การตกลงขยายระยะเวลาการเกษียณอายุสำหรับลูกจ้าง


683 ผู้ชม


การตกลงขยายระยะเวลาการเกษียณอายุสำหรับลูกจ้าง




คดีแดงที่  1617/2547

บริษัทอาร์เอ็มเจเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด โจทก์
นางสาวประดาว คำรุ่งรักษ์ธรรม จำเลย

 

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง , 118
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52

ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง กำหนดให้พนักงานพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานเมื่อเกษียณอายุเมื่อพนักงานมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ ยกเว้นกรณีนายจ้างอนุมัติต่ออายุการจ้างแรงงานก่อนการเกษียณอายุ และพนักงานที่เกษียณอายุมีสิทธิได้รับค่าชดเชย การที่นายจ้างอนุมัติให้ลูกจ้างทำงานภายหลังจากมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว โดยมิได้จ่ายค่าชดเชยตามสิทธิให้แก่ลูกจ้างในขณะนั้น นอกจากจะเป็นการต่ออายุสัญญาจ้างแรงงานแล้ว ยังเป็นการตกลงขยายระยะเวลาการเกษียณอายุสำหรับลูกจ้างต่อไปด้วย มิใช่เป็นการสละสิทธิการเกษียณอายุ ต่อมาเมื่อ ลูกจ้างขอใช้สิทธิเกษียณอายุและนายจ้างอนุมัติ นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่ ๑/๒๕๔๕ ของจำเลย

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาแก้ไขคำสั่งที่ ๑/๒๕๔๕ ของจำเลยโดยให้โจทก์จ่ายค่าชดเชย ๔๔๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายพูลสุขลูกจ้าง เพิกถอนคำสั่งที่ให้จ่ายค่าทำงานในวันหยุด

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ให้บริการเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรม การโยธา การจัดการ ก่อสร้างและอื่น ๆ โจทก์และนายพูลสุข มณฑาทิพย์ ลูกจ้างได้ทำหนังสือสัญญาจ้างงานฉบับแรกเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๓๗ มีกำหนดการจ้าง ๘ เดือน ครบกำหนดตามสัญญาจ้างงานฉบับแรกดังกล่าว โจทก์กับนายพูลสุขตกลงทำสัญญาจ้างงานฉบับที่ ๒ โดยให้เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๘ ต่อเนื่องกับสัญญาจ้างฉบับแรก เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๔ นายพูลสุขมีหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการโจทก์ขอเกษียณอายุจากการจ้างงานเพื่อขอรับค่าชดเชย ต่อมาวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ กรรมการผู้จัดการโจทก์มีหนังสือถึงนายพูลสุขว่า นายพูลสุขมีอายุงาน ๕ ปี ๙ เดือนเศษ โจทก์จะ จ่ายค่าชดเชย ๖ เท่าของเงินเดือน โดยแบ่งจ่ายเป็นรายเดือนรวม ๑๒ เดือน นายพูลสุขไม่ยอม และได้ไปร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งที่ ๑/๒๕๔๕ ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง นายพูลสุขทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งที่ปรึกษา มีหน้าที่ควบคุมตรวจสอบการก่อสร้าง งานในหน้าที่ตามสัญญาจ้างฉบับแรกและฉบับที่ ๒ เป็นงานอย่างเดียวกัน ซึ่งเป็นงานธุรกิจประจำของโจทก์ มิใช่งาน ที่มีลักษณะเป็นครั้งคราวหรืองานโครงการเฉพาะหรืองานตามฤดูกาล นายพูลสุขพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๔ แม้จะหักวันทำงานช่วงที่โจทก์กับนายพูลสุขตกลงลดลงกึ่งหนึ่งออกแล้ว นายพูลสุขมีระยะเวลาทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ ๖ ปี ๔ เดือนเศษ… มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่นายพูลสุขสมัครใจทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ต่อไปภายหลังจากที่มีอายุ ๖๐ ปี ซึ่งครบเกษียณอายุแล้ว เป็นการสละสิทธิการเกษียณอายุหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ กำหนดให้พนักงานของโจทก์พ้นจากสภาพพนักงานเมื่อเกษียณอายุ เมื่อพนักงานมีอายุ ๖๐ ปีบริบูรณ์ ยกเว้นกรณีที่โจทก์อนุมัติต่ออายุการจ้างก่อนการเกษียณอายุและพนักงานที่เกษียณอายุมีสิทธิได้รับค่าชดเชยก่อนที่นายพูลสุขจะมีอายุครบ ๖๐ ปี โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างนายพูลสุขเป็นลูกจ้างต่อโดยไม่กำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างแรงงานฉบับลงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๘ ขณะที่นายพูลสุขขอพ้นสภาพการเป็นพนักงานของโจทก์เนื่องจากการเกษียณอายุ นายพูลสุขมีอายุ ๖๒ ปี เห็นว่า ขณะที่นายพูลสุขมีอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์ นั้น ตามปกติแล้วนายพูลสุขย่อมต้องพ้นสภาพการเป็นพนักงานของโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุโดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ การที่โจทก์อนุมัติให้นายพูลสุขทำงานต่อไปภายหลังจากที่นายพูลสุขมีอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์แล้ว โดยมิได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่นายพูลสุขตามสิทธิของนายพูลสุข ในขณะนั้น นอกจากจะเป็นการต่ออายุสัญญาจ้างแรงงานแล้วยังเป็นการตกลงขยายระยะเวลาการเกษียณอายุสำหรับรายนายพูลสุขต่อไปด้วย มิใช่เป็นการสละสิทธิการเกษียณอายุตามที่โจทก์อ้างเพราะมิฉะนั้น นายพูลสุขก็คงจะไม่ยอมต่ออายุสัญญาจ้างอีก การที่นายพูลสุขขอใช้สิทธิเกษียณอายุและโจทก์อนุมัติให้สิ้นสุดการจ้างเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๔ จึงถือว่านายพูลสุขได้พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์เนื่องจากเกษียณอายุ มิใช่เป็นการลาออกจากงาน

พิพากษายืน.

 

(ปัญญา สุทธิบดี - อรพินท์ เศรษฐมานิต - สถิตย์ อรรถบลยุคล )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายอนันต์ โรจนเนืองนิตย์

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด