ธาตุแกลเลียม-เจอร์เมเนียม สำคัญอย่างไร ทำไมจีนสั่งควบคุมการส่งออก


11,278 ผู้ชม

ธาตุแกลเลียม-เจอร์เมเนียม สำคัญอย่างไร ทำไมจีนสั่งควบคุมการส่งออก


ธาตุแกลเลียม-เจอร์เมเนียม สำคัญอย่างไร ทำไมจีนสั่งควบคุมส่งออก

ส่องความสำคัญของ แกลเลียม-เจอร์เมเนียม หลังจีนตอบโต้มาตรการกีดกันทางการค้า สั่งควบคุมการส่งออกแร่แกลเลียม-เจอร์เมเนียม ชี้เป็นวัตถุดิบสำคัญ เป็นความมั่นคงของชาติ หวั่นกระทบอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โทรคมนาคม และอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 กระทรวงพาณิชย์จีนเปิดเผยว่า แร่แกลเลียมและเจอร์เมเนียม รวมถึงสารประกอบทางเคมีที่เกี่ยวข้องจะถูกควบคุมการส่งออก เพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติจีน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้ ผู้ส่งออกโลหะทั้งสองจะต้องยื่นขอใบอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ หากต้องการเริ่มต้นหรือดำเนินการจัดส่งโลหะดังกล่าวออกนอกประเทศต่อไป และจะต้องรายงานรายละเอียดของผู้ซื้อในต่างประเทศและคำขอของพวกเขาด้วย

การกำหนดข้อจำกัดในการส่งออกโลหะสองชนิดที่ถือว่ามีความสำคัญต่อชิ้นส่วนของเซมิคอนดักเตอร์ โทรคมนาคม และอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามการค้าด้านเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐและยุโรป

จากข้อมูลของ UK Critical Minerals Intelligence Centre จีนมีสัดส่วนการผลิตแกลเลียมประมาณ 94% ของโลก ขณะที่เจอร์เมเนียม จีนผลิตได้ 83% ของโลก

แกลเลียม-เจอร์เมเนียม คืออะไร

ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ Nectec ระบุว่า แกลเลียม (Ga) ค้นพบในปี ค.ศ. 1875 โดย Lecoq de Boisbaudran นักเคมีชาวฝรั่งเศส และธาตุ Ga มีประโยชน์ไม่มากนักในเชิงพาณิชย์ แต่สารประกอบของ Ga เช่น

ธาตุแกลเลียม-เจอร์เมเนียม สำคัญอย่างไร ทำไมจีนสั่งควบคุมการส่งออก

แกลเลียมแอนติโมไนด์ แกลเลียมอาร์เซไนด์ โลหะแกลเลียม แกลเลียมไนไตรด์ แกลเลียมออกไซด์ แกลเลียมฟอสไฟด์ แกลเลียมเซเลไนด์ และอินเดียมแกลเลียมอาร์เซไนด์ ใช้ประโยชน์เป็นกึ่งตัวนำ (semiconductor) และการใช้งานเฉพาะบางอย่างเท่านั้น

ส่วน เจอร์เมเนียม (Germanium-Ge) ปรากฏในปี ค.ศ. 1869 ได้คาดการณ์ถึงธาตุและสมบัติของธาตุที่ยังไม่ได้ค้นพบในสมัยนั้น ต่อมามีการค้นพบจริงในปี ค.ศ. 1886 โดย Clemens Winkler ได้ค้นพบธาตุนี้จากแร่ Argyrodite และตั้งชื่อธาตุนี้ว่าเจอร์เมเนียม (Ge)

โดยการใช้ประโยชน์มากที่สุดใน solid state electronics โดยอาศัยสมบัติการเป็นกึ่งตัวนำของโลหะนี้ (semiconductor) ใช้ผสมกับโลหะอื่นผลิตโลหะเจือ เช่น Be-Ge, Ge-Cu และสุดท้าย Ge ในรูป GeO2 เป็นองค์ประกอบสำคัญของแก้วอุตสาหกรรม (industrial glass)

ธาตุทั้งสองมีลักษณะเป็นสีเงินขาว และโดยทั่วไปจัดว่าเป็น “โลหะรอง” โลหะชนิดนี้มักไม่พบในธรรมชาติ แต่จะผลิตในความเข้มข้นเล็กน้อย เป็นผลพลอยได้จากโรงถลุงแร่ที่สกัดวัตถุดิบหลักอื่น ๆ อย่างการสกัดสังกะสี หรือจากกระบวนการแปรรูปถ่านหินและบอกไซต์สำหรับผลิตอะลูมิเนียม

ดังนั้น โลหะเหล่านี้ก็ไม่ใช่โลหะหายาก แต่อาจมีต้นทุนค่อนข้างสูงในการสกัดและนำไปใช้ประโยชน์เมื่อมีการจำกัดการใช้

ความสำคัญของ แกลเลียม-เจอร์เมเนียม

ธาตุทั้งสองชนิดนิยมนำไปใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ และจอแสดงผล แกลเลียมและเจอร์เมเนียมมีบทบาทในการผลิตสารกึ่งตัวนำแบบผสมจำนวนมาก ซึ่งรวมองค์ประกอบหลายอย่างเข้าด้วยกัน เพื่อปรับปรุงความเร็วและประสิทธิภาพการส่งข้อมูล

บลูมเบิร์ก รายงานว่า ตลาดของโลหะธาตุทั้งสองนี้มีขนาดเล็กมาก เมื่อเทียบกับสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ทองแดง หรือ น้ำมัน การนำเข้าโลหะแกลเลียมและแกลเลียมอาร์เซไนด์เวเฟอร์ของสหรัฐในปี 2565 มีมูลค่าเพียง 225 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่การใช้ในอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ หมายความว่า แม้จะมีมูลค่าต่ำแต่ก็ยังคงส่งผลกระทบในวงกว้าง

โดยเฉพาะด้านในการผลิตชิป อุปกรณ์สื่อสาร และการป้องกันประเทศ แกลเลียมใช้ในสารกึ่งตัวนำแบบผสม ซึ่งรวมองค์ประกอบหลายอย่าง เพื่อปรับปรุงความเร็วและประสิทธิภาพการส่งสัญญาณในหน้าจอทีวีและโทรศัพท์มือถือ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ และเรดาร์

ส่วนการใช้งานของเจอร์เมเนียม ครอบคลุมกรผลิตอุปกรณ์การสื่อสารด้วยสายไฟเบอร์ออปติก แว่นตาสำหรับมองกลางคืน และการสำรวจอวกาศ ที่ดาวเทียมส่วนใหญ่จะต้องใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ที่ใช้เจอร์เมเนียมเป็นส่วนประกอบ

อุตสาหกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นการผลิตเชิงยุทธ์ศาสตร์ และเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการส่งสัญญาณเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ

จีน ควบคุมการส่งออก ส่งผลกับราคาอย่างไร

ดังที่กล่าวข้างต้นว่า จีนครอบครองตลาดแกลเลียม 94% และเจอร์มีเนียมอีก 83% นักวิเคราะห์หลายแห่งได้ประเมินว่าจะทำให้ราคาของโลหะนี้ดีดตัวขึ้นมาในช่วงสั้น ๆ แต่จากนั้นจะเกิดการผลิตในแหล่งใหม่ ๆ ทั่วโลก

นายคริสโตเฟอร์ เอคเคิลสโตน ผู้อำนวยการ Hallgarten & Co ธนาคารเพื่อการลงทุนกล่าวกับบลูมเบิร์กว่า เมื่อมีการควบคุมสินค้าและขึ้นราคาจากจีน ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการสกัดโลหะเหล่านี้ในฝั่งตะวันตก ในช่วงเวลาสั้น ๆ มันจะส่งผลกับราคา แต่หลังจากนั้นการครอบงำตลาดแร่ทั้งสองของจีนก็จะหายไป เหตุการณ์เดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนในแร่อื่น ๆ เช่น พลวง ทังสเตน และธาตุหายาก

ทั้งนี้ โลหะดังกล่าวไม่ใช่โลหะที่หายาก แต่ค่าใช้จ่ายในการแปรรูปอาจสูง เนื่องจากจีนได้ส่งออกโลหะเหล่านี้ในราคาถูกมาเป็นเวลานาน จึงมีแหล่งผลิตและโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมสกัดโลหะนี้ไม่กี่แห่งในโลก ขณะที่จีนสามารถเพิ่มการผลิตได้อีก

แต่หากการควบคุมการส่งออกของจีนส่งผลให้ราคาพุ่งสูงขึ้น การผลิตจากซัพพลายเออร์รายอื่นจะเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ตามรายงานของ CRU Group ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข่าวกรองอุตสาหกรรมโลหะระบุว่า ประเทศอื่น ๆ ที่ผลิตแกลเลียมได้ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย และยูเครน เจอร์เมเนียมยังผลิตในแคนาดา เบลเยียม สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย

การผลิตนอกประเทศจีน

บลูมเบิร์กรายงานว่า ประเทศอื่น ๆ ที่มีกำลังการผลิตแกลเลียม ได้แก่ รัสเซีย และยูเครน ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการสกัดอลูมินา ขณะที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นได้แกลเลียมจากการผลิตสังกะสี

ในอเมริกาเหนือ เจอร์เมเนียมได้จากกระบวนการผลิตสังกะสี ตะกั่ว และโลหะอื่น ๆ ที่โรงถลุง Trail ของ Teck Resources Ltd. ในบริติชโคลัมเบีย และยังมีโรงผลิตของ 5N Plus Inc. และ Indium Corporation ในสหรัฐอเมริกา

ในยุโรป Umicore SA ของเบลเยียมเป็นผู้ผลิตโลหะทั้งสองชนิด และโครงการเปิดเหมืองใหม่บางโครงการพบความเข้มข้นของโลหะสูงขึ้น และอาจเป็นโอกาสในการผลิต แกลเลียม-เจอร์เมเนียมเพิ่มเติม หากอุปทานขาดแคลน เช่น โครงการเหมืองสังกะสี Kipushi ที่คาดว่าจะเริ่มขุดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในปี 2567

ควบคุมโลหะสำคัญเป็นสงครามเทคโนโลยี จีน-โลกตะวันตก

ความเคลื่อนไหวของจีนกรณีนี้มีขึ้นหลังจากสหรัฐและพันธมิตรเริ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงต่อต้านรัฐบาลจีนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา จากความพยายามอย่างต่อเนื่องของสหรัฐที่จะหยุดยั้งพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งสหรัฐเรียกร้องให้พันธมิตรจำกัดและควบคุมซัพพลายเชนที่จะส่งให้บริษัทจีน ซึ่งเกิดขึ้นเป็นวงกว้างและทำให้ภาคการผลิตทั่วโลกต้องมองหาแหล่งวัตถุดิบในท้องถิ่น

บลูมเบิร์กระบุว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐกำลังวางแผนที่จะปิดกั้นการขายชิปบางตัวที่ใช้ในการดำเนินโครงการเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนสั่งแบนผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตชิปของสหรัฐ Micron Technology Inc. จากภาคส่วนที่สำคัญบางส่วน หลังจากระบุว่าพบความเสี่ยงที่เป็นภัยต่อความมั่นคงทางไซเบอร์

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยังประกาศมาตรการไม่ให้บริษัท ASML Holding NV ขายเครื่องยิงชิปให้กับบริษัทจีน ซึ่ง ASML เป็นบริษัทแห่งเดียวในโลกที่มีเครื่องจักรที่จำเป็นสำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัยที่สุด

ที่มา : https://www.prachachat.net/

อัพเดทล่าสุด