ชายแดนใต้ : คนรุ่นใหม่สามจังหวัดฯ ในวงการไอทีที่มาเลเซีย


702 ผู้ชม

บีบีซี ไทย จะชวนไปทำความรู้จัก กลุ่มคนรุ่นใหม่ จากจังหวัดชายแดนใต้ ที่อยู่ในแวดวงอาชีพของบริษัทด้านไอทีในประเทศมาเลเซีย ...


ชายแดนใต้ : คนรุ่นใหม่สามจังหวัดฯ ในวงการไอทีที่มาเลเซีย

หลายคนอาจจะเข้าใจว่า คนไทยที่ไปทำงานในมาเลเซีย มีแต่แรงงานในร้านต้มยำกุ้ง แต่เรื่องราวต่อไปนี้ บีบีซีไทยจะชวนไปทำความรู้จักกลุ่มคนรุ่นใหม่จากจังหวัดชายแดนใต้ที่อยู่ในแวดวงอาชีพของบริษัทด้านไอทีในประเทศมาเลเซีย

จากสามจังหวัดชายแดนใต้ พื้นที่ที่ได้ชื่อว่ารายได้ต่อหัวประชากรน้อยที่สุดในประเทศไทย พวกเขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในรุ่น “ทศวรรษที่สูญหาย” จากความไม่สงบในชายแดนใต้ที่ดำเนินมา 19 ปี เด็กสามจังหวัดฯ จำนวนไม่น้อยที่พัฒนาศักยภาพของตัวเองผ่านระบบการศึกษา ความสามารถทางภาษา จนสามารถเข้าทำงานในองค์กรชั้นนำในมาเลเซียได้

ด้วยภาษา วัฒนธรรม วิถีศาสนาที่ใกล้เคียงกัน นี่จึงเป็นพื้นที่ที่คล้ายบ้านสำหรับพวกเขา แต่โอกาสในชีวิตกลับแตกต่าง เพียงแค่ข้ามเขตแดนมายังฝั่งไทย

สำหรับคนอายุวัยกลาง 30 ปี ซึ่งอาจจะนิยามตัวเองว่าเป็นชนชั้นกลาง ในจังหวัดอื่นของประเทศไทยเช่นผู้เขียน ที่เติบโตมากับการเรียนในโรงเรียนมัธยมสามัญ ก่อนแสวงหาเส้นทางเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ผู้เขียนเคยมีคำถามสงสัยว่า แล้วเส้นทางชีวิตของคนรุ่นราวคราวเดียวกันในพื้นที่ความไม่สงบอย่างชายแดนใต้ เป็นแบบไหน

การสนทนากับ นัสมี สาและ คนหนุ่มจาก จ.ยะลา เจ้าหน้าที่วิทยาการคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ซึ่งเคยทำงานในบริษัทไอบีเอ็มในไซเบอร์จายา เมืองศูนย์กลางทางด้านไอทีของมาเลเซีย ทำให้รู้ว่าคนจากจังหวัดชายแดนใต้ที่ไปทำงานในมาเลย์ ไม่ได้มีเพียงแต่แรงงานในร้าน “ต้มยำกุ้ง” ธุรกิจร้านอาหารไทยฮาลาลที่เฟื่องฟูในประเทศเพื่อนบ้าน

แต่คนไทยจากชายแดนใต้อีกกลุ่ม คือ หนุ่มสาวที่ทำงานในออฟฟิศ และส่วนใหญ่เป็นทรัพยากรมนุษย์ในแวดวงบริษัทด้านไอที แม้จะไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่ประเมินว่าราว 80% ของแรงงานกลุ่มทำงานสำนักงานนั้นเป็น คนรุ่นใหม่จากปัตตานี ยะลา นราธิวาส

จากการพูดคุยที่ยะลา บีบีซีไทย มีโอกาสได้ทำความรู้จักคนรุ่นใหม่จากสามจังหวัดชายแดนใต้อีก 2 คน ที่คุยกับเราจากกรุงกัวลาลัมเปอร์

