บิสซิโนซีส โรคจากการทำงาน
"โรคจากการทำงาน" หรือที่เป็นภาษาปะกิตว่า "บิสซิโนซิส" เป็นสิ่งที่คนบ้านเราในสมัยก่อนแทบไม่รู้จัก ไม่เคยคำนึงถึง บรรดาแรงงานหรือคนทำงานไม่มีใครสนใจว่าการงานต่างๆ ที่เราทำ เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องอยู่ฮึดๆ ก่อให้เกิดโรคภัยต่างๆ แก่ร่างกายได้ ถ้าจะรู้หรือสนใจบ้างก็เฉพาะอันตรายที่เกิดจากอุบัติเหตุ จนทำให้เกิดบาดแผลฉีกขาดเลือดเข้าเลือดออก คนงานในโรงโม่หิน คนงานในโรงสีในฉางข้าว คนงานขนปูน แบกปูน ที่อยู่ท่ามกลางฝุ่นผงคละคลุ้ง คนงานที่ต้องคลุกคลีอยู่กับฝุ่นละออง จากสารเคมีต่างๆ ยังไม่รู้สึกรู้สาว่าจะเป็นอันตรายแก่สังขารตัวเอง ก้มหน้าก้มตาทำงานโดยไม่อีนังขังขอบ ยังมีให้เห็นทั่วไปในบ้านเรา ดูแล้วไม่สบายใจ อดเป็นห่วงแทนเขาไม่ได้ แต่พอไปชี้แนะหรือบอกแล้ว เขามองเราเป็นตัวประหลาดหรือยุ่งไม่เข้าเรื่อง เลยต้องถอยออกมา
อันที่จริงโรคที่เกิดจากการทำงานมีแม้กระทั่ง คนที่อยู่ในห้องแอร์หรืออยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งเราเห็นว่า พวกนี้ทำงานเบาหวิว เข้าข่ายเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อเสียด้วยซ้ำ แต่มดหมอก็บอกว่าเกิดโรคได้เช่นกัน สำหรับอาการสำคัญที่เกิดจากการทำงานยุคไอเอ็มเอฟแล้ว พากันคลุ้มคลั่ง หรือเป็นบ้า หรือโดดตึกฆ่าตัวตาย อันนี้ไม่ใช่ โรคที่เกิดจากการทำงาน แต่เป็นผลข้างเคียงจากการทำงานแล้วเจ็งไม่มีเจ๊า อย่างคนเหนือชอบพูด เปลี่ยนจากท่านประธานบริษัทโน่น บริษัทนี่ จากอาเสี่ยอาซ้อเดินชูคอ มามีฐานะยากจนยิ่งกว่ายาจก (ยาจกไม่มีเครดิตไม่มีหนี้) ควรเรียกว่า โรคที่เกิดจากความรวยหรืออยากรวย ซึ่งเป็นโรค ที่ระบาดในสังคมโลกปัจจุบัน เป็นโรคที่พระในวัดส่วนใหญ่ ก็เป็นผู้ก่อหรือเป็นต้นเหตุ เพราะเห็นพระสงฆ์แต่ละวัดเอ่ยแต่เรื่องความร่ำรวย ญาติโยมไปหาก็เน้นแต่เรื่องให้คนรวย แจกเครื่องลางของขลัง รดน้ำมนต์พูดพร่ำให้รวย ให้รวย ให้รวยตลอดเวลา เลิกสอนธรรมะ เลิกชี้แนะให้คนสมถะ ให้คนสันโดษ ให้คนรู้จักพอเพียง ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาช้านานแล้ว ซึ่งพระก็มักจะแก้ตัวว่า ต้องทำตามใจญาติโยมเขาต้องการยังงั้น ที่ขอหวยเพื่อหวังรวยพระก็ให้ถมเถไป แต่คงเถียงไม่ได้หรอกว่า พระสนับสนุนให้คนรวยเอ่ยแต่เรื่องรวยอยู่วันยังค่ำ จนเอ่ยอย่างอื่นไม่เป็น เพราะวาดหวังให้คนรวยบริจาคเงินเข้าวัดนั่นเอง สรุปคือ พระหรือวัดก็อยากรวยนั่นแล ครับทุกวันนี้ เรามีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน คุ้มครองคนทำงาน มีกฎระเบียบข้อบังคับมากมายให้นายจ้างใส่ใจเรื่องความปลอดภัย ของลูกจ้างในการทำงาน กำหนดวิธีการต่างๆ ให้นายจ้างปฏิบัติ เพื่อป้องกันโรคภัยให้แก่ลูกจ้าง แต่ในความเป็นจริงบ้านเรายังละเลย บรรดาโรงงานห้างร้านทั่วไป ยังปล่อยให้คนงานเสี่ยงภัยไปตามบุญตามกรรม ขณะที่คนงานก็ไม่รู้เรื่องราวไม่รู้ถึงพิษภัยที่เกิดจากการทำงาน ที่พอจะรู้บ้างก็ช่างหัวมัน เนื่องจากเกิดความเคยชิน ถือเอาความสบายเป็นที่ตั้ง