สุภาษิตพระร่วง วรรณคดีสำคัญในสมัยสุโขทัย


1,575 ผู้ชม

สุภาษิตพระร่วง ถือเป็นหนึ่งในวรรณคดีสำคัญในสมัยสุโขทัย สันนิษฐานว่า อาจแต่งขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือหลังสมัยสุโขทัยก็เป็นได้


สุภาษิตพระร่วง ถือเป็นหนึ่งในวรรณคดีสำคัญในสมัยสุโขทัย สันนิษฐานว่า อาจแต่งขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือหลังสมัยสุโขทัยก็เป็นได้ และในปัจจุบันอาจมีการดัดแปลงหรือแต่งเติมจนคลาดเคลื่อนจากของเดิมไปบ้าง

๑. ผู้แต่ง

ยังไม่มีข้อสรุปแน่นอนว่า สุภาษิตพระร่วงแต่งในสมัยใด แต่จากการศึกษาของ
ผู้รู้ทางวรรณคดี เชื่อกันว่าเป็นผลงานที่แต่งขึ้นในสมัยสุโขทัย แต่มีการแต่งเพิ่มเติมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงปรากฏว่ามีภาษาใหม่ๆ เข้าไปปะปนอยู่ด้วย ท่านผู้รู้ต่างๆ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ พระวรเวทย์พิสิฐ
พระสารสาส์นพลขันธ์ และนายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ท่านเหล่านี้เชื่อว่าแต่งในสมัยสุโขทัย โดยอาจแต่งในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท

๒. ลักษณะการแต่ง

สุภาษิตพระร่วงเป็นวรรณคดีเล่มแรกที่แต่งเป็นคำประพันธ์ประเภทร่ายโบราณ แจบแบบร่ายสุภาพ นั่นคือจบด้วยโคลงสองสุภาพ และมีโคลงกระทู้ลงท้ายตอนจบอีก ๑ บท บางท่านเรียกว่า ร่ายลิลิต เพราะมีร่ายแล้วมีโคลงตอนจบ ๑ บท เป็นภาษิตไทยแท้ ใช้ถ้อยคำอย่างพื้นๆ ยังไม่มีภาษิตต่างประเทศเข้ามาปะปน แสดงว่าเป็นภาษิตไทยเก่าแก่ที่ติดปากคนไทยสืบมา

๓. จุดประสงค์ในการแต่ง

เพื่อสั่งสอนประชาชน และเพื่อสร้างวัฒนธรรมและอุดมการณ์ของคนไทย

๔. เนื้อเรื่อง

เริ่มต้นกล่าวถึงพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัยทรงมุ่งประโยชน์ในกาลภายหน้า จึงได้ทรงบัญญัติสุภาษิตไว้สอนประชาชน โดยมีสาระคำสอนที่กว้างขวาง เป็นสุภาษิต ๑๕๘ บท ครอบคลุมหลักควรปฏิบัติในด้านต่างๆ เช่น การผูกไมตรี การคบคน การวางตัว การหาวิชาความรู้ การรู้จักรักษาตัวรอด ฯลฯ
ปางสมเด็จพระร่วงเจ้า เผ้าแผ่นภพสุโขทัย
มลักเห็นในอนา จึ่งผายพจนประภาษ

เป็นอนุสาสนกถา สอนคณานรชน
ทั่วธราดลพึงเพียร เรียนอำรุงผดุงอาตม์

อย่าเคลื่อนคลาดคลาถ้อย เมื่อน้อยให้เรียนวิชา
ให้หาสินเมื่อใหญ่ อย่าใฝ่เอาทรัพย์ท่าน

อย่าริระร่านแก่ความ ประพฤติตามบุรพรบอบ
เอาแต่ชอบเสียผิด อย่าประกอบกิจเป็นพาล

อย่าอวดหาญแก่เพื่อน เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า
หน้าศึกอย่านอนใจ ไปเรือนท่านอย่านั่งนาน

การเรือนตนเร่งคิด อย่านั่งชิดผู้ใหญ่
อย่าใฝ่สูงให้พ้นศักดิ์ ที่รักอย่าดูถูก

ปลูกไมตรีอย่ารู้ร้าง สร้างกุศลอย่ารู้โรย
อย่าโดยคำคนพลอด เข็นเรือทอดข้างถนน

เป็นคนอย่าทำใหญ่ ข้าคนไพร่อย่าไฟฟุน
คบขุนนางอย่าโหด โทษตนผิดรำพึง

อย่าคนึงถึงโทษท่าน หว่านพืชจักเอาผล
เลี้ยงคนจักกินแรง อย่าขัดแย้งผู้ใหญ่

อย่าใฝ่ตนให้เกิน เดินทางอย่าเดินเปลี่ยว
น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ ที่ซุ่มเสือจงประหยัด

จงเร่งระมัดฟืนไฟ ตนเป็นไทอย่าคบทาส
อย่าประมาทท่านผู้ดี มีสินอย่าอวดมั่ง

ผู้เฒ่าสั่งจงจำความ ที่ขวากหนามอย่าเสียเกือก
ทำรั้วเรือกไว้กับตน คนรักอย่าวางใจ

ที่มีภัยพึงหลีก ปลีกตนไปโดยด่วน
ได้ส่วนอย่ามักมาก อย่ามีปากว่าคน

รักตนกว่ารักทรัพย์ อย่าได้รับของเข็ญ
เห็นงามตาอย่าปอง ของฝากท่านอย่ารับ

ที่ทับจงมีไฟ ที่ไปจงมีเพื่อน
ทางแถวเถื่อนไคลคลา ครูบาสอนอย่าโกรธ

โทษตนผิดพึงรู้ สู้เสียสินอย่าเสียศักดิ์
ภักดีอย่าด่วนเคียด อย่าเบียดเสียดแก่มิตร

ที่ผิดช่วยเตือนตอบ ที่ชอบช่วยยกยอ
อย่าขอของรักมิตร ชอบชิดมักจางจาก

พบศัตรูปากปราศรัย ความในอย่าไขเขา
อย่ามัวเมาเนืองนิจ คิดตรองตรึกทุกเมื่อ

พึงผันเผื่อต่อญาติ รู้ที่ขลาดที่หาญ
คบพาลอย่าพาลผิด อย่าผูกมิตรไมตรี

เมื่อพาทีพึงตอบ จงนบนอบผู้ใหญ่
ช้างไล่แล่นเลี่ยงหลบ สุวานขบอย่าขบตอบ

อย่ากอปรจิตริษยา เจรจาตามคดี
อย่าปลุกผีกลางคลอง อย่างปองเรียนอาถรรพณ์

พลันฉิบหายวายม้วย อย่ายลเยี่ยงถ้วยแตกมิติด
จงยลเยี่ยงสัมฤทธิ์แตกมิเสีย ลูกเมียอย่าวางใจ