ซอฟรอน และ สลาม

ย้อนไปช่วงเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่คณะเทคนิคการแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นี่เป็นครั้งแรก ๆ ที่ซอฟรอน เจ๊ะเลาะ หรือปอน นักเรียนมัธยมปลายจาก จ. ยะลา ได้เห็นกล้องจุลทรรศน์ของจริง หลังจากต้องเรียนผ่านวิดีโอที่ครูนำมาใช้สอนหลายปี

การออกมาสู่โลกมหาวิทยาลัยและได้เจอเพื่อนจากจังหวัดอื่น ทำให้ซอฟรอน เห็นถึงความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำของการศึกษาที่เด็กจากสามจังหวัดชายแดนใต้ ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน แม้จะเรียนในโรงเรียนรัฐบาลประจำจังหวัด

"พอเราเข้าไปมหาลัยในตอนนั้น หลาย ๆ วิชาที่เพื่อนที่อยู่ในกรุงเทพฯ มีเครื่องมือ ได้ทำการทดลอง ได้เรียนมาแล้ว แต่เรานี่ไม่รู้เรื่องเลย ต่างกันเยอะมาก ผมถามว่า เรียนมาแล้วเหรอ เราไม่รู้มาก่อนเลย... ส่วนคอมพิวเตอร์ มี แต่ว่าเป็นคอมพิวเตอร์ค่อนข้างเก่าที่บริจาคมา และก็ช้ามาก ทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากพิมพ์ดีดอย่างเดียวช่วงนั้น"

ดูเหมือนว่าโอกาสในการเรียนที่เขาเติบโตมา ช่างแตกต่างจากการงานในวัย 33 ปี วันนี้ ซอฟรอน เป็นทรัพยากรมนุษย์คนสำคัญในบริษัทด้านไอทีในประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซีย หลังเบนเข็มไปเรียนปริญญาตรีที่อินเดีย ก่อนเรียนจบปริญญาโทด้านสื่อสารมวลชน ที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งมาเลเซีย (USM) เมืองปีนัง

หลังเรียนจบ ซอฟรอน ทำงานในมาเลเซียมาได้กว่า 5 ปีแล้ว ในสายงานด้านการขายหรือเซลล์ในบริษัทไอทีในกัวลาลัมเปอร์ เขารับผิดชอบตลาดในภูมิภาคเอเชียหลายประเทศ ตำแหน่งงานล่าสุด คือ ตำแหน่ง Inside sales support ประจำภาคพื้น เอเชียแปซิฟิค (CAP) ของบริษัทเลโนโว มาเลเซีย

"หลังจากทำงานที่เคแอล (กัวลาลัมเปอร์) ค่อนข้างที่จะติดใจเลยอยู่ยาวถึงตอนนี้ ด้วยความที่ว่าเรามีวัฒนธรรมที่คล้าย ๆ กัน เรื่องศาสนา วัฒนธรรม ภาษา ที่คล้ายกับพื้นที่ที่บ้านผมอยู่ มันทำให้ไม่รู้สึก isolate (โดดเดี่ยว) มาก เหมือนพื้นที่อย่างกรุงเทพฯ หรือที่อื่น" ซอฟรอน กล่าว

ส่วนเส้นทางของ อับดุลสลาม สาเมาะ หรือ สลาม คนรุ่นใหม่จาก จ.ปัตตานี ที่ทำงานในมาเลย์ แตกต่างจากซอฟรอนเล็กน้อย เขาเรียนมัธยมมาในโรงเรียนสอนศาสนาภาคเอกชน ก่อนได้ทุนการศึกษาจากโครงการชนบทของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เรียนต่อคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี

ในช่วงที่ใกล้จบจากรั้วธรรมศาสตร์ เขาได้งานในมาเลเซียในสายงานด้านการสนับสนุน (Technical support) ในบริษัทเอาท์ซอร์สด้านไอที (BPO) แห่งหนึ่งในกัวลาลัมเปอร์

“ตอนเข้ามาตั้งแต่แรก บริษัทมีการเทรนนิ่งให้ และเนื่องจากเป็นบริษัทอินเตอร์ มีการจัดตารางเวลา โครงสร้างเงินเดือน โครงสร้างการทำงานที่ชัดเจน เราเลยรู้สึกค่อนข้างสบายใจ เลยติดใจการทำงานที่นี่ตั้งแต่ตอนนั้นมาถึงตอนนี้” สลาม กล่าว

นอกจากนี้ เหตุผลของสลามยังคล้าย ๆ กับซอฟรอนตรงที่ว่า ภาษา วัฒนธรรมความเป็นมุสลิมในมาเลเซีย ค่อนข้างจะคล้ายคลึงกับในจังหวัดชายแดนใต้ ทำให้เป็นวิถีชีวิตที่เขาไม่ได้รู้สึกแตกต่างหรือแปลกแยกกับการใช้ชีวิตในมาเลเซีย

รู้จักวงการ ไอที ในมาเลเซีย ที่คนไทยทำงาน

ซอฟรอน เล่าว่า อุตสาหกรรมไอทีในมาเลเซีย มีหลายเซกเตอร์ หลัก ๆ ที่คนไทยมาทำงานเป็น เซกเตอร์งานด้านบริการลูกค้า (Customer service) เป็นงานด้านการสนับสนุนการแก้ปัญหาให้ลูกค้าทั้งการช่วยเหลือด้านเทคนิคทางโทรศัพท์ หรือการบริการในสถานที่ (On site service) งานด้านการขาย และงานบัญชีที่ต้องใช้ภาษาไทย ตลอดจนบริษัทเอาท์ซอร์สด้านไอที หรือ BPO (Business Process Outsourcing)

"ไม่ได้มีแค่ไทย มีทั้ง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บางส่วนของประเทศอาหรับก็มาที่นี่เช่นกัน เพื่อดำเนินธุรกิจในจุดเดียวกัน จะเป็นการลดต้นทุนในการบริหาร การจัดการทำได้ง่าย และอีกอย่างทางมาเลเซีย ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารที่กว้าง ทำให้ลูกค้า เจ้าของคนต่างชาติ สะดวกในการดำเนินกิจการที่นี่" ซอฟรอน กล่าว

เหตุที่เป็นเช่นนี้ เป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลมาเลเซียที่ต้องการปั้นให้ประเทศเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี นอกจากการกระจายความเจริญไปยังเมืองต่าง ๆ มาเลเซียยังสร้างเมืองศูนย์กลางทางไอที ได้แก่ ไซเบอร์จายา เพื่อเป็นที่ตั้งของบริษัทไอทีชั้นนำหลายแห่ง

นอกจากภาคเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นเซกเตอร์เศรษฐกิจที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในมาเลเซีย ในไตรมาสที่สามของปี 2565 เศรษฐกิจดิจิทัลเพียงส่วนเดียว สามารถทำเงินให้มาเลเซียได้มากถึง 15.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สลาม เสริมว่า ที่มาเลเซียเป็นฐานที่ใหญ่กว่าประเทศไทย เพราะหลาย ๆ บริษัทที่เข้ามาตั้งจะมีลักษณะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ดูแลลูกค้าหลายชาติ ทั้งไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

“เขาต้องการคนไทย เพราะลูกค้าเป็นคนไทย ต้องคุย ต้องอ่านเนื้อหา ส่วนใหญ่อยู่ใน บริษัท BPO (บริษัทเอาท์ซอร์ส)”

สำหรับช่วงเงินเดือน ในระดับตั้งแต่นักศึกษาจบใหม่ไปจนถึงระดับที่สูงขึ้นในแวดวงนี้อยู่ที่ตั้งแต่ 4000-11,000 ริงกิตมาเลเซีย หรือ 30,000 – 83,000 บาท

