เคยใช่ไหมที่รู้สึกว่างานที่ทำมันไม่ชวนมีความสุขเอาเสียเลย ลองมาฟังความคิดดี ๆ จากคนทำงานใน
เรื่องของ นางฟ้าชุดขาว กับความสุข จากงานชายแดนใต้
เรื่องของ "นางฟ้าชุดขาว" กับความสุขจากงานชายแดนใต้ (มติชนออนไลน์)
เคยใช่ไหมที่รู้สึกว่างานที่ทำมันไม่ชวนมีความสุขเอาเสียเลย ลองมาฟังความคิดดี ๆ จากคนทำงานในที่ที่อาจบอกได้ว่าตึงเครียดที่สุดจุดหนึ่งในประเทศนี้ บางทีอาจทำให้ความรักและความสุขกลับมาผลิบานในหัวใจของเราได้อีกครั้งก็ได้
คงทราบกันดีว่า 3 ปีที่ผ่านมา 3 จังหวัดชายแดนใต้ กลายเป็นพื้นที่แห่งความรุนแรงและหวาดกลัว มีทั้งการยิงแบบเป้าหมายเฉพาะที่ผลัดกันรุกรับ ระหว่างฝ่ายเจ้าหน้าที่กับคู่ขัดแย้ง รวมไปถึงระเบิดทำให้คนไม่รู้อิโหน่อิเหน่พลอยโดนหางเลขไปด้วย สื่อเองก็ช่วยนำเสนอภาพเหตุการณ์กันแบบรายวัน จนใคร ๆ พาลไม่กล้าลงไปพื้นที่นั้น
ทว่า กันทิมา อันอิดรุส หัวหน้าพยาพยาบาล หญิงแกร่งจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา จังหวัดยะลา กลับยังคงเลือกที่จะทำงานในพื้นที่นี้ต่อไป แม้ว่าจะมีทางเลือกมาให้เลือกแล้วก็ตาม เราจึงนำคำบอกเล่าถึง "การทำงานอย่างมีความสุขภายใต้สถานการณ์ยากลำบาก" ในเวทีสานจิตรเสวนา มหกรรมความรู้การพัฒนาจิต ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา จัดโดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มาแบ่งปันต่อ เผื่อว่าความตึงเครียดต่าง ๆ อาจจะผ่อนคลายลงบ้าง
"ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์พ่อบอกให้ย้ายออกจากโรงพยาบาลยะหา ตอนนั้นแม่ก็เพิ่งเสียเลยลองหาตำแหน่ง พอดีมีตำแหน่งของกรมอนามัยว่าง จะได้ย้ายไปอยู่ในเมือง จึงไปบอกน้อง ๆ ในทีม น้อง ๆ ไม่อยากให้ไป บางคนว่าจะย้ายด้วย ถ้าเราไปเราก็รู้สึกว่ามีคนรักเราอยู่ จึงมีกำลังใจเลยคืนตำแหน่งไป" กันทิมา อธิบายเหตุผลในการตัดสินใจครั้งสำคัญ ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้หมายถึงการที่เธอจะต้องยังทำงานในพื้นที่เสี่ยง (มาก) ต่อไป
"กรณียิงกันห่างโรงพยาบาล 200 เมตร" เธอเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อปี 2547 หลังสิ้นเสียงปืนครั้งนั้น รปภ.โรงพยาบาลเป็นคนนำทหารซึ่งโดนยิงที่หน้าอกมาที่ห้องฉุกเฉิน อีก 15 นาที คนร้ายที่ยิงสู้กันกับเจ้าหน้าที่เมื่อครู่ก็ถูกส่งมานอนเรียงกันสองเตียง
ภายใต้ความรู้สึกที่ต่อสู้กันในใจลึก ๆ เสียงเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่มายืนกระซิบข้างหลัง "ผู้ร้ายนะ" ตอกย้ำอยู่ในทีคล้ายบอกเธอไม่ต้องช่วยเต็มที่ แต่ด้วยจิตวิญญาณของพยาบาล ที่เติบโตมาตลอดบอกว่าต้องช่วยอย่างเสมอภาคต้องดูแลให้ดีที่สุดทั้งสองฝ่าย ในที่สุดผู้ที่ต่อสู้เจ้าหน้าที่คนนั้นก็รอดชีวิตมาได้ แต่ทหารผู้มาก่อนหน้าอาการหนักเกินไปจึงเสียชีวิตในเวลาต่อมา
"จะมองแต่อาการบาดเจ็บเพื่อรักษาชีวิตเท่านั้น ไม่ไปดูเบื้องหลังว่าใครเป็นใคร" นี่คือหลักที่เธอยึดถือเสมอมา
