ไม่ใช่แค่อาการนอนไม่หลับ หรือนอนไม่พอเท่านั้น ที่ทำให้เรารู้สึกง่วงนอนบ่อย หรือรู้สึกอ่อนเพลียไปทั้งวัน แต่อาการง่วงนอนบ่อยอาจพยายามบอกสัญญาณของโรคเหล่านี้อยู่ก็เป็นได้
ฮ้าว...นี่ไม่รู้ว่าอ้าปากหาวไปแล้วรอบที่เท่าไร แต่ใครที่มีอาการง่วงนอนบ่อย ๆ อย่างนี้อย่าชะล่าใจเชียวค่ะ เพราะจากที่สืบข้อมูลมาก็ทำให้รู้ว่า อาการง่วงนอนบ่อยหรือคนที่รู้สึกเพลียไปตลอดทั้งวัน นั่นอาจเป็นสัญญาณของร่างกายที่ร้องบอกว่ามีโรคภัยแอบซ่อนอยู่ในตัวเราแล้วก็ได้นะ ที่สำคัญเจ้าอาการง่วงนอนบ่อยยังบอกสัญญาณได้หลายโรค ดังนี้เลย
1. นอนกรน
อาการนอนกรนหรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea หรือ OSA) อาจทำให้รู้สึกง่วงนอนในตอนกลางวันมากกว่าปกติ เนื่องจากอาการนอนกรนบั่นทอนคุณภาพการนอนที่ดี ทำให้ผู้ที่นอนกรนไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ ส่งผลให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลียและอยากนอนหลับในตอนกลางวันนั่นเอง
2. โรคนอนไม่หลับ
สำหรับคนที่นอนกระสับกระส่าย หรือนอนไม่ค่อยหลับเลยในแต่ละคืน กลุ่มนี้ก็อาจเสี่ยงโรคนอนไม่หลับ ซึ่งก็ส่งผลมาถึงอาการง่วงนอนบ่อย ๆ ในช่วงเวลากลางวันได้เช่นกัน โดยโรคนอนไม่หลับยังส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายในระบบการทำงานต่าง ๆ อาจทำให้สมองทำงานช้าลง และชักนำให้เกิดโรคอ้วนได้ด้วย ดังนั้นหากพอจะรู้ตัวว่าตกอยู่ในอาการนอนไม่หลับแล้ว ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาโรค ก่อนที่ร่างกายจะทรุดโทรมมากไปกว่านี้ดีกว่า
3. ภาวะโลหิตจาง
คนที่มีภาวะโลหิตจางหรือในผู้หญิงที่มีประจำเดือนมากผิดปกติก็อาจรู้สึกง่วงนอนบ่อย ๆ ได้ เนื่องจากภาวะที่ร่างกายมีระบบไหลเวียนเลือดไม่สมบูรณ์อาจนำมาซึ่งอาการอ่อนเพลีย และทำให้รู้สึกอยากนอนหลับพักผ่อนมากกว่าปกติ ซึ่งหากสงสัยว่าตัวเองอาจเป็นโรคนี้ ก็ควรเสริมธาตุเหล็กให้ร่างกายเยอะ ๆ หรือเพื่อความสบายใจจะไปพบแพทย์ก็ยิ่งดีต่อตัวเองเลยล่ะค่ะ
4. โรคไทรอยด์
โรคไทรอยด์เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ไม่ว่าจะเป็นภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกาย หรือมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ก็อาจทำให้ร่างกายแสดงอาการของโรคมาในรูปแบบอาการอ่อนเพลีย ง่วงนอนบ่อย ๆ จนผิดปกติได้ ซึ่งหากต้องการเช็กให้แน่ใจว่าเป็นโรคไทรอยด์หรือไม่ อาจดูอาการอื่น ๆ เช่น มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างผิดสังเกต หรือมีอาการแขนขาไม่มีแรงร่วมด้วย
5. โรคเบาหวาน
อาการอ่อนเพลียและง่วงนอนบ่อย ๆ อาจเป็นสัญญาณของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ โดยหากมีอาการปัสสาวะบ่อยผิดปกติ เหนื่อยง่าย หิวน้ำบ่อยขึ้น กินจุบจุบในขณะที่น้ำหนักตัวลดฮวบฮาบ การมองเห็นพร่ามัว แผลหายช้า หรืออาการชาที่ปลายมือและเท้าร่วมด้วย ก็ค่อนข้างจะชัดเจนว่าคุณอาจมีภาวะโรคเบาหวานเล่นงานเข้าให้แล้ว
6. โรคเครียด
อาการนอนไม่หลับก็อาจเป็นสัญญาณของโรคเครียดได้ เนื่องจากความเครียดจะส่งผลกระทบมาถึงระบบฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย และส่งผลต่อมายังระบบการทำงานอื่น ๆ ในตัวของเรา เป็นที่มาของอาการนอนไม่หลับ อ่อนเพลีย อาหารไม่ย่อย ประจำเดือนคลาดเคลื่อน สมรรถภาพทางเพศเสื่อม เมื่อเกิดอาการแบบนี้ซ้ำ ๆ ก็จะมีผลกระทบต่อร่างกายตั้งแต่ภูมิคุ้มกันที่จะอ่อนแอลงจนเป็นหวัดหรือท้องเสียได้ง่าย ๆ ไปจนถึงโรคเรื้อรังต่าง ๆ อย่างโรคหัวใจและหลอดเลือดเลยทีเดียว
7. โรคอ่อนเพลียเรื้อรัง
โรคอ่อนเพลียเรื้อรังหรือโรคไฮโปไกลซีเมีย (Hypoglycemia) เป็นภาวะที่น้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้ไร้เรี่ยวแรงทำอะไรตลอดทั้งวัน ซึ่งแค่ชื่อก็บอกโต้ง ๆ อยู่แล้วนะคะว่า หากมีภาวะของโรคนี้ติดตัว อาการหลัก ๆ ที่จะแสดงออกคงเพลีย ๆ ง่วง ๆ ไปทั้งวัน
อีกทั้งโรคอ่อนเพลียเรื้อรังยังอาจทำให้นอนไม่ค่อยหลับในตอนกลางคืนได้อีกด้วยนะ ตอกย้ำซ้ำเติมให้ตอนกลางวันรู้สึกง่วงนอนจริงอะไรจริงไปกันใหญ่
นอกจากนี้แล้วอาการง่วงนอนบ่อย ๆ ยังอาจเกิดขึ้นได้กับคนที่อดนอนหรือนอนน้อยสะสมเป็นเวลานาน รวมทั้งคนที่ทำงานเป็นกะ ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด คนที่มีอาการเมาค้าง และกลุ่มคนที่ขาดการออกกำลังกาย จนร่างกายไม่ไหวที่จะกระปรี้กระเปร่าด้วยนะคะ
ดังนั้นเพื่อความชัวร์ว่าอาการง่วงนอนบ่อยของเราส่อโรคหรือเปล่า ก็อาจจะต้องดูอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย หรือหากสังเกตเห็นความผิดปกติในร่างกาย จะไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กโดยละเอียดเลยก็น่าจะชัดเจนที่สุด
ที่มา: kapook