ภายในอย่านำออก ภายนอกอย่านำเข้า
อาสาเจ้าจนตัวตาย อาสานายจงพอแรง

ของแพงอย่ามักกิน อย่ายินคำคนโลภ
โอบอ้อมเอาใจคน อย่ายลเหตุแต่ใกล้

ท่านไท้อย่าหมายโทษ คนโหดให้เอ็นดู
ยอครูยอต่อหน้า ยอข้าเมื่อแล้วกิจ

ยอมิตรเมื่อลับหลัง ลูกเมียยังอย่าสรรเสริญ
เยียวสะเทินจะอดสู อย่าชังครูชังมิตร

ผิดอย่าเอาเอาแต่ชอบ นอบตนต่อผู้เฒ่า
เข้าออกอย่าวางใจ ระวังระไวหน้าหลัง

เยี่ยงผู้ชังจะคอยโทษ อย่ากิ้วโกรธเนืองนิจ
ผิวผิดปลิดไป่ร้าง ข้างตนไว้อาวุธ

เครื่องสรรพยุทธอย่าวางจิต คิดทุกข์ในสงสาร
อย่าทำการที่ผิด คิดขวนขวายที่ชอบ

โต้ตอบอย่าเสียคำ คนขำอย่าร่วมรัก
พรรคพวกพึงทำนุก ปลูกเอาแรงทั่วตน

ยลเยี่ยงไก่นกกระทา พาลูกหลานหากิน
ระบือระบิลอย่าฟังคำ การกระทำอย่าด่วนได้

อย่าใช้คนบังบด ทดแทนคุณท่านเมื่อยาก
ฝากของรักจงพอใจ เฝ้าท้าวไทอย่าทรนง

ภักดีจงอย่าเกียจ เจ้าเคียดอย่าเคียดตอบ
นอบนบใจใสสุทธิ์ อย่าขุดคนด้วยปาก

อย่าถากคนด้วยตา อย่าพาผิดด้วยหู
อย่าเลียนครูเตือนด่า อย่าริกล่าวคำคด

คนทรยศอย่าเชื่อ อย่าแผ่เผื่อความคิด
อย่าผูกมิตรคนจร ท่านสอนอย่าสอนตอบ

ความชอบจำใส่ใจ ระวังระวังที่ไปมา
เมตตาตอบต่อมิตร คิดแล้วจึงเจรจา

อย่านินทาผู้อื่น อย่าตื่นยกยอตน
คนจนอย่าดูถูก ปลูกไมตรีทั่วชน

ตระกูลตนจงคำนับ อย่าจับลิ้นแก่คน
ท่านรักตนจงรักตอบ ท่านนอบตนจงนอบแทน

ความแหนให้ประหยัด เผ่ากษัตริย์เพลิงงู
อย่าดูถูกว่าน้อย หิ่งห้อยอย่าแข่งไฟ

อย่าปองภัยต่อท้าว อย่ามักห้าวพลันแตก
อย่าเข้าแบกงาช้าง อย่าออกก้างขุนนาง

ปางมีชอบท่านช่วย ปางป่วยท่านชิงชัง
ผิจะบังบังจงลับ ผิจะจับจับจงมั่น

ผิจะคั้นคั้นจนตาย ผิจะหมายหมายจงแท้
ผิจะแก้แก้จงกระจ่าง อย่ารักห่างกว่าชิด

คิดข้างหน้าอย่าเบา อย่าถือเอาตื้นกว่าลึก
เมื่อเข้าศึกระวังตน เป็นคนเรียนความรู้

จงยิ่งผู้ผู้มีศักดิ์ อย่ามักง่ายมิดี
อย่าตีงูให้แก่กา อย่าตีปลาหน้าไซ

ใจอย่าเบาจงหนัก อย่าตีสุนัขห้ามเห่า
ข้าเก่าร้ายอดเอา อย่ารักเหากว่าผม

อย่ารักลมกว่าน้ำ อย่ารักถ้ำกว่าเรือน
อย่ารักเดือนกว่าตะวัน สบสิ่งสรรพโอวาท

ผู้เป็นปราชญ์พึงสดับ ตรับตริตรองปฏิบัติ
โดยอรรถอันถ่องถ้วน แถลงเลศเหตุเลือกล้วน

เลิศอ้างทางธรรม แลนาฯ

บัณ เจิดจำแนกแจ้ง พิสดาร ความเอย
ฑิต ยุบลบรรหาร เหตุไว้
พระ ปิ่นนัคราสถาน อุดรสุข ไทยนา
ร่วง ราชรามนี้ได้ กล่าวถ้อยคำสอน

๕. คุณค่าและความสำคัญ

๑. เป็นปฐมสุภาษิต เป็นคำสอนที่ดีงามพึงปฏิบัติ เป็นภาษิตประจำชาติ เป็นต้นเค้าความคิดและสติปัญญาของคนไทย เป็นสิ่งแสดงถึงอุดมคติและค่านิยมของคนไทย กวีรุ่นหลังๆ ได้นำไปกล่าวอ้างในวรรณคดีเรื่องอื่นๆ

๒. เป็นหนังสือสั่งสอนที่สอนอย่างตรงไปตรงมา ใช้คำสอนทั้งในเชิงห้ามและเชิงแนะโดยตรง ส่วนใหญ่เป็นเชิงห้ามด้วยถ้อยคำที่กะทัดรัด

ถ้าอ่านสุภาษิตพระร่วงไปทีละวรรคด้วยความสังเกตจะทราบทันทีว่า คำสอนทั้งหลายที่เรียกว่าสุภาษิตพระร่วงนั้น คือ “หลักธรรมทางพุทธศาสนา” นั่นเอง เป็นคำสอนที่ดียิ่ง มีใจความลึกซึ้งกินใจและเป็นคติธรรมที่คนไทยเรายึดถือปฏิบัติและ

