การจ้างแรงงานภายนอกการบินไทยเป็นการขาดธรรมมาภิบาลจริงหรือ? ตอนที่ 1
การจ้างแรงงานภายนอกการบินไทยเป็นการขาดธรรมมาภิบาลจริงหรือ?
ตอนที่ 1 ความเห็นของอัยการ
ผมได้อ่านหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับลงวันที่ 7 เมษายน 2548 หน้า 18 คอลัมน์เศรษฐกิจ ความว่า “แหล่งข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า ทางผู้บริหารบริษัทได้ส่งข้อกำหนด ทีโออาร์ ให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา เนื่องจากยังมีบางประเด็นใน ทีโออาร์ที่ไม่สามารถหาข้อยุติในแง่กฎหมายและแนวทางปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ ซึ่งทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีหนังสือตอบกลับมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2547 ว่ากรณีที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะจัดหาแรงงานภายนอกนั้น เห็นว่ามีความเสี่ยงทางกฎหมายสูง เพราะหากแรงงานภายนอกใช้สิทธิ์เรียกร้องต่อศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2543 ศาลแรงงานอาจจะพิจารณาว่านิติสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่เป็นแรงงานภายนอกมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 หรือถือว่าเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2543 มาตรา 6 ดังนั้น การจ้างแรงงานภายนอกอาจมีผลกระทบต่อภาพพจน์ของบริษัท ในฐานะที่การบินไทยเป็นบริษัทมหาชนได้ว่า บริษัทขาดธรรมมาภิบาล เพราะหลีกเลี่ยงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์” พออ่านบทความนี้จบผมก็ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการทำความเห็นเช่นนั้นของสำนักงานอัยการสูงสุด (ถ้าได้ทำจริง) และเห็นว่ากระบวนการพัฒนารัฐวิสาหกิจในบ้านเราคงทำได้ยากเสียแล้ว เพราะตราบใดที่ผู้บริหารหรือผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายไม่มีความกล้าหาญและจิตสำนึกเกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพประสิทธิผลและลดต้นทุนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนด้านการพนักงานซึ่งมีอยู่ประมาณ 20-30% ของต้นทุนดำเนินการทั้งหมด ก็ยากที่เราจะพัฒนารัฐวิสาหกิจของไทยให้ก้าวหน้าได้ การลดต้นทุนด้านการพนักงานโดยวิธีจัดจ้างแรงงานจากหน่วยงานภายนอกเป็นกระแสที่ทำกันมากในขณะนี้ทั้งในและต่างประเทศโดยสามารถทำได้ทั้งงานหลัก ( CORE BUSINEES) และงานสนับสนุน (SUPPORT) ซึ่งจะช่วยให้องค์การสามารถใช้ประโยชนและจัดสรรทรัพยากรทางการเงินได้อย่างคุ้มค่าเพราะไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับสวัสดิการทั้งของตัวพนักงานเองและพ่อแม่ลูกเมีย (หรือสามี) ของพนักงานซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินมหาศาลตลอดชีวิตการทำงานของพนักงานรัฐวิสาหกิจต่อหนึ่งคน (เคยมีผลการวิจัยว่า ข้าราชการตั้งแต่เริ่มรับราชการจนถึงเกษียณอายุการทำงานประเทศชาติต้องจ่ายเงินเป็นเงินเดือนและสวัสดิการทั้งของข้าราชการเองและครอบครัวเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาทต่อข้าราชการหนึ่งคน พวกเรา ก็ลองคิดดูเอาเองว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจทั้งประเทศจำนวนหลายแสนคนซึ่งมีโครงสร้างเงินเดือนและสวัสดิการสูงกว่าข้าราชการมากมายนัก รวมแล้วจะสักเท่าไรต่อคน และเคยมีการพิสูจน์หรือไม่ว่าประเทศชาติได้รับสิ่งตอบแทนอย่างคุ้มค่าจากการจ่ายเงินเดือนหรือค่าตอบแทนเหล่านั้น) ทั้งเมื่อผู้ว่าจ้าง ได้ Outsource หรือตัดงานให้แก่ผู้รับเหมาซึ่งมีความชำนาญจริงในงานนั้นและจ่ายค่ารับเหมาตามข้อตกลงแล้วก็เป็นหน้าที่ของผู้รับเหมา ที่จะต้องจัดหาคนมาทำงานเองให้ครบถ้วน ถูกต้องตามปริมาณ คุณภาพ เงื่อนไขและเงื่อนเวลาให้ตรงตามที่ตกลงกันเท่านั้น ส่วนความรับผิดชอบในเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการพนักงานของผู้รับจ้างก็ดี เงินสมทบในส่วนของนายจ้างในกองทุนประกันสังคมก็ดี ตกเป็นหน้าที่ของผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบเองทั้งสิ้นตามกฎหมายเพราะอยู่ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างกันตามความเป็นจริงทางกฎหมายทุกประการ แต่การที่สำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นว่าระหว่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่เป็นแรงงานภายนอก มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 หรือถือว่าเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2543 มาตรา 6 นั้น ผมคิดว่าไม่สมตามเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว เพราะเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นั้นเป็นไปเพื่อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน การจ่ายค่าจ้างและเงินอื่นๆ ที่เกี่ยวกับกาจ้าง การดูแลสวัสดิภาพและสวัสดิการ คุณภาพชีวิตในการทำงานของลูกจ้าง ตั้งแต่แรกเข้าทำงานจนพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้าง นอกจากนี้ยังได้กำหนดตัวบุคคลที่ต้องรับผิดชอบในทางแพ่งแทนนายจ้างตัวจริง ในกรณีที่นายจ้างตัวจริงไม่รับผิดชอบต่อลูกจ้าง ตลอดจนการไล่เบี้ยกันเองระหว่างนายจ้างต้นทางจนถึงนายจ้างปลายทางอีกด้วย จึงมีลักษณะเป็นกฎหมายเอกชนคละเคล้ากับกฎหมายมหาชนอาจเรียกรวมกันว่า เป็นกฎหมายเพื่อความเป็นธรรมในสังคมก็ได้
โดย..เกรียงไกร เจียมบุญศรี
นิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม) (ม.ร.) ประกาศนียบัตรบัณฑิตกฎหมายธุรกิจ (ม.ธ.),MPA (จุฬาฯ)
ทนายความที่ปรึกษากฎหมายในคดีแรงงาน
5/5/2549