การทำงานเกี่ยวข้องกับไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ (VCM)


1,238 ผู้ชม


การทำงานเกี่ยวข้องกับไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ (VCM)




ไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ (Vinyl chloride monomer; Ethylene monochloride; Monochloroethylene) หรือที่รู้จักดีในชื่อ VCM เป็นก๊าซไม่มีสี และจะเป็นของเหลวภายใต้ความดัน โดยจัดเป็น 1 ในกลุ่มสารเคมีอินทรีย์ 10 อันดับแรก ที่มีการนำเข้าประเทศเพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมที่มีการนำไวนิลคลอไรด์มาใช้มาก คืออุตสาหกรรมผลิตพลาสติก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลาสติกพีวิซี ซึ่งปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง โดยมีการนำมาทำเป็นท่อยาง ท่อประปา กระเบื้องยาง ภาชนะบรรจุ ขวดน้ำดื่ม และอุปกรณ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีการใช้ในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ผลิตเรซิน ใยสังเคราะห์ น้ำมันชักเงา ยาง สี ซักแห้ง ชุบโลหะด้วยไฟฟ้า ฯลฯ
อย่างไรก็ตามไวนิลคลอไรด์จัดเป็นสารอันตราย โดยมีความไวไฟสูงมาก ไอของสารนี้เมื่อรวมตัวกับอากาศในอัตราส่วนที่พอเหมาะจะทำให้เกิดการระเบิดได้ นอกจากนี้ ยังเป็นสารที่มีศักยภาพเชิงอันตรายต่อสุขภาพสูง โดยมีรายงานพบว่าทำให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรง เช่น การเกิดมะเร็งที่ตับได้ และสารนี้ยังทำอันตรายต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น การเป็นพิษต่อระบบประสาท อันตรายต่อระบบหลอดเลือดแดง ผิวหนัง กระดูก ตับ และโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องควรทราบถึงอันตรายและแนวทางการควบคุมป้องกันที่เหมาะสม
ส่วนใหญ่ไวนิลคลอไรด์ เข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจเอาไอสารเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ซึ่งสามารถผ่านเข้าไปในระบบไหลเวียนโลหิต ไปตามเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ส่วนการผ่านเข้าทางผิวหนังและการปนเปื้อนในอาหารจะเป็นส่วนน้อย การเกิดอันตรายและอาการจำแนกได้ดังนี้
1) แบบเฉียบพลัน
เมื่อได้รับสารในปริมาณความเข้มข้นสูง จะทำให้มึนงง วิงเวียน อ่อนเพลีย ง่วง รู้สึกขาหนัก เสียการทรงตัว การได้ยินและการมองเห็นไม่ชัดเจน ถ้าปริมาณความเข้มข้นสูงมากจะทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้
2) แบบเรื้อรัง
การได้รับไวนิลคลอไรด์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดความผิดปกติหรือโรคพิษไวนิลคลอไรด์ขึ้น โดยมีรายละเอียดของการเกิดโรคคือ
- อาการพิษทางระบบประสาท จะมีอาการอ่อนเพลีย มึนงง ขาหนัก ครึ่งหลับครึ่งตื่น ซึ่งอาการเหล่านี้จะปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็ว และถ้ายังรับสารต่อไป จะทำให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาท โดยระบบประสาทจะเริ่มอ่อนล้า การรับรู้ต่าง ๆ น้อยลง แต่ก็จะไม่ปรากฏให้เห็นชัดเจน
- การเกร็ง หดตัว และแข็งตัวของหลอดเลือด และการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง โดยในระยะแรก จะมีอาการนิ้วมือซีด แข็ง ผิวหนังไม่สามารถยืดหยุ่นได้ การงอพับเป็นไปด้วยความลำบาก มีตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นที่บริเวณเท้า คอ ใบหน้า หลัง และบางครั้งอาจมีอาการหายใจไม่ออกเกิดขึ้นอย่างกระทันหัน และมีอาการเจ็บขณะหายใจ
- การสลายตัวของกระดูก มักจะมีการเปลี่ยนแปลงส่วนของโครงสร้างร่างกายโดยเฉพาะบริเวณกระดูกปลายนิ้วมือ การตีบและอุดตันของเส้นเลือดแดงบริเวณกระดูกต่าง ๆ เมื่อเอกซเรย์จะแสดงให้เห็นภาพการสลายตัวของกระดูกอย่างชัดเจน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงตามแนวความยาวของกระดูกข้อมือ
- การเปลี่ยนแปลงที่ตับ ทุกรายที่ได้รับพิษจากไวนิลคลอไรด์ จะมีอาการเกิดขึ้นที่ตับ โดยเริ่มจากการย่อยอาหารลำบากขึ้น อึดอัด มีก๊าซในช่องท้องและลำไส้ ตับจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อกดหรือสัมผัสท้องบริเวณนี้จะไม่รู้สึกปวด ผู้ที่ได้รับสารนี้เป็นระยะเวลานาน จะมีเนื้อเยื่อผิดปกติเกิดขึ้นที่ตับและม้าม เนื้อเยื่อตับจะบวมและตายในที่สุด โรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในระยะนี้คือ ความดันโลหิตสูง เลือดออกตามบริเวณทางเดินอาหาร เป็นต้น
- การเกิดโรคมะเร็งของระบบอวัยวะต่าง ๆ ถือเป็นอันตรายร้ายแรงที่สำคัญของการได้รับไวนิลคลอไรด์ โดยอาการเริ่มจากการเป็นเนื้องอกที่ร้ายแรง ส่วนใหญ่อาการจะไม่แสดงจนกว่าจะอยู่ในระยะสุดท้าย เช่น ตับโตและเจ็บปวด สภาพร่างกายทั่วไปเสื่อมโทรม อาการที่มักเกิดคู่กับการเกิดเนื้อเยื่อผิดปกติที่ตับ คือ ภาวะที่มีเลือดออกตามทางเดินอาหาร ม้ามทำงานหนักขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้เป็นมะเร็งที่ระบบไหลเวียนโลหิต น้ำเหลือง และระบบทางเดินอาหารด้วย
ในส่วนของมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานทำงาน กฎหมายแรงงานได้กำหนดให้ไม่ว่าระยะเวลาใดของการทำงานปกติ ห้ามลูกจ้างทำงานในที่ที่มีปริมาณความเข้มข้นของสารเคมีในบรรยากาศการทำงานเกินกว่า 1 ส่วนในล้านส่วนอากาศ หรือ 2.8 มิลลิกรัมต่ออากาศลูกบาศก์เมตร
แนวทางการในป้องกัน ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน
- จัด ออกแบบอุปกรณ์ เครื่องมือในการผลิตที่เกี่ยวข้องกับไวนิลคลอไรด์ เป็นระบบการทำงานแบบอัตโนมัติ โดยมีคนงานเป็นเพียงผู้ควบคุม เพื่อลดโอกาสการสัมผัสสาร
- จัดให้มีระบบการระบายอากาศอย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากในการป้องกันการเกิดอันตรายต่อสุขภาพคนงาน
- ห้ามมิให้มีการก่อให้เกิดเปลวไฟ ประกายไฟ ในบริเวณที่มีการเก็บหรือการใช้สารนี้
- ตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่ให้มีปริมาณสารไวนิลคลอไรด์ในบรรยากาศการทำงานเกินค่ามาตรฐาน รวมทั้งปรับปรุง แก้ไขให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันอันตรายต่าง ๆ ในกระบวนการผลิต
- ตรวจสุขภาพร่างกายก่อนรับเข้าทำงาน โดยดูประวัติการเจ็บป่วยในอดีตอย่างละเอียด รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ และให้มีการตรวจร่างกายทุก 6 เดือน
- การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลขณะปฏิบัติงาน
- ดูแลสุขอนามัยในสถานที่ทำงานให้มีความเหมาะสม เช่น จัดให้มีที่ชำระร่างกายและมือหลังปฏิบัติงาน มีการแยกเก็บชุดปฏิบัติงาน มิให้มีการรับประทานอาหารหรือสูบบุหรี่ในบริเวณที่มีการใช้สารนี้



ที่มา/ผู้ดำเนินการ :  เอกสารความปลอดภัย สถาบันความปลอดภัยในการทำงาน

อัพเดทล่าสุด