สั่งสอนกันต่อๆมา ต่อมาก็ได้กลายรูปไปตามลักษณะของกวีนิพนธ์แบบต่างๆ แทรกอยู่ในวรรณคดีไทยในเวลาต่อมา ถ้าพิจารณาตามรูปของวลีจะเห็นว่าคล้ายคลึงและใกล้เคียงกับศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง จึงอาจกล่าวได้ว่า สุภาษิตพระร่วงเดิมเป็นพระบรมราโชวาท ซึ่งพ่อนขุนรามคำแหงทรงแสดงสั่งสอนประชาชนชาวไทยดังที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกว่า “๑๒๑๔ ศก ปีมะโรง พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองศรี
สัชนาลัยสุโขทัยนี้ ปลูกไม้ตาลนี้ได้สิบสี่เข้า จึงให้ช่างฟันขะดารหินตั้งหว่างกลางไม้ตาลนี้ วันเดือนดับ เดือนโอกแปดวัน วันเดือนเต็มเดือนบ้าง แปดวัน ฝูงปู่ครู เถร มหาเถร ขึ้นนั่งเหนือขะดารหินสวดธรรมแก่อุบาสกฝูงท่วยจำศีล

ผิใช่วันสวดธรรม พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยขึ้นนั่งเหนือขะดารหิน ให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุน ฝูงท่วยถือบ้านถือเมือง ” และ “พ่อขุนรามคำแหงนั้น หาเป็นท้าวเป็นพระยาแก่ไทยทั้งหลาย หาเป็นครูอาจารย์สั่งสอนไทยทั้งหลาย ให้รู้บุญรู้ธรรมแท้ ” จากข้อความในศิลาจารึกนี้ แสดงว่าพ่อขุนรามคำแหงทรงวาง

พระองค์อย่างครูอาจารย์ของประชาชน และทรงพอพระทัยในการสั่งสอนประชาชนชาวไทยให้รู้บุญรู้ธรรม เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นประทับนั่งเหนือขะดารหิน ทรงอบรม
รัฏฐาภิปาโลบายแต่งตั้งเจ้าบ้านผ่านเมือง และคงจะโปรดพระราชทานพระบรมราโชวาทด้วยคติพจน์ง่ายๆ ณ ที่นั้นด้วย จึงทำให้คิดว่า พระบรมราโชวาทเหล่านั้นกระมัง ที่ต่อมามีผู้แก้ไขแต่งเติมเพื่อให้เข้าแบบกวีนิพนธ์แล้วกลายมาเป็นสุภาษิตพระร่วง

เนื่องด้วยสุภาษิตพระร่วงเป็นสุภาษิตไทยแท้ และเกี่ยวข้องด้วยหลักธรรมทางพุทธศาสนาเป็นส่วนมาก เช่น เกี่ยวกับ กรรมดี กรรมชั่ว ความเมตตากรุณา ความประมาท ความเพียร ความโลภ สันโดษ ความริษยา ความโกรธ มุสาวาท ปัญญา ฯลฯ จึงพิจารณาตามสำนวนภาษา แบ่งสุภาษิตพระร่วงเป็น ๒ ประเภท คือ สุภาษิตไทยแท้ และพุทธศาสนสุภาษิต

๑. สุภาษิตไทยแท้

สุภาษิตไทยแท้ เป็นหลักการปฏิบัติเกี่ยวกับการดำรงชีวิตของคนไทยโดยทั่วไป เช่น

๑. หลักการปฏิบัติตนโดยทั่วไป เช่น

เมื่อน้อยให้เรียนวิชา ให้หาสินเมื่อใหญ่
เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า
น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ
ที่ซุ่มเสือจงประหยัด จงเร่งระมัดฟืนไฟ
ที่ขวากหนามอย่าเสียเกือก ทำรั้วเรือกไว้กับตน
ช้างไล่แล่นเลี่ยงหลบ สุวานขบอย่าขบตอบ
อย่าตีงูให้แก่กา อย่าตีปลาหน้าไซ

๒. หลักการปฏิบัติต่อผู้ที่สูงกว่า เช่น

คบขุนนางอย่าโหด
อย่าขัดแข็งผู้ใหญ่
ผู้เฒ่าสั่งจงจำความ
นอบตนต่อผู้เฒ่า
อย่าเลียนครูเตือนด่า
ครูบาสอนอย่าโกรธ
จงนบนอบผู้ใหญ่