เด็กสามจังหวัดฯ = เด็กนานาชาติ 3 ภาษา

ด้วยวัฒนธรรมและภาษาที่คนไทยจากชายแดนใต้มีความใกล้เคียงกับมาเลเซีย ส่วนหนึ่งคือ เรื่องของการใช้ภาษาอังกฤษและภาษามลายู ซอฟรอน บอกกับเราว่า จากการอยู่มาเลเซียมาเกือบ 6 ปี ประเมินว่ามีคนรุ่นใหม่จากชายแดนใต้มาเป็นพนักงานในออฟฟิศที่มาเลเซียราว 80% ที่เหลือมาจากกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเยาวชนจากชายแดนใต้เข้ามาเรียนต่อในมาเลเซียจำนวนมาก และส่วนหนึ่งกลายเป็นคอนเนกชันที่ต่อยอดไปสู่การทำงาน

"คนสามจังหวัด ที่มาเรียนมหาวิทยาลัยที่นี่ มีความได้เปรียบคือได้ภาษาอังกฤษ และภาษามลายู เป็นภาษามลายูกลาง เพราะฉะนั้น เวลาสัมภาษณ์งาน มีการแข่งขัน ค่อนข้างจะได้เปรียบกว่าคนอื่น" ซอฟรอน กล่าว

เรื่องของภาษา น่าจะเป็นศักยภาพที่สำคัญในการทำงานของโลกสมัยใหม่ จุดนี้ อับดุลสลาม แสดงความเห็นกับบีบีซีไทยว่า นี่เป็นโอกาสสำหรับเยาวชนจากชายแดนใต้ ที่ไม่ควรจะทิ้งภาษาที่เป็นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นภาษามลายู ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ

"บางครั้งที่เรามาทำงานในมาเลเซีย เราอาจจะต้องใช้สามภาษาเลย ซึ่งเรามีทุนเดิมอยู่แล้ว แค่อาจจะต้องขัดเกลานิดหนึ่ง ถ้าเกิดเราได้ตรงนี้ ชีวิตคุณอาจจะเปลี่ยนได้เยอะ จุดเริ่มต้นคือเรื่องของการศึกษา ถ้าเน้นตรงนี้หนัก ๆ ชีวิตเราจะไปได้ค่อนข้างเยอะเลย" อดีตบัณฑิตธรรมศาสตร์จากชายแดนใต้ กล่าว

"มองโลกให้กว้างกว่าที่ที่เราอยู่"

การได้ออกสู่โลกภายนอกประเทศไทย เป็นโอกาสให้ ซอฟรอน ได้ทำงานในที่ที่มีผู้คนหลายเชื้อชาติ ศาสนา ทำให้เขาตระหนักว่า เขาเป็นเพียงประชากรโลกคนหนึ่งที่ "ตัวเล็กนิดเดียว"

ความเป็นประชากรโลกที่ ซอฟรอน กล่าวมานี้ ทำให้เขาเข้าใจว่าการอยู่ร่วมของผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมนั้นเป็นอย่างไร และสิ่งสำคัญของการได้ทำงานในองค์กรที่มีทีมงานจากหลายชาติ ทำให้อยากพัฒนาตนเองมากขึ้น เพราะผู้คนที่รายล้อมล้วนเป็นผู้มีศักยภาพ

"เราไม่ได้เป็นศูนย์กลางของหลาย ๆ คน พอเรามาที่นี่ เราก็จะเจอคนจากที่นี่ เขาเก่งเรื่องนี้ เก่งเรื่องนั้น บุคลิกภาพของคนแต่ละประเทศ มันก็จะต่างกัน เมื่อเราอยู่ร่วมกัน ทำให้เรามี cultural awareness เข้าใจในสิ่งที่เขาเป็นอยู่ เขาก็เข้าใจในสิ่งที่เราเป็นอยู่" ซอฟรอน กล่าว และบอกว่า

