ทำไมจะไม่อยากเอ่ยถึงล่ะครับ เพราะพอเอ่ยทีไรก็จะมีมุสลิมบางคนบอกว่า โหย
ไม่จริงหรอกไม่มี มุสลิมจะติดเอดส์น่ะ ถึงมีมันก็มีน้อยกว่าคนอื่นเขา เรามีมาตรฐานทางจริยธรรมสูงกว่าสังคมอื่นเขา โรคนี้เราไม่ค่อยเป็นกันหรอก มันเป็นโรคที่อัลลอฮฺลงโทษพวกที่สำส่อน พวกลักเพศผิดมนุษย์มนาเขาน่ะ ฯลฯ
ทำไมจะไม่อยากเอ่ยถึงล่ะครับ เพราะพอเอ่ยทีไรก็จะมีมุสลิมบางคนบอกว่า โหย
ไม่จริงหรอกไม่มี มุสลิมจะติด โรคเอดส์เอดส์น่ะ ถึงมีมันก็มีน้อยกว่าคนอื่นเขา เรามีมาตรฐานทางจริยธรรมสูงกว่าสังคมอื่นเขา โรคนี้เราไม่ค่อยเป็นกันหรอก มันเป็นโรคที่อัลลอฮฺลงโทษพวกที่สำส่อน พวกลักเพศผิดมนุษย์มนาเขาน่ะ ฯลฯ ทัศนคติเหล่านี้แหละครับ ทำให้เราไม่ได้รู้อะไรเลยเกี่ยวกับ โรคเอดส์ ในทางที่จะช่วยจรรโลงสังคมเลย เพื่อนผู้อ่านครับ วันนี้ผมมีเรื่องราวเกี่ยวกับเอดส์มาเล่าให้ฟังครับ และผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้คงช่วยให้เราได้เห็นภาพแห่งความเข้าใจในโรคนี้มากขึ้นกว่าเดิม แต่ก่อนอื่น ขอทบทวนความเป็นมาของโรคนี้ก่อนนะครับ โรคเอดส์พบครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2524 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยเป็นชายรักร่วมเพศป่วยเป็นปอดบวมจากเชื้อ นิวโมซีสตีส แครินิอาย (Pneumocystis Carinii) ทั้งที่เป็นคนแข็งแรงมากมาก่อน และไม่เคยใช้ยากดภูมิต้านทาน ผลการตรวจทางห้องปฎิบัติพบว่าเซลล์ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ สำหรับผู้ป่วยเอดส์รายแรกในประเทศไทยนั้นเป็นชายอายุ 28 ปีเดินทางไปศึกษาต่อที่อเมริกาและมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ เริ่มมีอาการในปี พ.ศ.2526 ได้รับการตรวจและรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในอเมริกา พบว่าปอดอักเสบจากเชื้อ Pneumocystis Carinii แพทย์ลงความเห็นว่าเป็นโรคเอดส์ จึงกลับมารักษาตัวที่ประเทศไทยในปี พ.ศ.2527 และเสียชีวิตในปีต่อมา1 โรคเอดส์ เป็นโรคที่ยังรักษาไม่หายขาด และทุกวันนี้เอดส์ยังคงระบาดอยู่ในสังคมไทย ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กองระบาดวิทยา ได้รับรายงานผู้ป่วย โรคเอดส์ และผู้ติดเชื้อที่มีอาการจากสถานบริการทั้งภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่ พ.