๓. หลักการปฏิบัติต่อผู้เสมอกัน เช่น

อย่าอวดหาญแก่เพื่อน
ที่ผิดช่วยเตือนตอบ ที่ชอบช่วยยกยอ
พรรคพวกพึงทำนุก ปลุกเอาแรงทั่วตน
อย่าขอของรักมิตร
ยอมิตรเมื่อลับหลัง

๔. หลักการปฏิบัติต่อผู้ต่ำกว่า เช่น

ข้าคนไพร่อย่าไฟฟุน
ยอข้าเมื่อแล้วกิจ
คนจนอย่าดูถูก

๕. หลักการปฏิบัติต่อผู้ที่ตนรัก เช่น

ที่รักอย่าดูถูก
คนรักอย่าวางใจ
ลูกเมียยังอย่าสรรเสริญ

๒. พุทธศาสนสุภาษิต

สุภาษิตพระร่วงบางตอนแปลจากพุทธศาสนสุภาษิตโดยตรง บางตอนดัดแปลงมาจากศาสนธรรม เช่น อย่าใฝ่เอาทรัพย์ท่าน ดัดแปลงมาจาก “อทินนาทานา เวรมณี” เว้นจากการลักทรัพย์ ส่วนที่แปลมาจากพุทธศาสนสุภาษิตมีอยู่มากดังนี้

๑. เอาแต่ชอบเสียผิด

ตํ คณเยยยํ ยทปณณกํ สิ่งใดไม่ผิดถือเอาสิ่งนั้น

๒. อย่าประกอบกิจเป็นพาล

ปาปานิ ปริวชชเย พึงละเว้นกรรมชั่วทั้งหลาย

๓. ปลูกไมตรีอย่ารู้ร้าง

โลโกปตถมภิกา เมตตา เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก

๔. สร้างกุศลอย่ารู้โรย

อภิตถเรถ กลยาเณ พึงขวนขวายในกรรมดี

๕. อย่าโดยคำคนพลอด

นาสมเส อลิกวาทิเน ไม่ควรไว้ใจคนพูดพล่อยๆ

๖. อย่าใฝ่ตนให้เกิน

อตตานํ นาติวตเตยย บุคคลไม่ควรลืมตน

๗. ได้ส่วนอย่ามักมาก

ยํ ลทธํ เตน ตุฏฐพพํ ได้สิ่งใดพึงพอใจด้วยสิ่งนั้น

๘. อย่าเบียดเสียดแก่มิตร

มิตตทุพโ๓ หิ ปาปโก ผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวแท้

๙. อย่ามัวเมาเนืองนิจ

มา ปทาทมนุญเชต อย่ามัวประกอบความประมาท

๑๐. คบคนพาลอย่าพาลผิด อย่าผูกมิตรไมตรี

มาสสุ พาเลน สงคจฉิ อมิตเตเนว สพพทา
อย่าสมาคมกับคนพาล ซึ่งเป็นดังศัตรูทุกเมื่อ

๑๑. อย่ากอปรจิตริษยา

อรติ โลกนาสิกา ความริษยาทำให้โลกฉิบหาย

๑๒. อย่ายินคำคนโลภ

นาสมเส อตตตถปญญมหิ ไม่ควรไว้ใจคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว

๑๓. อย่ากริ้วโกรธเนืองนิจ

มา โกธสส วสํ คมิ อย่าลุอำนาจความโกรธ

๑๔. อย่าทำการที่ผิด

อกตํ ทุกกฏํ เสยโย ความชั่วไม่ทำเสียดีกว่า

๑๕. คิดขวนขวายที่ชอบ

กตญจ สุกตํ เสยโย ความดีนั่นแลดีกว่า

๑๖. การจะทำอย่าด่วนได้

นิสมม กรณ เสยโย ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำดีกว่า

๑๗. อย่าริกล่าวคำคด

โมสวชเช น นิยเยถ ไม่ควรนิยมการกล่าวคำเท็จ

๑๘. คิดข้างหน้าอย่าเบา

รกเขยยานาคตํ ภยํ พึงป้องกันภัยที่ยังมาไม่ถึง

๑๙. เป็นคนเรียนความรู้

ปญญาเมว สุสิกเขยยย พึงศึกษาหาความรู้ให้ดี

๒๐. ใจอย่าเบาจงหนัก

จิตตํ รกเขถ เมธาวี ผู้มีปัญญาพึงรักษาจิต

อัพเดทล่าสุด