อยากได้น้ำมันดี ต้องรู้สิ่งเหล่านี้!
กรดไขมันบางชนิดเป็นกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายไม่สามารถสร้างได้ ขณะที่บางชนิดก็มีส่วนทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจ ก็คือ “มีน้ำมันพืชบางชนิดสามารถช่วยลดคอเลสเตอรอล” เพิ่มวิตามินให้กับร่างกาย และลดการเกิดอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และมะเร็งได้ ดังนั้นถ้าอยากได้น้ำมันดีต้องสังเกตส่วนประกอบหลักๆ ของน้ำมันดังต่อไปนี้ก่อนตัดสินใจซื้อ คือ
1. ประเภทของกรดไขมัน
2. สารอาหารและวิตามินในน้ำมันพืช
ประเภทของกรดไขมันในน้ำมันพืช
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า กรดไขมันสำคัญอย่างไร?
คำตอบคือ กรดไขมันจะทำให้คุณสมบัติของน้ำมันต่างกัน และส่งผลต่อสุขภาพแตกต่างกันไป จากการวิจัยของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญพบว่า
1. กรดไขมันอิ่มตัว (Saturated Fatty Acid :SFA) จะ เพิ่ม ระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
2. กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Polyunsaturated Fatty Acid :PUFA ) จะ ลด ระดับคอเลสเตอรอลทุกชนิดในเลือดรวมทั่งคอเลสเตอรอลที่ดีด้วย
3. กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดียว (Monounsaturated Fatty Acid : MUFA ) จะ ลด ระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีเท่านั้น
แต่เดี๋ยวก่อน!!! จริงอยู่กรดไขมันที่ดีสามารถช่วยลดคอเลสเตอรอลได้ แต่เราก็ไม่ควรรับประทานโดยหวังว่าจะได้ไปลดโคเลสเตอรอลที่สูงอยู่นะคะ เพราะน้ำมันพืชทุกชนิด มีพลังงาน 9 กิโลแคลอรี่ต่อน้ำหนัก 1 กรัม หรือ 1 ช้อนชาให้พลังงานถึง 45 กิโลแคลอรี่เลยทีเดียว
สารอาหารและวิตามินในน้ำมันพืช
นอกจากกรดไขมันแล้ว ในน้ำมันพืชยังมีวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระ ดังนี้
1. วิตามินอี (VITAMIN E) กลุ่มโทโคฟีรอล และกลุ่มโทโคไตรอีนอล ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคมะเร็ง และช่วยลดระดับไขมันในเลือดได้อีกด้วย
2. โอรีซานอล (ORYZANOL) ซึ่งสถาบันวิจัยบรานสวิคส์ แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ทำการวิจัยและพบว่า มีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าวิตามินอีถึง 6 เท่าในสภาวะที่อยู่ในน้ำ
3. ไฟโตสเตอรอล (PHYTOSTEROL) ช่วยลดโคเลสเตอรอลที่ไม่ดี (LDL-C )
เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ องค์การอนามัยโลก(WHO) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) และสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา จึงได้แนะนำสัดส่วนของกรดไขมันที่ควรบริโภคประจำวัน คือ SFA: MUFA:PUFA เท่ากับ <10:10-15:<10 ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน
ตารางเปรียบเทียบปริมาณกรดไขมันแต่ละประเภทในน้ำมันพืชต่างๆ (หน่วย:ร้อยละ)
ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจเลือกซื้อน้ำมันพืชครั้งต่อไป ควรใช้เวลาศึกษาข้อมูลโภชนาการที่ฉลากก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณได้น้ำมันพืชเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง
ใช้น้ำมันพืชอย่างไร? ให้ถูกประเภทและถูกวิธี
น้ำมันพืชที่ใช้ปรุงอาหารให้ดีกับสุขภาพนั้น ควรเป็นน้ำมันที่มีสัดส่วนของกรดไขมันอิ่มตัวต่ำ เนื่องจากไขมันชนิดนี้ทำให้ร่างกายสร้างโคเลสเตอรอลหรือไขมันในเลือดชนิดเลว (LDL-C) ส่วนน้ำมันที่ใช้ในการผัดหรือทอด ควรเป็นน้ำมันที่มีจุดเกิดควัน (smoke point) สูงเนื่องจากน้ำมันที่มีจุดเกิดควันต่ำไม่ทนความร้อน ทำให้เสี่ยงที่จะเกิดสารก่อมะเร็งได้มากกว่าน้ำมันที่มีจุดเกิดควันสูง
(ข้อมูลจาก หนังสือเรื่อง “บำบัดเบาหวานด้วยอาหาร” โดยท่านอาจารย์ศัลยา คงสมบูรณ์เวช นักกำหนดอาหารที่ขึ้นทะเบียนใบอนุญาตวิชาชีพสหรัฐฯ พิมพ์ครั้งที่ 1)
ทราบแบบนี้แล้ว เราควรมีน้ำมันหลายๆ ชนิดไว้ในครัว แล้วเลือกใช้ให้เหมาะกับประเภทอาหารกันด้วยนะคะ