ปิดกิจการชั่วคราว


832 ผู้ชม


ปิดกิจการชั่วคราว




ฎีกาที่ 8880-8886/2542 (มาตรา 75,139)

            พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 75 วรรคหนึ่งมีเจตนารมณ์คุ้มครองนายจ้างที่ต้องประสบวิกฤติการณ์ในการดำเนินกิจการซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย ส่งผลกระทบกระเทือนกิจการของนายจ้างอย่างรุนแรงจนถึงขั้นมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว อันเป็นสิทธิแก่นายจ้างที่จะไม่ให้ลูกจ้างทั้งหมดหรือบางส่วนทำงานเป็นการชั่วคราว โดยไม่เลือกปฏิบัติว่าลูกจ้างที่จะให้หยุดงานชั่วครานั้นเป็นกรรมการลูกจ้างหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้นายจ้างมีโอกาสแก้ไขวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นให้หมดไปหรือบรรเทาลง แต่นายจ้างก็มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินแก่ลูกจ้างในระหว่างที่หยุดกิจการชั่วคราวเพียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน แม้กฎหมายจะให้สิทธิแก่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเพื่อแก้ไขวิกฤติการณ์ได้ กฎหมายก็ไม่ยอมให้นายจ้างกระทำไปโดยอิสระ แต่ได้กำหนดมาตรการควบคุมไว้ในมาตรา 75 วรรคสอง หากปรากฏในภายหลังว่านายจ้างกล่าวอ้างยกเหตุจำเป็นต้องหยุดกิจการตามมาตรา 75 เป็นความเท็จเพื่อเอาเปรียบลูกจ้าง ลูกจ้างก็ชอบจะใช้สิทธิฟ้องต่อศาลแรงงานเพื่อเรียกค่าเสียหาย รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ หากมีตามสัญญาจ้างหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจากนายจ้างได้

            พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 75 มีเจตนารมณ์แตกต่างกันอย่างชัดเจนจากบทบัญญัติ มาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ฯ ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างที่เป็นกรรมการลูกจ้างโดยเฉพาะให้พ้นจากการเลือกปฏิบัติหรือกลั่นแกล้งจากนายจ้างด้วยการเลิกจ้าง ลดค่าจ้าง ลงโทษขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของการรมการลุกจ้าง หรือกระทำการใดที่อาจเป็นผลให้กรรมการลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ อันเป็นสถานการณ์ปกติของนายจ้าง ไม่ใช่กรณีที่นายจ้างประสบวิกฤติการณ์ จนจำเป็นต้องหยุดการดำเนินกิจการไว้ชั่วคราวตามมาตรา 75

            ที่ผู้ร้องนายจ้างในคดีนี้อ้างว่า มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการบางส่วนชั่วคราวโดยสาเหตุที่มิใช่เหตุสุดวิสัย และขอจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างทั้งเจ็ดซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับ เป็นการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 75 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องด้วยมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ฯ ที่จะต้องขออนุญาตต่อศาลแรงงานก่อน กรณีตามคำร้องยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิและไม่ใช่กรณีที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิทางศาล ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องชอบแล้ว
ที่มา : สมบัติ ลีกัล


อัพเดทล่าสุด