ศ. 2527 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2545 รวมทั้งสิ้น 280,130 ราย และมีผู้เสียชีวิต 64,133 ราย โดยจำแนกเป็นผู้ป่วย โรคเอดส์ จำนวน 204,448 ราย และมีผู้เสียชีวิต 56,268 ราย (ตามปีที่เริ่มป่วย) ผู้ติดเชื้อที่มีอาการจำนวน 75,682 ราย และมีผู้เสียชีวิต 7,865 ราย (ตามปีที่เริ่มป่วย) 2 จำนวนผู้ป่วยทุกวันนี้มากกว่าจำนวนเตียงในโรงพยาบาลที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศรวมกันเสียกัน ดังนั้นจึงมีคนเพียงแค่ไม่มากนักที่สามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ นับตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย การให้ยาต้านไวรัส รวมไปถึงการดูแลรักษาโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ว่าไปแล้ว เรื่องราวชีวิตของผู้ป่วยเอดส์เหล่านี้มีให้เล่าได้เป็นวันๆเลยล่ะครับ ยกตัวอย่างก็ เมื่อวานนี้เอง ผมได้มีโอกาสไปสังเกตดูงานทางด้านการรักษาผู้ป่วยเด็กเอดส์ด้วยยาต้านไวรัสที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใกล้ๆบริเวณกระทรวงสาธารณสุข ในตอนสาย ผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ผมมาสังเกตการดูแลรักษาที่นี่เป็นผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อเอดส์ผ่านมาทางมารดาที่ติดเชื้อเอดส์ เป็นเด็กๆในวัย 5-6 ขวบแล้วล่ะครับ กำลังซน ฉลาดพูดจาฉาดฉาน ผู้ป่วยเหล่านี้บางคนก็ยังมีพ่อแม่พามาหาหมอ แต่บางคนพ่อแม่เสียชีวิตหมดแล้ว ซึ่งในกรณีนี้ญาติสนิทจะเป็นคนพาผู้ป่วยมาหาหมอ ปัญหาที่ผมพบเห็นไม่ใช่เพียงแต่เรื่องของสุขภาพทางกายของผู้ป่วยแต่เพียงเท่านั้น ยังมีปัญหาอื่นๆอีกเยอะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเป็นที่รังเกียจของบุคคลรอบข้างตั้งแต่ในบ้านจนกระทั่งถึงนอกบ้าน เรื่องการรับรู้ภาวะที่ตัวเองเป็นอยู่ ซึ่งเด็กๆไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคอะไร และเป็นเรื่องลำบากเหมือนกันที่จะอธิบายให้พวกเขาเข้าใจว่าตัวเองเป็นโรคอะไรกันแน่ เด็กบางคนยังเข้าใจว่าที่ตัวเองมาหาหมอทุกเดือนนั้นเป็นเพราะว่าตัวเองเป็นโรคหวัด นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านการเงินเข้ามาเกี่ยวข้องอีก แม่ของผู้ป่วยรายนึง (ตัวเองก็เป็นเอดส์เหมือนกัน) บอกว่าต้องเจียดเงินส่วนหนึ่งให้ลูกเพื่อเป็นค่ายาต้านไวรัส ในขณะที่ตัวเองไม่ได้รับการรักษาเนื่องจากค่ายาสำหรับตัวเองได้ใช้จ่ายไปในส่วนของลูกแล้ว ฟังแม่ของผู้ป่วยพูดแล้ว บางคนในทีมที่ไปด้วยกันถึงกับน้ำตาคลอ ซาบซึ้งในความรักของแม่ที่เสียสละชีวิตของตัวเองเพื่อต่ออายุให้กับชีวิตลูก นี่คือเรื่องราวที่น่าสรรเสริญของคนในโลกที่สังคมส่วนใหญ่อยากมองข้าม ผมว่าเรื่องนี้งดงามกว่าเรื่องราวของชีวิตผู้คนในโลกที่ใส่หน้ากากเข้าหากันเสียอีก ที่เล่าให้ฟังก็เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวเดียวเท่านั้นของนิยายชีวิตจริงเท่านั้นแหละครับ ปัจจุบันนี้ มีการประมาณกันว่าผู้ติดเชื้อเอดส์ร่วม ล้านคน3 ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยที่กำลังสร้างครอบครัว และโดยมากก็เป็นตัวหลักเรื่องทำมาหากินของครอบครัว ผู้คนเหล่านี้กำลังตายจาก หากไม่มีการคิดค้นยารักษาได้สำเร็จ และจะมีเรื่องราวโศกนาฏกรรมของคนในบ้านพวกเขาเหล่านี้ ตามมาอีกมากมาย แล้วเราคิดหรือครับว่าเรื่องราวเหล่านี้จะไม่เกิดในสังคมมุสลิมบ้างเชียวหรือ ไปดูข้อมูลจากข้อมูลสำนักสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามมีประมาณ 4.6%4 ของประชากรทั้งหมด ลองสมมติดูเล่นๆนะครับ ถ้าตัวเลขนี้มันไปอยู่ในผู้ติดเชื้อเอดส์ ก็หมายความว่ามีมุสลิมติดเชื้อเอดส์อยู่ประมาณ 46,000 คน จากคนที่ติดเชื้ออยู่เกือบล้านคน คนจำนวนขนาดนี้เทียบเท่ากับอำเภอบางอำเภอเลยล่ะครับ ผมคิดว่าถ้าเราไม่คิดว่าสิ่งนี้เป็นปัญหา ตัวเลขผู้ป่วยมุสลิมคงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่แน่นักว่าหนึ่งในผู้ป่วยเหล่านั้นอาจมีลูกหลานของเรา คนที่เรารักอยู่ในนั้นด้วยก็เป็นได้ ถ้าเราคิดว่าเป็นปัญหา มุสลิมจะต้องมองปัญหาเอดส์นี้ด้วยท่าทีของผู้ที่เข้าใจ และเห็นใจมากขึ้นกว่าเดิม ถ้าเรายังมองเอดส์ด้วยท่าทีที่ปฏิเสธ เราก็จะขาดองค์ความรู้ที่สำคัญอีกมากมาย ตั้งแต่การป้องกันไม่ให้บุตรหลานและคนในครอบครัวมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเป็นเอดส์ การดูแลรักษา การเอื้ออาทร การเห็นใจต่อผู้ป่วย การจัดการเกี่ยวกับศพ การอาบน้ำมัยยิตที่ต้องทำให้ปลอดเชื้อ การจัดการเกี่ยวกับเรื่องราวในภายหลังการตายของผู้ป่วย การดูแลทายาทของผู้ป่วย และอื่นๆอีกสารพัด แล้วจะแก้กันอย่างไรล่ะครับถ้าเราไม่มีทักษะในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้เลย เพียงเพราะเรายืนกระต่ายขาเดียว ว่าไม่มีปัญหานี้ในสังคมเรา ความจริง โรคเอดส์ก็เหมือนกับความเจ็บป่วยได้ไข้อื่นๆของคนในสังคมนั่นแหละ ในแง่ที่ไม่ได้เป็นตัวบอกว่าคนเป็นโรคนี้แล้วต้องลงนรกกันหมด และที่ผมต้องเขียนมาเล่าให้ฟังก็เพราะผมอยากจะบอกว่าสังคมมุสลิมนั้นไม่ได้อยู่โดดๆห่างออกไปจากสังคมอื่นเลย ปัญหาในสังคมที่แวดล้อมเราอยู่นั้น จริงๆแล้วก็เกิดขึ้นในสังคมมุสลิมได้เหมือนกัน เราต้องตระหนัก และยอมรับความจริง พร้อมทั้งเผชิญหน้ากับปัญหาด้วยความรู้ ความเข้าใจ มองเพื่อนมนุษย์ด้วยสายตาที่เหมือนเพื่อนมองเพื่อนด้วยกัน ปัญหาต่างๆก็จะได้มีทิศทางในการแก้ไขที่ชัดเจนมากขึ้น ผมว่างั้นนะ เชิงอรรถ https://www.cdcnet.moph.go.th/cdcdept/Aids/aids!/aidsreal.html#aids1
https://epid.moph.go.th/epi32_aids.html
https://www.prachincity.org/Aids/Aids.html
https://www.nso.go.th/pop2000/indiregion_t/indi_whole.htm
บทความโดย: Anuttarasakdi Ratchatatat M.D.