ความท้าทายของการบริหารงาน HR ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy)


1,080 ผู้ชม


ความท้าทายของการบริหารงาน HR ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy)




HR ในทุกวันนี้ ต้องพัฒนาตนเองให้คิดแตก ทำต่าง เนื่องจากการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในปัจจุบันเปลี่ยนไปมากจากในอดีต ปัจจัยภายในองค์กร ระบบ และเทคโนโลยีสารสนเทศ มีความซับซ้อนมากขึ้น บุคลากรในองค์กรมีความหลากหลายทั้งประสบการณ์ ความคิด และความสามารถ ทำนองเดียวกันปัจจัยภายนอก เช่น สภาพการแข่งขันทางธุรกิจ ภาวะเศรษฐกิจ สังคม และโลกาภิวัตน์ ก็มีส่วนทำให้งานของ HR ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ที่ไม่สามารถอาศัยหลักการบริหารจัดการแบบเดิมๆ (conventional HR) ได้อีกต่อไป
ทิศทางการทำธุรกิจในปัจจุบันเปลี่ยนไปในรูปแบบเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (creative economy) มากขึ้น คือ มุ่งสร้างมูลค่าที่เกิดจากความคิดของมนุษย์ เปลี่ยนจากการผลิตและให้บริการไปสู่ธุรกิจซึ่งต้องพึ่งพาความคิดสร้างสรรค์เป็นวัตถุดิบสำคัญ เกาหลีใต้เป็นตัวอย่างของประเทศที่รู้จักใช้หลักการดังกล่าวให้เกิดประโยชน์ เช่น การส่งออกวัฒนธรรมเกาหลีไปทั่วโลกในรูปของภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ เพลง นักร้อง แฟชั่น การท่องเที่ยว ศิลปะการแสดง และอาหาร ซึ่งช่วยสร้างการจ้างงานและทำรายได้มหาศาลให้กับประเทศ
ภายใต้ทิศทางดังกล่าว HR ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและสร้างมิติใหม่ในการบริหารและพัฒนาบุคลากร เนื่องจากความคิดสร้างสรรค์ (creative ideas) มิได้ติดตัวทุกคนมาแต่กำเนิด หากเกิดขึ้นจากการมีทักษะในการคิด (thinking skills) และ การริเริ่ม (originality) ซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง ภายใต้วัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อ (enabling) ให้บุคลากรเกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ
แนวทาง ที่ HR สามารถนำมาใช้สร้างมิติใหม่ในการบริหารและพัฒนาบุคลากร เช่น การคิดค้นหาวิธีดึงคนเก่งเข้ามาร่วมงานและอยู่กับองค์กรนานๆ ซึ่งไม่ได้จำกัดเพียงการจูงใจให้ผลตอบแทนในรูปของ ตัวเงินเท่านั้น แต่ต้องจัดให้มีโปรแกรมใหม่ๆ ที่สร้างความพึงพอใจให้กับพนักงาน รู้สึกผูกพันกับองค์กร
วิธีการสรรหาพนักงาน ไม่ควรจำกัดแค่การการคัดเลือก (selection) แต่ต้องมีลักษณะเชิงรุก (proactive) มากขึ้น สามารถเจาะเข้าถึงแหล่งคนเก่ง (talent sourcing) ลำพังการรับสมัครและคัดเลือกนักศึกษาใกล้จบ (campus recruitment) ในมหาวิทยาลัยอาจไม่เพียงพอ ต้องเสริมด้วยการให้ทุนการศึกษากับนักศึกษาที่มีศักยภาพ และทัศนคติที่ดี ให้โอกาสเข้ามาฝึกงานตั้งแต่กำลังเรียน และอาจพิจารณาจ้างงานเมื่อเรียนจบ
นอกจากนี้การรับสมัครพนักงานไม่ควรจำกัดว่าต้องจบสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานโดยตรง หรือเคยผ่านการทำงานในองค์กรที่มีธุรกิจคล้ายกัน เพราะการสรรหาคนที่มีความชำนาญและเคยทำงานในหน่วยงานที่แตกต่างจะทำให้ได้พนักงานใหม่ที่มีมุมมองที่หลากหลาย ช่วยให้เกิดความคิดใหม่ๆ ในการทำงานมากขึ้น
ในกรณีที่องค์กรต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยอาศัยศักยภาพของพนักงาน การพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ หรือ ผู้ที่มีทักษะเฉพาะด้าน (specialization) ขึ้นมาเองเป็นสิ่งจำเป็น HR ควรพิจารณาว่าทำอย่างไร จึงจะพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านได้ เพราะไม่ง่ายที่จะสรรหาจากการรับสมัครตามปกติ เช่น ในธุรกิจโรงแรมมีการตั้งโรงเรียนสอนการโรงแรม และทำอาหาร พนักงานบางส่วนรับมาจากโรงเรียนดังกล่าว
ทำนองเดียวกัน ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมก็ร่วมกับสถาบันการศึกษา เปิดหลักสูตรภาควิชาธรณีวิทยาปิโตรเลียมสำหรับปริญญาโท และโรงเรียนช่างเทคนิคปิโตรเลียม เพื่อฝึกบุคลากรให้มีความชำนาญเฉพาะด้านตามที่ธุรกิจต้องการ
ภายใต้ระบบเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (creative economy) การตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสิ่งที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ HR ควรมีส่วนร่วมในการกระตุ้นให้พนักงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (stakeholders) ตระหนักถึงการรับผิดชอบดังกล่าวในรูปแบบของ corporate human resource responsibility (CHHR) เช่น
-เพิ่มการจ้างงานคนไทย หรือคนในพื้นที่ ทำให้มาตรฐานการครองชีพและ รายได้ของคนในท้องถิ่นสูงขึ้น
-ใช้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพช่วยยกระดับการจ้างงาน มาตรฐานการครองชีพและคุณภาพชีวิตให้กับคนไทย ผ่านทางนโยบายของรัฐในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนและการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (เน้นคุณภาพคน คุณภาพงาน คุณภาพสินค้า คุณภาพชีวิต) ซึ่งจะทำให้คนไทยก้าวพ้นจากวิกฤตและมีอนาคตที่มั่นคง
-ช่วยกันผลักดันการพัฒนาทุนมนุษย์ (human capital) แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ผ่านทางสถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐ หรือชุมชนนักทรัพยากรมนุษย์ (HR society)
-ไม่ละเลยที่จะทำงานร่วมกับผู้นำองค์กรในการเสริมความแข็งแกร่งด้าน คุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และการมีระเบียบวินัย ให้กับบุคลากรในทุกระดับ เพื่อให้บรรลุถึงการเป็นองค์กรที่มีระบบบรรษัทภิบาลที่ดี (good corporate government)
นอกจากนี้ HR ควรหาโอกาสสร้าง เครือข่ายทางธุรกิจ (enterprise wide opportunity) เพื่อแสวงหาวิธีการที่ดีที่สุด (best practices) จากที่ต่างๆ มาประยุกต์ใช้ และผลักดันองค์กรให้ขับเคลื่อนด้วย นวัตกรรม มีความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้บริบทใหม่ของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์
หน้า 31

คอลัมน์ hr corner
โดย ดร.ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ [email protected] บริษัท Chevron Thailand Exploration and Production ( prachachat.net )


อัพเดทล่าสุด