เงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 เรียกค่าดำเนินการสำหรับการจะเข้ามารับงานก่อสร้างสถานีเครือข่ายโทรคมนาคมของจำเลยที่ 1 จากนาย ณ. พนักงานบริษัท ท. ให้แก่บริษัท ค. ซึ่งจะเข้ามาประมูลงานก่อสร้างจากจำเลยที่ 1 และได้จัดส่งราคากลางแล้วยืนยันแนวโน้มจะได้รับงานจากจำเลยที่ 1 เป็นการอาศัยตำแหน่งความเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แอบอ้างเรียกเอาผลประโยชน์จากบุคคลภายนอกให้แก่บริษัท ค. การกระทำดังกล่าวแม้ว่าจะเพื่อให้มีบุคคลภายนอกเข้ามาประมูลงานหรือร่วมงานกับจำเลยที่ 1 แต่ก็ทำให้บุคคลภายนอกเข้าใจได้ว่าการจะเข้ามาร่วมงานกับจำเลยที่ 1 จะต้องมีการวิ่งเต้นเสียเงินตอบแทนทำให้จำเลยที่ 1 เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง และอาจทำให้บุคคลภายนอกที่เข้าใจว่าจะต้องเสียเงินเป็นค่าดำเนินการและไม่เข้ามาร่วมงานกับจำเลยที่ 1 ได้ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องในการประกอบธุรกิจของบริษัท ค. อันอาจมีผลกระทบเสียหายถึงผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4), 67
สำหรับค่าเสียหายจากการที่โจทก์ไม่ได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น แม้ว่าโจทก์จะฟ้องเรียกอ้างว่าเป็นค่าเสียหายแต่ก็เป็นการเรียกให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบซึ่งตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 บัญญัติให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้จดทะเบียนแล้วให้เป็นนิติบุคคล และตามมาตรา 23 บัญญัติให้เมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้าง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ดำเนินการให้แก่จำเลยที่ 1 คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ดังนั้น ผู้จัดการของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวจึงมีหน้าที่จ่ายเงินให้ลูกจ้าง จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่อำนาจฟ้องเป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเอง
คำพิพากษาที่ 4712/2551