"พอมาเจอคนที่หลากหลายทำให้เราอยากจะยกระดับตัวเอง และอยากจะแข่งขันเพิ่มขึ้น เพื่อจะเป็นประชากรโลกมากขึ้น"

"เราจะต้องมองโลกให้มันกว้างกว่าที่ที่เราอยู่... ตอนอยู่ที่ยะลา ผมก็มองโลกระดับหนึ่ง พออยู่กรุงเทพฯ มันก็ขยายเพิ่มขึ้นมานิดหนึ่ง พอมาอยู่ต่างประเทศ มันก็ขยายขนาดโลกของตัวเองขึ้นมามองโลก มองกว้างขึ้น มันค่อนข้างเป็นกำไรกับชีวิต เวลาเราเห็นอะไรที่มันกว้างขึ้น"

ในเรื่องวัฒนธรรม อับดุลสลาม แชร์ประสบการณ์ว่า เขาเรียนมาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในชายแดนใต้ ซึ่งค่อนข้างเคร่งครัดเรื่องกฎระเบียบระดับหนึ่ง แต่เมื่อเข้าสู่สังคมมหาวิทยาลัย ก็ต้องเรียนรู้ในการปรับตัวกับสังคมที่กว้างขึ้น ซึ่งก็ใช้ได้กับการเข้าสู่ระบบการทำงานในองค์กรระดับนานาชาติที่ต้องทำงานร่วมกับผู้คนจากหลาย ๆ วัฒนธรรมด้วย

และในทางกลับกัน การได้พาตัวเองไปอยู่ในองค์กรที่มีหลายเชื้อชาติ อับดุลสลาม บอกด้วยว่า จริง ๆ แล้วในบางเรื่อง ความสามารถของคนไทยไม่ได้ด้อยกว่าคนชาติอื่น

"ในบางเรื่อง บางหัวข้อ เราก็ทำได้ดีกว่านะ ถ้าเรารู้สึกว่า เราไม่ได้ด้อยกว่าคนอื่น มันก็จะเกิดเป็นกำลังใจในการพัฒนาตัวเอง เราก็ไปต่อได้ ก็เหมือนทำให้เราเติบโตได้เรื่อย ๆ" สลาม กล่าว

องค์กรที่โอบรับความหลากหลาย

ประสบการณ์ในการทำงานบริษัทมาเลเซีย ทั้งซอฟรอน และอับดุลสลาม บอกว่า ที่นี่เคารพผู้คนทุกศาสนาและเชื้อชาติ ให้ความสำคัญในวิถีชีวิต อย่างเช่น การยืดหยุ่นสำหรับการทำกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรม ให้กับทั้งคนมุสลิม คนจีน และอินเดีย อย่างเท่าเทียมกัน

ในช่วงเดือนรอมฎอนถือศีลอด สำนักงานในมาเลเซียจะเอื้อให้พนักงานมุสลิมได้เลิกงานเร็วขึ้น 1 ชั่วโมง เพื่อเตรียมตัวละศีลอด และมีเวลาให้ผู้ชายมุสลิมมีเวลาละหมาดในทุกวันศุกร์ อย่างที่ทำงานของ อับดุลสลาม ได้ปรับเวลาให้เข้างานเร็วขึ้น เพื่อให้ไปละหมาด 2 ชั่วโมง และวันอีฎิ้ลฟิตริ (วันออกบวชเพื่อเฉลิมฉลองหลังจากการถือศีลอดมาตลอดทั้งเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม) ทางบริษัทก็จัดให้มีวันหยุดแก่พนักงาน