และไม่กลัวโรคภัยเพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นปุ๊บปั๊บ แต่เป็นไปในระบบตายผ่อนส่งซะมากกว่า ที่เป็นกิจลักษณะก็เฉพาะ โรงงานขนาดใหญ่หรือมีมาตรฐาน ถึงกระนั้นคนงานก็มักจะละเลย หรือมักง่ายถือเอาความสะดวก ไม่อยากใช้หรือสวมใส่เครื่องป้องกัน ให้มันรุงรังหรือรำคาญ กฎหมายที่เรามีอยู่ขณะนี้เกณฑ์ให้นายจ้างรับผิดชอบพอสมควร ถ้าลูกจ้างได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการทำงาน นายจ้างต้องชดใช้ กรณีที่อยู่ในข่ายประกันสังคมลูกจ้าง หรือคนงานมีสิทธิได้รับเงินทดแทน ผมมีคนรู้จักทำงานอยู่การไฟฟ้า ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง พี่แกตกที่นั่งซวย ไปที่ทำงานแล้วโดนเศษหินจากเครื่องตัดหญ้า ที่คนงานกำลังตัดอยู่ที่สนามกระเด็นใส่ตาข้างหนึ่ง ตาไม่ถึงกับบอดสนิท แต่การมองเห็นลดลงโดยเฉพาะตอนกลางคืนใช้การแทบไม่ได้เลย อยู่ในชั้นที่เรียกว่าเสียดายดวงตาหรืออวัยวะ ปรากฏว่าพี่แกได้เงินทดแทนเป็นล้านบาท แต่ต้องเดินเรื่องมีการไต่สวนหาข้อเท็จจริงอยู่พอสมควร จนเชื่อได้ว่าดวงตาได้รับอันตรายจริง อยู่ในข่ายเจ็บป่วย หรือได้รับอันตรายจากการทำงาน แล้วมาโมเมชั่นเอาเงินค่าทดแทน ไปกินอย่างหวานๆ คดีนี้มีปัญหาข้อพิพาทกันเกี่ยวกับเรื่องโรคที่เกิดจากการทำงาน ทางนายจ้างก็เถียงว่าไม่ใช่ โรงงานมีเครื่องป้องกันอย่างดีแล้ว ทางลูกจ้างก็บอกว่าใช่ จะเอาเงินค่าทดแทน เรามาดูกันว่า คดีนี้ออกหัวออกก้อยยังไง นายจ้างในคดีนี้เป็นบริษัทประกอบกิจการทอผ้า เมื่อเอ่ยถึงโรงงานทอผ้าท่านคงเดาได้ว่าคนงานหรือลูกจ้าง น่าจะเสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจหรือโรคปอดไม่น้อย คนงานที่มีปัญหาคือ "น.ส.ไหมไทย" กับ "น.ส.สะไบ" ชื่อเจ้าหล่อนไปกันได้กับงานที่ทำ เธอเกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคปอด อ้างว่าเกิดจากการทำงานทอผ้าให้บริษัท จึงร้องขอค่าทดแทน จากสำนักงานประกันสังคม ทางสำนักงานกองทุนเงินทดแทนซึ่งเป็นหน่วยงาน ในสังกัดของสำนักงานประกันสังคม พิจารณาแล้วเห็นว่า จริงตามที่ลูกจ้างทั้งสองอ้างมีสิทธิได้รับเงินทดแทน บริษัทเห็นว่าไม่ใช่ เป็นเรื่องที่ น.ส.ไหมไทยและน.ส.สะไบ ตีขลุมหรือโมเม จึงยื่นอุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน บริษัทเพลี่ยงพล้ำโดยยกอุทธรณ์ บริษัทที่เป็นโรงงานทอผ้าไม่ยอมง่ายๆ ให้ทนายยื่นฟ้อง สำนักงานประกันสังคม เป็นจำเลย อ้างในคำฟ้องว่า " บริษัทจัดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (ผ้าปิดจมูก) ให้ลูกจ้างทุกคน ที่ทำงานเป็นห้องโถงโล่ง ควบคุมความชื้น มีอุปกรณ์ในการเก็บฝุ่นละออง มีเครื่องดูดฝุ่นฝ้ายลงสู่อุโมงค์ใต้พื้นทางเดินและแผ่นกรองด้านผนัง มีแพทย์และพยาบาลคอยให้การรักษาให้คำแนะนำแก่ลูกจ้าง ในการทำงานทุกวัน ส่งเสริมให้ออกกำลังกายตลอดปี สำนักงานกองทุนเงินทดแทนไม่ได้จัดส่งตัวลูกจ้างไปตรวจ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกครั้งหนึ่ง มีแต่ใบรับรองจากหมอโรงพยาบาลใบเดียว จึงไม่เชื่อว่าคนทั้งสองป่วยเป็นโรคปอดบิสซิโนซีส ถ้าป่วยจริงก็เกิดจากความบกพร่องในร่างกายของลูกจ้างที่ผิดปกติ งานนี้ไม่ต้องจ่ายเงินทดแทน จึงขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัย ของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสีย สำนักงานประกันสังคมซึ่งจำเป็นเลยสู้คดี ให้การว่า " ลูกจ้างทั้งสองได้รับการรักษาจากแพทย์ที่โรงพยาบาล และลงความเห็นว่าป่วยเป็นโรคปอดบิสซีโนซีสอันเนื่องมาจากการทำงาน บริษัทไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน เพราะเป็นสิทธิของลูกจ้างเท่านั้น บริษัทไม่ได้ถูกโต้แย้งสิทธิ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง ระหว่างพิจารณา น.ส.ไหมไทย น.ส.สะไบ ร้องขอเข้ามาเป็นจำเลยร่วม เพราะคดีแพ้ชนะมีผลโดยตรงถึงเธอทั้งสองว่าจะได้เงินทดแทนหรือไม่ ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้ร่วมวงด้วย ศาลแรงงานกลางทำงานคดีนี้ไม่เหน็ดเหนื่อยสักเท่าไหร่ เพราะไม่ได้มีการสืบพยาน เนื่องจากทนายของทั้งสามฝ่าย มาเจอกันที่ศาลในวันนัดพร้อม แล้วแถลงว่าคดีนี้มีประเด็นสำคัญ อย่างเดียวคือ น.ส.ไหมไทย และ น.ส.สะไบ ป่วยเป็นโรคปอด เนื่องจากการทำงานหรือไม่ ประเด็นนี้มีคำท้าในคดีอื่นที่ฟ้องร้องกันอยู่แล้วในศาลแรงงานกลาง คือ ท้ากันให้ศาลตั้งคณะกรรมการแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นมาตรวจ วิเคราะห์โรคอีกครั้งหนึ่ง ทั้งสามฝ่ายจึงตกลงให้ถือเอาคำท้าในคดีนั้น มาเป็นเกณฑ์ตัดสินคดีนี้ ศาลเลยสั่งจำหน่ายคดีนี้เป็นการชั่วคราว เพื่อรอฟังผลคำท้า ปรากฏว่าต่อมาว่า สองสาวไม่ยอมไปให้คณะกรรมการแพทย์ตรวจ ทั้งๆ ที่รับหนังสือกำหนดนัดหมายตั้ง 3 ครั้งศาลเห็นว่า สองสาวมีพิรุธ ไม่ป่วยจริงและใช้สิทธิไม่สุจริตศาลแรงงานกลางจึงงดสืบพยานคดีนี้ และพิพากษาให้บริษัทชนะคดี น.ส.ไหมไทย และน.ส.สะไบ เห็นว่าจะชวดเงินทดแทน จึงยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา ในการยื่นฎีกาสองสาวโต้ว่า " ศาลแรงงานกลางดำเนินการพิจารณาผิดระเบียบ เนื่องจากไม่ได้มีการปฏิบัติตามคำท้า การที่ศาลแรงงานกลาง จำหน่ายคดีชั่วคราว เพื่อรอผลการตรวจของคณะแพทย์ และตัดสินตามคำท้า แล้วให้บริษัทชนะคดีจึงไม่ถูกต้อง และอ้างด้วยว่าการตั้งคณะกรรมการแพทย์ไม่มีกฎหมายรองรับ " ศาลฎีกาคว้าคดีนี้มาอ่านจนทะลุปรุโปร่งแล้วชี้ขาดออกมาดังนี้ "ศาลแรงงานกลางจำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอผลการตรวจ ของคณะแพทย์ว่า สองสาวป่วยด้วยโรคอันเกิดจากการทำงานจริงไหม เป็นอำนาจที่ศาลทำได้เพื่อความสะดวกในการพิจารณาตัดสินคดี และเมื่อไม่มีการทำตามคำท้าคือ สองสาวไม่ไปให้ตรวจ ศาลก็ตัดสินคดีไปตามเหตุ ผลปรากฏในสำนวนและพยานหลักฐานคือ ในประเด็นที่สองสาวอ้างว่า บริษัทไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลแรงงานกลาง ก็แจงไว้แล้วว่า แม้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตรา และวิธีเรียกเก็บเงินสมทบฯ ห้ามนายจ้างอุทธรณ์คำวินิจฉัย ของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนก็จริง แต่ไม่ได้ตัดสิทธิ การนำคดีขึ้นศาลเพื่อพิสูจน์ว่าคำวินิจฉัยไม่ถูกต้อง และกรณีที่ให้จ่ายเงินทดแทน บริษัทอาจถูกเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มได้ จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของบริษัท บริษัทมีอำนาจฟ้อง ในประเด็นต่อมาศาลแรงงานก็ฟ้องว่า สองสาวไม่ได้ป่วย ด้วยโรคบิสซิโนซีสเนื่องจากการทำงาน เพราะสองสาวไม่ไป ให้คณะกรรมการแพทย์ตรวจตามนัดหมาย 3 ครั้ง จึงเป็นข้อพิรุธ แสดงว่าไม่ได้ป่วยจริงและไม่สุจริต จึงไม่ได้เงินทดแทน งานนี้ศาลตัดสินไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ไม่ได้ตัดสินตามคำท้า แม้จะมีการบันทึกไว้ว่าทุกผ่ายจะทำตามคำท้าก็ไม่ทำให้ผลของคดี เปลี่ยนแปลงไป สำหรับการตั้งคณะกรรมการแพทย์เพื่อตรวจสองสาวตามคำท้า เป็นไปตามความต้องการและความพอใจของทุกฝ่าย สองสาวก็เอาด้วย ศาลแรงงานจึงมีหนังสือเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตามรายชื่อ จากกองอาชีวอนามัยรวม 6 คน และแพทย์อื่นที่น่าเชื่อถือร่วมด้วย เข้าข่ายเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลแรงงานตั้งได้ตามที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 30 ให้อำนาจไว้ ข้ออ้างของสองสาวฟังไม่ขึ้น ศาลฎีกาพิพากษายืน" คดีนี้ได้ความเป็นที่แน่ชัดว่า ลูกจ้างโรงงานทอผ้าหัวหมอ เมื่อเจ็บป่วยขึ้นมา ก็โวยว่าเกิดจากการทำงาน และเรียกร้องเงินค่าทดแทน ปรากฏว่า สำนักงานประกันสังคมและสำนักงานกองทุนเงินทดแทน ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานประกันสังคมมีมติให้จ่าย เพราะมีใบรับรองแพทย์ของหมอคนหนึ่งจากโรงพยาบาล แต่ไม่ง่าย โรงงานทอผ้าเขาเชื่อว่าสองสาวไม่ได้เป็นโรคปอดจากการทำงาน จึงโต้แย้งกองทุนเงินทดแทน เมื่อไม่สำเร็จเขาก็ฟ้องไปที่ศาลแรงงานกลาง ซึ่งศาลฎีกาในคดีนี้ชี้ไว้ว่ามีอำนาจฟ้อง การแพ้ชนะเกิดจากการตกลงให้ศาลแรงงานตั้งคณะกรรมการแพทย์ขึ้นมา เพื่อตรวจสองสาวว่า ป่วยจากการทำงานจริงไหม แล้วไม่รู้ว่าเพราะเหตุใด สองสาวไม่ยอมไปตรวจทั้งๆ ที่หมอมีหนังสือนัดถึง 3 ครั้ง ศาลจึงถือว่าเป็นพิรุธ แสดงว่าเจ้าหล่อนตอแหล ตัดสินใจให้เพิกถอนมติของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน ไม่ต้องจ่ายเงินให้สองสาว เรื่องก็มีอยู่ยังงี้แหละเราๆ ท่านๆ ที่อยู่ในประเทศไทย อันเป็นประเทศที่แปลกประหลาดเหลือหลาย นักการเมืองโกงกินโต้งๆ อย่างเช่นกรณีผักสวนครัวฮั้วกินได้แล้วไม่มีการเอาเข้าคุก เพราะนักการเมืองทำตัวเป็นแมลงวัน ไม่ตอมพวกเดียวกัน ไม่เอาผิดพวกเดียวกัน ประชาชนกว่าหกสิบล้านคนได้แต่นั่งทำตาปริบๆ อย่างมาก ก็รวมตัวกันไปเย้วๆ ขอเงินหรือขอนั่นขอนี่ ไม่เคยคิดปกป้องบ้านเมือง ไม่เคยคิดรวมตัวกันเรียกร้องให้ลากคอนักการเมืองเลวมาลงโทษ แม้แต่รายเดียว ปล่อยให้ลอยนวลทุกรายไป อนาถจริงๆ
ณรงค์ นิติจันทร์
แหล่งที่มา : https://www.elib-online.com