ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งข้อดี ที่แตกต่างจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบเดิม” 

ดร.ศุลีพร กล่าวเพิ่มเติม พร้อมย้ำว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบ เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ ณ ขณะนี้ ยังไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่เป็นทางเลือกใหม่ที่มีให้บริการในโรงพยาบาลรัฐบาล และเอกชน ซึ่งผู้ป่วยสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ และเลือกดำเนินการตามความต้องการและตามสิทธิ์การรักษาพยาบาลของตนเองได้

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงเป้าหมาย นโยบาย และยุทธศาสตร์ของ สปสช. ในการกำจัดมะเร็งปากมดลูกให้หมดสิ้นในปัจจุบัน และในอนาคต รวมถึงสิทธิประโยชน์ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ความครอบคลุม และกลุ่มประชาชน ตั้งแต่การตรวจคัดกรอง ตลอดจนหากพบผู้ป่วย และมีการรักษา

“ปัจจุบัน สปสช. มีการบูรณาการโครงการรณรงค์การตรวจ คัดกรองมะเร็ง ปากมดลูกด้วยวิธี เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ ให้กับผู้หญิงไทยอายุ 30-60 ปี ครอบคลุมทุกสิทธิ์ทั่วประเทศฟรี ซึ่งจัดโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและเครือข่ายหน่วยบริการในพื้นที่ จากที่เคยใช้การตรวจด้วยเทคนิคแปปสเมียร์ (Pap smear) แต่ในปีนี้ก็ได้มีการปรับวิธีการตรวจใหม่โดยใช้เทคนิค เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ หรือการตรวจด้วยวิธีเจาะลึกระดับดีเอ็นเอเพื่อตรวจหาเชื้อเอชพีวี เป็นการตรวจรหัสพันธุกรรมที่มีความแม่นยำและมีความไวที่สูงกว่า รวมทั้งทางเลือกใหม่ล่าสุดคือการตรวจแบบ เอชพีวี ดีเอ็นเอ แบบเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง จะสามารถทราบผลได้ภายใน 1 เดือน 

ในปีที่ผ่านมาได้มีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มสตรีอายุ 30-60 ปีทั้งสิ้นกว่า 822,301 ราย โดยมะเร็งปากมดลูกมีโอกาสรักษาได้หากรับการดูแลในระยะเริ่มต้น ดังนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิผลการตรวจคัดกรองและเป็นไปตามแนวทาง (Guideline) ฉบับปรับปรุงเดือนกันยายน 2561 ของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย บอร์ด สปสช. จึงมีมติให้เพิ่ม “สิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์” เพื่อทดแทนวิธีแปป สเมียร์ (Pap smear) ทุก 5 ปี โดย สปสช. สนับสนุนงบประมาณรูปแบบจ่ายตามรายการบริการ (Fee schedule)

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเทคนิคเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ นั้นใช้งบประมาณเทียบเท่ากับการตรวจด้วยเทคนิคเดิม แต่ความยาก คือ จะทำอย่างไรให้กลุ่มเป้าหมายมาตรวจกันมากๆ ฉะนั้น ทางเลือกในการตรวจคัดกรองแบบเก็บตัวอย่างด้วยตัวเองที่เพิ่มเข้ามานี้ รวมทั้ง การจัดให้มีหน่วยออกตรวจประชาชนในพื้นที่ และสิทธิ์หลักประกันสุขภาพ จึงเป็นอีกหนึ่งกลไกในการเพิ่มการเข้ารับการตรวจคัดกรองฯ ของประชาชน 

ทั้งนี้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมการใช้สิทธิบัตรทอง ได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ ทั้งไลน์ สปสช. (ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand) และบริการกระเป๋าสุขภาพผ่านทางแอปพลิเคชั่น เป๋าตังค์ หรือเว็บไซต์

อัพเดทล่าสุด