นิยามศัพท์คำว่า ค่าจ้าง


887 ผู้ชม


นิยามศัพท์คำว่า ค่าจ้าง




คดีแดงที่  9096/2546

นายสมพงษ์ ตั๊นมาก โจทก์
บริษัทไทยฟิล์มอินดัสตรี จำกัด จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 583
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5
พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 10
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 นิยามศัพท์คำว่า ค่าจ้าง หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ ฯลฯ เมื่อตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน วัตถุประสงค์ของการที่จำเลยจ่ายค่าเช่าบ้านแก่ลูกจ้างเพื่อเป็นการช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัย ค่าเช่าบ้านจึงเป็นเพียงสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้แก่ลูกจ้าง มิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาทำงานปกติ แม้จะมีการจ่ายเงินจำนวนนี้แน่นอนทุกเดือนก็มิใช่ค่าจ้าง

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหมวด 10 ว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัย ข้อ 3.3 ความซื่อสัตย์สุจริต ข้อ 3.3.2 พนักงานต้องแจ้งข้อมูลส่วนตัวของตนตามที่บริษัท ฯ ต้องการแก่บริษัท ฯ ตามความเป็นจริง และถ้าข้อมูลที่ได้แจ้งแล้วไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงไม่ว่าด้วยเหตุผลใด พนักงานต้องรายงานข้อมูลที่ถูกต้องให้บริษัท ฯ ทราบโดยเร็วที่สุดนั้น ย่อมมีผลใช้บังคับแก่บุคคลที่เป็นลูกจ้างของจำเลยแล้วเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันไปถึงบุคคลภายนอกด้วย ขณะที่โจทก์กรอกข้อความลงในใบสมัครงานโจทก์ยังไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลย และเป็นบุคคลภายนอกซึ่งไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ส่วนที่ตอนท้ายของใบสมัครงานมีข้อความว่า ข้าพเจ้าขอรับรองว่ารายละเอียดดังกล่าวข้างต้นนี้ เป็นความสัตย์จริงทุกประการ หากภายหลังที่ได้เข้ามาทำงานแล้วปรากฏว่ามีข้อความที่ไม่ตรงกับความจริงหรือเป็นความเท็จ บริษัท ฯ มีสิทธิที่จะลงโทษและ/หรือเลิกจ้างโดยให้ข้าพเจ้าออกจากงานได้ทันทีตามแต่กรณีนั้น อาจเป็นเงื่อนไขข้อตกลงในสัญญาว่าจ้างที่ให้สิทธิแก่นายจ้างลงโทษลูกจ้างหรือเลิกสัญญาจ้างได้เป็นการเฉพาะราย แต่ก็มิใช่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่นายจ้างต้องจัดให้มีตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ดังนั้น แม้จะได้ความว่าโจทก์กรอกข้อความในใบสมัครงานเป็นเท็จ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยเหตุดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ทั้งไม่สูญเสียสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ต่าง ๆ อันพึงมีพึงได้ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

