โรคคาวาซากิ โรคร้ายของเด็กเล็ก


3,455 ผู้ชม



โรคคาวาซากิ โรคร้ายของเด็กเล็ก
Photo : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Kawasaki_symptoms_G.jpg
https://www.intechopen.com/

คุณพ่อคุณแม่อาจจะพอเคยได้ยินชื่อโรคคาวาาซากิกันมาบ้าง บาคนอาจจะไม่รู้จัก หรือเข้าใจว่าเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง เพราะอาการของโรคจะแสดงออกชัดเจนที่ผิวหนัง แต่ความจริงแล้วไม่ใช่อย่างที่คิดค่ะ

โรคคาวาซากิ (Kawasaki disease) พบครั้งแรกโดยแพทย์ชาวญี่ปุ่นชื่อ Tomisaku Kawasaki เมื่อปี พ.ศ.2510 หลังจากนั้นก็มีรายงานว่าพบผู้ป่วยเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศ ญี่ปุ่น ตลอดจนประเทศอื่นๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วยค่ะ

สาเหตุของโรคคาวาซากิ (Kawasaki disease)
ประเทศไทยมีรายงานการพบผู้ป่วยโรคคาวาซากิครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2519 จนถึงปัจจุบันยังไม่ทราบว่าโรคนี้เกิดจากสาเหตุใด แม้จะมีการศึกษาอย่างมากมายก็ตาม แต่จากหลักฐานทางการแพทย์หลายๆ อย่าง ทำให้คาดว่าเกิดจากการติดเชื้อโรคค่ะ ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นเชื้ออะไร และยังไม่ทราบว่าสภาพแวดล้อมเช่นไรที่จะเป็นปัจจัยทำให้เกิดโรคนี้ แต่จะพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวค่ะ


โรคนี้จะพบในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และพบมากในช่วงอายุ 1-2 ปี ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คาดว่าเกิดจากการติดเชื้อ เพราะในเด็ก 6 เดือนแรกจะมีภูมิต้านทานจากนมแม่ ทำให้เป็นโรคติดเชื้อได้น้อย หลังจาก 5 ขวบไปแล้วก็อาจจะมีภูมิคุ้มกันแล้วจึงไม่พบว่าเป็นโรคนี้ และเมื่อเปรียบเทียบอัตราผู้ป่วยระหว่างเด็กชายและเด็กหญิงจะเท่ากับ 1.5 : 1 คนค่ะ


อาการโรคคาวาซากิ (Kawasaki disease)

อาการเริ่มต้นของโรคนี้คือ

1. เด็กจะมีไข้สูงแบบเฉียบพลัน จะไม่ใช่ค่อยๆ สูงขึ้น ซึ่งไข้จะสูงมากถึง 39-40 องศาเซลเซียส และมีไข้มาแล้วอย่างน้อย 5 วัน

2. ตาแดง เยื่อบุตาขาวทั้งสองข้างจะแดง ไม่แฉะ ไม่มีขี้ตา เป็นหลังมีไข้ประมาณ 1-2 วัน และเป็นอยู่นานประมาณ 1-2 สัปดาห์

3. มีการเปลี่ยนแปลงของริมฝีปากและในช่องปาก คือ ริมฝีปากแห้ง แดงแตก ลิ้นเป็นตุ่มนูนและแดงเหมือนผิวสตรอว์เบอร์รี่ (Strawbery tongue) โดยจะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ค่ะ

4. การเปลี่ยนแปลงของมือและเท้า ในระยะแรกจะพบฝ่ามือ ฝ่าเท้าแดงและหรือบวม ในระยะหลังประมาณวันที่ 12 ของโรค อาจพบการลอกของผิวหนังซึ่งจะเริ่มต้นที่บริเวณปลายนิ้วมือและนิ้วเท้า และสามารถลามไปที่ฝ่ามือฝ่าเท้า บางรายอาจเล็บหลุดได้ บางราย 1-2 เดือนจะมีรอยขวางที่เล็บค่ะ

5. มีผื่นขึ้นตามร่างกาย มักเกิดหลังมีไข้ 1-2 วัน ซึ่งมีได้หลายแบบ เช่น เป็นจุดแดงๆ เล็กๆ ทั่วตัว หรือเป็นผื่นแดงๆ เล็กๆ เหมือนหัดก็ได้ บางคนเป็นผื่นนูนใหญ่ๆ คล้ายลมพิษ

6. ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโต ส่วนใหญ่จะโตข้างเดียว มีขนาดใหญ่พอสมควรคือมากกว่า 1.5 ซม. อาจจะมีอาการแดงของผิวหนังบริเวณที่ต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย พบประมาณร้อยละ 50-70 ของผู้ป่วย


อาการอื่นๆ ที่อาจเกิดร่วมด้วย ได้แก่ ปวดตามข้อ กระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ ท้องเสีย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น แต่อาจจะมีอาการไม่ครบทั้งหมดก็ได้ค่ะ คือถ้าไข้ร่วมกับอาการ 4 อย่างจากทั้งหมด 5 อย่าง คุณหมอก็สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคนี้


ปัญหาสำคัญของโรคคาวาซากิ (Kawasaki disease)

อาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ถือเป็นปัญหาสำคัญสำหรับโรคนี้ เพราะสามารถทำให้เด็กเสียชีวิตแบบเฉียบพลันได้ และเนื่องจากเมื่อเด็กเป็นโรคนี้และมีอาการไข้แล้ว บางครั้งไข้สามารถลดลงเองได้ ทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่ทราบว่าลูกเป็นโรคนี้ และเกิดความเข้าใจผิดว่าลูกหายเป็นปกติแล้ว


แต่ความจริงโรคคาวาซากิ สามารถก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่หัวใจและหลอดเลือดได้ คือทำให้เส้นเลือดที่มาเลี้ยงหัวใจอักเสบ มีการโป่งพอง และหากเส้นเลือดเกิดการโป่งพองเกิน 8 มิลลิเมตร อาจทำให้เส้นเลือดแตกและทำให้เด็กเสียชีวิตอย่างกะทันหันได้ค่ะ

การรักษาโรคคาวาซากิ (Kawasaki disease)

ถึงแม้จะไม่ทราบว่าโรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ก็มีวิธีการรักษาค่ะ คือเมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าลูกเป็นโรคนี้ก็จะรักษาโดยการให้ IVIG (Intravenous immunoglobkon) ซึ่งเป็นภูมิต้านทานที่สกัดมาจากเลือด หยดให้ทางเส้นเลือดเหมือนน้ำเกลือ ในปริมาณ 2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม


โดยคุณหมอจะให้ IVIG ครั้งเดียวนานประมาณ 12 ชั่วโมง ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อได้รับ IVIG แล้วภายใน 24-48 ชั่วโมงไข้จะลดลง และรักษาโดยยาแอสไพริน ซึ่งเป็นตัวยาลดไข้ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยให้ในปริมาณ 100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ประมาณ 14 วัน หลังจากนั้นลดลงเหลือ 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ให้ต่อไปอีก 6-8 สัปดาห์ก็จะจบคอร์สการรักษาค่ะ


สมัยก่อนยังไม่มี IVIG แพทย์จะรักษาโดยใช้ยาแอสไพรินอย่างเดียว พบว่าเด็กมีอัตราการเกิดโรคแทรกซ้อนหัวใจ 20-25% คือในเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ 4 คนจะมีโรคแทรกซ้อนหัวใจ 1 คน แต่หลังจากมีการรักษาด้วย IVIG อัตราการเกิดโรคแทรกซ้อนหัวใจลดลงเหลือเพียง 2-4% เท่านั้นค่ะ


ปัญหาข้อหนึ่งของการรักษาด้วย IVIG คือราคาสูงมาก เนื่องจากต้องให้ในปริมาณต่อน้ำหนักตัว เด็กน้ำหนักน้อยอาจจะจ่ายค่ายา 40,000-50,000 บาท ในขณะที่เด็กที่มีน้ำหนักตัวมากค่ายาอาจจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า นอกจากนั้นยังต้องมีการทำ Echocardiogram เพื่อตรวจดูว่ามีโรคแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือดหรือไม่ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมากเช่นกันค่ะ

เมื่อรักษาหายแล้ว มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นอีกหรือไม่?


โดยมากเด็กที่ได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติดีแล้ว ก็จะสามารถเล่น และทำกิจกรรมเหมือนเด็กทั่วๆ ไปค่ะ โอกาสที่จะกลับมาป่วยเป็นโรคนี้อีกมีน้อยมาก อาจพบได้เพียง 1-3% เท่านั้น


ได้ทราบข้อมูลของโรคและอาการแทรกซ้อนของโรคคาวาซากิแล้ว คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจเกิดอาการเป็นกังวลเมื่อลูกเป็นไข้ อย่าเพิ่งตกอกตกใจไปนะคะ เพราะในประเทศไทยพบโรคนี้ไม่บ่อยค่ะ แต่หากลูกเป็นไข้และคุณแม่พาไปหาหมอหลายวันแล้วอาการไข้ คอแดง ยังไม่หาย ก็ควรจะพาลูกไปตรวจซ้ำ เพราะโรคนี้หากวินิจฉัยได้เร็ว ผลแทรกซ้อนก็จะพบได้น้อยเช่นกันค่ะ

ที่มา: มัมมี่พิเดีย


อัพเดทล่าสุด