ขี้หนาว มือเท้าเย็น ไม่มีแรง สัญญาณของ “ไฮโปไทรอยด์”


4,287 ผู้ชม

ต่อมไทรอยด์ เป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกายมากกว่าที่หลายๆ คนคิดนะคะ เพราะต่อมไทรอยด์มีหน้าที่ผลิตและควบคุมระดับฮอร์โมนภายในร่างกาย...


ขี้หนาว มือเท้าเย็น ไม่มีแรง สัญญาณของ “ไฮโปไทรอยด์”

ต่อมไทรอยด์ เป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกายมากกว่าที่หลายๆ คนคิดนะคะ เพราะต่อมไทรอยด์มีหน้าที่ผลิตและควบคุมระดับฮอร์โมนภายในร่างกาย ซึ่งเจ้าฮอร์โมนเหล่านี้นี่แหละที่คอยสร้างสมดุลให้กับร่างกายอีกที เพราะฉะนั้นหากต่อมไทรอยด์ไม่ปกติ ฮอร์โมนในร่างกายไม่ปกติ ร่างกายของเราก็จะขาดความสมดุลไปด้วย

หนึ่งในโรคที่เกิดขึ้นกับสภาวะผิดปกติของต่อมไทรอยด์ คือ “ไฮโปไทรอยด์” ค่ะ มีอาการอย่างไร รักษาอย่างไร และหลีกเลี่ยงอย่างไร

“ไฮโปไทรอยด์” คืออะไร?
ไฮโปไทรอยด์ หรือ ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ไม่สามารถสร้าง หรือหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ออกมา ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายได้ ส่งผลให้บางส่วนของร่างกายทำงานผิดปกติ


 
สาเหตุของ “ไฮโปไทรอยด์”
1. เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์เอง อาจจะเป็นผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ที่เคยผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกไปบางส่วน หรือทั้งหมด
2. เกิดจากภาวะผิดปกติของต่อมใต้สมอง ที่ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนมากระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ให้ทำงานเป็นปกติได้
 
ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็น “ไฮโปไทรอยด์”
มากกว่า 80% เป็นผู้หญิง และอาจเกิดกับวัยทอง

อาการของผู้เป็น “ไฮโปไทรอยด์” หรือภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์
-          ขี้หนาว มือเท้าเย็น ต้องใส่ถุงมือถุงเท้า ดึงแขนเสื้อมาปิดมือ หรือหาผ้ามาคลุมตลอด
-          อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เซื่องซึม ไม่กระฉับกระเฉง
-          เสียงแหบพร่า
-          ขี้หลงขี้ลืมในระยะเวลาอันสั้น คิดช้า ทำช้า
-          ท้องผูกบ่อยๆ
-          ผิวแห้ง ผมแห้ง อาจมีผมร่วงในบางราย
-          สมรรถภาพทางเพศลดลง
-          ประจำเดือนมาผิดปกติ
-          น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่ทานน้อย


 
วิธีรักษาภาวะ “ไฮโปไทรอยด์”
คุณหมออาจแนะนำให้ทานฮอร์โมนเสริม เฝ้าติดตามอาการ และตรวจฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายเรื่อยๆ แต่ทั้งนี้ “ไฮโปไทรอยด์” ไม่ใช่โรคภัยร้ายแรงอะไร เพียงแต่การให้ฮอร์โมนทดแทน จะช่วยรักษาสมดุลในร่างกาย ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากฮอร์โมนในร่างกายไม่ปกติในอนาคตได้ เช่น ระดับความรู้สึกลดลง อุณหภูมิในร่ายกายลดลง ความดันโลหิตต่ำลง หายใจช้าลง ไปจนถึงการเต้นของหัวใจช้าลง และเสียชีวิตได้ ดังนั้นควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอค่ะ
 
หากอยากลดโอกาสในการเป็น “ไฮโปไทรอยด์” ควรรีบรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเสียตั้งแต่วันนี้ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ที่สำคัญหมั่นตรวจ และสังเกตร่างกายของตัวเราเองให้ดี เพราะไม่มีใครรู้จักตัวเราดี เท่าตัวเราเองอีกแล้ว ยิ่งพบความผิดปกติกับร่างกายของตัวเองได้เร็วเท่าไร เราก็ยิ่งจะมีโอกาสหายจากอาการผิดปกติเหล่านั้นได้มากขึ้นนะคะ

ที่มา  สนุกออนไลน์

อัพเดทล่าสุด