จากนั้นมาโรงพยาบาลยะหาต้องเจอเรื่องหนัก ๆ อีกหลายเรื่อง ครั้งหนึ่งตำรวจชุดคุ้มครองครูถูกระเบิด มีผู้เสียชีวิตหนึ่งนาย และขณะที่กำลังปฏิบัติหน้าที่โทรศัพท์ในกระเป๋าผู้เสียชีวิตดังขึ้น เป็นเสียงของความเป็นห่วงจากแม่ที่โทรมา 13 ครั้งแล้ว ครั้งแรกเธอไม่กล้ารับ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจบอกข่าวร้ายนี้กับทางญาติเอง จากนั้นกันทิมากลับมาถอดเสื้อทำความสะอาดผู้เสียชีวิต แต่เมื่อเห็นชายผ้าถุงแม่ห้อยคอไว้ ถึงกับทำให้เธอต้องหลั่งน้ำตาแรกในชีวิตของการเป็นพยาบาล
กันทิมา อันอิดรุส หัวหน้าพยาพยาบาล
คดียิงรถตู้เบตง - หาดใหญ่ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่โรงพยาบาลยะหาต้องรับมือกับเหตุการณ์ใหญ่ เพราะมีผู้เสียชีวิตทั้งคันรถ จำนวน 8 ศพ ในขณะที่โรงพยาบาลยะหาเป็นเพียงโรงพยาบาลชุมชนเล็ก ๆ
นอกจากนี้ คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังนับถืออิสลาม ที่ปกติแล้วจะต้องรีบนำศพกลับไปฝังใน 24 ชั่วโมง จึงไม่มีห้องเก็บศพ ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเปิดตึกผู้ป่วยในที่เพิ่งซ่อมเสร็จไว้รองรับศพสำหรับชันสูตร อีกปัญหาหนึ่งคือหมอและพยาบาลมีน้อย การขนศพก็ไม่ค่อยสะดวก เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้โรงพยาบาลเริ่มปรับงานอย่างเป็นระบบมากขึ้นในเวลาต่อมา
"วันนั้นทำงานกันจนบ่ายสาม นึกขึ้นได้ว่ายังไม่ได้ทานข้าว น้อง ๆ ในทีมก็ยังไม่ได้ทาน เลยคิดถึงเรื่องคนทำงานด้วย" กันทิมา บอกบทเรียนที่ได้จากครั้งนั้น
ซึ่งนอกเหนือไปจากเรื่องศพแล้วออกมาเจอญาติ ๆ บางคนก็ร้องไห้ บางคนเป็นลมไป ต้องปฐมพยาบาลญาติอีก ต่อมาก็เป็นเรื่องการจัดการส่งศพกลับบ้าน เมื่อทีมมาคุยปัญหากันจึงมีตั้งทำงานทีมในห้องพยาบาล ทีมดูแลญาติข้างนอก และทีมอาหาร รวมไปถึงการสิ่งของที่เกี่ยวกับพิธีศพของแต่ละศาสนา เพื่อให้ญาติสบายใจ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีเรื่องให้จัดการมากมาย แต่เธอบอกว่าเพราะปัญหาเหล่านี้ทำให้เธอมองเห็นความสุขจากการทำงานมากขึ้น
"อย่างน้อยเราเริ่มมองเห็นตัวเอง และคิดว่าเราจะร้องไห้ไม่ได้" กันทิมากล่าว พร้อมกับบอกว่าเธอมีอาการไมเกรนซึ่งเป็นโรคประจำตัว ช่วงหนึ่งเครียดและปวดหัวบ่อยมาก แต่การเลือกที่จะอยู่ทำงานในพื้นที่ต่อไปทำให้ต้องหันมาดูแลตัวเอง เช่น ออกกำลังกายมากขึ้น เสาร์อาทิตย์ก็ไปทำบุญที่วัด แม้ว่าวัดใน 3 จังหวัดภาคใต้จะเงียบลงไปมาก แต่ก็ทำให้เธอได้คิดอะไรจากการพูดคุยกับเจ้าอาวาส พอทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ไมเกรนที่เคยเป็นก็ลดลงมาก
"พระที่วัดท่านบอกว่าการทำงานเหมือนได้บุญทุกวันอยู่แล้ว การที่เราทำตรงนี้ก็เพราะเชื่อในวิถีพุทธว่าทำดีก็ต้องได้สิ่งที่ดี ตอบแทนรางวัลที่ได้คือความรัก นอกจากน้อง ๆ ในทีมแล้ว ผู้ป่วยก็รักเรา หน้าผลไม้จะมีคนไข้เอาทุเรียนลองกองใส่เข่งถีบจักรยานมาให้" กันทิมา เล่าไปยิ้มไปอย่างมีความสุข แม้ว่างานที่กำลังรออยู่หลังจากกลับไปวันนี้อาจเป็นเรื่องที่น่าสลดใจอีกเรื่องหนึ่งก็ตาม