ฝ่าาฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศกระทรวงมหาดไทย


769 ผู้ชม


ฝ่าาฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศกระทรวงมหาดไทย




คดีแดงที่  1830/2544

พนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดสีคิ้ว (ปากช่อง) โจทก์
บริษัทเขาใหญ่เนเชอรัลปาร์ค จำกัด กับพวก จำเลย

 

ป.อ. มาตรา 2, 3
ป.วิ.อ. มาตรา 15, 176, 195
ป.วิ.พ. มาตรา 249
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 3, 5, 118, 144
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 2, 8
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2, 46

โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นนายจ้างของลูกจ้างผู้มีชื่อจำนวน 55 คน ได้กระทำผิดด้วยการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างดังกล่าว จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังตามที่โจทก์บรรยาย มาในคำฟ้อง จำเลยจะฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงให้ผิดไปจากที่ปรากฏในคำฟ้องซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพแล้วไม่ได้ ทั้งข้อเท็จจริงที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาก็เป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่การกระทำความผิดเกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับจึงต้องปรับบทให้ถูกต้องตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับในขณะกระทำความผิด

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นนายจ้างของลูกจ้างผู้มีชื่อจำนวน ๕๕ คน ได้ร่วมกันฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๔๖ ซึ่งกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้ถูกต้องตามอัตราที่กำหนด โดยจำเลยทั้งสามไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างผู้มีชื่อจำนวน ๕๕ คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑,๒๐๕,๓๕๘ บาท ให้ถูกต้องตามอัตราที่กำหนด ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๓ ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๕ ข้อ ๒, ๘ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๒, ๔๖ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๓, ๕, ๑๑๘, ๑๔๔

จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๓ ข้อ ๒, ๘ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฉบับลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๒, ๔๖ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ให้ปรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท จำคุกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คนละ ๖ เดือน จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงปรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท จำคุกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คนละ ๓ เดือน ส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๓, ๕, ๑๑๘, ๑๔๔ มาด้วยนั้น เห็นว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสาม ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้ ให้ยกเสีย หากจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙

จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๓, ๕, ๑๑๘ วรรคหนึ่ง, ๑๔๔ วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๓ ลาออกจากกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ ๑ แล้ว จึงมิได้เป็นนายจ้างที่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ หรือประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และจำเลยที่ ๓ ไม่มีเจตนากระทำผิดนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ ๓ เป็นนายจ้างของลูกจ้างผู้มีชื่อจำนวน ๕๕ คน ได้กระทำผิดด้วยการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๖ และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ โดยไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างดังกล่าวรวมเป็นเงิน ๑,๒๐๕,๓๕๘ บาท จำเลยที่ ๓ ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้อง จำเลยที่ ๓ จะฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงให้ผิดไปจากที่ปรากฏในคำฟ้องซึ่งจำเลยที่ ๓ ให้การรับสารภาพแล้วไม่ได้ ทั้งข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ ๓ กล่าวอ้างในฎีกาก็เป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๓ อีกด้วย จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ ๓ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

อนึ่ง การกระทำความผิดคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ก่อนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มีผลใช้บังคับ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาปรับบทลงโทษตามบทกฎหมายดังกล่าวยังไม่ถูกต้อง จึงต้องปรับบทให้ถูกต้องตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๓ ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๕ และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับในขณะกระทำความผิด

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๓ ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๕ ข้อ ๒ และข้อ ๘ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๒ และข้อ ๔๖ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ สำหรับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้ลงโทษปรับอีกสถานหนึ่ง โดยปรับคนละ ๒๐,๐๐๐ บาท ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงปรับคนละ ๑๐,๐๐๐ บาท โทษจำคุกของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามมาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓.

 

(มงคล คุปต์กาญจนากุล - ธีรศักดิ์ เตียวัฒนานนท์ - สุวัฒน์ วรรธนะหทัย )

 

ศาลจังหวัดสีคิ้ว (ปากช่อง) - นายสุเจตน์ ส่งสัมพันธ์สกุล

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 - นายอาวุธ ปั้นปรีชา


อัพเดทล่าสุด