การอนุมัติการลาออก
การอนุมัติการลาออก
โดยทั่วไประเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจะระบุว่า หากลูกจ้างประสงค์จะลาออกจะต้องแจ้งล่วงหน้ากี่วัน เช่น 15 วัน หรือ 30 วันบ้าง กรณีลูกจ้างเขียนใบลาออกวันนี้แล้วไม่มาทำงานเลยก็มี หรือบ้างกรณีลูกจ้างเขียนใบลาออกถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับแล้ว แต่นายจ้างไม่ยอมอนุมัติเสียที จนล่วงเลยวันที่กำหนดในใบลาออก พอลูกจ้างมากระทำความผิด นายจ้างค่อยมาอนุมัติให้การลาออกมีผล เช่นนี้ ใบลาออกของลูกจ้างจะมีผลในวันใด ลองติดตามครับ
โจทก์ ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๓๖ จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่าย Order Billing ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๒๘,๕๐๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๓ โจทก์ได้ยื่นใบลาออกโดยระบุวันที่ลาออกคือวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๓ เนื่องจากสุขภาพไม่เอื้ออำนวยเป็นเนื้องอกที่มดลูก จำเลยไม่อนุมัติให้ลาออก แต่อนุมัติให้ลาป่วยไปทำการผ่าตัดและจ่ายค่าจ้างตามปกติ โจทก์ขอใบลาออกคืน แต่ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายการเงินและวางแผนแจ้งว่าได้ทำลายใบลาออกของโจทก์แล้ว โจทก์จึงทำงานกับจำเลยเรื่อยมา ต่อมาในเดือนมีนาคม ๒๕๔๔ โจทก์มีเรื่องขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชา จำเลยจึงมีคำสั่งลงวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๔ ย้ายโจทก์โดยอ้างว่า เนื่องจากจำเลยพบบิลยกเลิกตกค้างที่หน่วยผลิต ซึ่งเป็นบิลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ทำให้มีการสอบสวนความรับผิดชอบของพนักงานที่เกี่ยวกับการติดตามบิลส่งสินค้า แต่ไม่มีการแต่งตั้งกรรมการสอบสวนดังที่กล่าวอ้าง ต่อมาวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๔ จำเลยได้มีประกาศเรื่องผังสายงานการเงินและวางแผน ซึ่งไม่มีชื่อโจทก์ แสดงว่าจงใจปลดโจทก์ออกจากตำแหน่ง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๔ ต่อมาวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ จำเลยได้มีคำสั่งเรื่องแจ้งเพื่อทราบอ้างใบลาออกเดิมของโจทก์โดยอนุมัติย้อนหลังและกำหนดวันเลิกจ้างในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ โดยในช่วงวันที่ ๒ ถึง ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ โจทก์ไม่ต้องมาทำงาน แต่จำเลยจะจ่ายค่าจ้างให้
การ อนุมัติลาออกดังกล่าวไม่ชอบเนื่อง จากโจทก์ระบุวันลาออกแน่นอนแล้ว แต่จำเลยแสดงเจตนาให้โจทก์ทำงานต่อโดยอ้างว่าทำลายใบลาออกไปแล้ว เหตุแห่งการลาออกได้ระงับไปแล้ว จึงถือว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและจำเลยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ๒๒๘,๐๐๐ บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๕๖,๐๕๐ บาท ระหว่างโจทก์ทำงานกับจำเลยจำเลยได้เรียกประกันการทำงานจากโจทก์เป็นเงิน ๒๐,๘๐๐ บาท โจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยโดยไม่ได้ก่อความเสียหาย แต่จำเลยไม่ยอมคืนเงินประกันดังกล่าว จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน ๒๘๕,๐๐๐ บาท โจทก์มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีในปี ๒๕๔๔ ได้ ๖ วัน โจทก์ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนไปแล้ว ๒ วัน คงเหลือ ๔ วัน คิดเป็นเงิน ๓,๘๐๐ บาท แต่จำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๕๖,๐๕๐ บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ๒๘๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินทั้งสองประเภทนับแต่วันฟ้อง ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๓,๘๐๐ บาท ค่าชดเชย ๒๒๘,๐๐๐ บาท เงินประกันการทำงาน ๒๐,๘๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากต้นเงินทั้งสามประเภทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย ให้การว่า เมื่อโจทก์ยื่นใบลาออก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายการเงินและวางแผน แจ้งกับโจทก์ว่าผลการอนุมัติจะเป็นอย่างไรจะแจ้งให้โจทก์ทราบต่อไป ต่อมาวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายการเงินและวางแผนได้มีความเห็นเกี่ยวกับการลาออกของโจทก์เสนอต่อกรรมการผู้จัดการว่า "อนุมัติให้ลาออกได้ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ เนื่องจากตำแหน่งนี้ยังไม่มีพนักงานทดแทน จึงให้ทำแทนไปชั่วคราวก่อนจนถึงวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ จึงพ้นสภาพพนักงาน" ต่อมาวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๔๓ กรรมการผู้จัดการได้ลงลายมือชื่ออนุมัติตามความเห็นของผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายการเงินและวางแผนใบลาออกของโจทก์ ได้รับอนุมัติโดยมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เหตุที่โจทก์ยื่นใบลาออก เนื่องจากจำเลยตรวจสอบพบว่าโจทก์ปฏิบัติงานนอกหน้าที่ความรับผิดชอบส่อไปในทางทุจริต หาผลประโยชน์สำหรับตนเองรับจองและขายสินค้าผลิตภัณฑ์คอนกรีตของจำเลย โดยมีผลตอบแทนจากลูกค้า ทั้ง ๆ ที่โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องกระทำและมีพนักงานขายดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว เมื่อจำเลยตรวจพบจึงเรียกโจทก์มาว่ากล่าวตักเตือน โจทก์จึงจะลาออกโดยอ้างเหตุผลเรื่องสุขภาพ จำเลยไม่ได้มีคำสั่งโยกย้ายโจทก์ แต่โจทก์ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลบิลและเก็บรักษาบิลส่งสินค้าทำหน้าที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ติดตามค้นหาบิลส่งสินค้าตกค้างตามหน้าที่ จำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์ดูแลตรวจสอบบิลส่งสินค้าให้ครบถ้วนมิได้เป็นการกลั่นแกล้งหรือปลดโจทก์ โจทก์ยื่นใบลาถูกต้องตามระเบียบแล้ว จึงเป็นสิทธิของจำเลยที่จะอนุมัติให้โจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานเมื่อใด การลาออกของโจทก์จึงสมบูรณ์และมีผลทันทีเมื่อถึงวันที่จำเลยอนุมัติ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันนับแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ ตามเจตนาลาออก ของโจทก์ มิใช่การอนุมัติลาออกย้อนหลัง และมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
สัญญา จ้างแรงงานสิ้นสุดลงวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ จำเลยให้โจทก์พักผ่อนตลอดเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๔ โดยจ่ายค่าจ้างให้จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ส่วนเงินประกันนั้นจำเลยจะต้องตรวจสอบการทำงานของโจทก์ก่อนว่าก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่ หนังสือแจ้งให้โจทก์ไม่ต้องมาทำงานในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๔ โดยยังค้างชำระค่าจ้างอยู่ มิใช่หนังสือเลิกจ้าง โจทก์นำคดีมาฟ้องในวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ ก่อนสัญญาจ้างสิ้นสุดลง โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชย ๒๒๘,๐๐๐ บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๒,๘๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากต้นเงินทั้งสองประเภทนับแต่วันฟ้อง (วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๔) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๒๘,๕๐๐ บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ๒๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินทั้งสองประเภทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาล ฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๓๖ ตำแหน่งสุดท้ายผู้ช่วยผู้จัดการฝ่าย Order Billing ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๒๘,๕๐๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๓ โจทก์ได้ยื่นใบลาออก โดยขอลาออกตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ด้วยสาเหตุสุขภาพไม่อำนวย ตามเอกสารหมาย ล.๒ หลังจากนั้นโจทก์ยังทำงานกับจำเลยต่อไปจนถึงวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ จำเลยได้มีคำสั่งที่ ๐๓/๒๕๔๔ อ้างใบลาออกของโจทก์ว่าจำเลยได้อนุมัติให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ และแจ้งให้โจทก์ทราบว่าในช่วงวันที่ ๒ ถึง ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ โจทก์ไม่ต้องมาทำงานแต่จำเลยจะจ่ายค่าจ้างให้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยจะอนุมัติวันลาออกของโจทก์เป็นวันอื่นต่างไปจากวันที่โจทก์แสดงเจตนาได้หรือไม่ เห็นว่าการลาออกเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะลาออกเมื่อใดก็ได้ภายใต้ระเบียบของจำเลย ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง คดีนี้จำเลยให้การยอมรับว่าโจทก์ยื่นใบลาออกถูกต้องตามระเบียบ จึงเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะกำหนดวันลาออกของตนเองได้ การที่จำเลยอนุมัติวันลาออกของโจทก์เป็นวันอื่นต่างไปจากวันที่โจทก์แสดงเจตนาโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ตกลงยินยอมด้วย จึงไม่ชอบที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าพฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างโจทก์จึงชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าคำสั่งของจำเลยที่ ๐๓๒/๒๕๔๔ ตามเอกสารหมาย ล.๓ ที่แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยอนุมัติให้โจทก์ลาออกได้ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ และให้โจทก์ไม่ต้องมาทำงานในช่วงระหว่างวันที่ ๒ ถึง ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ โดยจำเลยจะจ่ายค่าจ้างให้ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นเอกสารที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบ มิใช่เป็นคำสั่งเลิกจ้างนั้น เห็นว่า เป็นการอุทธรณ์โดยยกเอกสารดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อให้ศาลฎีการับฟังว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ ต่างไปจากที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๗๗๙/๒๕๔๖)
การ ลาออกเป็นสิทธิของลูกจ้าง เมื่อเขียนใบลาออก และกำหนดวันลาออกเป็นวันใด การลาออกย่อมมีผลในวันดังกล่าว การที่นายจ้างอนุมัติหรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญส่วนการลาออกจะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือไม่ หรือถ้านายจ้างเห็นว่าการลาออกที่ฝ่าฝืนระเบียบดังกล่าวทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย นายจ้างมีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าเสียหาย กับลูกจ้างได้ ส่วนจะได้รับเงินตามฟ้องหรือไม่ นายจ้างต้องเป็นคนพิสูจน์เอง
ยงยุทธ ไชยมิ่ง
ทนายความอาวุโส
บริษัท ศูนย์กฎหมายธุรกิจอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ที่มา: นิตยสาร Recruit Update ฉบับที่ 402 วันที่ 16-31 พฤษภาคม 2547