"เขาไม่ได้ฟิตอินเฉพาะของคนอิสลามนะครับ อย่างคนจีนที่นี่ ช่วงปีใหม่จีน เค้าก็หยุดให้กับคนจีนที่ทำงานที่นี่ หยุดยาวเลย คนอินเดีย งานดีปาวลี เขาก็หยุดให้ทุกอย่าง หรือเทศกาลคริสต์มาส คือค่อนข้างฟิตอินกับทุกศาสนา ไม่ใช่แค่อิสลาม" ซอฟรอน กล่าว

"มันเป็นอะไรที่ดูเหมือนเล็กน้อย แต่สำหรับมุสลิมเองแล้ว รู้สึกว่าเขาใส่ใจกับเราว่าโอเค... และที่นี่เวลาเขาปฏิบัติ เขาปฏิบัติเหมือนกันหมด มันเลยอยู่ร่วมกันได้ ไม่ได้เลือกเฉพาะศาสนาใดศาสนาหนึ่ง"

ความฝันต่อบ้านเกิด

อับดุลสลาม บอกว่า คนชายแดนใต้มี "แต้มต่อ" ทางภาษา ที่ใช้ติดต่อสื่อสารได้ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย นี่เป็นโอกาสในการติดต่อค้าขายและต่อยอดเรื่องเศรษฐกิจ

"มันยังมีโอกาสอีกเยอะ แต่ไม่รู้ว่าติดตรงไหน" เขากล่าว และบอกว่าทรัพยากรด้านอื่น อย่างเรื่องธรรมชาติอาจจะดึงดูดการท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ได้

"ถ้าอยากจะให้ชายแดนใต้เป็นฮับของไอที ก็คิดฝันไว้อยู่ แต่อาจจะค่อนข้างไกลเกินไป เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง แต่เราควรใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ ดึงคนเข้ามาท่องเที่ยวเพื่อก่อให้เกิดรายได้"

ตรงหน้าคือการงานที่หล่อเลี้ยงชีวิต เชื่อว่าหลายคนถ้าที่บ้านเกิดไม่ว่าที่ไหน มีโอกาสสำหรับชีวิตที่ดีก็คงอยากกลับไปอยู่บ้าน ถามว่าอยากกลับบ้านไหม คำตอบจากซอฟรอนและอับดุลสลามเดาได้ไม่ยาก แต่ตอนนี้ ที่ชายแดนใต้บ้านของพวกเขา ไม่ได้มีโอกาสเช่นนั้น

"เราไม่มีชอยส์ (ทางเลือก) เราอยู่สามจังหวัดฯ เรามีตัวเลือกน้อยมาก แทบจะไม่มีเลย ขยับขึ้นไป หาดใหญ่ สงขลา ก็ยังไม่มี ทุกอย่างไปกระจุกอยู่กรุงเทพฯ หมด" ซอฟรอน กล่าว ซึ่งไม่ต่างจาก อับดุลสลาม ที่บอกว่า "ถ้ากลับไปก็จะต้องทำงานไม่ข้าราชการ ก็ต้องเปิดธุรกิจส่วนตัวของตัวเอง"

เมื่อถามว่าคิดฝันถึงบ้านเกิดที่อยู่ข้างหลังอย่างไร คำตอบของพวกเขา ไม่มีอะไรมากกว่าการทำให้พื้นที่พัฒนามากขึ้นพร้อมกับสันติภาพ ที่เป็นเรื่องจำต้องทำไปพร้อมกัน

"อยากให้มีงานที่รองรับกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่หลากหลายมากขึ้น และการจ่ายเงินเดือนสอดคล้องกับค่าครองชีพ ถ้าทุกอย่างมันครอบคลุมหมด ผมมองว่า ปัญหาเรื่องสามจังหวัดฯ ตรงนี้น่าจะน้อยลง ถ้าเกิดว่าทุกคนมีอาชีพ มีงาน มีการพัฒนา ตรงนี้มันจะถูกเฟดออกไปเลย ถ้าทุกคนพึ่งตัวเองได้"

ที่มา : BBC News

อัพเดทล่าสุด