นับตั้งแต่ที่จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงานควบคุมเครื่องจักร โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์และขยันหมั่นเพียร จนได้รับเบี้ยขยันและได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกอันเป็นการแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเป็นพนักงานของจำเลย แม้โจทก์จะเคยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญามาก่อน แต่ก็เป็นความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งผู้เสียหายได้ถอนคำร้องทุกข์และคดีระงับสิ้นลงแล้วก่อนที่จะมาเป็นพนักงานของจำเลยประมาณ 2 ปี ทั้งเป็นความผิดที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมเครื่องจักรให้แก่จำเลย จึงมิใช่เรื่องร้ายแรง การที่จำเลยอาศัยเหตุดังกล่าวเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เหตุผลอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 11,790 บาท ค่าชดเชยจำนวน 94,320 บาท เงินค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ลาของโจทก์เป็นเงิน 2,358 บาท และค่าเสียหายเพราะเหตุเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เป็นเงินจำนวน 1,500,000 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ได้ยื่นใบสมัครเข้าทำงานกับจำเลย โดยปกปิดข้อเท็จจริงด้วยการระบุในใบสมัครเข้าทำงานว่า โจทก์ไม่เคยต้องคดีใด ๆ มาก่อน อันเป็นความเท็จ ความจริงโจทก์เคยตกเป็นผู้ต้องหาของกรมตำรวจในข้อหายักยอกทรัพย์ หากจำเลยทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้แต่แรก จำเลยจะไม่รับโจทก์เข้าทำงาน เมื่อจำเลยได้ทราบข้อเท็จจริงในภายหลังซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ จึงเป็นการผิดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ถือว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยตามที่โจทก์ฟ้องมา การเลิกจ้างโจทก์ไม่ใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ค่าเช่าบ้านเดือนละ 1,500 บาท ไม่ได้จ่ายให้เพื่อตอบแทนการทำงาน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 11,790 บาท เงินค่าชดเชยจำนวน 87,919.20 บาท เงินค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2537 ตำแหน่งพนักงานควบคุมเครื่องจักรในแผนกผลิตแผ่นใสซีพีพี และได้เลื่อนตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าฝ่ายผลิตแผนกดังกล่าวได้รับเงินเดือน 9,490 บาท ค่าที่พัก 1,500 บาท ค่าทำงานกะ 400 บาท เบี้ยขยัน 400 บาท เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2545 จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างเหตุว่า จำเลยตรวจสอบประวัติพบว่าโจทก์กรอกข้อความเป็นเท็จในใบสมัครงานว่าไม่เคยต้องคดี แต่ความจริงปรากฏว่าเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2535 โจทก์เป็นผู้ต้องหาฐานยักยอกทรัพย์ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง และต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2535 พนักงานอัยการมีหนังสือแจ้งคำสั่งยุติการดำเนินคดีแก่โจทก์ เนื่องจากผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า ค่าเช่าบ้านที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทุกเดือน เดือนละ 1,500 บาท เป็นค่าจ้างหรือไม่ เห็นว่า พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 นิยามศัพท์คำว่าค่าจ้าง หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ ฯลฯ แต่เมื่อพิจารณาจากข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หมวด 9 สวัสดิการ ระบุว่า

1. วัตถุประสงค์ บริษัท ฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในหมวดนี้ขึ้นเพื่อให้พนักงานทุกคนของบริษัท ฯ เป็นผู้มีสุขภาพพลานัยสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ มีความสามัคคีในหมู่คณะตลอดจนเพื่อช่วยให้พนักงานและครอบครัว มีมาตรฐานการดำรงชีพสูงขึ้นจากที่ควรจะเป็น ตามอัตราเงินเดือนของพนักงานแต่ละคน อันจะเป็นผลให้พนักงานทำงานได้โดยปราศจากข้อบกพร่องหรือมีข้อบกพร่องน้อยที่สุดและผลที่บริษัท ฯ ได้รับในที่สุดก็คือการดำเนินการอย่างราบรื่นมีสมานฉันท์และประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ฯ

2. นโยบาย บริษัท ฯ จะให้สวัสดิการต่าง ๆ แก่พนักงานตามที่บริษัท ฯ เห็นสมควรโดยจะพิจารณาจากประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย ในการจัดสวัสดิการ ตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม และสภาพการณ์ประกอบกับความสามารถของบริษัท ฯ ในการจัดสวัสดิการนั้น ๆ

ย่อมเห็นได้ว่า จำเลยจ่ายค่าเช่าบ้านแก่ลูกจ้างเพื่อเป็นการช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัย ค่าเช่าบ้านจึงเป็นเพียงสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้แก่ลูกจ้าง มิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาทำงานปกติ แม้จะมีการจ่ายเงินจำนวนนี้แน่นอนทุกเดือน ก็มิใช่ค่าจ้าง ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ค่าเช่าบ้านเป็นค่าตอบแทนการทำงานปกติของวันทำงานและนำมารวมกับเงินเดือนเป็นค่าจ้างนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะค่าจ้างที่โจทก์มีสิทธิได้รับคือเงินเดือน เดือนละ 9,490 บาท เท่านั้น อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น

ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยประการที่สองมีว่า การยื่นใบสมัครเข้าทำงานของโจทก์ที่ระบุว่าไม่เคยต้องคดีใด ๆ มาก่อนนั้น เป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยโดยเฉพาะ หมวด 10 ว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัย ข้อ 3.3 ความซื่อสัตย์สุจริต ข้อ 3.3.2 พนักงานต้องแจ้งข้อมูลส่วนตัวของตนตามที่บริษัท ฯ ต้องการแก่บริษัท ฯ ตามความเป็นจริง และถ้าข้อมูลที่ได้แจ้งแล้วไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงไม่ว่าด้วยเหตุผลใด พนักงานต้องรายงานข้อมูลที่ถูกต้องให้บริษัท ฯ ทราบโดยเร็วที่สุดนั้น ย่อมมีผลใช้บังคับแก่บุคคลที่มีนิติสัมพันธ์เป็นลูกจ้างของจำเลยแล้วเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันไปถึงบุคคลภายนอกด้วย แต่ขณะที่โจทก์กรอกข้อความลงในใบสมัครงาน โจทก์ยังไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลย และเป็นบุคคลภายนอกซึ่งไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ส่วนที่ตอนท้ายของใบสมัครงานมีข้อความว่าข้าพเจ้าขอรับรองว่า รายละเอียดดังกล่าวข้างต้นนี้ เป็นความสัตย์จริงทุกประการ หากภายหลังที่ได้เข้ามาทำงานแล้ว ปรากฏว่ามีข้อความที่ไม่ตรงกับความจริงหรือเป็นความเท็จ บริษัท ฯ มีสิทธิที่จะลงโทษและ/หรือเลิกจ้างโดยให้ข้าพเจ้าออกจากงานได้ทันทีตามแต่กรณีนั้น อาจเป็นเงื่อนไขข้อตกลงในสัญญาว่าจ้างที่ให้สิทธิแก่นายจ้างลงโทษลูกจ้างหรือเลิกสัญญาจ้างได้เป็นการเฉพาะราย แต่ก็มิใช่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่นายจ้างต้องจัดให้มีตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กรณีจึงถือไม่ได้ว่าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรง มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่เมื่อได้วินิจฉัยว่า ค่าเช่าบ้านมิใช่ค่าจ้างแล้ว ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางนำค่าเช่าบ้านมารวมกับเงินเดือนเป็นค่าจ้างเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย จึงยังคลาดเคลื่อน ที่ถูกจำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 35 วัน เป็นเงิน 11,071.50 บาท และค่าชดเชยจำนวน 240 วัน เป็นเงิน 75,920 บาท

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า การเลิกจ้างของจำเลยไม่เป็นธรรมแก่โจทก์หรือไม่ จำเลยอ้างว่าความมุ่งหมายของจำเลยที่ให้ผู้สมัครงานกรอกประวัติการทำงานของตนและอื่น ๆ ลงในใบสมัครงาน ก็เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาคุณสมบัติของบุคคลผู้ยื่นใบสมัครงานว่า เหมาะสมกับตำแหน่งงานที่จำเลยจะรับเข้าทำงานหรือไม่ และตอนท้ายของใบสมัครงานจะมีข้อความว่าหากรายละเอียดไม่ตรงตามความจริงหรือเป็นเท็จ จำเลยมีสิทธิลงโทษและ/หรือเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีตามแต่กรณีนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า นับตั้งแต่ที่จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงานควบคุมเครื่องจักรประจำแผนกผลิตแผ่นใสซีพีพี ในปี 2537 เป็นต้นมา โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์และขยันหมั่นเพียร จนได้รับเบี้ยขยันและได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกงานดังกล่าว อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเป็นพนักงานของจำเลย แม้โจทก์จะเคยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญามาก่อน แต่ก็เป็นความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งผู้เสียหายได้ถอนคำร้องทุกข์และคดีระงับสิ้นลงแล้วก่อนที่จะมาเป็นพนักงานของจำเลยประมาณ 2 ปี ทั้งเป็นความผิดที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมเครื่องจักรให้แก่จำเลย จึงมิใช่เรื่องร้ายแรง จำเลยอาศัยเหตุดังกล่าวเลิกจ้างโจทก์ จึงมิใช่เหตุผลอันสมควร ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 11,071.50 บาท ค่าชดเชยจำนวน 75,920 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

 

(สมชัย จึงประเสริฐ - อรพินท์ เศรษฐมานิต - จรัส พวงมณี )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายศิริชัย คุณจักร

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด